เสื้อฮาวายกับวันสงกรานต์ รู้จักเสื้อลายดอกที่เดินทางไกลมาจากเกาะฮาวาย

12 เม.ย. 2566 - 05:36

  • ทำความรู้จักกับที่มาของเสื้อลายดอกที่ชาวไทยนิยมสวมใส่ในช่วงวันสงกรานต์ แท้จริงแล้วมาจากช่างตัดเสื้อชาวญี่ปุ่น ก่อนจะได้รับความนิยมในฮาวาย และเดินทางมาสู่ประเทศไทยพร้อมกับวัฒนธรรมป็อปอเมริกัน

history-of-aloha-shirt-SPACEBAR-Thumbnail
เข้าสู่เทศกาลสงกรานต์แล้ว เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ไทย หลายคนถึงกับรื้อตู้เสื้อผ้าหาเสื้อผ้าลายดอกมาใส่ หรือบางคนอาจออกไปหาซื้อเสื้อลายดอกตัวใหม่เพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ ที่จะเข้ามา  

เสื้อลายดอก หรือเสื้อฮาวาย เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราคุ้นตากันมานานในเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงการใส่เสื้อลายดอก ยังเป็นภาพจำของบรรยากาศหน้าร้อน ดอกไม้ผลิบาน และความชุ่มฉ่ำของน้ำ 

ว่าแต่คนไทยนิยมใส่เสื้อลายดอกกันตั้งแต่เมื่อไหร่กัน? 

เสื้อลายดอกอีกชื่อคือเสื้อฮาวาย หรือว่าเสื้อพวกนี้มาจากฮาวาย แล้วทำไมเสื้อจากฮาวายที่อยู่ไกลแสนไกลถึงเข้ามามีอิทธิพลกับแฟชั่นหน้าร้อนของประเทศไทย มาทำความรู้จักกับเสื้อฮาวายให้มากขึ้น รวมถึงที่มาของการสวมใส่เสื้อฮาวายของชาวไทยในทุกเทศกาลสงกรานต์กัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/63qhTNUn5BYvccTesaL9N2/ba1d52c759926a7264c0d0c94fcf6c5f/history-of-aloha-shirt-SPACEBAR-Photo01
กระแสแฟชั่น รวมถึงวัฒนธรรมป็อปต่างๆ ที่กลายเป็นกระแสนิยมในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมหลั่งไหลเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์ แผ่นเสียง ดนตรี ไปจนถึงเรื่องแฟชั่นการแต่งกาย หรือภาพยนตร และแน่นอนหนึ่งในแฟชั่นการแต่งกายนั้นรวมถึงการสวมใส่เสื้อฮาวายด้วย 

แต่ทำไมเสื้อฮาวายถึงไปนิยมในสหรัฐอเมริกา? 

อย่างที่รู้กันว่าเกาะฮาวายเป็นหนึ่งในเขตการปกครองของสหรัฐอเมริกา แต่ก็ใช่ว่าคนอเมริกันจะสวมใส่เสื้อฮาวายกันมานมนาน กระแสวัฒนธรรมฮาวายเริ่มเป็นที่นิยมกันในสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นั่นเป็นจุดที่กระแสดนตรีฮาวายเริ่มต้นขึ้น รวมถึงเครื่องดนตรีสุดฮิตอย่าง ‘อูคูเลเล’ (Ukulele) ก็เริ่มเข้ามาเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมเล่นกันในหมู่วัยรุ่นในมหาวิทยาลัย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านไป เกิดเป็นยุคที่เรียกว่า ‘The Great Depression’ หรือช่วงที่เศรษฐกิจอเมริกาซบเซาลงหลังจากภาวะสงคราม ชาวอเมริกันเริ่มต้องการพักผ่อนหย่อนใจกันมากขึ้น จนหันไปมองวัฒนธรรมฮาวายอีกครั้ง แล้วหยิบสิ่งที่เป็นเครื่องแต่งกายมา  นั่นคือ ‘เสื้ออโลฮา’ (Aloha Shirt) หรือเสื้อลายดอกนั่นเอง เพราะถือว่าเป็นการแต่งกายที่สร้างภาพจำวันหยุดหน้าร้อนอันแสนสบายใจได้เป็นอย่างดี 
 
