ส่องประวัติศัพท์: แต่ละภาษามีคำใช้เรียก 'คนจีน' อย่างไร? เลิกเข้าใจผิดว่าประเทศไทยเป็นชาติเดียวที่ใช้คำว่า ‘เจ๊ก’ เรียกแบบเหมารวม

8 มีนาคม 2567 - 05:48

how-people-call-chinese-in-different-languages-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ส่องประวัติศัพท์: ไม่ใช่แค่คนไทยที่มีคำใช้เรียกเหมารวมคนจีนว่า ‘เจ๊ก’ แต่ละภาษาก็มีคำประเภทนี้เช่นกัน ร่วมแก้ไขความเข้าใจผิด และตรวจดูประวัติความเป็นมาของแต่ละคำ เพราะคำเหล่านั้นอาจนำเสนอวัฒนธรรมได้มากกว่าที่คิด

เมื่อประเทศไทยไม่ใช่ชาติเดียวที่มีคำใช้เรียก ‘คนจีน’ และคำว่า 'เจ๊ก' อาจไม่ใช่คำเรียกจิกหัวหรือดูหมิ่น แต่เป็นการสร้างเอกภาพและอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความรู้สึก และนำเสนอเรื่องราวเชิงวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนจีนทั่วโลก

สำหรับผู้ใช้อินเตอร์เน็ตหลายคน คงมีใครเคยผ่านตามีมตลกร้ายที่ว่า “ประเทศอื่นมีคำใช้เรียกคนจีนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น คนจีนกลาง จีนแต้จิ๋ว ฮ่องกง หรือไต้หวัน แต่สำหรับคนไทยกลับมีคำเรียกแบบเหมารวมคนจีนในคำเดียวว่า ‘เจ๊ก’ ” ซึ่งหลังจากมีการเผยแพร่มีมนี้ก็มีผู้คนมากมายให้ความสนใจ และนำไปพูดคุยกันในเชิงขบขัน แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วไม่ใช่แค่ไทยที่มีคำเรียกคนจีนเช่นนี้ เพราะในภาษาต่างประเทศอย่างอังกฤษ ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้กระทั่งจีนด้วยกันเองก็มีคำศัพท์เชิงนี้เช่นเดียวกัน

วันนี้เราจึงชวนทุกคนมาตรวจดูคำศัพท์และทำความเข้าใจถึงที่มาผ่านความเชื่อ บริบททางสังคม และวัฒนธรรมที่ทำให้เกิดภาพจำอันนำไปสู่การสร้างคำศัพท์เฉพาะ มาดูกันว่าแต่ละประเทศมีคำใช้เรียกคนจีนว่าอย่างไร แล้วเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น เชิญไขข้อสงสัยไปพร้อมกันในบทความนี้

how-people-call-chinese-in-different-languages-SPACEBAR-Photo_SQ01 copy.jpg

ก่อนจะไปภาษาอื่น เราคงต้องขอแนะนำคำภาษาไทยคุ้นหูที่ใช้เรียกคนจีนอย่างคำว่า ‘เจ๊ก’ เสียก่อน สาเหตุที่คนไทยเรียกคนจีนเช่นนี้ คาดว่าเป็นเพราะการเพี้ยนเสียงของคำว่า ‘อาเจ็ก’ ที่คนจีนใช้เรียกเป็นสรรพนามกับคนที่ไม่รู้จัก

ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 มีคนจีนจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นฐานมาเมืองไทย โดยส่วนใหญ่มักเป็นคนยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา และไม่มีขนบธรรมเนียมหรือการวางตัวที่นุ่มนวลเหมือนคนไทย ผู้คนจึงมองว่าคนจีนเป็นคนไม่มีมารยาท

นอกจากนี้ กรรมกรจีนยังมีการรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่และตั้งตนเป็นก๊วนอันธพาล อีกทั้งยังติดฝิ่น และแสดงพฤติกรรมร้ายๆ ที่ไม่เหมาะสมมากมาย เมื่อเป็นเช่นนั้น คนไทยที่เคยเรียกคนจีนว่า ‘อาเจ็ก’ ตามที่เคยได้ยินก็เริ่มเกิดความไม่พอใจ จึงเริ่มเรียกคนจีนด้วยอารมณ์ขุ่นเคืองว่า ‘ไอ้เจ๊ก’ แทนที่จะเป็น อาเจ็ก อย่างเคย

