เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งเทศกาลหยุดยาวที่คนไทยทุกคนรอคอย สำหรับเทศกาลสงกรานต์ปี 2568 นี้วันหยุดยาวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายนซึ่งเป็นวันเสาร์ ไปจนถึงวันที่ 16 เมษายนซึ่งเป็นวันพุธ หลายคนเพียงแค่ให้ความสนใจในเรื่องวันหยุดที่จะได้พักผ่อนรวมไปถึงเล่นน้ำสงกรานต์กับครอบครัว แต่รู้หรือไม่ว่าวันสงกรานต์แท้จริงแล้วมีประวัติความเป็นมาและตำนานอันเป็นที่มาของนางสงกรานต์ทั้งเจ็ดที่ประจำทั้งเจ็ดวัน
ตามคติโบราณที่สืบทอดกันมาแต่เดิมจนถึงปัจจุบันถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย โดยปกติกำหนดวันสงกรานต์ไว้สามวัน วันแรกเรียกว่าวันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ วันที่สองเป็นวันเนา และวันที่สามเป็นวันเถลิงศก (วันขึ้นปีใหม่เปลี่ยนจุลศักราช)
ตามตำนานของวันสงกรานต์ได้กล่าวไว้ว่า ก่อนสมัยพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่งไร้ทายาทสืบสกุลจนทำให้เกิดความทุกข์ใจอย่างมาก จึงได้ยกขบวนบริวารไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์เป็นเวลาสามปีแต่ก็ไร้ผล จนวันหนึ่งเศรษฐีได้ยกขบวนบริวารไปที่โคนต้นไทรใหญ่และสั่งให้เหล่าบริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดเจ็ดครั้งแล้วค่อยหุงข้าว เมื่อข้าวสุกก็ยกขึ้นบูชาพระไทร เหล่าทวยเทพที่สถิตอยู่ที่ต้นไทรแห่งนั้นเกิดความสงสารจึงไปเฝ้าพระอินทร์ขอบุตรให้แก่ครอบครัวเศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรนามว่า ธรรมบาล ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อภรรยาเศรษฐีได้คลอดบุตรออกมาจึง้ตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบแทนคุณของเหล่าทวยเทพที่ให้พรและสร้างปราสาทสูงเจ็ดชั้นถวายแด่เทพต้นไทร
ธรรมบาลกุมารเติบโตมาด้วยความรู้และปัญญาเฉียบแหลม เรียนจบไตรเพทในวัยเพียง 7 ขวบปีเท่านั้น รู้ไปถึงเทพองค์หนึ่งนามว่า ท้าวกบิลพรหม จึงอยากท้าทายสติปัญญาของเด็ก 7 ขวบผู้นี้ โดยตั้งคำถามให้ธรรมบาลกุมารตอบ 3 ข้อคือ 1. ตอนเข้าราศีคนอยู่ที่ใด 2. ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่ใด และ 3. ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่ใด ถ้าหากธรรมบาลกุมารตอบได้จะยอมตัดหัวของตัวเองเพื่อบูชา ถ้าหาคำตอบไม่ได้ธรรมบาลกุมารจะต้องตัดหัวตัวเองเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้
ธรรมบาลกุมารไม่สามารถตอบกลับได้ทันทีจึงขอเวลาในการคิดหาคำตอบ 7 วัน เมื่อเข้าสู่วันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ยังหาคำตอบไม่ได้จึงหนีออกจากปราสาท เดินทางเข้าสู่ป่าเพื่อพักเอาแรงก่อนจะไปคิดต่อ เขานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีคู่แร้งผัวเมียเกาะกิ่งไม้คุยกันเรื่องหาอาหารกินในวันพรุ่งนี้ แร้งตัวผู้บอกว่า “ไม่ต้องคิดไปไหนไกล พรุ่งนี้ก็จะได้กินซากของธรรมบาลกุมารแล้วเพราะคงตอบคำถามของท้าวกบิลพรหมไม่ได้”
แร้งตัวเมียสงสัยว่าคำถามที่ว่าคืออะไร แร้งตัวผู้จึงเล่าให้ฟังพร้อมกับเฉลยว่า “ตอนเช้าราศีของคนอยู่บนหน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกวัน ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่ที่อก คนจึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก และตอนค่ำราศีของคนอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนนอน”
