บทสนทนากับ ‘ลินิน ยืนเดี่ยว’ คอมเมเดี้ยนหน้า(ไม่)ใหม่ ผู้แพ้การแข่งขันบ่อยที่สุดในโลก

25 มิ.ย. 2567 - 08:28

  • บทสนทนากับผู้ที่แพ้การแข่งขันบ่อยที่สุดในโลก พี-นิวัฒน์ชัย ทรัพย์ไพศาล หรือที่เรารู้จักกันในนาม “ลินิน ยืนเดี่ยว”

  • ทำความรู้จักกับตัวตนของ ลินิน คอมเมเดี้ยนหน้า(ไม่)ใหม่ที่อยากพิสูจน์ว่า การเข้ามาเป็นคอมเมเดี้ยนได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

  • มุมมองความคิดของคอมเมเดี้ยนรุ่นใหม่ต่อวงการสแตนด์อัปคอมเมดี้ไทยในปัจจุบัน

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Hero.jpg

หากกล่าวถึงวงการสแตนด์อัปคอมเมดี้ในเมืองไทย หลายคนอาจคุ้นเคยกันดีจาก เดี่ยวไมโครโฟน ของ โน้ส-อุดม แต้พานิช ผู้ริเริ่มการแสดงตลกบนเวทีคนเดียวคนแรกของไทยมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบันก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไม่กี่ปีให้หลังที่ผ่านมาความนิยมของสแตนด์อัปคอมเมดี้ในไทยก็เริ่มเติบโตมีพื้นที่และขยายขอบเขตกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ 

สายวงการตลกจับไมค์ขวัญใจวัยรุ่น Gen Z ที่มาแรงที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้น “ยืนเดี่ยว” คอมมูนิตี้ของคนรักเสียงหัวเราะที่ก่อตั้งโดย แก๊ป-คณีณัฐ เรืองรุจิระ จาก G-village Co-Creation Hub และ ยู-กตัญญู สว่างศรี นักแสดงและสแตนด์อัปคอมเมดี้ผู้ก่อตั้ง A Katanyu Comedy Club ผู้เปิดพื้นที่ให้นักเล่าเรื่องรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเฉิดฉายบนเวทีมากขึ้น 

บุคคลที่จะมาพูดคุยกับเราในวันนี้ถือเป็นสแตนด์อัปคอมเมดี้ที่โดดเด่นและมาแรงอย่างมากทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ เขาเป็นผู้ที่มีสไตล์การเล่าเรื่องโดดเด่นไม่เหมือนใคร เรื่องราวหลังม่านของเขาจะชวนหัวเหมือนตอนจับไมค์อยู่บนเวทีหรือไม่ ไปทำความรู้จักกับตัวตนของ “ลินิน ยืนเดี่ยว” หรือในชื่อจริง “พี-นิวัฒน์ชัย ทรัพย์ไพศาล” สแตนอัปคอมเมดี้หน้า(ไม่)ใหม่ผู้กำลังจะมีโชว์ที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขากัน

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Photo01.jpg

aka ที่มาของชื่อลินิน 

ลินิน มาจากชื่อของรุ่นน้องครับ เป็นรุ่นน้องที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพด้วยกัน อยู่ชมรมเดียวกัน ตอนเจอกันครั้งแรกน้องเขาเป็นผู้หญิงที่หน้าตาดูนิ่งๆ เหมือนไม่เป็นมิตรกับใครเลย แต่ว่ามันมีโอกาสที่จะต้องร่วมงานกันเราเลยต้องถามชื่อ พอเขาบอกว่าชื่อ ลินิน เรารู้สึกได้ว่าความเป็นมิตรในตัวเขามันมากขึ้นแบบเต็มที่มาก ก็เลยคิดตั้งแต่สมัยเรียนว่าคำนี้มันดูเพิ่มความเป็นมิตรกับคนที่ได้ยินดีครับ พอได้มาแสดงสแตนด์อัปก็เลยคิดว่าเราอยากจะขึ้นเวทีไปแนะนำตัวกับคนที่ไม่รู้จักแล้วให้รู้สึกว่าเราเป็นมิตรกับเขาก็เลยใช้ “ลินิน” ครับ 

เคยได้ยินว่าเหมือนเป็นชื่อเรียกเส้นใยชนิดหนึ่งว่า “ผ้าลินิน” 