แม้หลายคนจะบอกว่า เจ๊ก เป็นคำเรียกให้ความรู้สึกเหมือนโดนจิกหัวที่ไม่เหมาะสม แต่อีกนัยหนึ่ง คำนี้ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวเชิงวัฒนธรรม การใช้ชีวิต และความเป็นอยู่ของชาวจีนที่ส่งผลต่อภาพจำของผู้คนมายาวนานจนถึงปัจจุบัน

how-people-call-chinese-in-different-languages-SPACEBAR-Photo_SQ01.jpg

นอกจากภาษาไทยที่เราคุ้นชินกันแล้ว ในภาษาอังกฤษก็มีคำใช้เรียกคนจีนเช่นกัน โดยพวกเขาจะเรียกว่า ‘Chink’ ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ดว่า ‘รอยแยกเล็กๆ’ ซึ่งในที่นี้อาจสื่อถึงดวงตาเรียวเล็กอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนจีน นอกจากนี้ยังมีหลายๆ คนกล่าวว่า คำว่า Chink มีต้นกำเนิดมาจากภาษาจีนดั้งเดิมอย่าง Ching Ching และคำว่า China บ้างก็ว่ามาจากการล้อเลียนราชวงศ์ชิงที่เขียนว่า Qing ด้วย

คำว่า Chink มีหลักฐานว่าถูกใช้อย่างแน่ชัดครั้งแรกในปี 1878 โดยปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ มีรูปแบบเป็นคำคุณศัพท์ ก่อนที่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จะมีการอพยพเข้าไปของคนจีนในสหรัฐอเมริกาจนถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อมาตรฐานการครองชีพของคนผิวขาวในอเมริกาเหนือ พวกเขามองว่าชาวจีนเป็นผู้รุกราน จนถึงขั้นมีการผ่านพระราชบัญญัติกีดกันคนจีน ห้ามไม่ให้อพยพเข้ามายังสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นระยะหนึ่ง สหรัฐฯ ก็เกิดการขาดแคลนแรงงานบนชายฝั่งตะวันตก จึงทำให้ชาวจีนต้องอพยพเข้ามาอีกครั้งเพื่อไปใช้แรงงานที่นั่น ใครที่อยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมและเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นก็สามารถรับชมซีรีส์ Warrior จาก Max Original ได้ทางสตรีมมิงแพล็ตฟอร์ม Netflix ทั้ง 3 ซีซัน

how-people-call-chinese-in-different-languages-SPACEBAR-Photo_SQ02.jpg

ถัดมาที่ภาษายอดฮิตแห่งยุคอย่างเกาหลีกันบ้าง ในภาษาเกาหลีมีคำใช้เรียกคนจีนโดยเฉพาะว่า ‘짱개 (Jjanggae)’ หรือ ‘จังแก’ ซึ่งแท้จริงคำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาจีนอย่าง Jjangguae (張快) ที่แปลว่า คนกว้างขวางและร่าเริง

ในยุคสมัยที่คนจีนเริ่มเข้าไปเปิดร้านอาหารจีนในประเทศเกาหลี เช่น ร้านจาจังมยอนและจัมปง เป็นต้น พวกเขามักจะใช้คำว่า จังแก เรียกผู้คนที่พวกเขานับถือเพื่อแสดงความเคารพ เมื่อคนเกาหลีได้ยินก็เริ่มเรียกแทนคนจีนในพื้นที่ด้วยคำนี้เพื่อแสดงความสนิทสนม แต่นานวันเข้าคำนี้ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นคำดูหมิ่น โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่รู้ตัวว่าเหตุใดความหมายของคำนี้จึงเปลี่ยนจากด้านดีเป็นด้านลบไปได้

how-people-call-chinese-in-different-languages-SPACEBAR-Photo_SQ03.jpg

มีภาษาเกาหลีแล้วจะขาดภาษาญี่ปุ่นได้อย่างไร ในภาษาญี่ปุ่นพวกเขาใช้คำว่า ‘那人 (Shina)’ หรือ ‘ชินะ’ เรียกคนจีน โดยเดิมทีไม่ใช่คำนี้ คนญี่ปุ่นเคยเรียกคนจีนว่า ชูโกกุ หรือเรียกตามชื่อราชวงศ์ในช่วงเวลานั้นๆ แต่หลังจากการฟื้นฟูของยุคเมจิที่จักรพรรดิได้อำนาจกลับคืนมาจากมือของโชกุนที่ปกครองและยึดอำนาจไปนานหลายร้อยปี คำว่า ชินะ ก็กลายเป็นชื่อเรียกคนจีนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น

