บทสัมภาษณ์พิเศษ! ทำความรู้จักเจ้าของเพจ ‘Lafyna’ กับจุดเริ่มต้นของการใช้ศิลปะในการสื่อสาร

14 มี.ค. 2568 - 09:00

  • จากเด็กที่ไม่ค่อยพูดจึงเลือกใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารโดยมีคุณยายเป็นแรงบันดาลใจให้รักในการวาดภาพ

  • สิ่งที่อยากทำและยังไม่มีโอกาสได้ทำคือการกลับมาพัฒนา Branding ของตัวเอง ที่ผ่านมาผจญภัยมาเยอะมากๆ จนลืมให้ความสำคัญไป

Interview-Lafyna-SPACEBAR-Hero.jpg

เคยสงสัยไหมว่าภาพประกอบที่เราเห็นกันในงานคอนเสิร์ต หน้าปกอัลบั้ม หรืองานโฆษณาต่างๆ นั้นเป็นผลงานของใครกัน และหลากหลายขั้นตอนกว่าจะเป็นชิ้นงานแต่ละชิ้นที่เราได้เห็นกันมีแนวคิดอย่างไรบ้าง?  

 Spacebar VIBE ขอพาไปรู้จักกับ ‘เกิร์ล-ณิชา ทวีเจริญสุข’ นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ Lafyna ผู้เคยฝากผลงานให้เราได้เห็นกัน เช่น งานคอนเสิร์ต UNIFEST 2024, คอนเสิร์ต Move On จนโคจรมาเจอกัน โดยนอกจากงานคอนเสิร์ตแล้วเธอยังวาดภาพปกอัลบั้มเพลงของวงดนตรีชื่อดังอย่าง Silly Fools, Paradox และ กล้วยไทย อีกด้วย 

มาทำความรู้จักกับ ‘เกิร์ล-ณิชา ทวีเจริญสุข’ ให้มากขึ้นผ่านบทสัมภาษณ์นี้ที่จะพาทุกคนดำดิ่งลงไปกับเรื่องราวของเธอ จุดเริ่มต้นจากเด็กที่ใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารสู่นักวาดภาพประกอบที่ได้ร่วมงานกับศิลปินชื่อดัง หากใครต้องการแรงบันดาลใจในเส้นทางศิลปะเชื่อว่าบทสัมภาษณ์นี้จะจุดประกายเล็กๆ ให้แก่ผู้อ่านได้้

Interview-Lafyna-SPACEBAR-Photo01.jpg

จุดเริ่มต้นในเส้นทางศิลปะ 

ครั้งยังอยู่ในวัยเด็ก ‘เกิร์ล-ณิชา ทวีเจริญสุข’ มีคุณยายเป็นผู้จุดประกายให้รักในการวาดภาพ เนื่องจากเป็นเด็กไม่ค่อยพูดเธอจึงเลือกการวาดภาพเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ณ เวลานั้น พร้อมเล่าให้ฟังถึงภาพวาดภาพแรกของเธอว่า “ถ้าพูดถึงภาพวาดภาพแรกจำไม่ได้แล้ว ตอนเด็กๆ ก็วาดภาพเหมือนเด็กทั่วไป วาดภูเขา ต้นไม้ คนก้างปลา สิ่งที่แตกต่างออกไปคือเราเลือกใช้สีที่่เป็นสีสัน อยากใช้สีแปลกๆ บางทีก็อยากระบายท้องฟ้าให้เป็นสีม่วงไปเลยก็มี ระบายสีให้เป็นไปตามจินตนาการของเรา” 

จุดเริ่มต้นของการวาดภาพแนวแฟนตาซี โดยพื้นฐานส่วนตัวของเกิร์ลมีความชื่นชอบในการอ่านหนังสือแฟนตาซีอยู่แล้ว ยิ่งได้เปิดโลกระหว่างการดร็อปเรียนจากมหาวิทยาลัยเพื่อไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่อังกฤษ ที่นั่นทำให้เธอได้พบกับร้านขายของเกี่ยวกับแม่มดและการได้พบร้านขายของแฟนตาซีเหล่านั้นถือเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมประสบการณ์ในการวาดภาพของเธอได้เป็นอย่างดี 

