40 ปี แมคอินทอช จุดเริ่มต้น ‘ความคิดต่าง’ ของบริษัทที่ชื่อ Apple

24 มกราคม 2567 - 07:23

how-macintosh-changes-the-world-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ครบรอบ 40 ปี ของคอมพิวเตอร์แมคอินทอช (Macintosh) กับโฆษณา ‘1984’ อันน่าทึ่งของ Apple ที่บอกเล่าแก่คนทั้งโลกว่า Apple เป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ที่กล้าคิดต่าง

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ในปี ค.ศ. 1984 หรือ พ.ศ. 2527 บริษัท Apple ประสบความสำเร็จในการเสนอ ‘Macintosh 128K’ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบออลอินวัน (all-in-one) เป็นสินค้าตัวแรกของบริษัท แม้ว่าจะไม่ได้ครองตำแหน่งคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบออลอินวันเครื่องแรกของโลกซึ่งก็คือเครื่อง HP 9830 แต่ Macintosh 128K ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ว่าคอมพิวเตอร์นั้นเหมาะสำหรับผู้ใช้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะในการทำงาน หรือองค์กรเท่านั้น

how-macintosh-changes-the-world-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Wikimedia

แมคอินทอช (Macintosh) เป็นชื่อรุ่นคอมพิวเตอร์ของ Apple ที่ สตีฟ จ็อบส์ (Steve Jobs) ตั้งตามชื่อพันธุ์แอปเปิลที่เขาชื่นชอบ ซึ่งก็คือพันธุ์แมคอินทอช (McIntosh) โดยไลน์การผลิตเป็นการต่อยอดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนหน้าอย่าง Apple II และ Apple Lisa จ็อบส์เริ่มตั้งโปรเจกต์ Macintosh ขึ้น โดยหวังว่าจะมีศักยภาพมากกว่า Apple Lisa โดยคุณสมบัติแรกที่โดดเด่นเห็นได้ชัดคือการทำให้กลายเป็นออลอินวันคอมพิวเตอร์ หรือมีทั้งคอมพิวเตอร์ โพรเซสเซอร์ ลำโพง จอ จบครบในเครื่องเดียว ที่สำคัญคือการออกแบบที่ลดการใช้สายไฟระโยงระยางเพื่อความสวยงามและสะดวกในการใช้งาน ส่วนชื่อ 128K มาจากจำนวน RAM ของเครื่อง หรือ 128 กิโลไบต์ (มากกว่า Apple Lisa ที่มีเพียง 68 KB)

สิ่งที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือโฆษณา ‘1984’ ที่โด่งดังที่สุดในยุคนั้น โดยถือว่าเป็นโฆษณาที่นำเสนอภาพลักษณ์บริษัท Apple และเครื่อง Macintosh ไปพร้อมๆ กัน ถ้าใครเคยอ่านหรือได้รับชมสื่อเกี่ยวกับ Apple มาบ้าง น่าจะคุ้นเคยกับคลิปวิดีโอที่มีหญิงสาวในชุดกีฬา เหวี่ยงค้อนไปที่จอจนแตกสลาย ดูเผินๆ อาจเข้าใจได้ยาก แต่โฆษณานี้คือการนำเสนอสิ่งที่ Apple ต้องการให้คนทั้งโลกมองเห็นตัวแบรนด์

ประการแรกคือโฆษณานี้ตั้งใจสื่อให้อยู่ในกรอบของนวนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวล (George Orwell) บนโลกที่ถูกจับตามองโดยเผด็จการ Apple พยายามเลือกใช้คำเพื่อนำเสนอตัวเองให้ต่างออกไปนั่นคือ “พวกเราไม่ใช่คนใหญ่คนโต (เผด็จการ) พวกเราเป็นบริษัทเล็กๆ ที่อยากทำอะไรที่แตกต่าง และคิดว่านี่คือหนทางที่ดีกว่า” ลองนึกภาพว่าในช่วงปี 1980s-1990s การเสนอขายสินค้ามักมีภาพจำผูกโยงอยู่กับบริษัทพัฒนาที่ใหญ่โตเสมอ ยิ่งบริษัทใหญ่เท่าไหร่ยิ่งที่ผลต่อการขายสินค้า หรือกล่าวได้ว่าความใหญ่โตของบริษัทเป็นการชี้นำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าได้อย่างง่ายดาย (เหมือน Big Brother เผด็จการที่ปรากฎในนวนิยาย 1984) สิ่งที่ Apple ทำคือการวางตัวเองอย่างถ่อมตัวในฐานะบริษัทขนาดเล็ก แต่ความเล็กเป็นความสดใหม่ น่าตื่นเต้น เหมาะสำหรับผู้ซื้อที่กล้าที่จะแตกต่าง

ประการที่สองที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โฆษณา 1984 ไม่มีภาพการนำเสนอผลิตภัณฑ์เลยจนถึงช่วงท้ายสุดของโฆษณา นี่คือความฉลาดในการนำเสนอสินค้าของ Apple ที่ต้องการให้เกิดอารมณ์ร่วม และเข้าใจสารที่้ต้องการจะสื่อมากกว่าการอธิบายเกี่ยวกับตัวคอมพิวเตอร์แบบละเอียดยิบ ทั้งสองประการนี้ทำให้โฆษณา 1984 ของ Apple เป็นที่พูดถึงตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

how-macintosh-changes-the-world-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Wikimedia

อย่างไรก็ตาม เครื่อง Macintosh 128K ไม่ได้เป็นรุ่นที่ดีที่สุดในขณะนั้น ผู้คนต่างให้ความเห็นว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่ค่อนข้างมีขีดจำกัด ทำอะไรไม่ได้มาก เหมาะสำหรับผู้ใช้ทั่วไป แต่ไม่เหมาะกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญในวงการเทคโนโลยี เพราะในแวดวงเทคโนโลยีนั้นคอมพิวเตอร์จัดเป็นฮาร์ดแวร์ที่ควรใช้เป็นอุปกรณ์ในการพัฒนาซอฟต์แวร์

ถึง Macintosh 128K จะไม่ได้เป็นคอมพิวเตอร์ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกมากขนาดที่ Apple เป็นอยู่ตอนนี้ แต่นับว่าเป็นโปรเจกต์ที่ประสบความสำเร็จของ สตีฟ จ็อบส์ และถูกใช้พัฒนาเป็นรุ่นต่อๆ มาจนกลายเป็น iMac รวมถึง MacBook อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการประสบความสำเร็จที่เหนือกว่า ใครจะรู้ว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า Macintosh อาจถูกพัฒนากลายเป็นเทคโนโลยีที่เราไม่คาดคิด เหมือนที่คนในยุค 80s ไม่คาดคิดว่า Apple จะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์