งานศิลปะเอไออาจทำให้มนุษย์สูญเสียความน่าตื่นเต้นของชีวิตไปอย่างไม่รู้ตัว

20 มกราคม 2567 - 05:00

generated-ai-art-destroys-sense-of-awe-SPACEBAR-Hero.jpg
  • งานศิลปะเอไอที่เต็มไปด้วยภาพสุดมหัศจรรย์มากมาย อาจก่อให้เกิดการสูญเสียความน่าตื่นเต้นของชีวิตลง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของการเป็นมนุษย์

พวกเรากำลังอยู่ในโลกของปัญญาประดิษฐ์ที่ปรากฎอยู่ในเกือบทุกๆ ด้านของชีวิต เราเข้าร้านอาหารเราพบกับหุ่นยนต์ท่าทีน่ารักกำลังเสิร์ฟเมนูอาหารบนถาด เราไปโรงพยาบาลเราพบหุ่นยนต์ขนส่งที่วิ่งตามรางอย่างเร็วฉิว พอกลับมาที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เราใช้ Chat-GPT ในการช่วยคิดคำตอบกับคำถามที่แสนฉงน ระหว่างนั้นชมภาพสวยๆ งามๆ ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ผ่านเว็บไซต์ศิลปะเอไอต่างๆ เมื่อใดที่เราอยากเห็นองค์ประกอบภาพที่ไม่น่าเป็นไปได้มาอยู่ด้วยกันในภาพเดียว เราก็สามารถทำได้เพียงแค่กรอกพรอมต์ (prompt) ลงไป ไม่มีอะไรที่เอไอทำไม่ได้

เอไอมีความน่าทึ่ง สร้างความมหัศจรรย์ และความตื่นตา สามารถทำให้จินตนาการของเราเป็นจริงขึ้นได้ในทันตา เราสามารถสร้างพล็อตหนังสุดพิศดารด้วยธีมการกำกับของ เควนติน ทารานติโน่ ได้เพียงแค่ปลายนิ้ว ส่วนในเรื่องของศิลปะ แฮร์รี พอตเตอร์ ฉบับอินเดีย หรืออียิปต์โบราณ เป็นไปได้ไม่ยาก ทุกวันนี้บนยูทูบมีผู้ใช้มากมายพยายามสร้างฉากหนังขึ้นมาใหม่ด้วยธีมที่หลากหลาย ผสมกับโปรแกรมขยับปาก และใส่เสียง text to speech เข้าไป ก็สามารถเนรมิตรฉากให้กลายเป็นจริงขึ้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

ทุกวันนี้ยังมีผู้ใช้โปรแกรมเอไอทุกวัน และตัวระบบเองก็มีการพัฒนาขึ้นในทุกๆ วัน ซึ่งสิ่งที่เราอาจไม่คำนึงถึงคือเรากำลังขาดอะไรบางอย่างไป เรากำลังขาด “สัมผัสของความตื่นตาตื่นใจ” (sense of awe) ที่ในอนาคตอาจทำให้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจริงบนโลกดูธรรมดาไป เป็นเพราะว่าเราเคยเห็นความไม่เป็นไปได้นี้ไปแล้วจากฝีมือของเอไอนั่นเอง โดยเฉพาะกับ Midjourney ที่สร้างภาพน่าทึ่งไปแล้วหลายแสนภาพ เชื่อว่าคงมีผู้ใช้ที่เริ่มรู้สึกเอียนไปแล้ว

generated-ai-art-destroys-sense-of-awe-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Breaking Bad ในธีมมาเฟียอิตาลี. Photo: Demonflyingfox /Youtube

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา และชอบไม่ย่ำอยู่กับสิ่งเดิมๆ เมื่อสิบปีก่อนผู้หญิงอาจรู้สึกขวยเขินกับการแต่งชุดว่ายน้ำ แต่ปัจจุบันผู้หญิงเริ่มแสดงออกทางร่างกายมากขึ้น ในส่วนของประวัติศาสตร์ศิลปะ และการทำภาพยนตร์ ทุกอย่างล้วนถูกต่อยอดจากความจำเจของอีกยุคหนึ่งเพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจมากขึ้น ในทุกๆ ยุคจะมีการใช้เทคนิคที่ดีกว่าเดิม ก้าวหน้ากว่าเดิม และยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ความตื่นตาตื่นใจ หรือความประหลาดใจนี้ล้วนสำคัญต่อมนุษยชาติ เราต้องการความรู้สึกเหล่านี้เพื่อขับเคลื่อนชีวิตให้มีความหมาย มีเป้าหมายในชีวิต นั่นคือพยายามค้นหาความเป็นไปไม่ได้ หรือความลี้ลับที่อยู่ในจักรวาล อาจพูดได้ว่าเพราะสัมผัสนี้นี่เองที่ทำให้มนุษย์สามารถเดินทางมาได้ถึงยุคปัจจุบัน

generated-ai-art-destroys-sense-of-awe-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Midjourney