เกิร์ลเล่าว่า “ตอนนั้นเดินอยู่แถวๆ มหาวิทยาลัยที่อังกฤษแล้วบังเอิญเจอกับซอยที่มีแต่บ้านแม่มด ทำให้เราเกิดความสงสัยและเริ่มศึกษา ได้เจอพวกหนังสือดูดวง จิตวิทยา เรื่องเล่าถึงการล่าแม่มด รู้สึกว่าน่าสนใจดีและตอนนั้นกระแสเกี่ยวกับการวาดภาพแนวแฟนตาซีแม่มดยังไม่เป็นที่นิยมในไทย การที่เราได้ไปพบเจอและศึกษาในครั้งนั้นเป็นส่วนที่สามารถสร้างประสบการณ์ในการหาลายเส้นของเราได้ นอกจากร้านแม่มดแล้วยังมีพิพิธภัณฑ์ที่อังกฤษที่แตกต่างจากที่ไทย ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์มัมมี่ที่มีแบบจำลองมัมมี่ให้เราได้จับ เหล่านั้นถือเป็นประสบการณ์ชั้นดีที่ทำให้เราได้นำมาใช้กับงานของเราด้วย”

Interview-Lafyna-SPACEBAR-Photo02.jpg

ระยะเวลา 10 ปีในเส้นทางศิลปินวาดภาพประกอบ  

ตั้งแต่วันแรกในการเปิดเพจ ‘Lafynagirl’ จนถึงปัจจุบันการเดินทางในฐานะศิลปินของเธอผ่านวันเวลายาวนานมาถึง 10 ปี ระหว่างการเดินทางนั้นเป็นช่วงที่เปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อรอความสำเร็จในวันข้างหน้า 

การใช้งานศิลปะเพื่อเป็นเครื่องมือในการหารายได้เกิดขึ้นในช่วงที่เกิร์ลเรียนมหาวิทยาลัย ที่เปิดเพจขึ้นมาเพราะอยากขายของและเก็บเงินเพื่อซื้อของที่อยากได้ จากการวาดภาพที่มีลูกค้าแค่เพื่อนได้ขยายตัวจนเป็นที่รู้จัก ในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ทำให้เกิร์ลได้ค้นหาลายเส้นของตัวเอง 

ช่วง 1-3 ปีแรกเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายๆ คนได้รู้จักเธอจากการค้นหาลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์และหาแกนหลักในการวาดภาพแต่ละภาพ  เข้าสู่ช่วงปีที่ 4-6 เป็นปีแห่งการสร้างคอนเนคชั่นจนก้าวกระโดดมากขึ้น ในช่วงสามปีให้หลังเป็นช่วงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด เปรียบเสมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ในช่วงก่อนหน้าได้ออกดอกออกผลให้คนอื่นๆ ได้รู้จักผลงานและสามารถสร้างรายได้ให้กับเธอได้ในที่สุด 

สำหรับใครที่ยังหาลายเส้นของตัวเองยังไม่เจอเกิร์ลได้ฝากข้อความมาบอกว่า “ให้เริ่มต้นจากสิ่งที่สนใจก่อน ใช้ความสนใจขับเคลื่อนเป็นแรงผลักดัน ในการทำงานไม่ว่าจะงานไหนก็ตามต้องเกิดจากความอยากทำ ถ้าอยากทำเพราะต้องการได้เงินมันจะเริ่มได้ยาก ส่วนตัวเราเกิดมาไม่ได้วาดภาพสวยเหมือนกัน แต่เพราะชอบเราจึงทำมันต่อได้เรื่อยๆ ส่วนลายเส้นสำหรับเราหาไม่นาน ลายเส้นของเราเปลี่ยนทุกวันอยู่แล้ว เพียงแต่วิธีการถ่ายทอดออกมายังคงอยู่เหมือนกับการเล่าเรื่อง เปรียบเหมือนการทำงานเดิมซ้ำๆ ถ้าทำบ่อยเกินไปแล้วรู้สึกเบื่อก็ลองเปลี่ยนเทคนิค” 