แต่ เสื้ออโลฮา นั้น แท้จริงแล้วกำเนิดมาจากช่างตัดเสื้อชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า โคอิจิโระ มิยาโมโตะ (Koichiro Miyamoto) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘มูซา-ชิยะ นักทำเสื้อเชิร์ต’ (Musa-Shiya The Shirtmaker) เขานำเอาผ้าที่ใช้ทำชุดกิโมโนมาตัดเป็นเสื้อเชิร์ตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1930s จน เอลเลอรี จุน (Ellery Chun) ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนซึ่งเกิดที่ฮาวาย นำไอเดียนี้มาต่อ 
ยอดทำเสื้อพิมพ์ลายสไตล์คล้ายเสื้อของมูซา-ชิยะ แต่เขาทำลายเสื้อให้มีกลิ่นอายของความเป็นฮาวาย แล้วนำมาวางขายในชื่อ ‘Hawaiian Shirt’ จนกลายเป็นที่นิยมใส่กันทั้งชาวฮาวายท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5QaSLqI1nmMDxwXmmqWiPb/1e3e5457ed4deeb76094c15f6b6aeffb/history-of-aloha-shirt-SPACEBAR-Photo02
Photo: โคอิจิโระ มิยาโมโตะ. Photo: thealohashirt
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/RHHCyMUqcdSPxElz3hMFW/179e6e4dbb54f02fc031c42e9e81986e/history-of-aloha-shirt-SPACEBAR-Photo03
Photo: ป้ายคอเสื้อของร้านมูซา-ชิยะ. thealohashirt
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6W4iCRWjJa7o11X3HcbKGz/48c0a1780637c3e824330e3bf42db3d8/history-of-aloha-shirt-SPACEBAR-Photo04
Photo: เอลเลอรี จุน. Ron Ronck
กระแสนิยมของเสื้อฮาวายเริ่มพุ่งขึ้นไปอีกเมื่อ เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) นักร้องเจ้าของฉายา ราชาร็อกแอนด์โรล (King of Rock and Roll) สวมใส่เสื้ออโลฮาในภาพยนตร์เรื่อง ‘Blue Hawaii’ (1961) ทำให้หลายคนมีภาพจำว่าเกาะฮาวายต้องคู่กับเสื้อลายดอก และวันหยุดหน้าร้อน และส่งวัฒนธรรมนี้ให้กับประเทศไทยจนเกิดการสวมใส่เสื้ออโลฮาในทุกหน้าร้อนควบคู่กับเทศกาลสงกรานต์
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/lHqe7nK4LJ6zAvZVTeEsJ/e561ff9abacaa675ad1fbf76b4bc57e9/history-of-aloha-shirt-SPACEBAR-Photo05
Photo: เอลวิส เพรสลีย์ ในภาพยนตร์เรื่อง Blue Hawaii. Praramount Pictures
สำหรับประเทศไทยเอง วัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อลายดอกก็มีมาเนิ่นนานเช่นกัน อย่างผ้าถุง หรือโจงกระเบน ที่มีการนำลายดอกไม้ไทยมาทำเป็นลวดลาย เสื้อคอกระเช้าที่ออกแบบด้วยลวดลายดอกไม้เล็กๆ การผสมผสานกันระหว่างสองวัฒนธรรมการแต่งกายจึงคล้ายคลึงและกลมกลืนกันอย่างน่าประหลาด ราวกับคนไทยยุคเก่าสวมเสื้อคอกระเช้าลายดอก พัฒนามาเป็นเสื้อเชิร์ตลายดอกสำหรับคนไทยยุคใหม่ 
 
และนี่คือเรื่องราวของเสื้ออโลฮาที่เดินทางมาไกลจากฮาวาย จากพื้นที่อีกฟากหนึ่งของโลก ผ่านเรื่องราวมากมายจนกลายมาเป็นเสื้อลายดอกวันสงกรานต์ที่เราสวมใส่กัน ว่าแล้วก็อยากหาเสื้อฮาวายหรือเสื้อลายดอกสักตัวมาใส่บ้าง เพราะวันหยุดหน้าร้อนมาถึงทั้งทีก็ต้องเฉลิมฉลองให้สุด  
 
สุขสันต์วันสงกรานต์นะทุกคน! 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์