บทละครที่ดี คือ บทที่ท้าทายวิธีคิดของผู้คนและกระตุ้นให้เรากล้าจินตนาการถึงโลกที่ปรารถนา
วิลเลม เดโฟ
หากมองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2,500 กว่าปีก่อน ตามคำบอกเล่าของนักปราชญ์ชื่อดัง อริสโตเติล ผ่านสมุดบันทึกที่จารึกไว้ว่าละครเวทีนั้นถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ การแสดงสดที่ถูกออกแบบให้เป็นสื่อกลางที่ใช้ในการสื่อสาร สะท้อนความเชื่อ และปัญหาในสังคมที่ฝังลึกแนบแน่นมาอย่างยาวนานโดยไร้ซึ่งการตัดสิน จนสามารถกล่าวได้ว่าบทและเวทีของโรงละครคือพื้นที่หนึ่งเดียวที่ให้อิสระในการบอกเล่า อันทำให้โลกได้มองเห็นความจริงเกี่ยวกับชีวิตและสถานการณ์ทางสังคมได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น
‘ฟา-ฟารีดา จิราพันธุ์’ นักแสดงละครเวทีมากฝีมือที่ฝากความประทับใจให้ผู้คนผ่านบทบาทต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นในละครเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์, รื้อ, ผีแมวดำ, แอนธิโกเน่, ตาดูดาวเท้าเหยียบเธอ, ไฟล้างบาป, คอย ก.ด เป็นต้น การทำงานตลอดระยะเวลา 26 ปีของเธอ ไม่เคยมีสักครั้งที่ความสามารถของผู้หญิงที่ชื่อว่าฟารีดาจะถูกกังขา ไม่ว่าจากผู้ชม หรือคนในแวดวงละครก็ตาม แต่วันหนึ่งเมื่อเธอตัดสินใจเก็บผมและคลุมฮิญาบ ความสามารถ ประสบการณ์ต่างๆ ที่มีกลับถูกมองข้ามไป เมื่อเป็นเช่นนั้น หญิงสาวจึงเลือกที่จะหยิบยกเรื่องราวชีวิตของตนเองมาเรียบเรียงและถ่ายทอดเป็นการแสดงผ่านบทละครพูดที่มีชื่อว่า ‘ฮิญาบ: หากพระองค์ทรงประสงค์’

1
ฟารีดาไม่ใช่เด็กเรียนเก่ง อีกทั้งยังเคยเกือบเรียนซ้ำชั้น แต่เธอเป็นคนกล้าแสดงออก สดใส มีความรักและหลงใหลในการแสดงตั้งแต่ยังเด็ก เธอเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลาม แต่เข้ารับการศึกษาในโรงเรียนคริสต์ และใช้ชีวิตบนแผ่นดินที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธ ความแตกต่างมากมายผสมปนเปล่องลอยอยู่รอบตัวเธอ กระนั้นกลับไม่ได้แทรกซึมหรือกัดเซาะบั่นทอนต่อความเชื่อภายในจิตวิญญาณ เธอยังคงโลดแล่นโบยบินอย่างอิสระทั้งบนเวทีและนอกเวที ทำอะไรตามใจ แต่งตัวตามต้องการ เธอเคยคิดว่าการคลุมฮิญาบเป็นเรื่องน่าอึดอัด รุ่มร่าม ขัดกับความชื่นชอบในเสื้อสายเดี่ยวและกระโปรงสั้น แต่แล้ววันหนึ่งในปี 2021 ความคิดและวิถีชีวิตที่เคยชินมาตลอดก็ต้องเปลี่ยนไปในพริบตา
“มันคือช่วงเวลาที่เหมาะสม ช่วงเวลาที่เราตัดสินใจมันเป็นช่วงเวลาส่วนตัวระหว่าง เรา กับ พระเจ้า เราไม่สามารถบอกได้ว่ามันคือเหตุผลอะไร แต่มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับเรา และมีความหมายในชีวิตกับเรามาก”
เธอกล่าวกับเราอย่างจริงใจถึงสาเหตุที่ตัดสินใจคลุมผมหลังจากใช้เวลาไตร่ตรองเกือบครึ่งชีวิต พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า “การตัดสินใจคลุมผมไม่ใช่การตัดสินใจเพียงเพราะชีวิตเจอวิกฤต ฮิญาบไม่ใช่ยาลดไข้ที่ปวดหัว ตัวร้อน เจ็บคอแล้วคลุมจะหาย เพียงแต่ถึงเวลาแล้ว ‘พระเจ้า’ เปิดใจรับเราแล้ว”

