Drag King คืออะไร? ทำความรู้จักผู้ท้าทายกรอบเพศด้วยการแต่งชาย

20 มิ.ย. 2566 - 06:43

  • โลกนี้ไม่ได้มีแค่แดร็กควีน! รู้จัก ‘แดร็กคิง’ การแต่งเป็นชายที่ไม่ค่อยแพร่หลาย แต่ทลายกรอบเพศได้ไม่แพ้กัน

get-to-know-drag-king-SPACEBAR-Thumbnail
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3OBOAnBbNXnjSyAwYc1Z3g/262e75280fe27ce8aa93df35e0d55a2f/get-to-know-drag-king-SPACEBAR-Photo02
เส้นแบ่งแห่งขนบธรรมเนียมค่อยๆ เลือนหาย เมื่อความหลากหลายเข้ามาแทนที่ ทุกวันนี้จะเห็นว่าการแต่งกายหรือการแสดงออกที่มีความลื่นไหลทางเพศเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในหลายประเทศ อย่างวัฒนธรรม แดร็ก (Drag) ที่กำลังเฉิดฉายในสื่อกระแสหลัก 
 
หากพูดถึงแดร็ก เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึง แดร็กควีน (Drag Queen) ผู้ที่ทำการแสดง เต้น หรือร้องเพลง ด้วยท่าทางและอัตลักษณ์ของผู้หญิง อาจสวมชุดกระโปรง รองเท้าส้นสูง และแต่งหน้าแบบสุดปัง ทั้งนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันว่าใครสามารถเป็นแดร็กควีนได้บ้าง ซึ่งข้อสรุปที่ครอบคลุมที่สุดก็คือไม่ว่าเพศอะไรก็สามารถเป็นแดร็กควีนได้ทั้งนั้น 
 
แต่นอกจากแดร็กควีนแล้ว เรายังมี ‘แดร็กคิง’ (Drag King) คือการที่ผู้หญิง เควียร์ คนที่เป็นนอนไบนารี ฯลฯ แต่งตัว แต่งหน้า และทำการแสดงเป็นชาย ซึ่งความจริงแดร็กคิงมีมานานมากตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ตัวอย่างเช่น แอนนี่ ฮินเดิล (Annie Hindle) นักแสดงหญิงที่รับบทบาทเป็นชายในละครเวที
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1qRSQpBLLSkZduz9KDAJU0/478a436ae583830cca54915b4f3ddf45/get-to-know-drag-king-SPACEBAR-Photo04
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับแดร็กควีนแล้ว ‘แดร็กคิง’ ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักหรือสนใจมากนัก ยิ่งสมัยก่อนการจะดูโชว์แดร็กคิงนั้นต้องไปเสาะหาในบาร์ใต้ดินตอนกลางคืน และโดยมากมักได้ทิปน้อยกว่าแดร็กควีน ทั้งๆ ที่พวกเขาเองก็ทุ่มเทกับการแสดง แต่งหน้าอย่างประณีต และแต่งตัวอย่างตั้งใจ 
 
หลายคนให้ความเห็นว่าการที่ ‘แดร็กคิง’ ไม่เป็นที่นิยมและไม่ได้รับการสนับสนุนมากเท่าแดร็กควีน เป็นเพราะการที่ผู้หญิงสวมสูท ใส่กางเกง ไม่ได้ดูแปลกหรือน่าตื่นเต้นเท่าผู้ชายใส่กระโปรง อีกทั้งการแสดงออกถึงความเป็นชายไม่ได้น่าดึงดูดเท่าการแสดงออกถึงความเป็นหญิง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/63hd205ge7ClbQLAGGjqG1/60f87399dc2965e08eb3b2319249a1a1/get-to-know-drag-king-SPACEBAR-Photo03
อย่างไรก็ตาม แดร็กคิง หรือการแต่งกาย/แสดงออกเป็นชายก็มีให้เห็นผ่านสื่อต่างๆ เสมอมา เช่น Sex And the City ซีรีส์ดังในปี 2000 หรือ มู่หลาน (Mulan) แอนิเมชันชื่อดังที่หลายคนอาจลืมนึกไปว่าตัวเอกของเรื่องก็แต่งชายเช่นกัน 
 
สุดท้ายแล้วการแสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป และเมื่อเกิดการแหกขนบขึ้น กรอบต่างๆ ก็จะถูกตั้งคำถาม กระทั่งถูกทำลายให้กลายเป็นความหลากหลาย 
 
รูพอล อองเดร ชาร์ลส์ (RuPaul Andre Charles) เจ้าแห่งวงการแดร็ก เคยกล่าวประโยคสุดทรงพลังไว้ว่า 
“เราต่างเกิดมาเปลือยเปล่า นอกเหนือจากนั้นคือการแดร็ก”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์