รีวิว ‘หลานม่า’ ภาพยนตร์อบอุ่นหัวใจเคล้าน้ำตาของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

2 เมษายน 2567 - 08:09

lahn-mah-review-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘หลานม่า’ พร้อมฉายให้เข้าชมกันทั่วประเทศแล้วในวันที่ 4 เมษายนนี้ Spacebar VIBE จึงถือโอกาสในการรีวิวภาพยนตร์ในภาพรวมโดยไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญ

  • กำกับฯ โดย พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้มีผลงานที่ผ่านมาจากภาพยนตร์จากเรื่อง ฉลาดเกมส์โกง และ โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์ ครั้งนี้เขากลับมาพร้อมกับ ‘หลานม่า’ เรื่องราวความผูกพันระหว่างหลานชายกับอาม่า

‘หลานม่า’ พร้อมเข้าฉายเป็นที่เรียบร้อยแล้วในวันที่ 4 เมษายน 2567 เพียงแค่ฉายรอบปฐมทัศน์ กระแสก็พุ่งแรงติดเทรนด์ใน Google กลายเป็นหนึ่งในหนังไทยที่น่าติดตามที่สุดในช่วงนี้ ทาง Spacebar VIBE มีโอกาสได้เข้าชมจึงอยากนำมารีวิวภาพรวมของหนัง สำหรับใครที่ลังเลว่าจะดูหรือไม่ หนังดีแค่ไหน หรือคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไปร่วมสองชั่วโมงหรือไม่

‘หลานม่า’ ผลงานการกำกับฯ ของ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้เคยสร้างผลงานอันเลื่องชื่อมาแล้วอย่าง ฉลาดเกมส์โกง และ โปรเจกต์ เอส เดอะซีรีส์ (กำกับฯ ซีซัน 3 ตอน SOS Skate ซึม ซ่าส์) พัฒน์ ได้หวนกลับคืนมาอีกครั้งกับบทหนังซึ้งเรียกน้ำตาหากแต่อบอุ่นหัวใจ โดยหยิบยกจากเรื่องราวชีวิตครอบครัวชาวไทยเชื่อสายจีนมาใส่ไว้ในเรื่อง บอกเล่าเรื่องราวของ อาม่า และหลานชาย ที่เริ่มก่อร่างสร้างความทรงจำและความผูกพันท่ามกลางปัญหาครอบครัวและปัญหาการเงิน นำแสดงในบทหลานชายโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล ร่วมด้วยนักแสดงมากฝีมืออย่าง เผือก-พงศธร จงวิลาส, ดู๋-สัญญา คุณากร, ตู-ต้นตะวัน ตันติเวชกุล และบทบาทสำคัญคือ แต๋ว-อุษา เสมคำ นักแสดงอาวุโสที่เพิ่งเคยแสดงหนังใหญ่เป็นเรื่องแรกในบทอาม่า

lahn-mah-review-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: GDH

สำหรับเนื้อเรื่องย่อ อย่างที่หลายคนได้ผ่านตามาแล้วในตัวอย่างภาพยนตร์ ‘หลานม่า’ เล่าเรื่องราวในปัจจุบันของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน โดยเจาะไปที่ชีวิตของ ‘เอ็ม’ หลานชายที่หวังมรดกจาก 'อาม่าเหม้งจู’ เช่นเดียวกันกับลูกๆ ของอาม่าทั้งสาม แต่เมื่อ เอ็ม ได้เข้าไปใกล้ชิด ดูแลเอาใจใส่อาม่า ความสัมพันธ์ระหว่างอาม่าและหลานก็ได้ก่อตัวขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องราวอบอุ่นหัวใจที่อบอวลไปด้วยน้ำตาแห่งความประทับใจ 

เราจะมาดูว่าทำไม ‘หลานม่า’ ถึงครองใจคนดูได้ขนาดนั้นแม้ผ่านไปเพียงแค่วันเดียว โดยพยายามไม่เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเนื้อเรื่อง 

