ส่องที่มาน่ารู้ 5 เรื่อง เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาสที่คุณอาจไม่รู้มาก่อน

21 ธ.ค. 2565 - 09:14

  • ชวนส่องที่มาน่ารู้ทั้ง 5 เรื่อง เกี่ยวกับเทศกาลคริสต์มาส ที่ตอบคำถามตั้งแต่เรื่องสีชุดซานตาคลอส เรื่องที่มาของการห้อยถุงเท้า รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่างที่มาของตัวเอลฟ์

interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Thumbnail
ใกล้เข้าสู่เทศกาลคริสต์มาสกันแล้ว บรรยากาศในเมืองตอนนี้เริ่มการตกแต่งเพื่อต้อนรับเทศกาลนี้กันอย่างมากมาย แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่เมืองคริสต์ แต่ก็เป็นประเทศที่อยู่กับเทศกาลคริสต์มานานหลายสิบปี ซึ่งแน่นอนว่าการจัดเทศกาลเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อๆ กันมานาน 
 
การจัดเทศกาลคริสต์มาสในไทยนั้นเป็นเหมือนกันจัดขึ้นตามกระแสโลก และถือเป็นการสร้างวาระสำคัญให้กับช่วงท้ายปี แน่นอนว่าต้องมีเรื่องราว ตำนาน หรือธรรมเนียมประเพณี ที่ชาวไทยไม่รู้จัก หรือละเลยไปบ้าง เช่น คริสต์มาสอีฟคืออะไร ทำไมต้องทานไก่งวง หรือทำไมต้องใช้ต้นสนเป็นต้นคริสต์มาส เป็นต้น วันนี้เราจะมาส่องเรื่องราวน่ารู้เพื่อให้รู้จักกับเทศกาลที่แสนอบอุ่นนี้กันมากขึ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2EhSlY38nQmlLjNfWTmK5N/b0503d9a9ca3c6bdf5aa310f7230070f/interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Photo01
Photo: Wikimedia

1.ถุงเท้าหมายถึงอะไร ทำไมต้องห้อยไว้? 

 
ตามธรรมเนียมเมื่อใกล้ถึงวันคริสต์มาส แต่ละบ้านต้องห้อยถุงเท้าไว้ในบ้านเพื่อรับของขวัญจากเซนต์นิโคลัส หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ซานตาคลอส ในแถบยุโรปเชื่อว่าหากใครเป็นเด็กดี เซนต์นิโคลัสจะใส่ของเล่นไว้ให้ แต่ใครที่ทำตัวไม่ดี จะได้ถ่านดำแทน  
 
ที่มาการห้อยถุงเท้านั้นยังไม่มีการบันทึกไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างไร มีเพียงตำนานที่กล่าวขานกันมาว่ามาจากชีวิตของเซนต์นิโคลัสเอง เรื่องมีอยู่ว่าเซนต์นิโคลัสได้มาพำนักอาศัยกับครอบครัวที่ยากจน และได้ยินมาว่าคนที่เป็นพ่อจะขายลูกสาวสามคนให้เป็นโสเภณี จะได้นำเงินมาซื้อข้าวกิน เซนต์นิโคลัสอยากช่วย แต่ในใจรู้ว่าคนพ่อคงไม่รับน้ำใจการช่วยเหลือจากเขา เขาจึงพยายามช่วยแบบลับๆ  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6eOAvUZi8vjnn06PM2jLIa/5a7f6530d2eadfbd6958abc222e56932/interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Photo02
Photo: Wikimedia
ตอนที่เขาออกจากบ้านในช่วงกลางคืน เขาโยนกระเป๋าสามใบที่ใส่ทองไว้ผ่านหน้าต่าง ใบแรกหล่นไปอยู่ในถุงเท้า เมื่อบรรดาลูกสาวและพ่อของพวกเธอตื่นขึ้นมาในเช้าวันถัดไป พวกเขาต่างดีใจมาก แถมเหล่าลูกสาวไม่จำเป็นต้องไปเป็นโสเภณีแล้ว 
 
อีกความเชื่อหนึ่งคือคาดว่าธรรมเนียมนี้มาจากความเชื่อของชาวเจอร์มานิก หรือชาวเยอรมันโบราณ ที่เชื่อว่าหากเด็กๆ ใส่พวกพืชผักอาหารในถุงเท้าไว้ข้างๆ เตาผิง เช่น แครอท เป็นต้น เทพโอดิน (Odin) จะเดินทางมาตอบแทนด้วยการใส่ขนมเข้าไปแทนที่ ซึ่งเรื่องนี้มีความเป็นไปได้เพราะเทศกาลคริสต์มาสส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลเรื่องพิธีกรรมและความเชื่อมาจาพวกนอกรีต (เพแกน หรือนับถือศาสนาอื่นนอกจากคริสต์) อยู่พอสมควร 
 

