เสียงเพลงที่ลอยละล่องออกมาจากแกรนด์เปียโน Steinway & Sons เคล้าทำนองที่แสนคุ้นหูราวกับหลุดมาจากฝัน เมโลดี้ของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ (Ryuichi Sakamoto) เป็นที่กล่าวขานว่าเป็นผู้สร้างเสียงดนตรีจากความทรงจำ โดยเฉพาะเพลง ‘Merry Christmas Mr. Lawrence’ บทเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘Merry Christmas Mr. Lawrence’ (1983) ที่มีเมโลดี้สวยงามทำให้ผู้ฟังเหมือนต้องมนต์จนต้องเอ่ยว่า “เหมือนเคยฟังเพลงนี้ที่ไหนมาก่อน”

ริวอิจิ ซากาโมโตะ เกิดที่เมืองโตเกียวในปี 1952 เริ่มเรียนเปียโนมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ จากนั้นสานฝันและความสามารถทางด้านดนตรีของเขาต่อในมหาวิทยาลัยโตเกียว ซากาโมโตะนั้นตั้งใจเอาดีทางด้านดนตรีแนวสังเคราะห์โดยรับแรงบันดาลใจมุมมองด้านดนตรีมาจาก เดอบุสซี (Debussy) ไปจนถึง คราฟต์แวร์ก (Kraftwerk) วงดนตรีเยอรมันแนวอิเล็กทรอนิกส์จากเมืองดูซเซลดอล์ฟ ร่วมทำโปรเจกต์หลายชิ้น รวมถึงร่วมงานกับ ฮารุโอมิ โฮโซโนะ (Haruomi Hosono) และ ยูกิฮิโระ ทาคาฮาชิ (Yukihiro Takahashi) ในวงออร์เคสตรา Yellow Magic Orchestra (YMO) วงดนตรีที่ผสานนำเอากลิ่นอายดนตรีญี่ปุ่นเข้ากับความเป็นป๊อป

ซากาโมโตะอยู่ร่วมทำเพลงกับวง YMO และยังคงไม่ละทิ้งโปรเจกต์อัลบั้มเดี่ยวที่เขาทำออกมาร่วม 21 อัลบั้ม ซึ่งอัลบั้มเพลงส่วนใหญ่เป็นเพลงบรรเลงที่มีคอนเซปต์ในแต่ละอัลบั้มที่แตกต่างกัน และมักประกอบด้วยเครื่องดนตรีสาย เป่า เปียโน และคีย์บอร์ดที่ให้เสียงสังเคราะห์ บางเพลงซากาโมโตะเลือกใช้เสียงธรรมชาติจากที่เขาอัดมาจากสถานที่ต่างๆ เช่น เสียงฝน เสียงป่า ไปจนถึงเสียงต่างๆ ในเมือง ระหว่างที่เขาทำเพลงร่วมกับวง YMO และทำโปรเจกต์เดี่ยวของตัวเอง เขายังถูกเสนอให้ประพันธ์เพลงสำหรับประกอบภาพยนตร์ ดังที่ปรากฎอยู่ในเรื่อง Merry Christmas Mr. Lawrence ที่เขาร่วมแสดงหนังรับบทเป็นทหารญี่ปุ่น และประพันธ์เพลงประกอบให้

ต่อมาในปี 1987 ซากาโมโตะประพันธ์เพลงประกอบให้กับเรื่อง ‘The Last Emperor’ ผลงานระดับออสการ์ของ เบอร์นาร์โด เบอร์โตลุชชี (Bernardo Bertolucci) ประพันธ์ร่วมกับ เดวิด ไบรน์ (David Byrne) และ ซง ซู (Cong Su) The Last Emperor เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ซากาโมโตะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลังจากที่เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
นอกจากนี้ซากาโมโตะยังประพันธ์เพลงเปิดงานให้กับโอลิมปิกในสเปนเมื่อปี 1992 และมีโปรเจกต์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อยๆ เช่น The Little Buddha (1993), Love Is the Devil: Study for a Portrait of Francis Bacon (1998), Babel (2006), The Revenant (2015), Love After Love (2022) เป็นต้น
นอกจากนี้ซากาโมโตะยังประพันธ์เพลงเปิดงานให้กับโอลิมปิกในสเปนเมื่อปี 1992 และมีโปรเจกต์ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อยๆ เช่น The Little Buddha (1993), Love Is the Devil: Study for a Portrait of Francis Bacon (1998), Babel (2006), The Revenant (2015), Love After Love (2022) เป็นต้น

ซากาโมโตะตรวจพบว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก (Oropharyngeal cancer) เมื่อปี 2014 และหยุดพักการทำงานไปหนึ่งปีเต็ม เขาเผยว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ “ยากลำบาก และเจ็บปวดที่สุดในชีวิต” ยิ่งไปกว่านั้นเขายังตรวจพบมะเร็งในลำไส้ใหญ่ (Bowel cancer) ในปี 2021 ซึ่งเขากล่าวว่า “จากวันนี้เป็นต้นไป ผมจะอยู่ร่วมไปกับโรคมะเร็ง และผมหวังว่าจะได้ทำดนตรีนานขึ้นอีกนิด”

เพื่อบอกเล่าชีวิตและประสบการณ์ที่น่าทึ่งของซากาโมโตะ สตีเฟน โนมูระ ชิเบิล (Stepehen Nomura Schible) ได้สร้างสารคดีเกี่ยวกับเขาในชื่อ ‘Ryuichi Sakamoto: Coda’ ในปี 2018 นำเรื่องโดยซากาโมโตะ โดยให้เขาออกมาเล่าเรื่องราวในชีวิต แรงบันดาลใจในการทำงาน ไปจนถึงประสบการณ์ที่เขามีตอนทำโปรเจกต์ประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์ ภายในสารคดีเขากล่าวว่าเขาเป็นคนหลงใหลในเสียงธรรมชาติ ในแต่ละวันเขาจะพยายามสังเกตเสียงที่อยู่รายล้อมรอบตัว บางวันต้องออกไปข้างนอกตามที่ต่างๆ เพื่อหาแรงบันดาลใจ โดยมักพกไมค์อัดเสียงไปไหนมาไหนด้วยเสมอ (สามารถชมได้บนแพลตฟอร์ม MUBI)
ริวอิจิ ซากาโมโตะ นับว่าเป็นนักประพันธ์เพลงชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังและมากความสามารถ เกือบเรียกได้ว่าเป็นสมบัติของชาติญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ผลงานเพลงของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาได้ทุ่มเทชีวิตให้กับเสียงดนตรีอย่างแท้จริง อีกทั้งมอบประสบการณ์การฟังเพลงที่สวยงามแก่ผู้ฟังทั่วโลก แม้ว่าตัวเขาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ท่วงทำนองที่ลึกซึ้งกินใจและความงดงามของดนตรีที่เขาได้ประพันธ์ไว้จะยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนต่อไป