ใช่ อันนั้นก็เป็นเหมือนความหมายที่ทุกคนจะเข้าใจอย่างนั้นมากกว่า เคยมีคนดูคนนึงเขาฟังเรื่องที่ผมเล่าแล้วบอกว่าผมเหมาะกับคำว่าลินิน เพราะว่าเรื่องที่ผมเล่าส่วนใหญ่เป็นชีวิตของผมเอง เป็นชีวิตที่ไปเจอเรื่องแย่ๆ มาแล้วก็เอามาเล่าให้ขำ เขาบอกว่าผ้าลินินมันยับแล้วยับเลย ไม่มีทางรีดให้เรียบได้ เหมือนกับเรื่องที่ผมไปเจอมาที่เจอแต่เรื่องไม่ง่ายไม่ราบเรียบครับ ซึ่งก็สอดคล้องกับชื่อลินินนะ ไม่รู้ว่าผมคิดมากไปหรือเปล่า

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Photo02.jpg

เรียนจบทางด้านภาพยนตร์มา ทำไมถึงเลือกเรียนสายนี้ 

ด้วยความเป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นเด็กสงขลา ถ้าเป็นทางใต้คำว่า “นิเทศศาสตร์” นี่เราไม่รู้จักเลย จนช่วงประมาณ ม.5 ได้มีโอกาสเจอพี่คนหนึ่ง เหมือนสมัยก่อนเวลาเราดูหนังก็ดูมาร์เวล หนังอะไรเข้าโรงก็ดู พี่เขาแนะนำหนังเรื่อง “Mary is Happy, Mary is Happy” ตอนนั้นที่ดูเรารู้สึกว่า โห มันคือหนังหรอ มันไม่เห็นเหมือนที่เราดูในโรงทั่วไปตอนเราอยู่ต่างจังหวัดเลย ก็เลยลองไปหามาดู พอมารู้ว่าเป็นหนังของพี่เต๋อ (นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) ตอนนั้นเลยลองไปดูอย่างอื่นบ้างที่คนแนะนำกัน เลยรู้สึกว่าภาพยนตร์ที่ดูมันสามารถเล่าเรื่องชีวิตโดยที่ไม่ต้องเกิดขึ้นจริงก็ได้ เราคิดว่ามันดูเป็นจินตนาการดี 

พอเข้ามาเรียนภาพยนตร์แล้วเป็นอย่างที่คิดไหม 

มันก็สนุกเหมือนที่คิด ด้วยความที่เราเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ทำงานก็คือทำงานด้านภาพยนตร์นี่แหละ หมายถึงพอเรียนปี 1 ปุ๊บ ปี 2 ก็เริ่มหาที่ฝึกงานเลย รู้สึกว่ามหา’ลัยมันสอนเราช้าเกินไป ก็เลยไปหาโปรดักชันเฮาส์ที่เราชอบดูผลงานแล้วก็ไปติดต่อผู้กำกับฯ ว่าขอฝึกงานโดยที่ไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย ก็ฝึกงานมาตั้งแต่ปี 2 จนถึงปี 4 พร้อมกับเรียนไปด้วย พอฝึกงานกับผู้กำกับฯ กับโปรดักชันเฮาส์จริงๆ แล้วเรียนไปด้วย ทำให้เราค้นพบความจริงว่าเราอยู่ไม่ได้ในวงการนี้ครับ  

ความสนใจเรื่องสแตนด์อัปคอมเมดี้เริ่มขึ้นตอนไหน 

มันไม่ได้มีความสนใจเรื่องสแตนด์อัปคอมเมดี้มาก่อน หมายถึงว่ามันเป็นความบังเอิญ คือมันมีช่วงที่ผมเรียนจบ ถ้าใช้คำเท่ๆ ก็คือเบิร์นเอาท์ ผมรู้สึกว่าไม่อยากจะทำอะไรต่อกับสายที่เรียนมา แต่พอมามองย้อนไปมันไม่ใช่เบิร์นเอาท์หรอก จริงๆ แล้วเราแค่ยอมแพ้กับสิ่งที่เรียน และความซวยก็คือคุณเรียนจนจบแล้วคุณยอมแพ้ในสิ่งที่เรียนจบมาคุณก็ไม่เหลืออะไรให้ทำแล้วไง สำหรับผมมันมีแค่ว่ากลับบ้านกับอยู่ที่นี่แล้วหาอะไรทำซึ่งผมไม่ยอมกลับบ้านอยู่แล้ว

