ทำไมสัญลักษณ์หัวใจกับหัวใจมนุษย์จริงๆ ถึงมีรูปทรงไม่เหมือนกัน?

14 กุมภาพันธ์ 2567 - 07:12

history-of-heart-shape-SPACEBAR-Thumbnail
  • สัญลักษณ์ของหัวใจมีที่มาตั้งแต่ช่วงยุคกลาง เป็นฝีมือการวาดภาพของแพทย์ชาวอิตาลีที่วาดตามคำอธิบายของอริสโตเติล นักปรัชญากรีกโบราณ จนกลายเป็นภาพจำกันผิดๆ มาตลอดหลายร้อยปี

เข้าสู่ช่วงวาเลนไทน์ทีไรก็มีหัวใจประดับประดากันเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เว้นแต่กับในโรงเรียนที่นักเรียนหนุ่มสาวต่างพากันติดสติกเกอร์รูปทรงหัวใจกันเต็มไปหมด ไหนจะมีการซื้อดอกไม้ให้กันเพื่อสื่อถึงความรักที่ตนมีให้กับคู่รัก เรื่องดอกไม้ยังพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า แม้จะไม่ใช่ในโอกาสวันแห่งความรัก ดอกไม้ก็สามารถใช้ได้สำหรับการยินดี หรือสรรเสริญอีกฝ่ายได้ในทุกโอกาส แต่เรื่องที่น่าสงสัยยิ่งกว่าคือเรื่องของ ‘หัวใจ’ 
 
ในโลกยุคใหม่แบบนี้ คงไม่มีใครไม่เคยเห็นหัวใจจริงๆ กันมาก่อน (อย่างน้อยก็ในตำราชีววิทยาตอนมัธยมปลาย) หัวใจมนุษย์มีลักษณะคล้ายกำปั้น หรือถ้าพูดกันตามตรงมันคือก้อนเนื้อสีแดงที่มีรูปทรงไม่คล้ายกันอะไรทั้งนั้น พอเราปิดตำราชีววิทยาลง เรากลับเห็นสติกเกอร์ทรงหัวใจที่ติดอยู่บนหลังเพื่อนที่นั่งข้างหน้า ก็ถึงกับต้องเกาหัวว่าทำไมมันไม่เหมือนกันสักนิด นั่นสิ ทำไมหัวใจถึงมีรูปทรงแบบนั้น ข้างบนเป็นทรงโค้งคล้ายกับเลขสามคว่ำลง และมาบรรจบลงข้างล่าง ทั้งๆ ที่หัวใจจริงๆ ไม่มีรูปทรงแบบที่ว่า
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2BSsEho2BD5nfx9I3ZaQiH/1da8a49508c0b011c49b9504c1f2b841/history-of-heart-shape-SPACEBAR-Photo01
Photo: สัญลักษณ์ใบซิลเฟียมบนเหรียญโบราณ
มีตำนานเล่าขานว่ารูปทรงหัวใจในปัจจุบันที่เรามักเห็นกันนั้นมีที่มาจากรูปทรงของใบซิลเฟียม (silphium) พืชพรรณไม้ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (ตามหลักฐานที่พบคาดว่าสูญพันธุ์ตั้งแต่ 200 ปีก่อนคริสตกาล) ซิลเฟียมเป็นพืชหนึ่งในตำราแพทย์โรมันโบราณ และว่ากันว่าเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำคัญในการทำยาสวาท หรือ Love Potion ในยุคนั้น ใบซิลเฟียมจึงเป็นภาพแทนของความรักไปโดยปริยาย 
 
