ว่าด้วยเรื่องราว ‘ปฏิทิน’ สิ่งสมมติของกาลเวลา

1 มกราคม 2567 - 07:02

how-many-new-years-in-thailand-are-there-SPACEBAR-Hero.jpg
  • มาดูกันว่า ‘เรื่องราวของปฏิทิน’ จะเป็นอย่างไร อะไรคือ ‘จุลศักราช’ และ ‘รัตนโกสินทร์ศก’ และทำไมประเทศไทยถึงต้องนับวันเวลาตามวิถีตะวันตก

“สวัสดีปีใหม่”  

นี่คงเป็นประโยคที่คุ้นหูมากที่สุดในวันที่ 1 มกราคม เมื่อคุณเดินไปตามถนนหรือร้านอาหาร คุณจะได้ยินประโยคนี้แทนคำว่า ‘สวัสดี’ ตามมาด้วยคำอวยพรเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นมารยาท วันปีใหม่คือการเริ่มศักราชใหม่ ชาวไทยรวมถึงพลเมืองโลกล้วนเฉลิมฉลอง และคาดหวังว่าปีต่อๆ ไปพวกเขาจะพานพบกับโอกาสที่ดีกว่า หรืออย่างน้อยชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรือบางทีชีวิตเราอาจเหมือนเดิม เพียงแค่เราหาอะไรไปชี้วัด? อย่างเช่น ตัวเลข 1 กับอักษร 6 ตัว และตัวเลขกำหนดศักราชที่ไม่รู้ใครเป็นคนกำหนด 

“เพราะเวลาคือสิ่งสมมติ” เป็นอีกประโยคที่คุ้นหูพอๆ กันแต่อาจน้อยกว่า ว่ากันว่ามนุษย์มีปฏิทินเอาไว้เพียงเพื่อกำหนดช่วงเวลาและวันของตัวเอง หรืออย่างน้อยก็สามารถกำหนดช่วงอายุของตัวเองได้ หากปราศนาวันและเวลา บ้างก็ว่าชีวิตมนุษย์คงเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ต่อให้โลกทั้งใบไร้ปฏิทินและนาฬิกา มนุษย์ยังคงหาวิถีทางในการกำหนดวันและเวลาอยู่ดี ในประวัติศาสตร์เราจะพบว่ามีรูปแบบการกำหนดวันเวลาที่ต่างกัน พูดง่ายๆ แค่ว่าวันปีใหม่ในแต่ละประเทศยังต่างกัน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาลงเอยที่ปีใหม่สากลด้วยการเริ่มที่ 1 มกราคม ทำไมต้องวันนี้ด้วย? 

เดิมทีก่อนหน้า 1 มกราคม และปีพุทธศักราช บริเวณพื้นที่ประเทศไทยในปัจจุบัน ชาวอาณาจักรสุโขทัยมีการใช้จุลศักราชในการนับปี ซึ่งเป็นการนับปีตามพม่าโดยนับเดือนตามวิถีการโคจรของดวงจันทร์ ส่วนปีนับตามปีดาราคติ ปฏิทินพม่าส่วนใหญ่อิงกับปฏิทินฮินดูแบบเก่าซึ่งไม่เหมือนกับระบบของอินเดีย ปฏิทินพม่ามีการนำเอาวัฏจักรเมตอนมาร่วมใช้ในการคำนวณปฏิทิน และมีการทดปฏิทินเพื่อชดเชยความคลาดเคลื่อนของวันและเดือน การใช้จุลศักราชนั้นยาวนานมาก ถูกใช้ทั้งในอาณาจักรล้านนา สุโขทัย ไปจนถึงสมัยอยุธยา

how-many-new-years-in-thailand-are-there-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ปฏิทิน พ.ศ. 2458 จากร้านมรดกไทย. Photo: ประเวช ตันตราภิรมย์ นิตยสารสารคดี

