ทุนนิยมไม่เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม? จริงไหมที่ว่าสันดานมนุษย์ ทำให้ไม่สามารถคำนึงถึงส่วนรวม

19 พ.ค. 2567 - 04:25

  • ระบบทุนนิยมสามารถคล้อยไปกับความยั่งยืนได้ หรือที่เรียกว่า ‘Sustainable Capitalism’ หรือจริงๆ แล้ว ภัยที่แท้จริงไม่ใช่ตัว ‘ระบบ’ แต่เป็นที่ ‘คน’ มากกว่า?

human-capitalism-and-sustainability-SPACEBAR-Hero.jpg

บนโซเชียลมีเดียมีการแชร์ภาพแผนที่แสดงอุณหภูมิโลกที่ปกคลุมไปด้วยแถบสีเหลือง สีส้ม และสีแดง บ่งชี้ว่าอุณหภูมิโลกมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด และเชื่อว่าชาวไทยทุกคนคงสัมผัสได้เมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีภาพเปรียบเทียบขนาดน้ำแข็งขั้วโลกที่ลดลงไปจากเดิมอย่างน่าตกใจ เกิดเป็นกระแสอยู่เพียงชั่วครู่หนึ่ง (ครู่หนึ่งเท่านั้นจริงๆ) ตระหนักว่าโลกกำลังถึงคราวสลายเร็วๆ นี้หรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับนักสิ่งแวดล้อมรวมถึงคนที่ตระหนักถึงภาวะโลกร้อน เพราะการรณรงค์เรื่องโลกร้อนถูกพูดถึงมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1975 แต่หลายคนให้ความเห็นว่าเป็นเพียงความกระโตกกระตาก หรือเรื่องเล็กน้อยที่ไม่สลักสำคัญ แม้แต่ไม่กี่สิบปีที่ผ่านมายังมีนายทุนและนักการเมืองหลายคนมีความเห็นตรงกันว่าภาวะโลกร้อนไม่มีอยู่จริง ทำให้มีการตั้งคำถามว่า “ขนาดนายทุนยังไม่สนใจ แล้วคนตัวเล็กๆ อย่างชนชั้นกลางลงมาจะทำอะไรได้”

เราอาจเคยได้ยินเรื่อง โลกสวยด้วยมือเรา ขยายความคือทุกคนสามารถช่วยได้คนละไม้คนละมือ มีการปลูกจิตสำนึก เช่น การแยกขยะ การรีไซเคิล การรียูส หรือหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก เป็นต้น แต่ประโยคที่ว่า “ถ้าไม่มีคนผลิต คนก็ไม่อุดหนุน” ยังคงจริงอยู่เสมอ ปัจจุบันจะเห็นว่ามีแบรนด์หลายแบรนด์สร้างไลน์การผลิตใหม่โดยใช้คำว่า ‘รักษ์โลก’ เป็นฉากกั้น หรือมีการผลิตถุงผ้ามากกว่าเดิมเพราะเล็งเห็นตลาดคนรักษ์โลก บางบริษัทมีการร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรสีเขียว เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรตัวเอง กลายเป็นคำถามย้อนกลับว่า “หรือนายทุนจะเป็นต้นเหตุของโลกร้อน”

human-capitalism-and-sustainability-SPACEBAR-Photo01.jpg

รู้จักกับ Sustainable Capitalism 

เมื่อเราเอ่ยถึง ‘นายทุน’ จะต้องนึกถึง ‘ทุนนิยม’ (Capitalism) ระบบเศรษฐกิจที่เจ้าของเป็นผู้ควบคุมการค้า ระบบทุนนิยมถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลก สิ่งที่เป็นหมุดหมายหลักของทุนนิยมคือ ‘กำไร’ ที่ได้จากการเสริมสร้างมูลค่า ความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ส่วนคำว่า ‘ความยั่งยืน’ (sustainability) เป็นคำเฉพาะที่ใช้จำกัดความของการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่ออนาคต ดังนั้น Sustainable Capitalism คือการที่เราจะอยู่ระบบทุนนิยมอย่างไรให้คำนึงถึงอนาคตที่ดี

