สังคมของการทำงานถือเป็นอีกสังคมหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอมันในทุกๆ วัน แน่นอนว่าเราอาจถูกบีบให้ต้องเจอมันอย่างเลี่ยงไม่ได้เพราะภาระที่มี และปัญหาปากท้อง แต่เมื่อคนจากหลายที่ จากหลาย สังคม และหลายช่วงอายุมาเจอกัน ก็มักจะเกิดเป็นช่องว่างระหว่างวัย (Gap Generation) ซึ่งเรามักจะสังเกตได้อยู่บ่อยครั้งว่าคนที่ช่วงอายุห่างกันมากๆ มักจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง
แต่จริงๆ แล้ว ‘อายุ’ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานไหม?
บนโลกใบนี้มีพฤติกรรมหนึ่งที่ชื่อว่า Ageism หรือการเหยียดอายุ ที่ถูกบัญญัติไว้บนเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยบอกว่าสิ่งนี้เกิดจากความคิดที่อคติ และการเลือกปฏิบัติต่อผู้อื่นตาม ‘อายุ’ โดยพฤติกรรมนี้จะสามารถเกิดได้กับคนในทุกวัย พฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นการเหมารวมและชี้นำ และนอกจากจะเป็นเรื่องอายุแล้ว มันอาจจะเกี่ยวข้องกับเพศ เชื้อชาติ และความพิการได้ด้วย
WHO ระบุว่า ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกต่อต้านผู้สูงอายุ และในยุโรปซึ่งเป็นภูมิภาคเดียวที่มีข้อมูลในทุกกลุ่มอายุและมีรายงานว่า ผู้ที่อายุน้อยมักเลือกปฏิบัติด้านอายุมากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆ ซึ่งการเหยียดอายุอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม จิตใจ และอาจทำให้อายุสั้นลงได้มากถึง 7 ปีครึ่ง เนื่องจากสภาพร่างกายและจิตใจที่ย่ำแย่ลง และฟื้นตัวจากความเจ็บป่วยได้ช้า
ขยับออกมาให้ใกล้บ้านเราหน่อยอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ ที่เกิดเป็นเรื่องราวงงๆ ของหนุ่มออฟฟิศที่มีอายุ (จริงๆ) คือ 39 ปี แต่เขาเลือกที่จะบอกใครต่อใคร และทรานส์อายุตัวเองให้ลดลงเหลือ 28 ปี
ชายหนุ่มจากเกียวโตผู้นี้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘แจ็กกี้’ กลายเป็นไวรัล (Viral) ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่เขาบอกเล่าตัวตนของเขาในรายการเรียลลิตีโชว์ ‘Abema Prime’
แจ็กกี้ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2527 เล่าว่า สิ่งที่ทำให้เขาต้องทรานส์อายุตัวเองลงมาเกิดขึ้นจากประสบการณ์การทำงานของเขาเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เพียงเพราะการที่เขา ‘ไม่รู้’ อะไรสักอย่างแม้ว่าเขาจะอายุเยอะกว่าใครๆ ก็ตาม โดยเขารู้สึกถึงน้ำหนักของแรงกดดัน ความคาดหวังและการตัดสินของสังคม และสุดท้ายเขาก็ตัดสินใจยอมรับสิ่งที่มันสอดคล้องกับบุคลิกของเขาเสียที
“ผมรู้สึกอยากคงตัวเลข(อายุ)เอาไว้ และผมก็พบว่าช่วงชีวิตของผมในวัย 28 เป็นช่วงที่สนุกและสบายใจที่สุด มันเป็นวัยที่ผมจะสร้างความสมดุลระหว่างผู้ใหญ่และเด็กเอาไว้ได้” แจ็กกี้เล่าพร้อมบอกว่า ถึงอย่างนั้นเขาก็เขียนอายุจริงๆ ของเขาลงไปในเอกสารราชการ และเรซูเม่เวลาสมัครงานเหมือนเดิม แต่ในแง่ของการใช้ชีวิตเขาจะยังคงใช้ชีวิตในฐานะหนุ่มวัย 28 ปี
มุมมองทางจิตวิทยา
ดร. ทาคาชิ ซูกิยามะ นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยคานากาว่าอธิบายว่า บุคคลเช่น แจ็กกี้ ผู้ซึ่งรับรู้ถึงช่องว่างทางอารมณ์ และอายุทางจิต อย่างมีนัยสำคัญจากอายุตามลำดับเวลา ไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมที่อุดมไปด้วยข้อมูลในปัจจุบัน ซึ่งยิ่งอายุมากขึ้น ก็ยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นเมื่อสังคมกำลังดำเนินไปข้างหน้า
นอกจากนี้ ดร.ซูกิยามะ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ประสบการณ์ของแจ็กกี้เน้นย้ำถึง ‘ช่องว่าง’ ที่มักเป็นจิตใต้สำนึกระหว่างการรับรู้และอายุตามลำดับเวลา คนข้ามวัยอย่างเขาอาจใช้ช่องว่างนี้เพื่อกำหนดภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งมักจะส่งเสริมการรับรู้ตนเอง
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะในสังคมญี่ปุ่น หรือสังคมการทำงานของไทย ควรจะให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลต่างสั่งสมมา หรือวิธีการทำงานที่จะนำพาทีมงานไปถึงเป้าหมายขององค์กร และมองว่าอายุที่แท้จริงเป็นเพียงบันทึกจำนวนปีที่ผ่านไปนับตั้งแต่เกิด และไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถ หรือความสำเร็จของคนๆ หนึ่ง