ในงานวิจัยทางด้านจิตวิทยาของ เดเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) และโจนาธาน ไฮดต์ (Jonathan Haidt) กล่าวว่า มีปัจจัยอยู่สองอย่างสำหรับมนุษย์เพื่อใช้สัมผัสประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจ อย่างแรกคือ ‘ความกว้างใหญ่’ (vasteness) สิ่งใดก็ตามที่มีขอบเขตกว้างขวางเกินการรับรู้ที่จำกัดของมนุษย์ หรือสิ่งที่ใหญ่กว่าสิ่งที่ตนพบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น การเห็นตึกสูงใหญ่ เห็นภูเขาลูกโต เป็นต้น ความกว้างใหญ่นั้นจะนำไปสู่อย่างที่สองคือ ‘ความสะดวกสบาย’ (accommodation)

“ในเชิงจิตวิทยา ความตื่นตาเป็นการนำเสนอกระบวนการที่ผู้คนพยายามให้คุณค่ากับความคิดหรือความเชื่อเพื่อสร้างประสบการณ์หรือข้อมูลที่แปลกใหม่” เควิน ดิกคินสัน (Kevin Dickinson) กล่าวในรายการ Big Think  “อีกคำพูดหนึ่งคือ พอความรู้สึกนั้นเข้ามาที่เรา คนจะเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับมุมมองที่พวกเขามีต่อโลก ซึ่งอาจเปลี่ยนไปในท้ายที่สุด พลังของธรรมชาติ และความงามที่เกิดขึ้นจากเงื้อมมือมนุษย์ สามารถช่วยลดการถือตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวางลงไป เกิดเป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโลกที่เราอยู่นี้ใหม่” หากปราศจากมัน พวกเราคงไม่มีเป็นมนุษย์

generated-ai-art-destroys-sense-of-awe-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Midjourney

อย่างไรก็ตาม การที่จะหลบเลี่ยงสัมผัสแห่งความตื่นตาตลอดช่วงชีวิตเรานั้นเป็นเรื่องยากพอควร เพราะในทุกๆ วันล้วนมีเรื่องน่าตื่นเต้นตลอดเวลา เช่น การพบเห็น Ziggy Stardust ที่เห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์ เจมส์ เว็บบ์ เผยให้เห็นความยิ่งใหญ่และความสวยงามของจักรวาล รวมถึงเอไอที่มอบความเป็นไปได้หลายอย่าง อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ามนุษย์เมื่อมีประสบการณ์มากพอ จนถึงช่วงวัยหนึ่ง สัมผัสแห่งความตื่นตามักจะซาหายไปเป็นปกติ เหมือนที่คนสูงอายุที่เริ่มชินชากับโลก อาจพูดได้ว่างานศิลปะเอไออาจไม่ได้สร้างปัญหาอย่างที่คิดไว้ก็ได้

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่างานศิลปะเอไออาจสร้างความชินชากับโลกได้รวดเร็วกว่าหนัง โทรทัศน์ หรือโซเชียล มีเดีย เพราะความรวดเร็วของมัน เราสามารถเห็นความเป็นไปได้เป็นร้อยภายในหนึ่งวัน ขณะที่สื่อต่างๆ เช่น ศิลปะ หรือหนัง นั้นต้องค่อยๆ ใช้เวลากว่าจะทำออกมาให้สมบูรณ์ครบในทุกๆ มิติ สิ่งที่เราควรทำ (หากทำได้) คือการอยู่กับปัจจุบัน และรอจังหวะที่น่าตื่นตาเข้ามาในชีวิตเอง ท้ายที่สุดแล้ว เวลาจะทำให้ทุกจังหวะของชีวิตมีคุณค่ามากขึ้น และความรวดเร็วไม่ใช่คำตอบ หรือดีไปเสียทุกอย่าง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์