ที่มาของชื่อเพจ Lafyna นั้นเธอเล่าว่า “มาจากช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยตอนปีหนึ่ง มีรุ่นพี่ตั้งให้เป็นเหมือน AKA ของเรา แต่จริงๆ ชื่อนี้เกิดจากความบังเอิญเพราะรุ่นพี่เขาจำชื่อตัวละครเจ้าหญิง Fiona ในเรื่องเชร็คผิด ทำให้เราได้ชื่อ Lafyna นี้มา” แม้จะเป็นชื่อที่เกิดจากความบังเอิญแต่ก็เป็นชื่อที่ทำให้เราจดจำนักวาดภาพประกอบคนนี้ได้เป็นอย่างดี

Interview-Lafyna-SPACEBAR-Photo03.jpg

การออกแบบชิ้นงานเปรียบเสมือนการแล่ปลา 

แนวคิดในการวางแผนออกแบบงานที่ได้จากเกิร์ลคือมองภาพรวมก่อนและค่อยย่อยองค์ประกอบ “ณ ปัจจุบันเวลาคิดงานหรือออกแบบงานเราจะคิดเป็นภาพรวมก่อน ไม่ได้คิดถึงสิ่งที่อยากวาดเป็นขั้นแรกแต่จะคิดในสิ่งที่อยากเล่าให้คนอื่นๆ ฟัง เหมือนเวลาแล่ปลาที่เราจะมองว่าปลาตัวนั้นสามารถเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง เช่น ถ้างานนี้เราอยากเล่าเกี่ยวกับการดูดวง มันไม่ใช่แค่ดูดวงตามราศี แต่มันสามารถพูดถึงในอีกแง่ได้ว่าเราจะลองพูดถึงเรื่องสีมงคล ถ้าพูดถึงจะส่งผลอะไรบ้าง หรือถ้าเรารู้องค์รวมนั้นๆ แล้วเราจะหาคีย์เวิร์ดสำหรับทำงานแล้วแตกแยกย่อยคำเหล่านั้นออกไปจนกว่าจะไม่มีคำให้แตกออกไปได้อีก วิธีนี้เป็นวิธีคิดที่สนุก เหมือนเราได้ทำตามความรู้สึกหรือความคิดที่เราอยากจะทำ” 

“การหาไอเดียใหม่ๆ เพื่อใช้ในชิ้นงานของตัวเองต้องเริ่มจากอะไรที่ง่ายๆ โดยมันจะพาเราไปสู่จุดเชื่อมโยงในสิ่งที่อยากจะเล่าออกมาผ่านภาพวาด วิธีคิดของแต่ละคนแตกต่างกัน เดี๋ยวทุกคนก็จะหาวิธีเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ ได้ ส่วนเราอย่างที่บอกไปมองชิ้นงานให้เป็นปลาเพื่อแยกว่าอะไรสามารถทำสิ่งไหนได้บ้าง” 

ถือว่าเป็นเทคนิคการคิดที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้หลายรูปแบบโดยไม่จำกัดว่าวิธีนี้เหมาะกับงานศิลปะเพียงอย่างเดียว หากใครคิดงานไม่ออกแล้วอยากได้วิธีคิดงานลองนำวิธีของเกิร์ลไปปรับใช้ได้

Interview-Lafyna-SPACEBAR-Photo04.jpg

การทำงานทุกประเภทล้วนเกิดปัญหา ‘ศิลปะ’ ด้วยเช่นกัน 

แน่นอนว่าการทำงานทุกประเภทล้วนมีปัญหา งานด้านศิลปะก็เช่นกัน โดยเกิร์ลเล่าถึงปัญหาในการทำงานให้เราฟังว่า “ปัญหาเกิดขึ้นเกือบจะทุกงานที่ทำ งานอาร์ตมักจะเป็นกระบวนการสุดท้ายขององค์กรซึ่งทำให้ระยะเวลาในการทำงานของเราเหลือน้อย บางทีคุยกันในตอนแรกในการทำงานมีเวลาให้หนึ่งเดือนแต่พอถึงช่วงที่ใกล้ทำงานจริงบอกเราว่าเหลือเวลาในการทำงานแค่สองอาทิตย์ก็มี หรือบางทีปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานมักจะเกิดจากคนข้างนอกที่เราต้องทำความรู้จักใหม่ตลอด เราเหมือนเป็นซัพพลายเออร์ที่ต้องเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ ด้วย”  

หรือประสบการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่างสภาพอากาศก็นับเป็นปัญหาหนึ่งในการทำงาน “มีครั้งหนึ่งทำงานคอนเสิร์ตกลางแจ้ง ตอนนั้นไม่ใช่ฤดูฝนแต่ฝนดันตกทั้งวันทั้งคืน เราเลยคุยกับเจ้าของงานว่าจะเปลี่ยนจากแบ็คดร็อปให้คนถ่ายรูปเฉยๆ เป็นงานที่ให้คนที่มาร่วมงานมาวาดกำแพงไปกับพวกเรา” 

ส่วนงานที่ประทับใจของเกิร์ลคืองานคอนเสิร์ต ‘Move On จนโคจรมาเจอกัน’ ซึ่งเป็นงานที่มีคอนเซ็ปต์ที่ตรงกับความชื่นชอบส่วนตัว เป็นการออกแบบกลุ่มศิลปินแต่ละกลุ่มเพื่อเป็นตัวแทนของไพ่ เธอได้เล่าถึงความประทับใจให้ฟังว่า “เราดีใจที่งานของเราได้ไปอยู่กับศิลปินที่เราชอบ เป็นงานที่ทำ KV (Key Visual) ใหญ่ครั้งแรกแล้วมันมีองค์ประกอบของชิ้นงานอื่นๆ อยู่ด้วย ตอนเห็นครั้งแรกทำเอาน้ำตาซึมอยู่เหมือนกัน เรานอนน้อย! ต้องยอมรับว่างานนั้นนอนน้อยมากจริงๆ การทำคอนเสิร์ตเป็นงานที่มันส์มากสำหรับเรา ทางศิลปินให้ความร่วมมือดีมากๆ อีกงานที่ประทับใจคืองานคอนเสิร์ต Paradox โดยงานนี้เราใช้ชิ้นงานที่เคยวาดไว้อยู่แล้วมาทำ แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นก่อนงานเริ่ม 3-4 ชั่วโมงเพราะพอนำภาพที่วาดไปขยายขึ้นบนจอดิจิทัลภาพมันเกิดแตกขึ้นมา เราเลยแก้ปัญหาด้วยการวาดทับ” 

แต่ละประสบการณ์ของเกิร์ลที่เล่าให้เราฟังในวันนั้นทำให้เราได้เรียนรู้ว่าปัญหาที่เข้ามานั้นเป็นบทเรียนเพื่อให้เราได้รับมือ และเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆ ทำให้เราได้รู้ว่านอกจากเธอจะเป็นนักวาดที่มากความสามารถแล้วยังเป็นคนที่มีอารมณ์ขันมากอีกด้วย

Interview-Lafyna-SPACEBAR-Photo05.jpg

ถึงเวลากลับมาพัฒนาตัวเองหลังจากผจญภัยมาตลอดระยะเวลา 10 ปี 

‘เกิร์ล-ณิชา ทวีเจริญสุข’ ศิลปินนักวาดภาพประกอบผู้เดินบนเส้นทางการทำงานศิลปะมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ตลอดการทำงานซึ่งนับเป็นช่วงที่ทำให้เธอได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงาน 

