บอกอะไรได้มากกว่าแค่วันที่ ปฏิทินจีน ‘น่ำเอี๊ยง’ สุดยอดปฏิทินที่แฝงไปด้วยหลักโหราศาสตร์จีน

14 มกราคม 2567 - 01:30

How-to-read-chinese-calendar-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ปฏิทินโหราศาสตร์จีนแบบแม่นๆ แม่นแม้กระทั่งเลขมงคลสุดเด็ดดวง ที่บอกได้เลยว่า ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลกันมาแล้วนักต่อนัก

เข้าสู่ปีใหม่แล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนเป็นประจำทุกปีคงหนีไม่พ้น ‘ปฏิทิน’ หลายคนอาจจะบอกว่า ในยุคสมัยแห่งดิจิทัลแล้วเราจะยังมีปฏิทินกระดาษไว้ทำไม ทำไมเราไม่ดูปฏิทินในโทรศัพท์มือถือเลย เพราะความสะดวกที่สามารถจดโน้ตลงในแอปพลิเคชันปฏิทินได้ รวมถึงแอปพลิเคชันปฏิทินสมัยนี้ก็สามารถระบุวันสำคัญๆ ของประเทศได้ด้วย 

แต่หลายๆ คนก็ยังคงชื่นชอบการใช้ปฏิทินกระดาษเพื่อความง่ายในการมองหา หรือสามารถจดรายละเอียดนัดหมายต่างๆ ผ่านลายมือเขียนซึ่งมันช่วยให้จำง่ายขึ้นด้วย  

ปฏิทินมีหลากหลายประเภท ทั้งแบบแขวน แบบตั้งโต๊ะ แบบรายเดือน รายปี และรายวัน ซึ่งวันนี้ Spacebar VIBE จะพาไปรู้จัก ‘ปฏิทินรายวัน’ ของ ‘น่ำเอี๊ยง’ ซึ่งเป็นปฏิทินจีนที่มีการทำนายฮวงจุ้ยต่างๆ ในแต่ละวัน รวมถึงวันมงคล สีมงคลของวัน และอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งที่หลายๆ คนสงสัยว่า ทำไมในวันที่ 15 และ 30,31 ที่ปฏิทินจีนถึงมีตัวเลขยึกยืออยู่ในปฏิทินด้วย

How-to-read-chinese-calendar-SPACEBAR-Photo01.jpg

ปฏิทินน่ำเอี๊ยง เป็นปฏิทินจีนที่มีเรื่องราวของโหราศาสตร์จีนเข้ามาเกี่ยวข้อง ในแต่ละวันของหน้ากระดาษเป็นเหมือนกับการพยากรณ์รายวันเพื่อหลีกเลี่ยงจุดอ่อนในอุปนิสัย และค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางแห่งดวงชะตา ชาวจีนโบราณคิดค้นทฤษฎีการดูดวงไม่ใช่เพื่อให้งมงายหลงเชื่อ แต่เพื่อให้มีหลักยึดในการดำเนินไปสู่ชีวิตที่ยังไม่รู้ในอนาคต 

ปฏิทินน่ำเอี๊ยง อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 80 ปี โดยศาสตร์การพยากรณ์ของซินแสเฮียง แซ่โง้ว ผู้ซึ่งเดินทางมาจากเมืองจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อช่วงปี พ.ศ. 2482 ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุแค่ 18 ปี ด้วยระยะเวลาหลายปีที่ซินแซได้สะสมประสบการณ์และชื่อเสียงในเรื่องของความแม่นยำในการทำนาย และคำนวณดวงชะตา ทำให้ปฏิทินน่ำเอี๊ยงกลายเป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมตั้งแต่ปี 2499  

สำหรับการดูปฏิทินน่ำเอี๊ยงที่ไม่ใช่แค่การดูวันที่ เดือน ปี เท่านั้น แต่ยังสามารถดูในเรื่องของสิ่งมงคล สิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ ฤกษ์ยามต่างๆ และทิศทางมงคลด้วยซึ่งดูได้ไม่ยากเลย