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Photo03.jpg

เพราะมันไม่มีอะไรให้ทำ 

มันมีอะไรให้ทำแต่แค่ในต่างจังหวัดมันมีความช้ากว่าในกรุงเทพฯ ผมมาอยู่ในอนาคตตั้ง 4-5 ปี ผมไม่ยอมย้อนกลับไปอยู่ในที่ที่จะช้ากว่าที่นี่หรอก ผมก็เลยเปิดร้านขายหมูปลาร้า 

ไม่ขายไก่ทอดหาดใหญ่เหรอ 

มันมีคนขายแล้วไง อย่างที่ผมบอกว่าผมจะไม่ทำอะไรที่คนอื่นทำอยู่แล้ว “ผมเป็นคนที่แพ้การแข่งขันบ่อยที่สุดในโลกนี้ผมพูดเลย” ผมเป็นนักแข่งขันมาก ผมลงแข่งตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยชนะอะไรเลยสักอย่าง ผมเลยรู้ว่าผมห้ามทำอะไรที่มีคนแข่งขันด้วย  

ขายอยู่นานไหม 

เดือนแรกลงทุนวันละ 2,500 ขายได้วันละ 5,000 ฝันยิ่งใหญ่เลย เตรียมขยายสาขา จะเอาแฟรนไชส์ไปขายตามมหา’ลัย ใครอยากซื้อเดี๋ยวทำหมูส่งให้ พอโควิดมาก็ต้องพัก เราก็ไปเจอโพสต์ของเพื่อนที่เรียนจบมาด้วยกันประมาณว่า เขาไปออดิชันยืนเดี่ยว ออดิชันครั้งที่สามเพิ่งผ่าน แต่ผ่านปุ๊บต้องไปออดิชันอีกรอบเพื่อที่จะได้เล่นเป็นตัวจริง แล้วเขาก็ดีใจมากที่ผ่าน ดูพยายามมาก

มันเกิดจากความขี้หงุดหงิดของผมในตอนนั้นว่า สิ่งที่มึงทำไม่ยากหรอก สิ่งที่กูทำสิยาก ทำไมมึงต้องภูมิใจกับเรื่องแค่นี้ด้วยวะ แล้วอยู่ดีๆ มันก็เกิดคำถามในหัวขึ้นว่า ไอ้สิ่งที่มึงทำมันยากแค่ไหนวะ ประจวบเหมาะกับที่ยืนเดี่ยวประกาศว่าจะรับคนเพิ่ม เราเลยพิมพ์เรื่องส่งไปแล้วก็ผ่านรอบสอง ไปเล่นสดก็ผ่าน คืนนั้นก็เลยได้ไปเล่นเปิดตัวจริงอีกทีแล้วเราก็ทำได้ดีเลย

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Photo04.jpg

เราไม่ได้ชมตัวเองแต่มันเป็นคำชมที่คนในงานเข้ามาชม ไม่ทันตั้งตัวเหมือนกัน รู้สึกแค่ว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างในชีวิตให้มันดี ให้มันดูชนะใครบ้าง แล้วมันก็มีคำของเพื่อนๆ ที่ไปเชียร์พูดว่า “ไอเหี้ย ไหนว่ามึงไม่เคยทำมาก่อน แล้วทำไมมึงทำได้ดีอ่ะ มึงฟลุกป่ะวะ?”

อ้าว.. มึงรออีกรอบเลย เขาเปิดอีกรอบนึง ผมลงใหม่ เข้ารอบแรก รอบสองเข้า รอบสามเข้า ไปเล่นแล้วมันก็ดี มันเป็นคลิปแรกที่ยืนเดี่ยวลงว่าเป็นโชว์ของลินิน ยอดคนดูดีเลย เราก็แค่อยากจะทำให้คนที่บอกว่าฟลุกรู้ว่าเราไม่ฟลุก เราทำได้ แต่ไม่ได้คิดว่าอยากทำมันนะ ผมจะต่างจากพวกคอมเมเดี้ยนหลายๆ คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในวงการด้วยแพสชันที่ว่า ผมชอบพี่โน้ส-อุดม ต้องเป็นสแตนด์อัปคอมเมดี้ให้ได้ หรือทำให้วงการคอมเมเดี้ยนไทยมันเติบโต ผมเข้าวงการมาด้วยความรู้สึกว่า “พวกมึงไม่เท่าไหร่หรอก กูจะงัดให้ล้มให้หมดเลย” แล้วพอมันไม่เหลือใครให้กูชนะเดี๋ยวกูค่อยออก (หัวเราะ)  