‘พระเจ้าเปิดใจ’ ประโยคสุดคลาสสิกที่ทำให้เรานึกถึงส่วนหนึ่งของชื่อละครของเธอ ‘หากพระองค์ทรงประสงค์’ เพราะหากเปรียบชีวิตของฟารีดาเป็นดั่งละครเวทีสักเรื่อง มันคงเป็นละครยุคกรีกโบราณ ที่ตัวละครมักได้รับบททดสอบจากพระเจ้า คอยหาหนทางแก้ปัญหา มุ่งหน้าสู่เป้าหมาย พบเจอเหตุปาฏิหาริย์จนสามารถบรรลุความตั้งใจ และเลื่อมใสพระเจ้าได้ในที่สุด
ชีวิตของเธอมักมีเรื่องราวปาฏิหาริย์เกิดขึ้นเสมอ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการเป็นนักแสดง ฟารีดาเล่าให้เราฟังว่าทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นขณะที่ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมต้น โรงเรียนพระแม่มารีสาทร เมื่อคุณครูให้นักเรียนตามหาหนังสือเพื่อมาอ่านและแบ่งปันกัน ทำให้เด็กที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ไม่แม้แต่จะสนใจหนังสือการ์ตูน ต้องออกไปหาหนังสือเพื่อนำมาทำงาน เธอเดินไปที่ร้านหนังสือพร้อมกับมองหาเล่มที่น่าจะเข้ากับเธอได้มากที่สุด กวาดสายตาไปจนทั่ว ชั้นแล้วชั้นเล่า ก่อนที่สายตาจะไปหยุดอยู่ที่หนังสือปรัชญาเล่มหนึ่งที่เธอเองก็ไม่รู้ว่ามันกำลังพูดเรื่องอะไร
“เราไม่ถูกกับเรื่องเรียนเลย แต่เป็นคนชอบทำกิจกรรมมาก ทุกการแสดงต้องมีฟารีดา เพื่อนๆ รัก เพื่อนๆ ชอบ จนถึงขนาดถูกโหวตเป็นประธานนักเรียน แต่เรื่องเรียนไม่ได้เลย ไม่ชอบอ่านหนังสือเลย มันเป็นอะไรที่ไปด้วยกันไม่ได้ แต่ตอนนั้นที่ต้องไปหาหนังสือจริงๆ เราไม่รู้เลยว่าจะอ่านอะไร แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าหนังสือที่หยิบมาคืออะไร เราไม่เข้าใจมันเลยสักนิด แค่รู้สึกว่าตอนที่ได้เปิดอ่านเนื้อหาข้างในมันเพราะมาก เราก็อ่านแล้วก็เออ เราชอบเล่มนี้จังเลย มันก็เลยกลายเป็นหนังสือเล่มแรกที่ประทับใจ และทําให้เราอ่านหนังสือแนวปรัชญาเรื่อยมา”
ความรักและความชื่นชอบด้านศิลปะของฟารีดาดำเนินมาเรื่อยๆ บ้างเติบโตเพิ่มพูน และบ้างหล่นหายไปตามกาลเวลา การแสดงเป็นหนึ่งในนั้น เธอห่างหายจากมันไปจนกระทั่งช่วงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยปีที่ 2 เมื่อได้รู้ข่าวว่าหนังสือ 'ปรัชญาชีวิต' ของ คาลิล ยิบราน ที่เธอรักกำลังจะถูก 'หม่อมหลวง พันธุ์เทวนพ เทวกุล' หรือ 'หม่อมน้อย' นำมาดัดแปลงเป็นละครเวที เธอจึงเดินทางไปชมการแสดงและประกายไฟในใจก็ได้ถูกจุดติดขึ้นอีกครั้ง เธอรู้สึกอยากเป็นนักแสดง อยากยึดครองพื้นที่บนเวที มันทำให้เธอรู้สึกใจเต้นเป็นอย่างมากเพียงแค่ได้นึกถึงมัน
