ศิลปะกราฟฟิตี้อาจสวยงามถูกใจ แต่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

30 มกราคม 2567 - 07:28

graffiti-issue-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ความแตกต่างระหว่างกราฟฟิตี้กับสตรีทอาร์ต สองคำที่คล้ายกันแต่มีจุดประสงค์ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่บนกฎหมายที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน

กรุงเทพมหานคร เมืองที่ไปไหนก็ได้พบเจอ 'กราฟฟิตี้' มากกว่า 'สตรีทอาร์ต' เช่นเดียวกันกับเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองทั่วโลก อย่างมหานครนิวยอร์ก หรือเมืองเบอร์ลิน ที่มีกราฟิตี้อยู่เต็มเมืองจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองใหญ่ที่พบเห็นได้ทั่วไป ขณะเดียวกันเรายังสามารถพบกราฟฟิตี้ได้ตามจุดต่างๆ ของประเทศไทยอีกด้วย จริงอยู่ที่ว่างานกราฟฟิตี้เหล่านี้จะมีคุณค่าในตัวมันเองในฐานะ ‘งานศิลปะ’ อีกแขนงหนึ่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันนำพาซึ่งปัญหาตามมาด้วย

ประเด็นล่าสุดที่ถ้าใครเจอมากับตัวอาจต้องหัวเสีย ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Ravin Vichien’ ได้โพสต์ว่าทรัพย์สินอาคารของตัวเองถูกพ่นสีกราฟฟิตี้บริเวณชั้นสองของอาคาร แถมพ่นทับบานหน้าต่างอีกด้วย งานนี้ทำเอาทุกคนกลับไปนึกถึงเหตุการณ์ที่อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่รับมือกับกลุ่มวัยรุ่นเจ้าของลวดลายกราฟิตี้ที่บริเวณทางออกวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงราย ด้วยความเอ็นดู เพราะเห็นว่ากราฟฟิตี้ก็คืองานศิลปะเหมือนกัน พร้อมกับจ่ายเงินค่าสีเพิ่มเติมให้ด้วย

graffiti-issue-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Ravin Vichien /Facebook

“....เมื่อมีโอกาสจงทำ เพราะอาชีพนี้ไม่ใช่ง่ายๆ ทำแล้วสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง เมื่อมีชื่อเสียงจงรักษาชื่อเสียงของตัวเองให้ดีขึ้นอีก เข้าใจไหม ทำงานศิลปะไปเดี๋ยวมึงก็ดังนะ รวยเหมือนกูนะ ดังแล้วรวยเหมือนกูนะ แล้วก็สร้างประโยชน์ให้สังคมเยอะๆ” อาจารย์เฉลิมชัย กล่าว

แน่นอนว่าบนโซเชียลกระแสตอบรับในเชิงบวก หลายคนเชิดชูว่า “นี่สิ ศิลปินไทยสนับสนุนคนรุ่นใหม่” ส่วนคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็หันไปหาข้อมูลว่า “ใครคือ เฉลิมชัย” มองจากมุมนี้ไม่ผิด เพราะต่างประเทศก็มีศิลปินกราฟฟิตี้มากเกินคณานับ คนที่โด่งดังได้แก่ แบงก์ซี (BANKSY) ศิลปินสตรีทอาร์ตที่ซุ่มทำงานลับๆ โดยไม่เปิดเผยตัวตน แต่เราลองมองในมุมกลับกัน สมมติว่าคนที่เห็นไม่ใช่อาจารย์เฉลิมชัย กลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนอยู่หรือไม่? เพราะจริงๆ แล้วสิ่งที่พวกเขาทำคือ ‘การกระทำที่ผิดกฎหมาย’

graffiti-issue-SPACEBAR-Photo02.jpg

แล้ว กราฟฟิตี้ กับ สตรีทอาร์ต ต่างกันอย่างไร?

งานกราฟฟิตี้ (Graffiti) คือ การพ่นสีบนกำแพงเป็นตัวอักษรต่างๆ หรืออาจเป็นการเขียนด้วยการพ่นสี และมีการออกแบบลายอักษรให้มีความโดดเด่นเฉพาะตัว บางคนเรียกงานกราฟิตี้ว่าเป็น ‘ศิลปะแห่งการปลดปล่อยอารมณ์’ เพราะจุดประสงค์หลักของกราฟฟิตี้คือการเขียนเพื่อระบาย หรือเขียนเพื่อแสดงสัญญะให้กับสังคม