อย่างนี้พื้นฐานก็ต้องเป็นคนที่ชอบเล่าเรื่อง

เป็นคนชอบเล่าเรื่องในหมู่พวกรุ่นน้อง พวกเพื่อนๆ ในชมรมดนตรีเขาจะพูดเสมอตั้งแต่ผมเรียนมาสี่ปีว่าพี่ีเล่าเรื่องสนุกนะ (พี คือชื่อเล่นจริงๆ ของลินิน) ไม่ใช่เวลาผมเจอเรื่องอะไรแล้วมาเล่านะ บางทีสมมติผมเจอคุณล้มแล้วมันตลกมาก พรุ่งนี้ผมวิ่งไปหาเพื่อนอีกคนเลยเพื่อเล่าให้ฟัง แล้วผมจะเล่าให้เพื่อนคนนั้นเห็นภาพในหัวว่าคุณล้มยังไงถึงขำแบบนั้น ผมแค่อยากให้คนอื่นขำแบบเดียวกับที่ผมเห็น เลยต้องพยายามเล่าให้มันเห็นภาพจริงที่สุด

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Photo05.jpg

ซึ่งเราก็เป็นคนแบบนี้มาตลอด 

ทำแบบนี้มาตลอดโดยไม่รู้ตัว กลายเป็นว่ามันเป็นหนึ่งสกิลที่เราเอามาใช้ในสแตนด์อัปคอมเมดี้ได้ 

ปกติเป็นคนเฮฮาในกลุ่มเพื่อนอยู่แล้วไหม หรือเป็นตัวแก๊ก 

ผมว่าผมไม่ใช่ตัวแก๊ก เป็นตัวเสริม มันจะต้องมีใครเล่นอะไรก่อนแล้วขำมาร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมอาจจะพูดอะไรเพิ่มไปอีกคำนึงให้มันกลายเป็นร้อยยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ผมจะไม่ใช่คนที่นำเรื่องมาเลย เพราะอย่างที่บอกว่าเราเป็นคนขี้อายมาก่อน เลยรู้จังหวะว่าการยื่นหน้าเข้าไปเล่นมุกคนแรกไม่ใช่เรื่องปลอดภัยเท่าไหร่ แต่การคอยเสริมถึงมันไม่ดีก็ไม่เสียหายอะไร 

เวลาขึ้นไปเล่นบนเวทีจากที่เป็นคนคอยเสริมตลอด แล้วอยู่ๆ กลายเป็นเล่นเดี่ยว มันมีความรู้สึกแปลกๆ ไหม

ผมว่ามันมีความรู้สึกแปลกในบางช่วงอาจจะเป็นช่วงแรก การเล่นสแตนด์อัปมันเปลี่ยนให้ผมต้องเป็นคนปูเองและเสริมเอง ผมต้องปูเรื่องให้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อน แล้วผมก็รู้ว่าผมควรจะเสริมอะไรให้เป็นร้อยยี่สิบ มันคือผมทำสองหน้าที่พร้อมกันเลย แต่เมื่อทำไปมันเหมือนรูทีน ทำไปเรื่อยๆ เราจะไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการปูและเสริม ตอนนี้สำหรับผมมันคือหน้าที่เดียวคือขึ้นไปเล่น

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Photo06.jpg

 รู้สึกยังไงบ้างที่หลายๆ คนขนานนามว่าเราเป็น “สแตนด์อัปคอมเมดี้คลื่นลูกใหม่ของวงการ”

ผมไม่ได้รู้สึกดีใจขนาดนั้นในแง่คำพูดนี้ ผมไม่อยากเป็นความคาดหวังของใคร การที่บอกว่าผมเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการมันเป็นการมอบความคาดหวังบางอย่างให้ผมว่า มึงแหละที่จะต้องช่วยดึงวงการนี้ขึ้นไป ซึ่งผมก็เป็นคนที่จะคิดลบประมาณนึงว่า เชี่ย.. แล้วกูต้องดึงใครวะ แต่พอเวลาผ่านไปผมก็เจอความจริงว่าสิ่งที่ผมทำ ต่อให้ผมไม่อยากจะแบ่งความสำเร็จนี้ให้ใครเลย ไม่มากก็น้อยมันก็สำเร็จ มันทำให้วงการใหญ่ขึ้น ทำให้คนในวงการมีพื้นที่เล่นมากขึ้น คนรู้จักสแตนด์อัปมากขึ้น ถามว่ารู้สึกยังไงกับการได้ยินว่าตัวเองเป็นคลื่นลูกใหม่ ผมก็คงต้องพูดว่า รู้สึกปกติ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองพิเศษอะไรมากกว่าเดิม 

