ในปี ค.ศ. 1492 ในช่วงยุครุ่งเรืองของประเทศอาณานิคมอย่าง อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส และเบลเยี่ยม คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักเดินเรือชาวอิตาลีได้รับทุนสนับสนุนจากสเปนในการแสวงโชคเพื่อนำความยิ่งใหญ่กลับสู่ประเทศ โคลัมบัสตั้งหมุดหมายว่าเขาจะเดินทางไปอินเดีย ดินแดนในเอเชียที่เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากในขณะนั้น แต่ด้วยความโชคร้ายที่โชคดี กระแสได้พัดพาเขาไปเจอกับหมู่เกาะบาฮามาส อันเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ชาวยุโรปเรียกกันว่า ‘โลกใหม่’ (New World) อย่างไรก็ตาม โคลัมบัสยังเชื่อว่าที่นี่คืออินเดีย และยังเรียกชนพื้นเมืองว่า ‘ชาวอินเดีย’ อีกด้วย

ภายหลังโคลัมบัสได้รู้ว่าชาวอินเดียแท้จริงไม่ใช่ชาวอินเดียอย่างที่เขาคิด แต่เป็นชาวพื้นเมืองของโลกใหม่ที่ทุกวันนี้เรียกว่า ‘ชาวอเมริกันพื้นเมือง’ แต่ถึงกระนั้นชาวไทยก็ยังติดกับคำว่า ‘ชาวอินเดียนแดง’ (ด้วยโทนสีผิวออกคล้ำแดง) มากกว่า ซึ่งปัจจุบันนั้นชาวอเมริกันพื้นเมืองมีปริมาณประชากรกว่า 9 ล้านคน ถ้านับเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้นนับเป็น 2.9 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวอเมริกันทั้งหมด 329 ล้านคน

ชาวอเมริกันพื้นเมืองถ้าระบุเป็นเชื้อชาตินั้นจะจัดอยู่ในกลุ่มมองโกลอยด์ นั่นก็คือเป็นญาติห่างๆ กับชาวจีน รวมถึงชาวเอเชียกลุ่มอื่นๆ ด้วยสภาพอากาศทั้งภูมิภาคทำให้ชาวอเมริกันพื้นเมืองมีสีผิวที่เข้มกว่า และจมูกโด่งกว่าชาวเอเชียโดยทั่วไป ตามหลักฐานประวัติศาสตร์พบว่าชาวอเมริกันพื้นเมืองพบได้ตามทวีปอเมริกาตั้งแต่เหนือ กลาง ใต้ และยังพบความคล้ายคลึงกันทางดีเอ็นเอบริเวณตะวันออกสุดของจีนและรัสเซีย
โดยส่วนใหญ่แล้วชาวอเมริกันพื้นเมืองจะไม่เรียกตัวเองว่า ‘เนทีฟอเมริกัน’ หรือ ‘อินเดียน’ แต่จะเรียกตัวเองตามกลุ่มหรือเผ่าของตัวเอง สังเกตว่าพวกเขาจะมีอยู่หลายกลุ่มมากราว 500 กว่าชนเผ่า โดยกลุ่มที่โด่งดังจะมี เชโรคี (Cherokee), นาวาโจ (Navajo), ซู (Sioux), อาปาเช่ (Apache), โอเซจ (Osage) เป็นต้น มีภาษาพูดที่แตกต่างกันร่วม 300 ภาษา
อาปาเช่อาจเป็นชื่อที่คุ้นหูสำหรับชาวไทย เพราะเป็นแบรนด์ยี่ห้อยาแก้ไอ แต่สำหรับชาวโลกเผ่าที่โด่งดังมากที่สุดคือ โอเซจ เพราะเคยเกิดเหตุการณ์ฆาตกรรม 60 กว่าคนที่เป็นชาวอเมริกันพื้นเมืองจากเผ่านี้ในช่วงปี 1918-1931 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการหวังผลประโยชน์ การทุจริต จนรัฐบาลต้องก่อตั้งหน่วยงานเอฟบีไอ (FBI) เพื่อมาเปิดโปง เหตุการณ์นี้ถูกนำมาเขียนเป็นนวนิยายโดย เดวิด แกรนน์ (David Grann) ในชื่อ ‘Killers of the Flower Moon: The Osage Murders and the Birth of the FBI’ และขึ้นหิ้งเป็นหนังสือขายดีจนปัจจุบันถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันโดย มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese)

