‘ผีชิน’ ไม่ใช่ ‘ผี’ แต่เป็นปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากซากพืชซากสัตว์

16 มกราคม 2567 - 08:13

how-will-o-the-wisp-happen-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ผีชินเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเกือบทั่วโลก โดยทางฝั่งยุโรปเรียกว่า วิลล์โอวิสพ์ ตามวิทยาศาสตร์เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์

เคยไหม? เดินกันย่องๆ อยู่ในป่ามืด จู่ๆ ก็เห็นดวงไฟประหลาดพุ่งขึ้นมาอย่างน่าตกใจ ปรากฏการณ์นี้ชาวเมืองน้อยนักจะได้เห็น แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ป่า โดยเฉพาะคนที่ต้องออกไปหาของป่ายามค่ำคืนหรือเช้ามืดจะพบเจออยู่บ่อยครั้ง ซึ่งชาวบ้านภาคใต้นิยมเรียกดวงไฟนี้ว่า ‘ชิน’ หรือ ‘ผีชิน’

how-will-o-the-wisp-happen-SPACEBAR-Photo_SQ01.jpg
Photo: CannaBas Huff /Facebook

จริงๆ แล้วดวงไฟผีชินเคยเป็นที่พูดถึงเมื่อนานมาแล้ว แต่แล้วกระแสก็ดับไป และกลับเป็นที่พูดถึงอีกครั้งหลังจากผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ CannaBas Huff โพสต์รูปที่ไม่ใช่รูปสัตว์หรือแมลง แต่เป็นดวงไฟสีแดงฉานในยามกลางคืน ในกลุ่ม ‘นี่ตัวอะไร’ พร้อมตั้งแคปชันว่า 

“สอบถามเพื่อนพรานท่านใดเคยเข้าป่านั่งห้างแล้วเจอแบบนี้บ้างครับ ดวงใหญ่มากเท่ากระด้ง สีเหมือนพระอาทิตย์ตอนใกล้ลับฟ้า โผล่มาจากดินเเล้วลอยขึ้นเขา จะลอยไปเรื่อยๆ ไม่สูงมากประมาณยอดไม้น่าจะได้ บ้านผมภาคใต้เรียก ชิน” 

มีสมาชิกกลุ่มเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ไม่เคยพบไม่เคยเจอมาก่อน บางคนเคยเจอก็ออกมาเล่าว่า แถวบ้านให้มองข้ามไปเพราะเชื่อว่าเป็นภูตผีวิญญาณ บางคนกล่าวเชิงขบขันว่าเป็นผีกระสือ แต่ส่วนใหญ่มักเรียกดวงไฟเหล่านี้ว่า ‘ผีชิน’

how-will-o-the-wisp-happen-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: จิน

ผีชิน หรือจิน มาจากคำอาหรับ เป็นคำเดียวกันกับคำว่า ‘Djinn’ หรือ ‘Jinn’ หรือที่ชาวไทยเรียกว่า ‘จินนี่’ ภูตผีจากตะเกียงที่โด่งดังจากเรื่อง ‘Aladdin’ หรือ ‘Arabian Nights’ ตามตำนานอาหรับ จินเป็นผีเจ้าที่หรือผีบรรพบุรุษที่สิงสถิตตามภพภูมิต่างๆ โดยมีรูปร่างเป็นดวงไฟ ซึ่งตรงกับภาพในกลุ่มนี่ตัวอะไร 

ดวงไฟประหลาดนี้ยังพบได้ทั่วโลก ในทางฝั่งยุโรปเรียกว่า วิลล์โอเดอะวิสพ์ (Will-o'-the-wisp) ซึ่งปรากฎอยู่ในเรื่องเล่าและวรรณกรรมมากมาย จนเป็นที่เข้าใจว่าเป็นเหมือนวิญญาณร่อนเร่ พบได้ตามแอ่งน้ำหรือหนองน้ำ ในนิทานเรื่องเล่าของชาวยุโรปนั้นมีชื่อเรียกสิ่งนี้หลายชื่อ เช่น แจ็ก โอ แลนเทิร์น (jack-o'-lantern) ไฟรอาแลนเทิร์น (friar’s lantern) และฮิงกี้พังก์ (hinkypunk) สาเหตุที่เรียกว่าแลนเทิร์นเพราะดวงไฟมีลักษณะคล้ายดวงไฟจากตะเกียง ในงานวรรณกรรมวิสพ์เป็นสัญญะแสดงถึงความหวัง หรือเป้าหมายที่มุ่งไปแต่ไม่สามารถไปถึงได้ บางแห่งแสดงถึงสิ่งชั่วร้ายหรือสิ่งประหลาดแปลกปลอม

how-will-o-the-wisp-happen-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: วิลล์โอวิสพ์

เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ก็มีชื่อเรียกดวงไฟนี้เช่นกัน เพราะเป็นสิ่งที่พบได้เกือบทั่วโลกเลยทีเดียว โดยชาวญี่ปุ่นเรียกว่า ‘ฮิโตะดามะ’ (Hitodama) แปลว่า ดวงวิญญาณมนุษย์ ชาวออสเตรเลียเรียกว่า ‘มินมินไลต์’ (Min Min Light) เป็นต้น

how-will-o-the-wisp-happen-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: ฮิโตะดามะ

ดวงไฟผีชินอาจเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวไม่น้อย ลองนึกดูว่าหากคุณได้เดินอยู่ในป่าอันเงียบสงัด จู่ๆ ก็เจอดวงไฟขึ้นตรงหน้า ทั้งๆ ที่คุณรู้ดีว่าข้างหน้านั้นไม่มีคนอื่นอยู่แน่ๆ และแน่ใจว่าไม่ใช่ฝีมือของมนุษย์ แต่ไม่ต้องกลัวไป เพราะดวงไฟเหล่านี้เป็นเพียง ‘ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ’ ที่สามารถอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์

ผีชิน หรือ วิลล์โอวิสพ์ เป็นปรากฏการณ์การเผาไหม้ (ignis fatuus) อย่างหนึ่งโดยเกิดการออกซิเดชัน (อะตอมมีการสูญเสียอิเล็กตรอนจากวงโคจรให้กับโมเลกุล) ของ ฟอสฟีน (phosphine), ไดฟอสเฟน (diphosphane), และมีเทน (methane) ซึ่งสารพวกนี้เกิดจากการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์นั่นเอง พูดโดยง่ายคือ สารเคมีที่เกิดขึ้นเป็นสารไวไฟ ส่วนตัวประจุที่ทำให้เกิดไฟคือปฏิกิริยาออกซิเดชัน ดังที่กล่าวไปข้างต้น เมื่ออิเล็กตรอนหลุดโคจรจากอะตอมทำให้เกิดการเสียดสี โดยมีปัจจัยขึ้นอยู่กับอากาศและอุณหภูมิ การเสียดสีนี้ทำให้เกิดเป็นประจุทำให้มีเทนเกิดการเผาไหม้ เกิดเป็นดวงไฟเพียงชั่วครู่ หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของก๊าซหรือสาร

how-will-o-the-wisp-happen-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: ดวงไฟวิสพ์ถ่ายจากกล้อง

หากถามว่าทำไมเราถึงเห็นเป็นดวงไฟ บางทีการทับถมกันของซากพืชซากสัตว์ทำให้เกิดก๊าซภายใน เมื่อมีปริมาณมากจะถูกผลักออกมาจากกองดินขึ้นสู่อากาศ ถ้าใครเคยดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ที่มีฉากหลุมศพ คนทำหนังจะนิยมทำฉากให้มีไอเขียวๆ ฟุ้งออกมาจากหลุม ไอเขียวนี้ก็คือสิ่งเดียวกันกับที่ทำให้เกิดดวงไฟผีชิน มันคือก๊าซที่ถูกปล่อยออกมาจากซากของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายได้เช่นกันว่าทำไมปรากฏการณ์นี้ถึงเกิดแค่บริเวณหนองน้ำหรือตามป่าเขา เนื่องจากมีองค์ประกอบทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดก๊าซเหล่านี้ได้มากกว่า และน้อยคนนักสามารถบันทึกรูปได้ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเวลาใด

เพราะฉะนั้นแล้วไม่ต้องกลัวกันไป เมื่อใดที่คุณเจอกับดวงไฟเหล่านี้ ให้นึกอยู่เสมอว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ผู้เขียนเชื่อว่าพอถึงจุดนั้นจริงๆ ใครๆ ก็คงขนลุกขนพองกันอยู่ดี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์