อย่างไรก็ตาม เคยมีคำกล่าวว่า “ทุนนิยมไม่สามารถอยู่คู่กับความยั่งยืนได้” เพราะทุกวันนี้มีบริษัทเอกชนมากมายที่สร้างผลผลิตออกมาโดยการคำนึงถึงกำไรมากกว่าสิ่งแวดล้อม อย่างที่กล่าวไปข้างต้น บริษัทมีการสร้างไลน์ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มบริโภคหลายกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก สรุปแล้วเราควรโทษที่นายทุนหรือตัวระบบทุนนิยม?

human-capitalism-and-sustainability-SPACEBAR-Photo02.jpg

จริงๆ แล้ว ทุนนิยมสามารถเอื้อไปกับความยั่งยืนได้ หรือกล่าวได้ว่า Sustainable Capitalism สามารถเป็นไปได้ “ถ้าผู้คนตระหนักและความร่วมมือมากพอ” และไม่ควรมีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เปลี่ยนแปลง ในเว็บไซต์ ugreen มีการสร้างวิธีทางในการปรับให้นายทุนเดินตามความยั่งยืน โดยมีทั้งหมด 6 วิธี 

  1. ปรับเปลี่ยนกระบวนการให้ลดต้นทุนแต่คงประสิทธิภาพ หน่วยงานรัฐสามารถสร้างข้อบังคับให้ภาคธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อลดจำนวนคาร์บอนหรือสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน 
  2. สนับสนุนการบริโภคเชิงยั่งยืน ผู้บริโภคสามารถใช้กำลังซื้อในการสนับสนุนธุรกิจที่ชูเรื่องความยั่งยืน เช่น การเพิ่มภาษีสำหรับสินค้าที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 
  3. ลงทุนกับสาธารณูปโภคที่เพื่อความยั่งยืน เช่น รถสาธารณะที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 
  4. สนับสนุนการเงินเชิงยั่งยืน หน่วยงานการเงินสามารถสนับสนุนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนรวมถึงโปรเจกต์ต่างๆ  
  5. สนับสนุนการปกครองแบบยั่งยืน หน่วยงานรัฐสามารถใช้ข้อบังคับในการสนับสนุนความยั่งยืน เช่น ออกกฎหมายเพื่อลดสิ่งที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม 
  6. แต่ละหน่วยงานร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือความยั่งยืน

6 ข้อที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างเพื่อให้รู้ว่าทุนนิยมสามารถสนับสนุนความยั่งยืนได้ (หากคิดจะทำ) แต่แน่นอนว่าช่างฟังดูอุดมการณ์เสียเหลือเกิน เพราะบนโลกความเป็นจริงความเป็นมนุษย์กับทุนนิยมน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะฉะนั้นตัวระบบทุนนิยมอาจไม่ใช่ปัญหา เราเห็นความเป็นไปได้หากปรับใช้ข้อแนะนำทั้ง 6 ข้อ บางทีเราอาจต้องร่นลงไปพิจารณาที่ ‘ตัวคน’ หรือกรอบความคิดของตัวนายทุนและภาครัฐมากกว่า 

เพราะสันดานมนุษย์ ความยั่งยืนจึงเป็นไปได้ยาก?

เผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นอยู่คู่กับคำว่า ‘อำนาจ’ มาช้านาน จากเดิมคือความรุนแรง มนุษย์มีการวัฒนาการปรับเปลี่ยนการแสดงออกทางอำนาจผ่านสิ่งอื่นๆ เช่น อำนาจผ่านชนชั้น ผ่านฐานะการเงิน ชื่อเสียง และความนิยม ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในปัจจุบัน เคยมีคำกล่าวว่า “ทุนนิยมนั้นช่างเข้ากันได้ดีกับความเป็นมนุษย์” เพราะมีคุณสมบัติหลายอย่างที่เอื้อและมีความสัมพันธ์ต่อการแสดงออกทางอำนาจของมนุษย์โดยตรง เช่น การครอบครองธุรกิจมูลค่าสูง การเรี่ยไรกำไรเพื่อประโยชน์ส่วนตน แม้แต่การบริจาคสิ่งของยังเป็นการแสดงออกทางอำนาจเพื่อให้คนรอบข้างมองว่าตัวเองใจบุญสุนทาน เป็นต้น