คำว่า ชูโกกุ ในภาษาญี่ปุ่นเป็นคำที่มีที่มาจากคำว่า ชูเกน (中原) ในภาษาจีน แปลว่า ดินแดนใจกลาง ซึ่งมาจากแนวคิดของจีนโบราณที่ว่า ประเทศจีนเป็นดินแดนใจกลางที่ถูกล้อมรอบด้วยคนป่าเถื่อนทั้งสี่ทิศ แต่หลังจากการฟื้นฟูของยุคเมจิ คนญี่ปุ่นก็เริ่มคิดว่าประเทศของตนก็ไม่ได้ด้อยกว่าจีน อีกทั้งยังไม่ใช่คนป่าเถื่อน พวกเขาจึงพิจารณาและเปลี่ยนคำเรียกคนจีนจาก ชูโกกุ เป็น ชินะ

แต่แล้วประเทศจีนกลับคว่ำบาตรคำนั้น เพราะพวกเขาชื่นชอบที่จะให้เรียกคนที่มาจากประเทศของตนว่า ชูโกกุ มินโกกุ (Chugoku Minkoku) มากกว่าที่จะเป็น ชินะ เคียววาโกกุ (Shina Kyouwakoku) พวกเขารู้สึกว่าชาวญี่ปุ่นไม่เคารพความชอบธรรมในการสืบทอดวัฒนธรรมจีน ซึ่งในเวลานั้น รัฐบาลจีนก็ได้ปฏิเสธที่จะรับจดหมายอย่างเป็นทางการจากญี่ปุ่นหากใช้คำว่า ชินะ เคียววาโกกุ ด้วย

หลังจากเกิดปัญหาเรื่องการใช้คำมาอย่างยาวนาน เมื่อประเทศญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง SHAEF ก็ได้ออกจดหมายยืนยันอย่างเป็นทางการว่าคำว่า ชินะ เป็นคำที่เสื่อมเสียและห้ามใช้ กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่นจึงงดใช้คำนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ชินะ มาจากชื่อของราชวงศ์แรกเริ่มของจักรวรรดิจีน

how-people-call-chinese-in-different-languages-SPACEBAR-Photo_SQ04.jpg

นอกจากภาษาอื่นๆ แล้ว ในภาษาจีนเองก็มีคำที่ใช้เรียกคนจีนด้วยกันเองด้วย พวกเขาเรียกแทนกันว่า ‘华人’ (Hua-Ren) หรือ ‘ฮัวเหริน’ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสุภาษิตจีนอย่าง 华夏子孙 (Huáxià zǐsūn) ที่แปลว่า ผู้สืบเชื้อสายมาจากหัวและเซี่ย

ย้อนกลับไปประมาณ 2,200 ปีก่อนคริสตศักราช ในประเทศจีนมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่สองกลุ่มคือกลุ่ม ฮัว (华) และ เซี่ย (夏) ซึ่งเรียกรวมกันว่า ฮัวเซี่ย (华夏) เป็นกลุ่มชนสูงสุดของชนเผ่าต่างๆ ที่รวมตัวกันจนก่อกำเนิดอารยธรรมโบราณแบบของจีน ในอดีต คำว่า ฮัวเซี่ย ใช้เพื่อแยกแยะกลุ่มคนที่มีอารยธรรมออกจากชนเผ่าป่าเถื่อนอื่นๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น 

ปัจจุบัน คนจีนเรียกตัวเองว่า ฮัวเหริน (华人) และเรียกประเทศจีนว่า จงฮัว (中华) เพื่อเป็นการระลึกถึงรากเหง้า นอกจากนี้ ตามนิรุกติศาสตร์ของภาษาจีน คำว่า ฮัว ยังเป็นตัวแทนของ ความงาม หรือ แก่นแท้ ในแง่ที่ว่าสังคมและความงามมีความหมายเหมือนกันในช่วงแรกเริ่มของอารยธรรม

แม้มีคำมากมายหลายภาษาที่ผู้คนต่างใช้เพื่อนิยามภาพคนจีนในประเทศต่างๆ แต่ความหมายและความหลากหลายของการเป็นคนจีนนั้นไม่สามารถจำกัดได้เพียงแค่คำคำเดียว ชาวจีนมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานดังที่เราสามารถพบเห็นได้ในทั่วทุกมุมของโลก ดังนั้น การใช้คำว่า 'เจ๊ก' หรือ ‘Chink’ หรือคำจำกัดความใดๆ ก็ตามเพียงคำเดียวคงไม่สามารถที่จะบอกเล่าความเป็นชาวจีนได้อย่างครบถ้วนรอบด้าน พวกเขายังมีความงดงามในด้านต่างๆ อีกมากที่เราไม่ควรมองข้าม และไม่ควรถูกตีกรอบจำกัดความด้วยคำเหล่านี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์