การที่ได้เข้ามาทำตรงนี้คิดว่าความพิเศษของการเป็นคอมเมเดี้ยนคืออะไร 

มีเด็กฝึกงานคนนึงของยืนเดี่ยวเคยพูดไว้ว่า อาชีพพี่นี่น่าอิจฉาชิบหายเลย ผมถามว่าทำไมแม่งตอบผมว่า “พูดเหี้ยไรก็เป็นเงิน แค่พูดก็เป็นเงิน” 

แล้วมันได้เงินเยอะจริงไหม

สิ่งนี้มันจะไปตอบในคำถามเดิมได้ว่าทำไมเขาถึงเรียกผมว่าคอมเมเดี้ยนคลื่นลูกใหม่ เพราะผมสามารถการันตีได้ว่ามีผมคนเดียวในวงการสแตนด์อัปที่พยายามทำให้มันมีรายได้เป็นอาชีพ มันโชคดีตรงที่ผมไม่ได้เริ่มสตาร์ตเหมือนคนอื่นที่บอกว่าฉันมีแพสชันในมัน เราคิดถึงเรื่องเงินก่อนเลย กูต้องได้เท่าไหร่ เพราะถ้ากูมีเงินใช้กูเอนจอยอยู่แล้ว (หัวเราะ) ไม่ต้องห่วงชีวิตกูหรอกกูจะเป็นซึมเศร้ากับเงินสามแสนก็ดีกว่ากูจะไม่เป็นอะไรแล้วมีเงินแค่พันเดียว ซึ่งเม็ดเงินในปัจจุบันผมต้องพูดว่าไม่ได้เยอะขนาดที่จะทำเป็นอาชีพได้จริงๆ แต่ถ้าทำดีๆ ก็ไม่น้อยเลย ย้อนกลับไปคำถามมันคืออะไรนะครับ? (หัวเราะ)  

ความพิเศษของการเป็นคอมเมเดี้ยน 

 ผมว่ามันคืออาชีพที่.. (เงียบไปสักพักใหญ่) คุณสามารถทำให้คนรักคุณได้ง่ายที่สุด ผมขึ้นไปบนเวที คุณไม่รู้จักผมเลย ผมใช้เวลา 15 นาที ผมเดินลงมาแล้วคุณก็อยากรู้จักผมทันที มันเป็นอาชีพที่ทำให้ผมรู้สึกว่ามีความสุขนะที่เราได้อยู่จุดนี้ มีคนอยากรู้จัก อยากจะใช้คำว่ารักเรามากขึ้นทุกวัน มันมีความปลอดภัยในชีวิตเพิ่มมากขึ้นในแง่สภาพจิตใจ ผมว่านั่นแหละเป็นความพิเศษของอาชีพนี้ 

เวลาที่เราเตรียมเรื่องมาเล่าในแต่ละโชว์ คนดูบางคนอาจจะไม่ได้รู้จักเรามาก่อน เคยเจอเหตุการณ์ที่เวลาเราเล่นอะไรไปแล้วเขาไม่ขำไหม

ไม่ฮา หรือไม่เก็ต ไม่อินกับสิ่งที่เราเล่ามันพูดยากนะ เพราะเวลาเราเล่นกับคนเราไม่ได้เล่นกับคนคนเดียว เราเล่นกับคนเป็นกลุ่ม เอาง่ายๆ ผมเคยเล่นที่ร้านนี้ในวันที่มีคนดูแค่คนเดียว และผมก็เคยเล่นในวันที่มีคนดู 80 คน แล้วผมก็เคยเล่นในงานที่มีคนดู 300 คน สำหรับผมมองว่ามันไม่ต่างกันจะมีคนดูกี่คนก็แปลว่ามีคนดู ผมต้องบอกว่ามันต้องมีบางมุกที่ผมไม่สามารถทำให้ทุกคนขำพร้อมกันได้หมด ใน 50 คนอาจจะมีคนขำสัก 40 หรือ 30 คน แต่ผมก็สามารถการันตีได้ว่าทุกมุกมันจะมีเสียงฮาไม่มากก็น้อย หน้าที่ของคอมเมเดี้ยนคือทำให้คนที่อยู่ตรงหน้าเราเอนจอยมากที่สุด

