ส่องประเภทของวีซ่าประเทศไทย เหตุใดต่างชาติจึงอยู่ได้นาน

16 มกราคม 2567 - 07:14

how-many-visa-type-does-thai-has-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ประเภทวีซ่าต่างๆ ที่ประเทศไทยใช้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 7 ประเภท รวมถึงวีซ่าพิเศษที่เปิดใหม่ อย่าง วีซ่าซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเรียนรู้วัฒนธรรมไทย

ดูเหมือนประเด็นเรื่องพาสปอร์ตและวีซ่าของประเทศไทยจะยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อช่วงต้นปีได้มีการพูดถึงอันดับพาสปอร์ตที่ทรงพลังกันไป คร่าวนี้ถึงตาของวีซ่ากันบ้าง เมื่อทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ได้ตั้งคำถามถึง พี่จอง และ คัลแลน สองหนุ่มยูทูบเบอร์ชื่อดังจากช่อง 컬렌 Cullen HateBerry ที่กำลังได้รับความนิยมขณะนี้ว่าทั้งคู่ "ใช้วีซ่าอะไร" ซึ่งคำถามนี้ก็ได้จุดชนวนประเด็นดราม่าพาให้ทุกคนสงสัยจนถึงขั้นที่ทั้งสองหนุ่มต้องเดินทางไปกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา  

แม้ประเด็นนี้จะยังไม่ได้มีการไข้ข้อสงสัยอย่างแน่ชัดจากทางเจ้าตัว แต่ผู้คนต่างพากันคาดเดาว่าทั้งสองอาจถือวีซ่าทำงานเนื่องจากทั้งคู่มีบัญชีประเทศไทย อีกทั้งคัลแลนยังเข้ามาทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์เพลงตามสถานบันเทิงอยู่หลายปี และปัจจุบันก็ยังคงทำงานอยู่ และในฝั่งของพี่จองเองก็ทำธุรกิจส่วนตัว ที่ยังต้องเดินทางไปกลับไทย-เกาหลีอยู่เป็นระยะ 

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศพบว่าประเทศไทยมีวีซ่าทั้งหมด 7 ประเภท และแต่ละประเภทสามารถใช้อยู่ในประเทศไทยได้ไม่เกิน 90 วัน ยกเว้นผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็นประเภทดังนี้ 

  • ประเภทคนเดินทางผ่านราชอาณาจักร (Transit Visa) สำหรับคนต่างแดนที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อจัดการธุระใดธุระหนึ่ง เช่น ต้องการเดินทางผ่าน เข้ามาเล่นกีฬา หรือเป็นผู้ควบคุมพาหนะหรือเป็นคนประจำพาหนะที่เข้ามายังท่า สถานี หรือท้องที่ในราชอาณาจักร โดยอายุของวีซ่าอยู่ที่ 3 เดือน แต่สามารถพักอาศัยอยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน 
  • ประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) ใช้สำหรับคนต่างแดนที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยว อายุของวีซ่าจะคงอยู่ได้ 3 หรือ 12 เดือน แต่ระยะเวลาในการพักอาศัยจะอยู่ได้ครั้งละ 60 วันเท่านั้น 
  • ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant Visa) วีซ่าประเภทนี้ใช้สำหรับคนต่างแดนที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ ติดต่อหรือประกอบธุรกิจ เข้ามาเพื่อศึกษา ดูงาน และฝึกอบรมต่างๆ เป็นต้น อายุวีซ่าประเภทนี้จะเท่ากับประเภทนักท่องเที่ยว แต่จะมีระยะเวลาอาศัยอยู่ได้มากกว่า นั่นก็คือครั้งละไม่เกิน 90 วัน 
  • ประเภททูต (Diplomatic Visa) เป็นหนังสือวีซ่าสำหรับคนต่างแดนที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยจำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางการทูตหรือกงสุล หรือการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการเท่านั้น ระยะเวลาอาศัยอยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน  
  • ประเภทราชการ (Official Visa) ใช้สำหรับคนต่างแดนที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในประเทศ โดยจำกัดเฉพาะการขอรับการตรวจลงตราเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางราชการ และผู้ร้องจะต้องถือหนังสือเดินทางราชการหรือหนังสือเดินทางสหประชาชาติมาด้วย ซึ่งก็จะสามารถอยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 90 วันเช่นกัน  
  • ประเภทอัธยาศัยไมตรี (Courtesy Visa) คล้ายคลึงกับทูตและราชการ แต่ใช้สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาทำงานราชการ แต่ไม่ได้มาประจำการในราชอาณาจักร โดยจะสามารถอาศัยอยู่ได้ครั้งละไม่เกิน 90 วัน  
  • ประเภทคนอยู่ชั่วคราวเพื่อการพำนักในราชอาณาจักรระยะยาว หนังสือประเภทนี้ใช้สำหรับคนต่างแดนที่อายุ 50 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่ต้องการเข้ามาเพื่อพักผ่อน โดสามารถอาศัยอยู่ได้ถึง 1-10 ปี 

ซึ่งนอกจากรูปแบบของวีซ่าทั้ง 7 ประเภทแล้ว ล่าสุดรัฐบาลก็ได้มีการเปิดตัววีซ่าพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาเพื่อฝึกมวยไทย โดยจะสามารถพักอาศัยอยู่ได้ 90 วัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันและสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์นั่นเอง 

ดูเหมือนปัญหาเรื่องวีซ่าและพาสปอร์ตจะยังคงได้รับความสนใจและสนับสนุนจากภาครัฐต่อไป แต่ทั้งนี้ก็คงต้องไตร่ตรองกันให้ดีว่า ความสะดวกสบายต่างๆ ที่เราเอื้ออำนวยให้แก่ชาวต่างชาติจะส่งผลดีกับเราในหลายๆ ด้านจริงหรือไม่ เพราะปัญหาจำนวนของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกที และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์