อย่างแรกคือการดำเนินเรื่องในสเกลเล็ก น้อยตัวละครแต่หลากอารมณ์ เป็นข้อดีสำหรับหนังเพื่อจะได้โฟกัสกับอารมณ์ตัวละคร เรื่องราวชีวิตของแต่ละคน และเล่นกับซีนภาพและนัยยะได้ดีขึ้น อีกมู้ดของการดำเนินเรื่องคือ จังหวะการตัดฉากและจังหวะของตัวละครมีความลงตัว สำหรับบางคนอาจรู้สึกสะดุดกับฉากที่ค้างเติ่งอยู่บ้าง ซึ่งความค้างเติ่งนี้กลับคือจุดที่น่าสนใจของหนัง คือทำให้ผู้ชมรู้สึกพินิจอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง อย่างไรก็ตาม หนังมีการเล่าเรื่องที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย และเข้าถึงคนทุกคน ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะฝีมือการแสดงของทุกๆ คนที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้

lahn-mah-review-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: GDH

จากที่กล่าวไปถึงเรื่อง ‘ความเข้าถึงคนทุกคน’ จึงเป็นสิ่งที่น่าพูดถึงเช่นกัน คือการที่ พัฒน์ ผู้กำกับหนังได้หยิบยกเรื่องราวในครอบครัวที่เรียกได้ว่าอาจเกิดขึ้นจริงกับครอบครัวใครหลายคน แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือการเล่าเจาะไปที่ครอบครัวคนจีน ทำให้ผู้ชมเข้าใจธรรมเนียมประเพณีชาวไทยเชื้อสายจีนไปพร้อมๆ กัน น่าแปลกที่พอเป็นเรื่องราวของชนกลุ่มหนึ่งในประเทศ มันทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกใคร่รู้และเกิดความ ‘อ๋อ’ ไปกับทุกเหตุการณ์ของเรื่อง ส่วนตัวผู้เขียนมีเชื้อสายจีนเช่นกัน พอชมแล้วก็รู้สึก relate (เข้าถึง) กับตัวละครโดยไม่รู้ตัว

อย่างที่พอจะเห็นในตัวอย่างหนัง บ้านของอาม่านั้นเป็น average หรือเกือบเรียกได้ว่าเป็นการ streotype บ้านชาวจีนทั้งปวงเลยก็ว่าได้ รูปทรงอาคารแบบตึกแถว เก้าอี้ตั่งไม้ หิ้งบูชาเทพจีน และที่สำคัญคือของที่เก็บไว้จนแน่นขนัด น่าประหลาดใจที่พอผู้เขียนได้เห็นสิ่งเหล่านี้บนจอหนัง รู้สึกสัมผัสได้ถึงวิถีชีวิตของชาวจีนจริงๆ ที่อยู่ในนั้น เราได้สัมผัสวัฒนธรรมจีน (แม้เพียงน้อยนิด) ผ่านการเล่าเรื่องของ ‘หลานม่า’ แม้แต่ความเชื่อเรื่อง ‘ฮวงซุ้ย’ และ ‘เชงเม้ง’ ทำให้ชาวไทยที่ไม่เคยรู้มาก่อน ได้เข้าใจว่าชาวไทยเชื้อสายจีนใช้ชีวิตอย่างไร รวมถึงภาวะอารมณ์กับสิ่งที่ ‘คนชรา’ ต้องพบเจอในช่วงบั้นปลายชีวิต