2. ทำไมต้องตั้งต้นไม้ในวันคริสต์มาส 

 
การตั้งต้นคริสต์มาสเป็นอีกธรรมเนียมประเพณีที่มาจากพวกนอกรีตมาตั้งแต่สมัยโรมันโบราณ ประเพณีนี้เป็นประเพณีของชาวยุโรปเหนือ หรือชาวเคลต์ ที่ใช้ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของ ‘Evergreen Tree’ ต้นไม้ที่ยังคงความเขียวขจีตลอดหน้าหนาวเพื่อเป็นตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิที่กำลังเข้ามา หรือในช่วงวันครีษมายัน จากนั้นชาวโรมันก็นำธรรมเนียมนี้มาใช้ในการฉลองเทศกาลซาเทอร์นาเลีย (Festival of Saturnalia) ด้วยการใช้ต้นเฟอร์มาประดับเครื่องประดับเพื่อความสวยงาม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Uhn3nbGIFaBWx16PnLp1M/56fb03a52d719dbb1114a77637f13735/interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Photo03
Photo: Wikimedia
เมื่อศาสนาคริสต์เข้ามามีอิทธิพลในอาณาจักรโรมัน ต้นไม้ในเทศกาลซาเทอร์นาเลียก็ถูกพัฒนากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลคริสต์มาสไปโดยปริยาย  
 

3. รู้ไหมก่อนจะมาเป็นซาตาคลอสชุดแดง ซาตาคลอสเคยสวมชุดเขียวมาก่อน 

 
ซานตาคลอส หรือเซนต์นิโคลัส เป็นบุคคลในตำนานที่เชื่อว่าจะเดินทางมามอบของขวัญ และสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ และครอบครัว ในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เป็นเสมือนภาพตัวแทนของวันคริสต์มาส หรือบิดาแห่งวันคริสต์มาส มีความเป็นไปได้ว่าที่มาของซานตาคลอสอาจมาจากภาพลักษณ์ความเป็นบิดาจากศาสนานอร์สอย่างเทพโอดิน หรือเทพแด็กดา (Dagda) ของชาวเคลต์ ด้วยลักษณะที่มีความอบอุ่นหัวใจ หนวดยาวเฟิ้ม ใบหน้าใจดี ตัวท้วมใหญ่ให้ความรู้สึกปลอดภัย บางทีถูกให้ภาพเป็นเหมือนพ่อมดป่าของชาวเคลต์ที่เรียกว่า ‘ดรูอิด’ (Druids) 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7t2xJM4dFRhosRIyUDYKU3/035aa919ba66a9f5b6018c06618ee904/interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Photo04
Photo: archive.org
ไม่มีใครรู้ว่าซานตาคลอสสวมชุดอะไร เพราะตัวการ์ตูนแรกที่ปรากฎสู่สาธารณชนถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1863 บนนิตยสารรายสัปดาห์ Harper’s Weekly ที่ตีพิมพ์ด้วยหมึกสีดำล้วน ต่อมาในปี 1864 ซานตาคลอสถูกวาดขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้ถูกระบายสีด้วยชุดสีเหลือง ประกอบบทกวีเรื่อง ‘A Visit from St. Nicholas’ ของ เครเมนต์ คลาร์ก มัวร์ (Clement Clarke Moore) หลังจากนั้นซานตาคลอสก็ถูกวาดชุดด้วยสีต่างๆ มากมายตั้งแต่สีน้ำตาล เหลือง และสีฟ้า
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1tucEtxRHk0chEJonS3Ylg/36c78843c7bd47e7371a99a81c83c147/interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Photo05
Photo: Wikimedia
ซานตาคลอสชุดแดงปรากฎครั้งแรกในปี 1868 เป็นภาพวาดของ โทมัส แนส (Thomas Nast) ประกอบบรรจุภัณฑ์ลูกกวาด ‘Santa Claus Sugar Plums’ หลายคนจึงมีภาพจำซานตาคลอสในชุดแดงกันมากขึ้น แต่มารู้จักกันจริงๆ คือ โฆษณาโค้ก ปี 1931 ที่เป็นภาพซานต้าคลอสชุดแดงกำลังถือขวดโค้กสีแดง กลายเป็นว่าซานตาคลอสมีภาพจำเป็นชุดสีแดงไปในที่สุด 
 

4. ใครเป็นเด็กไม่ดีต้องเจอ ‘แครมปุส’ 