“มันทำให้เราหวนคิดถึงตอนยังเป็นเด็ก เวลาที่เราได้อยู่บนเวที ได้ทำกิจกรรมต่างๆ เราทำการแสดงแบบนี้มาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต แต่พอถึงช่วง ม.ปลาย ตอนเราตัดสินใจเข้าเรียนสายอาชีพเรื่องพวกนี้ก็เริ่มหายไป มันไม่มีกิจกรรมให้แสดงแบบนี้ จนพอเราเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย เราได้ไปดูละครเวทีเรื่องนี้ มันทําให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! นี่มันคือที่ของเรา”
2

เมื่อฟารีดาสำเร็จการศึกษาระดับปริญาตรี ขณะพยายามหางานสายการสื่อสารมวลชนตามที่เธอร่ำเรียนมา เธอก็ได้เห็นข่าวประกาศรับสมัครนักแสดงจากวารสารข่าวของโรงละครแห่งหนึ่ง ทำให้เธอคิดว่านี่อาจเป็นโอกาสที่จะช่วยสานฝันและประกายไฟที่เคยเกิดขึ้นในตัวเธอได้ เธอจึงมุ่งหน้าไปที่โรงละครตามหมุดหมายที่ระบุไว้ในประกาศ แต่ก็เหมือนโชคชะตาเล่นตลกกับเธอ เมื่อพวกเขาอยากได้คนมีประสบการณ์ หรือนักเรียนที่จบการแสดงมาโดยตรง
“เขาไม่รับเรา เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์หรือความรู้ด้านละครเวทีเลย เราแค่ชอบอย่างเดียว แต่ตอนนั้นเราอยากทำจริงๆ เราเลยขอร้องเขาว่าขอเข้ามาทำตำแหน่งอะไรก็ได้ในคณะละครได้ไหม เราทำได้หมด”
“พอเข้ามาทำในช่วงแรกเราก็เป็นทีมงานปกติ แต่ก็ดันจับพลัดจับผลูขึ้นมาเป็นนักแสดง เพราะนักแสดงหลักเขาจำตารางผิด วันที่แสดงละครเป็นวันที่เขามีธุระสำคัญพอดี เราเลยได้ขึ้นมารับบทนี้แทน และเป็นนักแสดงประจำเลย เพราะละครหนึ่งเรื่องมันเล่นหลายรอบ ถ้าใครเล่นแล้วก็ต้องเล่นเลย เราก็เล่นมาเรื่อยๆ หลังจากเรื่องนั้นก็เล่นละครเวทีมาตลอด”
ราวกับปาฏิหาริย์ที่ทำให้เธอสมหวัง ชีวิตของเธอเป็นเช่นนั้นเสมอ ถูกลิขิตด้วยชะตาบางอย่างอย่างมีนัยยะ จากเด็กรักกิจกรรมที่ไม่ชอบการเรียน ไม่ถูกกับการอ่านหนังสือ แต่ก็ได้บังเอิญพบหนังสือปรัชญาซึ่งถูกนำมาดัดแปลงเป็นบทละครเวทีที่สร้างความรู้สึกใจเต้นและส่องให้เธอเห็นความฝันชัดเจนยิ่งขึ้น แม้เส้นทางจะไม่ได้เรียบง่ายกับการเข้าสู่วงการละคร แต่ท้ายที่สุดก็ได้เป็นนักแสดง
3

ชีวิตของนักแสดงฟารีดาเต็มไปด้วยบทบาท เรื่องราวน่าประทับใจ เสียงหัวเราะจากเพื่อนร่วมงาน เสียงปรบมือจากผู้ชม นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การเป็นมนุษย์อย่างใกล้ชิด ได้มองมันอย่างรอบด้าน และได้เปิดกว้างทางทัศนะในเรื่องต่างๆ มากมาย กระนั้นมันกลับไม่ได้ทำให้ความคิดและความเชื่อที่มีต่อฮิญาบของเธอในขณะนั้นเปลี่ยนไป มันยังคงดูน่าอึดอัดเกินไปสำหรับฟารีดา
“เรายังรู้สึกไม่ดีกับการคลุมผมอยู่นะตอนนั้น เรารู้สึกว่ามันไม่อิสระ และรู้สึกว่ามันเหมือนกดขี่ผู้หญิงนั่นแหละ ทําไมผู้ชายเปิดได้แต่ผู้หญิงต้องห้าม อีกอย่างเรามีความเชื่อว่าการคลุมผมมันเป็นเรื่องของคนดี คนที่ดูบริสุทธิ์ ซึ่งเราไม่ใช่คนแบบนั้น และเราก็ไม่ได้อยากเป็นคนดีขนาดนั้นด้วย เราก็แค่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ก็ห้าวแบบนี้”