INFO-How-to-read-chinese-calendar.jpg
  1. เดือน/ปีสากล ที่เป็นภาษาไทย 
  2. เดือน/ปีสากล ที่เป็นภาษาอังกฤษ 
  3. ข้างขึ้น-ข้างแรม ของไทย 
  4. เดือน/ปีสากล ในภาษาจีน 
  5. วันประจำสัปดาห์ ไทย-จีน-อังกฤษ 
  6. เนื้อหาบอกวันที่ ตามปฏิทินจันทรคติ 
  7. โป๊ยหยี่สี่เถียวของวัน ประกอบด้วย 4 หลัก อ่านจากขวาไปซ้าย หลักปี หลักเดือน หลักดิถี(วัน) และหลักยาม(เวลา) เพื่อพิจารณาว่าเป็นวันดีหรือไม่ดี ใช้นำไปหาฤกษ์สำหรับทำพิธีมงคลต่างๆ 
  8. ปีนักษัตรที่ชงกับวันนี้ ถึงแม้ว่าปีนักษัตรประจำปีนั้นจะเป็นนักษัตรตัวใดก็ตาม แต่ในแต่ละวันก็จะมีปีนักษัตรที่ชงแยกออกมาอีกทีด้วย 
  9. สิ่งที่ควรปฏิบัติในแต่ละวัน  
  10.  สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในแต่ละวัน 
  11.  ทิศของเทพเจ้าโชคลาภ และเทพเจ้าแห่งความยินดีประจำวัน 
  12.  เลขมงคลประจำงวดนั้นๆ โดยในปฏิทินเป็นของวันที่ 15 มกราคมซึ่งจะเป็นเลขมงคลสำหรับงวดวันที่ 17 มกราคม แต่ถ้าหากเป็นวันอื่นๆ ตรงช่องนี้จะบอกทิศที่ดีและทิศที่ไม่ดีในวันนั้นๆ 
  13.  ลักษณะของวัน ช่องนี้จะบอกว่าเป็นวันธงไชย ฤกษ์ดี ทำอะไรก็ดี และวันไม่ดี คือ วันอุบาทว์ และ วันกาลกิณี ทำอะไรก็ไม่ดี ทำอะไรก็ติดขัด โดยจะบอกเป็นภาษาไทย 

ซึ่งนอกจากที่ทางน่ำเอี๊ยงจะมีปฏิทินแบบกระดาษแล้ว ปัจจุบันซึ่งก้าวสู่ยุคแห่งดิจิทัลมากขึ้น ทางน่ำเอี๊ยงผู้ผลิตปฏิทินที่แฝงไปด้วยโหราศาสตร์ทางจีนก็ได้จัดทำปฏิทินน่ำเอี๊ยงฉบับแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อความง่ายต่อการใช้งานมากขึ้น ภายในแอปฯ ก็บอกทุกอย่างที่เหมือนกับในปฏิทินระบุ แต่ดูง่าย ใช้งานง่ายกว่าด้วย

How-to-read-chinese-calendar-SPACEBAR-Photo02.jpg

โดยแอปพลิเคชันตัวนี้จะผูกดวงกับเจ้าของโทรศัพท์เลย เพราะในครั้งแรกที่ใช้แอปพลิเคชันทางแอปฯ จะขอให้ใส่ชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด และเวลาเกิด เพื่อนำไปคำนวณดวงชะตาตามหลักโหราศาสตร์จีน เพื่อการแจ้งข้อมูลรายบุคคลที่แม่นยำมากขึ้น และแอปพลิเคชันนี้เปิดให้ใช้ฟรี สามารถดาวน์โหลดกันได้ทาง Google Play และ App Store ได้เลย  

แต่ถ้าหากใครที่อยากทราบข้อมูลแบบละเอียดก็สามารถสมัครสมาชิกเพื่อรับคำแนะนำได้เช่นกัน ซึ่งทางแอปฯ มีให้เลือกแบบรายเดือน 59 บาทและราย 3 เดือน 169 บาท แต่ถ้าหากใครที่เป็นผู้ใช้ใหม่ก็สามารถกดขอทดลองใช้งานแอปฯ ก่อนได้ โดยทางแอปฯ ใจดีให้ใช้งานแบบฟรีๆ 14 วัน!  

ทาง Spacebar VIBE ได้มีโอกาสต่อสายตรงไปยังผู้จัดพิมพ์ปฏิทินน่ำเอี๊ยงเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยได้ความมาว่า “หลังจากที่ทางโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงได้มีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชัน พบว่าไม่กระทบยอดขายปฏิทินแบบดั้งเดิม  เนื่องจากฐานผู้ใช้งานแอปพลิเคชันนั้นอยู่ในช่วงวัยต่ำกว่า 30 ปี แต่ลูกค้าที่ซื้อปฏิทินน่ำเอี๊ยงแบบเล่มนั้นมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งทั้งสองช่องทางนี้ออกแบบมาเพื่อให้สามารถเข้าถึงกับคนทุกวัยตามที่ทางบริษัทได้ตั้งเป้าไว้   

โดยฐานลูกค้าส่วนมากจะอยู่ที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่ๆ ของประเทศไทย และยังมีการส่งออกไปจำหน่ายตามร้านค้าปลีกในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า และกัมพูชา อีกด้วย”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์