อย่างไรเสีย ทุนนิยมไม่ได้มีข้อเสียเพียงอย่างเดียว เพราะสามารถสร้างความชอบธรรมให้กับมนุษย์ได้ เช่น การลงแรงไปอย่างไรได้ผลกลับมาเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ต่อยอดให้งานศิลปะหลายแขนงเกิดคุณค่า แต่นำมาสู่คำถามว่า ศิลปะตีเป็นคุณค่าผ่านมูลค่าหรือคุณค่าความงาม เรื่องนี้อาจเป็นหัวข้อสำหรับวันต่อไป

human-capitalism-and-sustainability-SPACEBAR-Photo03.jpg

ถ้าจะพูดให้เข้าใจโดยง่าย ทุนนิยมเป็นเหมือนดาบสองคม เป็นเหมือนเครื่องมือที่จะดีหรือร้ายนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้ อาจเป็นเหมือนดาบที่เราเลือกจะใช้ฟันต้นไม้หรือฟันคนด้วยกันเอง ขึ้นอยู่ที่เราตัดสินใจ ดังนั้น ความยั่งยืนจะเป็นไปได้ต้องขึ้นอยู่กับกรอบความคิด การศึกษา และความเข้าใจของมนุษย์เอง ซึ่งปัจจุบันเล็งเห็นว่านายทุนขาดเรื่องนี้อยู่พอควร เพราะถ้านายทุนมองเรื่องนี้ขาด เราคงไม่เห็นแผนที่อุณหภูมิโลกขึ้นสูงมามากขนาดนี้ หรือเห็นไฟป่าที่ป่าแอมะซอน หรือน้ำแข็งขั้วโลกละลาย แม้แต่นายทุนระดับโลกอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) แม้ไม่ปฏิเสธเรื่องภาวะโลกร้อน แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่เชื่อว่าการกระทำของมนุษย์จะส่งผลต่อโลกถึงขั้นที่เกิดภาวะโลกร้อนได้ขนาดนั้น”

human-capitalism-and-sustainability-SPACEBAR-Photo04.jpg

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขากล่าว ปัจจุบันมีมนุษย์ทั่วโลกร่วม 8 พันล้านคน มีรายงานว่ามีการเปิดใช้งานโทรศัพท์มือถือมากกว่าจำนวนประชากรโลกเสียอีก นึกถึงปริมาณขยะและคาร์บอนที่ปล่อยออกมา ไม่รวมถึงการผลิตไฟฟ้าเพื่ออำนวยความสะดวกทั้งบ้านเรือนหรือโลกอินเทอร์เน็ต และของเสียของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลก ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอีก 2.5 องศาเซลเซียส แม้เป็นตัวเลขเล็กน้อย แต่ส่งผลกระทบอย่างน่ากลัว สัตว์และแมลงสามารถล้มตายจนเสียระบบนิเวศได้ แม้แต่น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลทำให้เกิดน้ำขึ้น ซึ่งกระทบกับเมืองกรุงเทพมหานครโดยตรง (ใช่แล้ว กรุงเทพกำลังจะน้ำท่วม หากไม่มีการแก้ไข)

เพราะฉะนั้น แม้เราจะ “ช่วยกันคนละไม้คนละมือ” แต่ก็ยากจะสัมฤทธิ์ผล ตราบใดที่นายทุนทั่วโลกรวมถึงภาครัฐในแต่ละประเทศยังไม่ตระหนักว่าควรลงมือทำอะไรต่อไป เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะตระหนักก็ต่อเมื่อโลกร้อนเป็นผลกระทบต่อผลผลิตของพวกเขาเอง มันอาจฟังดูน่าเศร้าที่พวกเขาไม่ได้ทำเพราะเห็นแก่เพื่อนร่วมโลก แต่เป็นผลผลิตตัวเอง แต่นั่นก็เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วสำหรับมนุษยชาติ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์