‘ห้าว’ อาจเป็นคำจำกัดความที่หลายคนนึกไม่ออกว่าฟารีดาที่คลุมผ้าในวันนี้เคยมีลักษณะเช่นใดมาก่อน หากลองจินตนาการถึงหญิงสาวผิวเข้มร่างบางที่มีผมหยิกเหยียดยาวถึงกลางหลัง มีดวงตากลมโตดุดันคล้ายหาเรื่องตลอดเวลา และริมฝีปากที่มักจะพูดสิ่งต่างๆ ออกมาอย่างซื่อตรงจนอาจสร้างความขุ่นเคืองใจให้ใครหลายคน คงทำให้ผู้อ่านเห็นภาพความห้าวของหญิงสาวในขณะนั้นได้
ฟารีดา นักแสดงสาวกับภาพลักษณ์ของหญิงห้าวมีตัวตนอยู่อย่างนั้นมายาวนาน จนกระทั่งเมื่อปี 2021 เมื่อเธอได้คุยกับพระเจ้า และพระองค์ทรงเปิดรับเธอ ความคิด ความเชื่อที่เคยมีต่อฮิญาบมาอย่างยาวนานก็เริ่มเปลี่ยนไป
“เรารู้สึกว่าทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงคลุมผมหรือการคลุมผมของเราเปลี่ยนไป มันไม่ใช่เรื่องของการปกปิดหรือการกดขี่ การกดทับผู้หญิงไม่ให้โชว์เนื้อหนังมังสา แต่มันเป็นวิธีคิดหรือคอนเซ็ปต์ในการกำหนดและสร้างพื้นที่ขอบเขต เรายินยอมให้ใครเห็นพื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่ส่วนตัวของเราได้บ้าง ณ วันนี้เราเรียนรู้ ยอมรับ และจำนนต่อคำสอน ต่อพระเจ้าได้แล้ว”
แม้แนวคิดของเธอที่มีต่อฮิญาบของเธอจะเริ่มเปลี่ยนไป ทรงผมจะเริ่มเปลี่ยนแปลง จากหญิงสาวที่มีผมหยิกยาวในวันนั้น วันนี้เธอมีผมทรงใหม่ที่กลายเป็นผ้าคลุม เราอาจเห็นการเปลี่ยนผ่านที่แตกต่างไปของตัวเธอ แต่ฟารีดากลับบอกเราว่าตัวตนแท้จริงไม่ได้เปลี่ยนไป
“เราไม่ได้เปลี่ยนค่ะ เรายังเป็นเราเหมือนเดิม เพียงแต่อาจจะนิ่งขึ้น ระมัดระวังตัวในการแสดงออกมากขึ้น แต่เราว่านั่นเป็นเพราะอายุและความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นมาด้วยมากกว่า”

4
แม้ฟารีดาจะบอกว่าตัวตนของเธอไม่ได้เปลี่ยนไป แต่สำหรับสายตาของคนภายนอกแล้ว ผ้าคลุมผมที่เธอพันอยู่ ดูเหมือนจะผืนใหญ่เกินกว่าจะคลุมแค่ผม เพราะมันยังบดบัง ปิดกั้น อีกทั้งยังลดทอนโอกาสในชีวิตให้กับตัวเธอด้วย
หลังจากตัดสินใจคลุมฮิญาบ จากนักแสดงสาวที่ได้รับโอกาสทางการแสดงมากมาย ผู้คนหลายคนเริ่มปฏิเสธที่จะให้โอกาสและร่วมงานกับเธอ ราวกับว่าหญิงสาวคนนี้ได้กลับไปเป็นเด็กสาวไร้ประสบการณ์ที่วิ่งมายังโรงละครเพียงเพราะอยากแสดงอีกครั้ง
“งานหลายๆ งานเขาเริ่มปฏิเสธเรา แต่เราก็เข้าใจเขานะ เพราะมันคงต้องใช้เวลา ขนาดเราเป็นมุสลิม เรายังใช้เวลา 40 กว่าปีในการที่จะเข้าใจคำสอนและเรียนรู้ที่จะคลุมผ้า เพราะฉะนั้นคนในประเทศนี้ หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความแตกต่างแบบนี้ ก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเหมือนกันว่าผู้หญิงที่คลุมผมก็เป็นผู้หญิงธรรมดา เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกับผู้หญิงทุกคน เหมือนกับมนุษย์ทุกคน”

แม้ชีวิตของฟารีดาที่ได้คลุมผมจะเริ่มดำเนินไปเจอแสงสว่างมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน แต่ในฐานะนักแสดงหญิงฟารีดาดูเหมือนว่าจะไม่มีพื้นที่ใดที่แสงสว่างจะส่องเข้าไปถึงเธอได้เลย เราจึงตั้งคำถามว่า “แล้วทำไมเธอไม่ทำการแสดงในมัสยิด?”
