วันมาฆบูชาคือหนึ่งในวันสำคัญทางศาสนาของชาวพุทธ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 สำหรับปี 2568 นี้ตรงกับวันที่ 12 กุมภาพันธ์หรือวันนี้นั่นเอง วันมาฆบูชาเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เรียกว่า ‘จาตุรงคสันนิบาต’ หรือการประชุมใหญ่ของพระภิกษุ 1,250 รูปโดยมิได้นัดหมาย ตามที่เคยร่ำเรียนมาในวิชาพุทธศาสนาวันมาฆบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์โดยมีหลักคำสอนสำคัญ 3 ข้อ
- ละเว้นความชั่ว
- ทำความดีให้ถึงพร้อม
- ทำจิตใจให้บริสุทธิ์
แน่นอนว่าตามประเพณีของชาวพุทธในตอนเช้ามักจะเข้าวัดทำบุญ รักษาศีล ฟังธรรม ก่อนจะเริ่มสวดมนต์และเวียนเทียนในตอนเย็นหรือช่วงหัวค่ำเพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้า แต่ในยุคที่ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าฝุ่นในบางที่มีมากจนกลายเป็นพื้นที่สีแดง ในขณะที่บางที่กลายเป็นพื้นที่สีส้ม น้อยครั้งนักที่จะเป็นสีเหลือง ส่วนสีเขียวแทบจะไม่มีเลย โดยเฉพาะผู้เขียนเองที่ทำงานบนตึกสูงบางวันเรียกได้ว่าแทบจะมองไม่เห็นตึกข้างเคียงเลยเสียด้วยซ้ำ
เพราะปัญหาฝุ่นพิษที่ยังแก้ไม่ได้ผนวกกับการจุดธูปที่สร้างทั้งควันและมลพิษทางอากาศ เราจึงเกิดคำถามที่ตามมาคือ การทำบุญในวันพระใหญ่ยังจำเป็นต้องจุดธูปเวียนเทียนแบบเดิมหรือไม่หากมันส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ?

ย้อนกลับไปยังวัฒนธรรมการจุดธูปไหว้พระกันสักนิด ชาวพุทธรู้กันหรือไม่ว่า ในสมัยพุทธกาลไม่มีการกำหนดให้จุดธูปเพื่อไหว้พระหรือสักการะใดๆ การจุดธูปเป็นคติความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและวัฒนธรรมจีน แต่สำหรับพุทธศาสนานั้นการแสดงความเคารพสามารถทำได้ด้วยจิตศรัทธาอันบริสุทธิ์
ยิ่งมีการเปิดเผยออกมาว่าควันจากธูปมีสารก่อมะเร็งและเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดหรือในวัดที่มีการจุดธูปจำนวนมาก ยิ่งทำให้วัดในหลายพื้นที่งดเว้นการจุดธูปเพื่อลดมลพิษแต่ก็มีเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้น
นอกจากการจุดธูปที่ได้รับวัฒนธรรมมาจากจีนและศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว การเวียนเทียนก็เป็นพิธีกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดีย ในปัจจุบันการเวียนเทียนคือการเดินวนรอบพระอุโบสถหรือพระเจดีย์เพื่อรำลึกถึงพระรัตนตรัย ผู้ปฏิบัติมักถือูธูป เทียน และดอกไม้เป็นเครื่องสักการะ
แต่ในยุคที่มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ต้องตระหนัก เราสามารถเวียนเทียนโดยไม่ต้องจุดธูปหรือเทียนกันดีกว่าไหม ในวัดใหญ่ๆ หลายๆ พื้นที่ได้เริ่มแล้ว แล้ววัดละแวกบ้านคุณเริ่มแล้วหรือยัง มาร่วมบุญแบบรักษ์โลกในวันมาฆบูชากันดีกว่า หากใจเราต้องการสานต่อวัฒนธรรม ปฏิบัติศาสนกิจโดยไม่เพิ่มมลพิษทางอากาศต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน
- ใช้ดอกไม้แทนเทียนขณะเวียนเทียน
- สวดมนต์และนั่งสมาธิเป็นการบูชาด้วยจิตใจแทนการจุดธูป
- เลือกใช้ธูปไร้ควัน หรือจุดธูปในปริมาณที่เหมาะสม
- สนับสนุนวัดที่จัดกิจกรรม ‘มาฆบูชาปลอดควัน’
วันมาฆบูชาปีนี้อาจเป็นโอกาสดีที่เราจะปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติให้สอดคล้องกับยุคสมัย ดำรงศรัทธาไปพร้อมกับรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ศาสนายั่งยืนและอากาศที่สะอาดขึ้น เพื่อสุขภาพที่ดี และเพื่อโลกที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นหลัง