ใกล้เปิดเทอมแล้ว... ด้วยสภาพเศรษฐกิจทุกวันนี้ พ่อแม่หลายครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำต้องหันหน้าเข้าหาโรงรับจำนำ เพื่อหมุนเงินให้กับบุตรหลาน ต้อนรับเปิดเทอม
ท่ามกลางภาพคนเดินเข้าออกโรงรับจำนำเป็นว่าเล่น คุณเคยสงสัยไหมว่า โรงรับจำนำในเมืองไทยมีความเป็นมาอย่างไร?
โรงจำนำ คือ สถานที่รับจำนำสิ่งของเป็นประกันหนี้เงินกู้ ด้วยสิ่งของมีค่า เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ พระเครื่อง ฯลฯ กำหนดมูลค่าแต่ละรายไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีข้อตกลงทำความเข้าใจกันว่า ต้องถ่ายคืนตามกำหนด มีการจ่ายดอกเบี้ยและผ่อนเงินต้นตามระยะเวลา

ตามหลักฐานระบุว่า โรงจำนำมีตั้งแต่กรุงศรีกรุงศรีอยุธยา ยืนยันได้จากการตราพระราชกำหนดของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ห้ามจำนำสิ่งของเวลากลางคืน ในสมัยนั้น สิ่งของที่เอามาจำนำ ได้แก่ ทองรูปพรรณ เงิน นาก เครื่องทองเหลือง ผ้าแพรพรรณมีค่า ฯลฯ ซึ่งแต่เดิมผู้จำนำไม่ต้องเอาของไปจำนำที่คนรับจำนำ แต่มีการจำนำตามบ้าน
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ กิจการโรงจำนำเกิดขึ้นในรัชกาลที่ 4 โดย จีนฮง ตั้งโรงจำนำ ย่องเซี้ยง ที่แยกสำราญราษฎร์ ดึงดูดให้คนมาจำนำด้วยการกำหนดดอกเบี้ยให้ต่ำ มีการทำบันทึกรับจำนำ หรือ “ตึ๊งโผว” มีการออกตั๋วรับจำนำเป็นเอกสารหลักฐาน

พอสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะโรงจำนำเมื่อ รศ.114 หรือ พ.ศ.2438 โรงจำนำสมัยนี้ กิจการรุ่งเรือง มีโรงจำนำในกรุงเทพฯ ราว 200 โรง โรงจำนำที่มีชื่อเสียงคือโรงจำนำ ฮั่วเส็ง ของนายเล็ก โทณวณิก
กิจการโรงรับจำนำเติบโตคู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นแหล่งเงินทุนที่ช่วยเหลือประชาชนยามขัดสน จนถึงปี พ.ศ.2498 มีการตั้ง โรงรับจำนำของรัฐ ขึ้นเป็นครั้งแรกพร้อมกัน 2 โรง คือ ที่บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ โรงหนึ่ง และต้นถนนเทอดไทยอีกโรงหนึ่ง และในพ.ศ.2500 เปลี่ยนชื่อมาเป็น สถานธนานุเคราะห์

ต่อมาอีก 3 ปี คือ พ.ศ.2503 รัฐบาลอนุญาตให้เทศบาลสามารถตั้งโรงรับจำนำได้ กรุงเทพมหานครจึงตั้งกิจการโรงรับจำนำใช้ชื่อว่า “สถานธนานุบาล”
ย้อนดูอายุธุรกิจที่เรียกว่าโรงจำนำ ก็ชวนให้คิดว่า ไม่ว่ายุคไหนสมัยใดความขัดสนยังคงอยู่คู่กับคนไทยอยู่เสมอ
ผิดกันแต่ว่า ยุคนี้หันหน้าไปทางไหน ก็เห็นแต่คำเชิญชวนที่อยากให้คนขัดสน ด้วยการกู้หนี้ยืมสินภายใต้ข้อเสนอซื้อก่อนจ่ายทีหลัง หรือผ่อนชำระด้วยสัดส่วนที่ตำ่มาก
เหมือนจะดี แต่ถ้าเผลอใช้จ่ายเพลินเกินไป ความขัดสนอาจแวะมาหา และจูงมือพาเราไป “ตึ๊ง_”_ (當 - ภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า จำนำ) โรงจำนำ