‘จองเปรียง’ พิธีกรรมเดือน 12 ที่กษัตริย์ต้องทำประจำทุกปี ก่อนจะผันมาเป็น ‘วันลอยกระทง’

21 พ.ย. 2566 - 04:28

  • เทศกาลจองเปรียงว่า จะจัดขึ้นที่วัดพุทไธศวรรย์ ในวันคือจันทร์เพ็ญเดือนสิบสองยามที่น้ำเต็มตลิ่ง จะมีทั้งการแขวนโคมลอย และการลอยโคมลงน้ำ เพื่อขอขมาน้ำและดิน รวมถึงบรรพกษัตริย์ทุกพระองค์

  • ซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ในสมัยรัตนโกสินทร์จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ลอยกระทง’ ในสมัย ร.6 ราวหลัง พ.ศ.2467

Jung-prieng-festival-say-sorry-to-river-SPACEBAR-Hero.jpg

เทศกาล ‘จองเปรียง’ เทศกาลที่ชาวอยุธยา ในสมัยนั้นชื่นชอบอีกเทศกาลหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนสิบสอง (ตุลาคม - พฤศจิกายน) โดยพิธีกรรมนี้จะเกิดขึ้นเพื่อให้กษัตริย์ในสมัยนั้นขอขมาต่อพระแม่คงคา ซึ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ในสมัยรัตนโกสินทร์จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘ลอยกระทง’ 

หากใครได้ดูละครเรื่อง พรหมลิขิต ที่ออกอากาศทางช่อง 3 นั้น จะมีการกล่าวถึงเทศกาลจองเปรียงในละคร โดยกล่าวว่า เทศกาลนี้จะจัดขึ้นที่วัดพุทไธศวรรย์ ในวันคือจันทร์เพ็ญเดือนสิบสองยามที่น้ำเต็มตลิ่ง จะมีทั้งการแขวนโคมลอย และการลอยโคมลงน้ำ เพื่อขอขมาน้ำและดิน รวมถึงบรรพกษัตริย์ทุกพระองค์ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่คาดว่าอาจจะผันมาจากเทศกาลถวายไฟ หรือ ‘ดิวาลี’ ของชาวฮินดูนั้นเอง

Jung-prieng-festival-say-sorry-to-river-SPACEBAR-Photo01.jpg

พิธีจองเปรียง ได้ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยา เป็นพิธีกรรมที่กษัตริย์ต้องทำเป็นประจำทุกปี เป็นพระราชพิธีที่ต้องกระทำในเดือน 12 มีคำกล่าวว่า “เดือนสิบเอ็ดอาศยุชยแข่งเรือ เดือนสิบสองพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม” ซึ่งหมายความว่าในเดือน 12 นั้นจะมีการชักโคมไฟขึ้นสู่ยอดเสา และการลอยโคมลงน้ำ เพื่อขมาน้ำและดิน ที่ได้แข่งเรือไปในเดือน 11 

คำว่า ‘จองเปรียง’ แปลว่าดวงไฟที่มาจากประทีปหรือเทียนที่มาจากการจุดไฟเผาน้ำมันเนย มาจากคำของภาษาเขมร ‘จอง’ มาจากคำว่า ‘จง’ ที่แปลว่า การผูก หรือ โยง ในที่นี้หมายถึง การดูแลประคับประคองให้มีแสงสว่าง ประคองไฟไม่ให้ดับ ส่วนคำว่า ‘เปรียง’ มาจากคำว่า ‘เปรง’ แปลว่าน้ำมันเนย ที่ได้จากนมวัวหรือควาย 

ส่วนคำว่า ‘ลดชุดลอยโคม’ ซึ่งยังหาคำที่แน่ชัดยังไม่ได้ แต่ในที่นี้หมายถึง การลดขนาดชุดจองเปรียงให้เล็กลง แล้วจัดวางไว้ตามช่องกำแพงเมือง หรือกำแพงวัง 

อ้างอิงจากหนังสือ จดหมายเหตุลาลูแบร์ฯ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร สำนักพิมพ์ก้าวหน้า พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 215-216 ได้เขียนบรรยายไว้ถึงเรื่องพิธีกรรมจองเปรียง เมื่อต้องเดินทางน้ำด้วยเรือหลวงไปเฝ้าพระนารายณ์ ซึ่งประทับอยู่เมืองละโว้ (ลพบุรี) ว่า “ครั้งแรกที่เราไปถึงเมืองละโว้นั้นเป็นเวลากลางคืน พอดีกับคราวตามประทีปนั้น และเราได้เห็นกำแพงเมืองตามประทีปโคมไฟสว่างไสวรายเรียงอยู่เป็นระยะๆ แต่ภายในพระบรมมหาราชวังนั้นยังงดงามยิ่งขึ้นไปอีก ในกำแพงแก้วที่ล้อมพระราชฐานนั้นมีซุ้มช่องกุฏิ 3 แถวโดยรอบ แต่ละช่องมีประทีปดวงหนึ่งตามไฟไว้ (จุดไฟเลี้ยงไว้ไม่ให้ดับ)” 

ซึ่งพิธีกรรมจองเปรียง มีหลักฐานว่าสืบเนื่องถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แล้วเลิกไปสมัย ร.6 ราวหลัง พ.ศ.2467 โดยหลักฐานดังกล่าวปรากฏอยู่ในจิตรกรรมฝาผนัง สมัย ร.1 ในโบสถ์วัดสุวรรณาราม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์