วันแรงงานคืออะไร? เหตุใดจึงต้องให้ความสำคัญ

1 พ.ค. 2566 - 04:08

  • ประวัติความเป็นมาของ ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ที่เดิมทีใช้ชื่อว่า ‘วันกรรมกรสากล’

  • เป็นวันสำคัญในการเฉลิมฉลองและเชิดชูความทุ่มเทการทำงานของคนในสังคม

  • เพราะสิ่งที่ยิ่งใหญ่ล้วนมาจากผู้สร้างตัวเล็กๆ

history-of-labour-day-in-thailand-SPACEBAR-Thumbnail
‘วันแรงงานแห่งชาติ’ (National Labour Day) ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี โดยวันนี้ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดประจำปีที่มีการเฉลิมฉลองในทั่วโลกเพื่อระลึกถึงผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการผลิตและผลักดันส่งเสริมระบบเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับวันนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับวันแรงงานเห่งชาติให้มากกว่านี้กัน!  

เล่าย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา การผลิตในระบบอุตสาหรกรรมสมัยใหม่มีสภาพเปรียบเสมือน ‘โรงงานนรก’ ที่ผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรควบคู่กับแรงงานมนุษย์โดยไม่มีสวัสดิการหรือข้อตกลงที่ชัดเจนระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ชนชั้นแรงงานถูกขูดรีดอย่างหนักเพื่อสั่งสมทุนในระบบทุนนิยม โดยทำงานกันถึงวันละ 16 – 18 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงสวัสดิการใดๆ จึงทำให้มีการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานเพื่อปลดแอกผู้คนนับครั้งไม่ถ้วน  

ซึ่งเหตุการณ์ที่ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นกำเนิดของ ‘วันกรรมกรสากล’ หรือ ‘วันเมย์เดย์’ (May Day) ก็คือเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘การจลาจลที่เฮย์มาร์เก็ต’ ด้วยเหตุการณ์ครั้งนี้สืบเนื่องมาจากสหพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดากำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 เป็นวันหยุดงานครั้งครั้งใหญ่ และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง ‘ระบบสามแปด’ หรือการทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง  

ต่อมาด้านฝั่งของประเทศไทย ก็ได้มีการจัดงานวันกรรมกรสากลอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1946 ณ สนามหน้าสำนักงานสมาคมไตรจักร์ พระราชวังอุทยานสราญรมย์ ที่จัดขึ้นโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพร่วมกับสมาคมไตรจักร์ โดยมีผู้เข้ารว่มประมาณ 3,000 คน  

และในการชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ. 2490 ที่ถูกจัดขึ้นที่ท้องสนามหลวง ภายใต้คำขวัญ ‘กรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน’ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ ‘สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย’ วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกร โดยกรรมกร และเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง 

แต่เมื่อเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐบาลเผด็จการทหารจึงสั่งห้ามจัดงานวันกรรมกรสากล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2499 ที่ได้มีการรวมตัวกันในนาม ‘กรรมกร 16 หน่วย’ เคลื่อนไหวให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายรับรองสิทธิด้านต่างๆ และให้มีการจัดงานวันกรรมกรสากล แต่จากการเจรจากลับทำให้ประชาชนต้องยอมรับเงื่อนไขการเปลี่ยนชื่อจาก ‘วันกรรมกรสากล’ เป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ที่ถูกใช้มาจนถึงทุกวันนี้ 

ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับบทบาทของแรงงานในการเรียกร้องสิ่งที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าแค่เรื่อง ‘ค่าจ้าง’ แต่หมายถึง ‘คุณภาพและความมั่นคงในชีวิต’ รวมทั้งนโยบายเรื่องสวัสดิภาพของแรงงาน พร้อมส่งเสริมความเท่าเทียมโดยการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่ทำงานอย่างรับผิดชอบ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์