แต่นั่นเป็นเพียงทฤษฎีที่ไม่เข้าใกล้ความเป็นจริงสักเท่าไรนัก เพราะสาเหตุที่เกิดขึ้นจริงๆ ตามคำโต้แย้งของ ปิแอร์ วินเคน (Pierre Vinken) และ มาร์ติน เคมพ์ (Martin Kemp) นักวิชาการเจ้าของงาน ‘The Shape of Heart’ นั้นมาจากคำอธิบายเรื่องรูปทรงหัวใจของ อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณที่ยังขึ้นชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวงการวิทยาศาสตร์ อริสโตเติลเป็นนักปราชญ์ที่พยายามหาความรู้กับทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปรัชญา การละคร วิทยาศาสตร์ และดนตรี และยังเป็นนักคิดคนแรกๆ ที่พยายามหาความจริงของโลกผ่านการสำรวจธรรมชาติ อริสโตเติลเคยศึกษาเรื่องหัวใจมนุษย์ แต่แน่นอนว่าคำอธิบายของเขาผิดไปจากที่เรารู้ในตอนนี้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1ab0PYWZJnpiS9lFb3pabk/8197e57fb8dc0a34fcfbb7ef76764a1d/history-of-heart-shape-SPACEBAR-Photo02
Photo: Stanford
อริสโตเติลอธิบายว่าหัวใจของคนเรามีอยู่สามห้องด้วยกัน โดยมีรอยบุ๋มตรงกลาง (หรือเป็นทรงโค้ง) เช่นเดียวกันกัน กาเลน (Galen) แพทย์ชาวกรีกโบราณ ที่มีการเขียนตำราอธิบายหัวใจในลักษณะเดียวกัน เราต้องเข้าใจว่าในยุคนั้นการวาดภาพบนหนังสือไม่ใช่เรื่องที่นิยมทำกัน อย่าว่าแต่หนังสืออย่างที่เรารู้จัก สิ่งที่บันทึกตอนนั้นมีเพียงแผ่นกระดาษม้วนที่มักเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่า
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4S0yGBZBpkxc4toCSjBHE/1b5940ef195591a0ce4d58501f56cbe0/history-of-heart-shape-SPACEBAR-Photo03
Photo: ภาพวาดร่างกายของ ดา วิเจวาโน. Cambridge University
เวลาผ่านไปร่วมหลายร้อยปีในยุคกลาง ซึ่งเป็นยุคที่การเขียนภาพประกอบตำราเริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีการพบว่าตำราของ กีโด ดา วิเจวาโน (Guido da Vigevano) แพทย์ชาวอิตาลีในคริสต์ศตวรรษที่ 14 มีการวาดภาพหัวใจตามลักษณะที่อริสโตเติลอธิบายไว้ หลังจากนั้นการวาดภาพหัวใจก็เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น กอปรกับแนวคิดที่เชื่อว่าความรักมีความสัมพันธ์กับหัวใจทั้งในด้านความรู้สึก และความสำคัญที่สามารถมอบชีวิตให้กับมนุษย์ได้ ศิลปินติดภาพหัวใจแบบอริสโตเติลเพราะยุคนั้นการผ่าตัดเพื่อสำรวจศพเป็นเรื่องต้องห้ามตามข้อห้ามของศาสนจักร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/gMjddTGwSotqliPG9mnfd/e5f61e0362182901387abc2604bcb963/history-of-heart-shape-SPACEBAR-Photo04
Photo: ภาพวาดหัวใจของ ดา วินชี. Wikimedia
ความเชื่อเรื่องหัวใจเป็นรูปทรงโค้งดำเนินต่อไปจนถึงยุคเรเนอซองส์ที่มีการพัฒนาทางด้านภูมิปัญญา  วิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ แวดวงวิชาการเริ่มมาเข้าใจว่าแท้จริงแล้วหัวใจมนุษย์ไม่ได้มีรูปทรงอย่างที่คิดกัน โดยเฉพาะจากภาพวาดของ ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ที่มีความละเอียดพร้อมกับการอธิบายการทำงานของหัวใจ แต่ถึงกระนั้นหัวใจทรงโค้งก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความรักไปแล้ว และกลายเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ 
 
มันคงจะแปลกมากๆ เลยล่ะ หากเราจะวาดหัวใจด้วยรูปทรงหัวใจจริงๆ เพื่อสื่อถึงความรัก ซึ่งต่อให้มันจริงแค่ไหน ก็คงไม่เท่ากับหัวใจทรงโค้งที่ประวัติศาสตร์มนุษย์หลงปลงใจเชื่อกันมาหลายร้อยปี เผลอๆ อาจถึงพันปีเสียด้วยซ้ำ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์