lahn-mah-review-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: GDH

เรื่องของการเอาใจใส่คนรอบข้างแม้ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เรื่องที่ผู้เขียนชื่นชอบเป็นพิเศษคือการใส่เรื่องราวความใส่ใจของตัวละครไว้ในเรื่อง เสมือนเป็นเมสเซจสื่อสารความในใจตัวละครโดยปราศจากบทสนทนาที่อาจดูโจ่งแจ้งและชัดเจนเกินไป หากใครได้ชมเรื่อง ‘หลานม่า’ มาแล้วจะเข้าใจว่าผู้เขียนพูดถึงอะไร มันมีสารบางอย่างอยู่เสมอในการกระทำของตัวละครตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งนี้เป็นการสื่อให้เห็นว่าหากเราได้รักใคร และเอาใจใส่ใครจริงๆ เราก็จะทำแบบนี้แหละ คงเหมือนประโยคที่กล่าวว่า “การกระทำสำคัญกว่าคำพูด” ตลอดระยะเวลาการชม ผู้เขียนรู้สึกว่าอยากกลับไปใช้เวลากับคนที่บ้านมากขึ้น เริ่มนึกถึงคนรอบตัวที่คอยเอาใจใส่เรา ถ้าเมนไอเดียของหนังคือสิ่งนี้ นั่นหมายความว่าตัวหนัง (หรือผู้กำกับฯ) ได้ทำสำเร็จแล้ว

ในเรื่องของภาพนั้น ‘หลานม่า’ มีความ picturesque (ความสวยงามเชิงภาพ) สูงมากสำหรับผู้เขียน โทนสีและมุมกล้องที่ใช้ การเล่าเรื่องผ่านวัตถุต่างๆ เป็นเชิงของนัยยะ เสียงดนตรีและซาวนด์กับจังหวะภาพที่ไปด้วยกันอย่างกลมกลืนกับจังหวะอารมณ์ของหนัง ทั้งหมดถูกเรียบเรียงออกมาได้ดีภาพรวมของหนังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สุนทรีย์ทางภาพ’ อยู่พอสมควร

lahn-mah-review-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: GDH

ท้ายที่สุดคือนักแสดงที่เข้าถึงตัวละครได้เป็นอย่างดี เข้าใจว่านักแสดงทำการบ้านและใส่ใจทุ่มเทกับบทที่ได้รับมาก ทั้ง บิวกิ้น และยายแต๋ว แม้เป็นหนังเรื่องแรกที่ได้รับบทนำแต่ก็แสดงออกมาได้ดี สีหน้า ท่าทาง และจังหวะการพูดเป็นธรรมชาติ รวมถึงนักแสดงคนอื่นๆ ที่ตีบทแตกจนทำให้ผู้ชมรู้สึกอคติได้อย่างเหลือเชื่อ (แปลว่าแสดงดี) อาจเป็นข้อดีของหนังที่มีสโคปการเล่าเรื่องที่ไม่กว้างเกินไปทำให้ผู้ชมสามารถทำความเข้าใจตัวตนของแต่ละคนได้ภายในเวลาไม่นาน

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกระแสของหนังไทยที่น่าสนใจ เป็นการสร้างคลื่นแห่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้กับหนังไทยอีกด้วย นับตั้งแต่เรื่อง ‘สัปเหร่อ,’ ‘เพื่อนไม่สนิท,’ และ ‘14 อีกครั้ง’ ปัจจุบันหนังไทยเริ่มก้าวไปอีกขั้น เห็นได้ชัดจากกระแสซีรีส์ ‘สาธุ’ รวมถึงหนังอินดี้นอกกระแสอย่าง ‘Morrison’ ของ ป้อม-พุทธิพงษ์ อรุณเพ็ง ที่โลดแล่นอยู่ในเทศกาล Busan International Film Festival 2023 ผู้เขียนเชื่อว่าหากวงการหนังไทยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จะมีโอกาสได้เห็นภาพยนตร์ นักแสดง ซีรีส์น้ำดีออกมาเรื่อยๆ และสามารถเข้าชิงรางวัลระดับนานาชาติได้ เช่นเดียวกันกับเรื่อง ‘หลานม่า’ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สมควรถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลระดับนานาชาติสักหนึ่งเวที

สำหรับใครอยากชม ‘หลานม่า’ สามารถชมได้แล้วตั้งแต่วันที่ 4 เมษายนนี้ที่โรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์