อีกหนึ่งบุคคลที่โด่งดังคือ ซาชีน ลิตเติลเฟเธอร์ (Sacheen Littlefeather) จากเผ่าอาปาเช่และยาคี (Yaqui) ย้อนกลับไปเมื่อปี 1973 มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) ได้รับรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำยอดเยี่ยม จากเรื่อง ‘The Godfather’ หลังจากพิธีประกาศชื่อของเขาไป กลับไม่มีใครขึ้นมา สักพักซาชีนในชุดอินเดียนแดงก็เดินขึ้นมา และกล่าวว่า เธอนั้นตั้งใจขึ้นมาปฏิเสธรางวัลออสการ์แทน มาร์ลอน แบรนโด เพื่อปกป้องสิทธิชาวอินเดียนแดง หรือชาวอเมริกันพื้นเมือง ในสื่อบันเทิง

“น่าเสียดายที่แบรนโดไม่สามารถรางวัลอันดีงามนี้ได้ เป็นเพราะวิธีการนำเสนอภาพลักษณ์ชาวอเมริกันพื้นเมืองของวงการภาพยนตร์” เธอกล่าวท่ามกลางเสียงปรบมือ และเสียงโห่ร้อง แสดงถึงความไม่พอใจของผู้ชม ณ เวลานั้น “ฉันยืนยันว่าฉันไม่ได้พยายามบุกรุกค่ำคืนแสนวิเศษนี้ และหวังว่าในอนาคต ความเข้าใจของเราจะประจวบกันอีกครั้งด้วยความรักและความเอื้อเฟื้อ”
ในวงการภาพยนตร์อเมริกัน สื่อบันเทิงบนจอโทรทัศน์ มักนำเสนอภาพลักษณ์ชาวอเมริกันพื้นเมืองให้ดูเหมือนเป็นผู้บุกรุกที่โหดร้าย ป่าเถื่อน ไม่สามารถสื่อสารด้วยวาจา แต่สื่อสารด้วยกำลัง การนำเสนอภาพลักษณ์เช่นนี้ทำให้ชาวอเมริกันพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นการเหมารวม (stereotype) และขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน
50 ปีผ่านมา สถาบันแห่งศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (Academy of Motion Picture Arts and Sciences) ออกมาขอโทษกับ ซาชีน ลิตเติลเฟเธอร์ (ปัจจุบันเสียชีวิตในวัย 75 ปี) เกี่ยวกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซาชีนได้ปรากฎตัวที่ พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ (Academy Museum of Motion Pictures) ในเดือนกันยายน 2022 เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเวทีออสการ์เมื่อปี 1973 และประเด็นเรื่องการนำเสนอภาพลักษณ์ของชาวอเมริกันพื้นเมืองบนจอโทรทัศน์ ก่อนเธอจะเสียชีวิตลงหลังจากนั้นเพียง 2 เดือน

ชาวอเมริกันพื้นเมืองยังมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพวกเขามีฉายาว่า ‘Code Talker’ หรือ ‘นักคุยรหัสลับ’ เนื่องจากภาษาพื้นเมืองของพวกเขาฟังยาก และเป็นที่รู้จักน้อยในวงกว้าง บรรดา Code Talker จะรับหน้าที่ในการสื่อสารผ่านวิทยุเพื่อรับคำสั่งและส่งต่อคำสั่งเพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเข้าใจ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีชาวอเมริกันพื้นเมืองรับหน้าที่กว่า 500 คน เรื่องราวที่น่าสนใจนี้ยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘Windtalkers’ อีกด้วย
หลายคนอาจเข้าใจว่าชาวอเมริกันพื้นเมืองย่อมมีสิทธิ์ในพื้นที่ตัวเองในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่เลย แต่ละเผ่านั้นต่างไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง เรียกได้ว่าเหมือนมีที่นาตัวเอง แต่จู่ๆ ก็มีใครไม่รู้มาอาศัยอยู่จนจำใจต้องอาศัยอยู่ร่วมกัน เรียกได้ว่านี่เป็นหนึ่งในบาดแผลที่ชาวอเมริกันพื้นเมืองยังคงมีอยู่แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานแล้วก็ตาม แต่ก็มีบางชนเผ่าที่มีพื้นที่อาศัยของตัวเอง เช่น เผ่านาวาโจเป็นเผ่าที่มีพื้นที่ในสหรัฐอเมริกาใหญ่ที่สุดในบรรดาเผ่าพื้นเมือง ประมาณ 25,000 ตารางไมล์ ขนาดเกือบเท่าเวอร์จิเนียตะวันตก

เพราะฉะนั้นแล้วในวันชาติสหรัฐฯ หรือวันขอบคุณพระเจ้า เป็นวันที่ไม่ต่างอะไรกับวันระลึกความสูญเสียที่ชาวอเมริกันพื้นเมืองเสียแก่ชาวยุโรปในช่วงปี 1500s และทุกๆ เหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงกับชีวิตของพวกเขานั้นเป็นการสร้างความสะเทือนใจให้กับคนทั่วโลกที่มองเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับการเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดชังที่มีต่อมนุษย์ร่วมกัน