“สิ่งที่อยากทำและยังไม่มีโอกาสได้ทำคือการกลับมาพัฒนา Branding ของตัวเอง ที่ผ่านมาเราผจญภัยมาเยอะมากๆ จนเราลืมให้ความสำคัญ ปีนี้อาจจะเป็นปีที่เราเปิดตัวแบรนด์จิวเวลรี่ที่ครอบคลุมไปด้วยสายมู โดยจะเป็นสายมูจากทางฝรั่ง ส่วนทางไทยก็มีเช่นกันแต่อยู่ในขั้นตอนการบ่มเพาะอยู่ เราไม่ได้ทำจิวเวลรี่ที่มูจ๋า แต่เป็นการมูที่ทำให้คนอื่นเข้าถึงได้ง่ายเพื่อให้จับต้องได้ ส่วนงานคอนเสิร์ตยังคงทำอยู่แต่จะทำควบคู่กับการพัฒนา Branding ของตัวเองไปด้วย” 

ผลงานเกี่ยวกับการมูล่าสุดที่ ‘เกิร์ล-ณิชา ทวีเจริญสุข’ ได้ทำคือการร่วมงานกับ Bangkok Design Week 2025 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การทำงานในครั้งนี้เธอเล่าถึงความประทับใจให้เราฟังว่า “งานนี้เริ่มจากที่ Canon ชวนให้เราไปออกแบบสินค้าร่วมกันโดยมีพาร์ทเนอร์เป็นกระดาษ Kozo Studio มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาที่มีแค่สองอาทิตย์ จะเอาของเก่าที่เคยออกแบบมาขายไม่ได้ เลยเกิดไอเดียที่จะนำแคมเปญที่เคยทำร่วมกับแม่หมอท่านหนึ่งกลับมาทำใหม่ โดยมีชื่อแคมเปญว่ายันต์ตา แม่หมอท่านนั้นจะเชี่ยวชาญในการเขียนยันต์ เราเลยวาดภาพแล้วให้เขาเขียนยันต์เพื่อให้เกิดความสวยงามที่เสริมความเป็นสิริมงคลไปด้วย ตอนแรกงานชิ้นนี้เป็นวอลเปเปอร์มาก่อนแต่การทำงานครั้งนี้เป็นการสร้างผลงานที่สามารถจับต้องได้ งานนี้พอเราพรินต์ภาพเสร็จเราต้องเดินทางไปที่แหลมฉบังเพื่อให้แม่หมอปลุกเสกด้วย จุดนี้ถือเป็นจุดขายเวลาเราเล่าให้ลูกค้าฟังอีกด้วย” เป็นเรื่องราวที่มีความประทับใจและความตื่นเต้นแฝงอยู่ในชิ้นงาน ขณะที่สัมภาษณ์อยู่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและประทับใจไปกับเธอด้วยเช่นกันเพราะรู้สึกว่างานชิ้นนี้มีที่มาที่น่าสนใจกว่าจะมาเป็นงานชิ้นนี้เหมือนกับได้ออกไปผจญภัย 

นอกจากนี้เธอยังสนใจอยากทำงานศิลปะร่วมกับร้านอาหารอีกด้วย โดยให้เหตุผลว่า “การทำงานร่วมกับร้านอาหารเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเราจะได้สร้างงานศิลปะที่ครอบคลมทุกประสาทสัมผัสทั้งรูป รส กลิ่น และเสียง ถ้าเกิดขึ้นจริงมันก็น่าตื่นเต้นดี หรืออีกอย่างที่เราอยากทำคือวาดภาพแล้วให้เชฟตีความหมายจากภาพวาดว่าเขาอยากสร้างเป็นเมนูอะไรให้เราทาน” 

ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากๆ ถ้างานชิ้นนี้เกิดขึ้นจริงผู้เขียนก็อยากที่จะเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมงาน เพราะการที่เราได้ชมงานศิลปะไปพร้อมๆ กับการรับประทานอาหารไปด้วยเป็นสิ่งที่แปลกใหม่และน่าจะเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับงานศิลปะได้ดี

Interview-Lafyna-SPACEBAR-Photo06.jpg

ผลงานศิลปะกับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ 

วงการศิลปะเป็นอีกหนึ่งวงการที่หลายๆ คนสัมผัสได้ว่ายังขาดการสนับสนุนจากทางภาครัฐไปมาก ศิลปินหลายคนต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ต้องคอยปรับตัวให้เข้ากับสังคมในปัจจุบัน บางคนมีใจรักในการสร้างผลงานศิลปะแต่หลายสิ่งไม่เอื้อต่อสิงที่รัก ทำให้ต้องยุติการสร้างผลงานก็มี 

