การนำส่งคืนงานประติมากรรมสำริด ‘Golden Boy’ จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน หรือ The MET ได้สร้างข้อถกเถียงเกี่ยวกับรัฐชาติและชาติพันธุ์อีกครั้ง โดยแรกเริ่มจากข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของเดิมในอดีตกาลซึ่งแยกเป็นสองฝั่ง ระหว่างชาวกัมพูชาที่เคลมว่าเป็นของบรรพบุรุษตนเองคือขอมโบราณพร้อมกับข้อกล่าวหาว่าชาวไทยเป็นผู้ขโมยทรัพย์สินเดิมของชาวกัมพูชา กับฝั่งชาวไทยที่พยายามชี้ชัดให้เห็นว่าขอมโบราณไม่ได้ผูกโยงกับชาติใดชาติหนึ่ง และสิทธิในการถือครองต้องนับจากสถานที่ที่พบเจอนั่นคือประเทศไทย คือที่ปราสาทบ้านยางโป่งสะเดา อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์
แน่นอนว่าวัตถุโบราณชิ้นนี้เป็นวัตถุที่ถูกขโมยมา จากการค้นหาข้อมูลพบว่างานประติมากรรมชิ้นนี้เป็นหนึ่งในชุดสะสมของ วอลเทอร์ เอช. (Walter H.) และ ลีโอนอร์ อันเนนเบิร์ก (Leonore Annenberg) สันนิษฐานว่าเป็นการลักลอบขุดค้นจากโบราณสถาน และซื้อขายออกไปโดยผิดกฎหมายเมื่อปี พ.ศ. 2531

การนำส่งคืนวัตถุโบราณของ The MET นี้ทำให้ชาวกัมพูชารู้สึกไม่พอใจ โดยการอ้างว่า Golden Boy มีลักษณะเป็นศิลปะขอมโบราณ (ศิลปะบาปวน ระหว่าง พ.ศ. 1550-1650 โดยครึ่งแรกตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 การที่พวกเขาผูก ‘ความเป็นขอม’ เข้ากับ ‘ความเป็นเขมร’ ทำให้เกิดการเข้าใจว่า Golden Boy ควรเป็นของชาวกัมพูชา หรือกล่าวอีกนัยคือ “เป็นสมบัติของบรรพบุรุษเมื่อหลายร้อยปี” ของกัมพูชา ซึ่งเรื่องนี้เราจะขอทำความเข้าใจว่า ความเป็นขอมนั้นไม่เกี่ยวโยงกับชาวกัมพูชาโดยตรง
**ตามประวัติศาสตร์การปกครอง ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการปกครองแบบ ‘มณฑล’ (mandala) ไม่ใช่ ‘อาณาจักร’ (kingdom) แต่ผู้เขียนขอใช้คำว่า ‘อาณาจักร’ เพื่อความเข้าใจง่ายต่อคนส่วนใหญ่**
ทำไม ‘ขอม’ ถึงไม่ใช่ ‘เขมร’
หากเปิดหน้าตำราประวัติศาสตร์ไทยเราจะพบว่าในอดีตประเทศไทยเคยมีอาณาจักรหนึ่งที่เคยรุ่งเรืองบริเวณประเทศไทยเกือบทั้งหมด นั่นคืออาณาจักรพระนคร บนหน้าเว็บไซต์เราจะเห็นว่าถูกเรียกเป็น ‘อาณาจักรเขมร’ แท้จริงแล้วควรเรียกว่า ‘อาณาจักรขอม’ เพราะความเป็นเขมรเพิ่งเกิดขึ้นในภายหลัง
คำกล่าวที่ว่าขอมไม่ใช่เขมร เป็นเพราะ ‘ขอม’ เป็นการเรียกชื่อกลุ่มวัฒนธรรม คล้ายกับการที่เราเรียก ‘แขก’ เพื่อเหมารวมทั้งชาวอินเดียและอิหร่าน โดยกลุ่มวัฒนธรรมชาวขอมอาศัยอยู่ทั้งบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บางส่วนในพื้นที่อีสานใต้ และบางส่วนในพื้นที่ของกัมพูชาในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นแล้วบนหน้าประวัติศาสตร์เอเชียตะวันเฉียงใต้ ทั้งสยามเองก็มีชาวขอมปะปนอยู่บ้าง รวมถึงในอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรละโว้ พูดง่ายๆ ก็คือชาวขอมเป็นทั้งบรรพบุรุษของชาวไทยและชาวกัมพูชา เพียงแต่ชาวกัมพูชา ณ ตอนนี้ พยายามผูกเรื่องรัฐชาติเข้าไปเพื่อให้ถูกมองว่าชาวกัมพูชามาจากชาวขอมโดยตรง ไม่เกี่ยวอะไรกับสยาม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ใช้วิธีการแยกชาวขอมออกจากกลุ่มวัฒนธรรมอื่นด้วยศาสนา เพราะกลุ่มวัฒนธรรมขอมจะนับถือฮินดูเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากอินเดียใต้ผ่านการค้าขายในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 10-11 พร้อมกับรับศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอินเดียดังที่เห็นตามพื้นที่อีสานใต้ ไม่ว่าจะเป็นปราสาทเขาพนมรุ้ง หรือปราสาทเขาพระวิหาร เป็นต้น
“ขอมเป็นพวกนับถือฮินดูหรือพุทธมหายาน ใครเข้ารีตเป็นฮินดูหรือพุทธมหายานเป็นได้ชื่อว่า ‘ขอม’ ทั้งหมด ขอมไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ เพราะไม่มีเชื้อชาติขอม แต่เป็นชื่อทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับ ‘สยาม’”
ถ้าว่ากันตามหลักภาษาศาสตร์ กลุ่มวัฒนธรรมขอมเป็นกลุ่มคนหลากชาติพันธุ์ที่พูดภาษากลุ่มออสโตรเอเชียติก หรือ มอญ-เขมร สันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มชนแรกๆ ที่อพยพทางบกมาจากประเทศจีน มาร์ติน สจ๊วต-ฟ็อกซ์ (Martin Stuart-Fox) อธิบายในหนังสือประวัติศาสตร์ล้านช้างว่า กลุ่มวัฒนธรรมขอมโดยส่วนใหญ่เป็นชาวลาวเทิง คำอธิบายนี้ตรงกับตำนานเต้าปุง (ตำนานกำเนิดมนุษย์) ของชาวไทว่า ชาวลาวเทิงเป็นกลุ่มคนแรกที่ออกมาจากน้ำเต้าที่ถูกเจาะรูด้วยแท่งเหล็กร้อน ผลของการใช้แท่งเหล็กร้อนทำให้มนุษย์กลุ่มแรกออกมามีสีผิวคล้ำเข้ม หนึ่งในนั้นมีชาวขมุ และชาวลาวเทิง ส่วนกลุ่มคนที่ออกมาทีหลังเป็นการออกมาจากรูที่ใช้สิ่ว ทำให้มีสีผิวสว่างหรือขาวกว่าคนกลุ่มแรก ได้แก่ ชาวไท (บางแห่งกล่าวว่าเป็นชาวเวียดนาม) ตำนานนี้มีการตีความว่า การออกมาทีหลังของชาวไท น่าจะพูดถึงการอพยพระลอกหลัง หรือเมื่อมายังพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พบคนประจำถิ่น (ขมุ ลาวเทิง) อยู่ก่อนแล้ว
เรื่องนี้ชาวตะวันตกยังคงสับสนระหว่างความเป็น ‘เขมร’ กับ ‘ขอม’ เพราะไม่ว่าหากใครจะกล่าวถึงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กัมพูชายังคงใช้คำว่า Khmer Empire ซึ่งผิดทั้งสองประการ ประการแรกคือ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า จักรวรรดิเขมร อย่างที่สอง รูปแบบการปกครองแบบจักรวรรดิ (Empire) ไม่มีอยู่ในพื้นที่เอเชียอาคเนย์