ซึ่งต่างจาก งานสตรีทอาร์ต (Street Art) ซึ่งเป็นการพ่นสีบนกำแพงเช่นกัน แต่เป็นการพ่นสีเป็นลวดลายงานศิลปะเน้นรูปทรง ตัวละคร เหมือนงานศิลปะทั่วไปที่เปลี่ยนจากผ้าใบ หรือกระดาษ มาเป็นกำแพง แต่ในยุคสมัยนี้ความหมายของทั้งสองคำมักเหลื่อมๆ กันเป็นคำเดียวคือ สตรีทอาร์ต เพราะส่งผลต่อมุมมองของผู้คนที่สัญจรไปมา

เราสามารถพบเห็นสตรีทอาร์ตในกรุงเทพฯ ได้บางพื้นที่ เช่น บริเวณสะพานเหล็ก ใกล้เมกาพลาซ่า พื้นที่ส่วนกลางใกล้สถานีบีทีเอสราชเทวี หรือที่อื่นๆ อีก เช่น ซอยเจริญกรุง ใกล้ริเวอร์ซิตี้, ริมคลองแสนแสบ ซอยเกษมสันต์, คลองโอ่งอ่าง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละที่มักเป็นสถานที่ที่จัดให้สำหรับทำงานสตรีทอาร์ตโดยเฉพาะ

graffiti-issue-SPACEBAR-Photo03.jpg

วนงานกราฟฟิตี้จะพบเห็นทั่วไปตามเมือง ไม่ว่าจะเป็นตึก อาคาร ตรอก หรือซอกซอย คนทั่วไปมักไม่ค่อยชอบงานประเภทนี้ เพราะงานกราฟฟิตี้มักรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ รวมถึงพื้นที่ส่วนตัว โดยไม่ได้รับอนุญาต หากว่าด้วยกฎหมายแล้ว การขีดเขียนใดๆ ก็ตามบนพื้นที่สาธารณะนับว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปีพุทธศักราช 2535 มาตราที่ 12 “ห้ามมิให้ผู้ใดขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี  หรือทำให้ปรากฎด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนน บนถนนที่ต้นไม้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่อยู่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ เว้นแต่เป็นการกระทำของราชการส่วนท้องถิ่น”

graffiti-issue-SPACEBAR-Photo04.jpg

ในฝั่งต่างประเทศนั้น การพ่นสีกราฟฟิตี้ตามพื้นที่สาธารณะก็เป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากถามว่าศิลปินเหล่านี้ใช้สถานที่ใดในการฝึกปรือฝีมือ พวกเขามักมีพื้นที่สำหรับการฝึกและแสดงผลงานอยู่แล้ว อาจเป็นสตูดิโอขนาดใหญ่ รวมถึงกำแพงในพื้นที่ร้างที่ถูกอนุญาตให้ใช้เป็นพื้นที่แสดงผลงานได้ แตกต่างจากบ้านเรา โดยเฉพาะกรุงเทพี่ฯ ที่ไม่ค่อยมีพื้นที่ให้มากนัก หรือมีพื้นที่ที่จัดไว้ แต่หลายคนก็ยังไม่ทำตามกฎ เพราะเห็นว่ายิ่งท้าทายยิ่งสนุก ยิ่งเติมเต็มความหมายให้กับความเป็นขบถของสตรีทอาร์ต

ด้วยจุดประสงค์งานที่ค่อนข้างขบถ ต่อต้านกฎเกณฑ์ งานกราฟฟิตี้เลยมักจะเขียนด้วยเนื้อหาสื่อถึงอะไรบางอย่าง บ่งบอกอัตลักษณ์คนวาด หรือบอกอะไรบางอย่างให้สังคมได้รับรู้ แต่ก็มีงานกราฟิตี้ที่วาดในพื้นที่เฉพาะ และมีการใช้ฝีมือในการวาดพอๆ กับงานสตรีทอาร์ตเช่นกัน ซึ่งบางทีอาจไม่จำเป็นต้องมีนัยยะถึงการเมืองตลอดไปอย่างเดียว หากแต่ทำไปเพื่อความสนุกเพลิดเพลินใจ

graffiti-issue-SPACEBAR-Photo05.jpg

อย่างไรก็ตาม  หากศิลปินต้องการจะแสดงผลงานกราฟฟิตี้หรือสตรีทอาร์ตของตัวเองจริงๆ ควรทำอย่างถูกกฎหมาย พ่นสีในพื้นที่ที่ได้รับการอนุญาต และที่สำคัญคือการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นในฐานะมนุษย์ด้วยกันในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขภายใต้กฎหมาย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์