เกิร์ลได้แสดงความคิดเห็นว่า “สำหรับการสนับสนุนจากทางภาครัฐถ้าถามว่ามีไหม มันมี เพียงแต่มันน้อยมากๆ อย่างงาน  Bangkok Design Week ที่จัดขึ้นทุกปีเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองกับกลุ่มของพวกเขาเอง ยังขาดศิลปินใหม่ๆ ที่เข้ามาสร้างผลงาน การจัดงานในแต่ละปีเปลี่ยนแค่ธีม คนไปร่วมงานเกิดความรู้สึกซ้ำซาก ถ้าอยากให้รัฐบาลสนับสนุนงานศิลปะอาจจะต้องสอดแทรกเข้ากับวงการอื่น เช่น การท่องเที่ยว ปัจจุบันบุคลากรที่ดูแลเกี่ยวกับการสนับสนุนยังคงเป็นคนรุ่นเก่า กลุ่มคนที่ไม่เข้าใจว่างานศิลปะทำแล้วเกิดประโยชน์อะไร อาจจะต้องรอให้หมดยุคของคนรุ่นเก่าไปก่อน ส่วนศิลปินคงต้องดิ้นรนต่อไป” 

“ศิลปินต้องดิ้นรนและปรับตัว ขนาดเราทำงานบางครั้งยังเกิดความเครียดเลย เพราะต้องดิ้นรนกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เข้ามา ถ้าอยากให้งานศิลปะพัฒนามากขึ้นมันต้องค่อยเป็นค่อยไป จริงๆ ถ้างานที่เราทำอยู่มันไม่เป็นหลักเป็นแหล่งมากขนาดนี้เราคงไม่ทำต่อ จะโทษรัฐอย่างเดียวไม่ได้เราต้องมองภาพรวมด้วย”

Interview-Lafyna-SPACEBAR-Photo07.jpg

มอง AI ให้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่คู่แข่งที่ทำลายศิลปะ 

ปัจจุบันการพัฒนาของเทคโนโลยีก้าวหน้าจนบางทีคนอย่างเราๆ อาจจะก้าวตามไม่ทัน กระแสก่อนหน้านี้ที่มีการนำ AI มาสร้างเป็นชิ้นงานศิลปะเพื่อขาย หรือบางทีมีการใช้ AI สร้างวิดีโอเพื่อเกิดความสับสนให้แก่ผู้รับชมก็มี ทำให้เป็นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม 

แต่สำหรับเกิร์ลการเข้ามาของเทคโนโลยี AI สามารถมองได้สองแง่ โดยเธอกล่าวไว้ว่า “แง่หนึ่งก็ดีที่สามารถร่นเวลาในการทำงานของเราได้ ถ้ามองแบบกลางๆ โลกก็พัฒนาตามแบบที่มันเป็น เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อยู่แล้ว มองให้มันเป็นตัวทุ่นแรง ในมุมศิลปะการสร้างประโยชน์จากสิ่งนี้ก็ทำได้ แต่ในทางกลับกันสิ่งที่จะมีมูลค่ามากยิ่งขึ้นจะเป็นงาน Handcraft ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ เราไม่ได้มองว่า AI จะเข้ามาทำลายโลกศิลปะ เรามองว่าเราจะใช้ประโยชน์อะไรจากมันได้บ้าง” 

บทสนทนาในครั้งนี้เต็มไปด้วยความประทับใจและรอยยิ้มจาก ‘เกิร์ล-ณิชา ทวีเจริญสุข’ ตลอดการสัมภาษณ์เราสัมผัสได้ถึงความรัก ความเข้าใจ และสิ่งที่เธออยากจะทำกับงานศิลปะของเธอ นอกจากนี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานมันเป็นบทเรียนที่ทำให้เราเตรียมรับมือกับปัญหาในครั้งต่อไปได้ และไม่มีใครที่เก่งตั้งแต่เกิด ทุกคนต้องพัฒนาอยู่เสมอ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์