“หลายครั้งหลายครา มนุษย์จะมองว่าละครเวทีเป็นศิลปะการบันเทิง ผู้หญิงจะมาร้องเล่นเต้นระบําเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควร ซึ่งนอกเหนือจากความเชื่อในสังคมแล้ว ในศาสนาของเรามีบัญญัติไว้ว่าเสียงของผู้หญิงถือเป็นเสียงที่ต้องห้าม ซึ่งพอคนเห็นมักจะถูกหยิบมาตีความมากมาย แต่เรารู้สึกว่าถ้าเราส่งเสียงในหนทางของพระเจ้า ส่งเสียงเพื่อสร้างสันติ เราก็ต้องทำได้สิ หากพระองค์ทรงประสงค์ เราก็เลยได้ไอเดียตรงนี้มาเกิดเป็นละครเวทีด้วย”
“เราสงสัยว่าก่อนหน้านี้ที่เราไม่ได้คลุมผมเราก็เป็นนักแสดงที่เล่นได้ทุกบทบาท แต่ทำไมพอเราคลุมผมปุ๊บ เขากลับไม่ให้เราเล่นเลยแม้แต่บทเดียว แล้วไหนบอกว่าละครคือเรื่องราวของชีวิตมนุษย์ แล้วผู้หญิงมุสลิมที่คลุมผมเขาไม่ใช่มนุษย์เหรอ คุณไม่เห็นพวกเราเหรอ บนถนน ในร้าน ในห้างสรรพสินค้า ในโรงพยาบาล ก็มีผู้หญิงมุสลิมเยอะแยะเลย คุณไม่เห็นพวกเราหรอ”
“พอมันเป็นแบบนี้ เราก็เลยตัดสินใจทําละครขึ้นมา แล้วตั้งคําถามกับสังคมว่า ‘เรามองเห็นหรือคิดกับผู้หญิงที่คลุมผมอย่างไร?’ หลายครั้งเราตัดสินพวกเธอไปแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่เคยคุยเลย พวกเธอไม่ได้สวดมนต์ หรืออ่านคัมภีร์เป็นอย่างเดียว พวกเธอทําอย่างอื่นเป็น ทำทุกอย่างได้เหมือนกับทุกคน”

‘ฮิญาบ: หากพระองค์ทรงประสงค์’ เป็นละครพูดที่ถูกเขียนบท กำกับ และนำแสดงโดย ฟารีดา จิราพันธุ์ บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของหญิงสาวในฐานะนักแสดงละครเวทีที่ค่อยๆ เติบโต พัฒนา และเปลี่ยนแปลงเมื่อเธอตัดสินใจคลุมฮิญาบ โดยภายในจะแฝงไว้ด้วยความคิดและความรู้สึกของเธอที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจเนื้อแท้ของความเป็นผู้หญิงคลุมผมมากขึ้น
“เรายังคงเป็นเรา แม้อาจมีบางอย่างเปลี่ยนไปบ้าง แต่นั่นเป็นเพราะกาลเวลาที่ทำให้เราได้เรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้น ไม่ใช่เพราะผ้าฮิญาบผืนนี้”
ดูเหมือนว่าฟารีดาในวันนี้จะได้พบเส้นทางที่เธอตัดสินใจเลือกและได้ตะโกนบอกเรื่องราวของผู้หญิงคลุมผมกับโลกใบนี้อย่างเสียงดังก้องกังวาน ทั้งจากบทละครและบทความชิ้นนี้แล้ว แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งจุดสำคัญที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากชีวิตของ ฟารีดา จิราพันธุ์ ส่วนจุดจบของละครชีวิตเรื่องยาวนี้จะเป็นอย่างไร เราคงจะต้องรอติดตามตอนต่อไป พร้อมบทสปอยล์ที่อาจค่อยๆ ถูกปล่อยออกมาผ่านละครเวทีเรื่องใหม่ของเธออีกครั้งก็เป็นได้