ในช่วงสมัยนั้นการนับปีใหม่คือตรงกับเดือนเมษายน หรือที่เราเข้าใจกันในปัจจุบันคือช่วงวันสงกรานต์ (ตรงกับวันที่ 1 เมษายน) เป็นการอิงแผนดวงดาวตามคัมภีร์สุริยยาตร สาเหตุหลักเท่าที่สันนิษฐานได้คือการให้ความสำคัญของการขึ้นปีใหม่ในแต่ละพื้นที่ต่างกัน ในกรณีชาวฮินดู (ที่ส่งต่อมายังไทย) นับเดือนเมษายนเป็นปีใหม่ เพราะสอดคล้องกับสภาพฤดูที่อุ่นขึ้นเปรียบดั่งการเริ่มต้นที่ดี บ้างก็ว่าเป็นช่วงเริ่มที่ดีในการทำเกษตรกรรมอันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของภูมิภาคเอเชีย ต่อมาจุลศักราชถูกเปลี่ยนใช้เป็นรัตนโกสินทร์ศก หรือ ร.ศ. ตามวันที่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และถูกเปลี่ยนไปเป็นพุทธศักราช หรือ พ.ศ. โดยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากเนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศต่างๆ ที่นับถือพุทธศาสนา แต่ในพม่าเหลื่อมกับเราไป 1 ปี เพราะประเทศไทยนับปีจากวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไป 1 ปี

how-many-new-years-in-thailand-are-there-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ปักขทืน หรือปฏิทินของชาวล้านนา. Photo: Siam Society

วันสงกรานต์ยังคงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชนชาวไทยรุ่นต่างๆ มาถึงปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราตัดการนับปีแบบฮินดูออกไป มาโฟกัสกันที่ปีใหม่ของชาวไตชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นเสมือนพี่น้องชาวไทย ชาวไตใหญ่ หรือไทใหญ่ นับวันที่ 13 ธันวาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ยังคลุมเครือว่าทำไมต้องนับวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งจากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่นั้นเชื่อว่าชาวไตเริ่มนับถือปีใหม่ตามวันที่รับพระไตรปิฎกจากอินเดียเป็นปีแรก มีแนวโน้มว่าอาจใช้วิธีการนับวันและดวงดาวแบบฮินดู แต่เหลื่อมในช่วงวันกันเล็กน้อย ในวันปีใหม่ของชาวไตจะมีพิธีกรรมสำคัญคือพิธีฮอลีก คือ การอ่านหนังสือธรรมะของผู้ทรงความรู้ หรือ จเร นอกเหนือจากนั้นมีการทำบุญ และสังสรรค์ด้วยความบันเทิงแบบท้องถิ่น 

แต่แล้วทุกคนต้องยอมจำนนต่อวันที่ 1 มกราคม และการนับดวงดาวแบบกริกอเรียน (ดัดแปลงจากปฏิทินจูเลี่ยน ปฏิทินที่ใช้กันในสมัยโรมัน) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โดยประกาศให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ แทนวันที่ 1 เมษายน และโยกให้วันที่ 13 เมษายน เป็นวันครอบครัวแทน ทั้งนี้ให้เหตุผลว่าจะได้เดินตาม “นานาอารยประเทศทั้งปวง ตลอดถึงประเทศใหญ่ๆ ทางปลายบุรพทิศนี้”

how-many-new-years-in-thailand-are-there-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: Maderee Tohlala /AFP

ถ้าเรามองกันในภาพกว้าง ในแต่ละประเทศล้วนเดินตามการนับเวลาของกลุ่มชนที่มีอิทธิพลในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นพม่า โรมัน หรือจีนที่ส่งต่อให้กับชาวไทใหญ่ หรือจะเป็น จอมพล ป. ที่ต้องการไหลไปตามประเทศตะวันตกเพื่อเชื่อในความเป็นอารยะ ซึ่งพูดได้ว่าเราไม่มีทางรู้ได้จริงๆ ว่าเราสามารถกำหนดวัน เดือน ปี ได้ขนาดนั้นหรือไม่ ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนผ่านไปทำให้เรารู้ว่าการนับวันเวลาไม่มีความสำคัญอะไรไปมากกว่าการเป็น ‘เครื่องมือ’ รองรับกิจของมนุษย์ เรายอมโอนอ่อนรับปฏิทินหรือการนับวันของผู้ที่ยิ่งใหญ่กว่า อาจเป็นเพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่นั้นก็ได้ จากที่เคยเป็นเครื่องมือสำหรับกิจเล็กๆ ของชุมชนหนึ่งกลายเป็นเครื่องมือสำหรับกิจมนุษย์ระดับพลเมืองโลก

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์