 
ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าการเดินทางไปบ้านต่างๆ ของซานตาคลอส จะมีสัตว์ประหลาดตัวหนึ่งเดินทางไปด้วย สัตว์ประหลาดที่ว่านี้เรียกว่า ‘แครมปุส’ (Krampus) สัตว์กึ่งมนุษย์มีเขา ตำนานแครมปุสมาจากทางฝั่งเทือกเขาอัลไพน์ตะวันออกในยุโรป เชื่อกันว่าเขามักจะเดินทางมากับซานตาคลอสเพื่อมาหลอกเด็กที่ประพฤติตัวไม่ดี และจะเดินทางมาหาเด็กๆ ในวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1hWqqbwRiaAnGcPqvjFYyI/87fc7c4e2be927238af71b34b5684058/interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Photo06
Photo: USC Dornsife
ใครที่เป็นเด็กดี เซนต์นิโคลัส หรือซานตาคลอสจะให้รางวัลเป็นขนม เช่น ส้ม ผลไม้แห่ง ลูกวอลนัต หรือช็อกโกแลต ส่วนใครที่เป็นเด็กไม่ดีจะถูกแครมปุสทำโทษด้วยการถูกตีด้วยไม้เบิร์ช 
 

5. ทำไมเอลฟ์ต้องมาช่วยงานซานตาคลอสด้วย? 

 
เดิมทีซานตาคลอส หรือเซนต์นิโคลัส ไม่มีความเกี่ยวโยงอะไรกับสิ่งมีชีวิตหูยาวที่เรียกว่าเอลฟ์เลย แต่ภาพจำนี้เริ่มเป็นครั้งแรกในบทกวีคริสต์มาสเรื่อง A Visit from St. Nicholas หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘The Night Before Christmas’ ในบทกวีนี้มีการกล่าวถึงว่าซานตาคลอสเป็นเหมือน “เอลฟ์ชราที่ร่าเริง” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/Pe7PeugS2GyAk1Mgoeepc/bcd34c36dd60b4d45eb36a1711fc3c65/interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Photo07
Photo: Harald Wiberg
การกล่าวว่าซานตาคลอสเป็นเอลฟ์นั้นคาดว่าเป็นเป็นภาพจำที่ผสานกันระหว่างเซนต์นิโคลัสกับเอลฟ์ชื่อ ‘ทอมเทม’ (Tomten) เอลฟ์ชราจากนิทานเด็กเรื่อง ‘The Tomten’ เขียนโดย อัสทริด ลินด์เกรน (Astrid Lindgren) อิงจากบทกวีของ วิคเตอร์ ไรด์เบิร์ก (Viktor Rydberg) และคาร์ล-เอริก ฟอร์สลุนด์ (Karl-Erik Forsslund) เมื่อปี 1881 บทกวีที่ได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวเทพปกรณัมนอร์ส  
 
การเชื่อมโยงกันอย่างน่ารักๆ นี้ ทำให้เกิดไอเดียสร้างสรรค์ขึ้นมา ในปี 1857 นิตยสาร Harper’s Weekly ตีพิมพ์บทกวีชื่อว่า ‘The Wonders of Santa Claus’ ที่เขียนบอกเล่าว่าซานตา “คอยคุมเอลฟ์จำนวนมหาศาลให้ทำงาน/ พวกเขาทำงานด้วยกำลังที่มี/ เพื่อสร้างของสวยงานเป็นล้านๆ / ทั้งเค้ก, ลูกกวาด และของเล่น/ เพื่อเติมเต็มถุงเท้าที่แขวนไว้ /โดยเด็กชายและหญิงตัวเล็กๆ”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1gkxwVzYbCA2iALVd4oMz8/601518a8539aa6fdc208092b2c507f65/interesting-facts-about-christmas-SPACEBAR-Photo08
Photo: Norman Rockwell Museum
ภาพจำซานตาและเอลฟ์ถูกทำให้ชัดขึ้นไปอีกโดยศิลปินชื่อ นอร์แมน ร็อกเวล (Norman Rockwell) ในปี 1922 เขาวาดภาพซานตาคลอสที่กำลังนั่งพักผ่อนด้วยใบหน้าอิดโรย โดยรอบตัวเขามีเอลฟ์ตัวเล็กๆ กำลังช่วยทำของเล่นให้ทันเทศกาล จากนั้นทั้งสองตัวละครก็อยู่คู่กันในเทศกาลคริสต์มาสมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะเจ้านายและลูกน้องผู้น่ารัก และน่าอบอุ่นในเทศกาลคริสต์มาส 
 
หวังว่าทุกคนไม่ว่าจะอยู่คนเดียว อยู่เป็นคู่ หรืออยู่เป็นครอบครัว มีความสุขในเทศกาลคริสต์มาส แม้ว่าชาวไทย หรือชาวพุทธจะไม่มีธรรมเนียมประเพณีเหมือนประเทศฝั่งตะวันตก ถือเสียว่าเป็นวาระสำคัญช่วงท้ายปีที่มอบโอกาสให้ทุกครัวเรือนหันมาเฉลิมฉลอง และอยู่พูดคุยกันอย่างอบอุ่น อัปเดตชีวิต และปรับความเข้าใจกันส่งท้ายปี เพื่อต้อนรับปีใหม่ที่สดใส

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์