เมื่อธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นจึงเอาคำพูดของแร้งตัวผู้มาตอบซึ่งเป็นคำตอบที่ถูกต้อง ตามคำสัตย์ที่ท้าวกบิลพรหมให้ไว้กับธรรมบาลกุมาร ท้าวกบิลพรหมจึงเรียกธิดาทั้งเจ็ดของตนให้นำพานมารองหัวของตนไว้ เพราะหากหัวของท้าวกบิลพรหมตกลงบนดินแผ่นดินจะลุกเป็นไฟ ถ้าหากโยนหัวไปบนฟ้าอากาศจะแห้งแล้งฝนจะหายไป และหากโยนลงน้ำน้ำนั้นก็จะเหือดแห้งไปเช่นกัน
เมื่อตัดหัวตัวเองแล้วจึงส่งให้กับธิดาคนโตที่มีนามว่า ทุงษธิดา นางได้นำหัวของบิดาไปแห่รอบเขาพระเมรุเป็นเวลา 60 นาทีแล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส พระเวสสุกรรมก็ได้เนรมิตโรงประดับด้วยแก้วเจ็ดประการชื่อภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เหล่าเทวดาทั้งปวงนำเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง จากนั้นแจกกันเสวยจนครบทุกองค์ ครั้นเมื่อครบ 365 วันเมื่อโลกสมมติว่าเป็นหนึ่งปีให้นับว่าวันนี้คือวันสงกรานต์ และธิดาทั้งเจ็ดของเท้ากบิลพรหมต้องผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปีแล้วจึงกลับไปยังเทวโลก
ย้อนกลับไปเท้าความเรื่องราวของนางสงกรานต์ทั้งเจ็ด ธิดาของท้าวกบิลพรหม เหล่าบุตรีเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ชั้นที่ 1 หรือชั้นจาตุมหาราช หน้าที่หลักคือการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปีหรือในวันสงกรานต์นั่นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่

สำหรับนางสงกรานต์ปี 2568 นี้ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวังกล่าวว่า เป็นปีมะเส็ง (มนุษย์ผู้ชาย ธาตุไฟ) สัปตศก จุลศักราช 1387 ทางจันทรคติ เป็นอธิกวาร ทางสุริยคติเป็นปกติสุรทิน วันที่ 14 เมษายนเป็นวันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน 5 เวลา 04 นาฬิกา 28 นาที 28 วินาที
นางสงกรานต์ 2568 ทรงนามว่า ทุงสะเทวี ทรงพาหุรัด ทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช (แก้วทับทิม) ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จไสยาสน์หลับเนตรมาเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ
ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง ทำนายว่าวันที่ 16 เมษายน เวลา 08 นาฬิกา 27 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1387 สำหรับปีนี้วันศุกร์เป็นธงชัย, วันศุกร์เป็นอธิบดี, วันพฤหัสบดีเป็นอุบาทว์, วันอาทิตย์เป็นโลกาวินาศ
ปีนี้วันพุธเป็นอธิบดีฝน จึงบันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 60 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 240 ห่า นาคให้น้ำ 5 ตัว
เกณฑ์ธัญญาหารได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังสาหารจะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ ประชาชนทั้งหลายจะเป็นสุขสมบูรณ์แล เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีอาโป (น้ำ) น้ำมาก
ตามความเชื่อโบราณการที่นางสงกรานต์ทรงนามว่า ทุงสะเทวี ทัดดอกทับทิมและเสวยผลอุทุมพรมีนัยสำคัญที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารและผลผลิตทางการเกษตรที่จะมีมากในปีนี้ ประชาชนจะอยู่ดีกินดี มีความสุขสมบูรณ์ แต่ทางฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ระบุว่าปีนี้วันพุธเป็นอธิบดีฝนจึงบันดาลให้ฝนตก 600 ห่า ตีความง่ายๆ ได้ว่าปีนี้น้ำหลากแน่นอน ส่วนจะเท่ากับปี 2566 ที่มีการพยากรณ์ว่าฝนตก 600 ห่า แล้วประเทศไทยประสบอุทกภัยที่ภาคอีสานและภาคใต้หรือไม่นั้นไม่อาจคาดการณ์ได้
ทั้งหมดทั้งมวลตำนานวันสงกรานต์เกิดจากคนคนหนึ่งที่ไม่เคารพ ด้อยค่าความรู้ของผู้อื่น และคิดว่าเขาไม่เก่งพอที่จะแก้ไขปัญหาได้จนตนเองต้องถึงแก่กรรมและยังตกเป็นภาระของคนที่อยู่ข้างหลัง