แล้วเขมรมาจากไหน
นักวิชาการมีความเห็นตรงกันว่าวัฒนธรรมขอมที่ก่อตั้งอาณาจักรพระนครหรืออังกอร์ น่าจะเป็นชาวอินเดียใต้ โดยเฉพาะราชวงศ์มหิธรปุระ จากการสังเกตชื่อลงท้ายว่า ‘วรมัน’ ที่ตรงกับราชวงศ์วรมัน (ค.ศ. 350–650 หรือ พ.ศ. 893- 1193) ที่เคยปกครองจักรวรรดิคุปตะในช่วงแรก
มีทฤษฎีหนึ่งอธิบายว่าบนพื้นที่กัมพูชาสูญสิ้นความเป็นขอมตั้งแต่การล่มสลายของราชวงศ์มหิธรปุระ จากการขึ้นมามีอำนาจของพระเจ้าแตงหวาน ที่เล่าว่าได้หนีไปตั้งเมืองจากการรวบรวมกำลังทาสและกลุ่มชนอื่นที่อยู่ภายใต้การปกครองเมืองพระนคร จากนั้นทำการบุกเพื่อยึดอำนาจในช่วงที่อำนาจพระนครกำลังอ่อนแอ และเข้าสู่ราชวงศ์ตระซ็อกประแอม อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ทำให้ชาวกัมพูชาไม่พอใจอย่างมาก เพราะเป็นกล่าวหาว่าชาวกัมพูชาเป็นทาส หรือชนชั้นล่างมาก่อน เรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงต่อไป เพราะแม้แต่ตัวตนของพระเจ้าแตงหวานก็ยังคลุมเครือพอๆ กับเรื่องราวของพระเจ้าฟ้างุ้ม ผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้างของชาวลาว

ถ้าจะให้กล่าวตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะชาวไทยสยาม ขอม หรือเขมร ต่างก็ล้วนร้อยพ่อพันแม่ กล่าวคือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ผสมปนเปกันไปหมด สิ่งที่ชี้ชัดมีเพียงวัฒนธรรม และภาษาที่ยังไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดเด็ดขาดถึงชาติพันธุ์ได้อย่างชัดเจน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือชาวกัมพูชา (เขมร) น้อยคนนักที่จะหลุดออกจากความเป็นรัฐชาติ หรือยังคงโหยหาอดีตอันเรืองรอง เพราะถ้าว่ากันตามตรง อาณาจักรขอมไม่ได้เป็นของชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่ง แต่เป็นบรรพบุรุษของบรรดาชนชาติในเอเชียอาคเนย์ร่วมกัน บางทีหากชาวกัมพูชาเข้าใจในเรื่องนี้ก็อาจสามารถทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองชนชาติเกิดความกลมเกลียวกันได้