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Photo07.jpg

ลินินเคยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเอาไว้ว่า “เราเป็นแค่คนที่รับเงินเพื่อถือไมค์เล่าเรื่องตลก ไม่ใช่คนดัง”

ตอนผมเล่นปีแรกจากคนที่ไม่มีใครรู้จักเลยโนเนม เราคือมนุษย์คนนึงที่เดินผ่านไปผ่านมาแล้วก็รอวันตาย อาจจะไม่มีใครจดจำเรา อยู่ดีๆ พลิกผันมีคนรู้จักเราในโลกออนไลน์ มันมีช่วงที่เราต้องตั้งรับความดังที่ถาโถมเข้ามาเร็วเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจจะเป็นคนดัง เรารับมันไม่ไหว เราปฏิเสธเรื่องความดังนี้มากจนพี่โจ๊ก ไอศครีม โทรมาหาแล้วบอกว่า ต่อให้มึงปฏิเสธให้ตายมึงก็เป็นมันไปแล้ว เพราะฉะนั้นมึงต้องอยู่กับมันให้ได้ ผมก็เลยคิดว่าเราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะไม่อยากหลงตัวเองว่าฉันจะมีชื่อเสียงกว่านี้ จะดังกว่านี้ ผมไม่อยากเสียคนกับอะไรอย่างนั้น ผมเลยตั้งคำถามว่าแล้วเราต้องการอะไร โอเคเราต้องการเงินเพื่อประคับประคองชีวิต ทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าลูกอยู่ได้แล้วนะ มีงานมีการที่หาเลี้ยงตัวเองได้แล้ว อย่างสุดท้ายคือ  

“ผมอยากทำให้เงินทุกบาทที่คนซื้อตั๋วมาดูผมมีค่า”

คอมเมเดี้ยนในวงการนี้ชอบผิดพลาดอย่างหนึ่ง คือมาเล่นในงานที่คนดูไม่ได้จ่ายเงินแล้วชอบคิดว่าไม่เป็นไรหรอกเล่นไปเถอะ ขำมากขำน้อยก็ช่างมันเพราะไม่ได้รับเงินอยู่แล้ว แล้วพอลงมาเวลาเล่นไม่ดีก็ชอบพูดประมาณว่า วันนี้คนดูแม่งไม่อินกับเราเลยว่ะ คือทุกคนขึ้นไปก็คาดหวังอยากให้คนขำแหละ แต่พอทุกคนไม่มีอะไรมาเวทลงมาก็จะโทษคนดู ผมรู้สึกว่าวิธีเอาชนะคือ พวกมึงต้องรับเงินเขา

มึงลองให้คนนี้จ่ายเงินให้มึง 300 ดิ มึงจะพยายามแทบตายให้เขายิ้ม เพราะว่ามึงรับเงินเขามามันคืองานแล้ว ผมว่าการรับเงินมามันเหมือนคำสัญญาที่ผมจะให้กับคนดูเลยตั้งแต่แรกว่าไม่ต้องกลัว วันนี้มึงจะสนุกแน่ๆ มันเลยเป็นเหตุผลที่ผมเลือกที่จะใช้คำว่าผมเป็นแค่คนรับจ้าง คุณจ่ายเงินมา ผมเซอร์วิสสิ่งที่คุณจ่ายให้คุณได้เต็มที่ มันมีวันที่ผมเล่นแล้วผมเซอร์วิสได้ไม่ดีพอ ผมก็พูดกลางงานเลยว่าโชว์ถัดไปรอบนี้ทั้งรอบดูฟรี คุณแจ้งชื่อมาเลยตอนผมขายบัตรโชว์ถัดไป มันไม่ใช่แค่เรื่องเงินที่เขาจ่าย ถ้าผมทำดีไม่พอแม่งโคตรดูถูกทุกอย่างที่เขาจ่าย นั่นแหละที่ผมพูดว่าผมเป็นแค่คนที่ถูกจ้างมาเล่น 

มีวันที่ไม่สบายใจในเรื่องปัญหาส่วนตัวแต่ต้องขึ้นโชว์ไหม มีวิธีรับมือกับมันอย่างไร

มีครับ มีวันที่ทางบ้านโทรมาเล่าปัญหาที่บ้านช่วงโควิด เครียดๆๆๆ แต่พอขึ้นเวทีไปจับไมค์มองมาที่คนดูก็เปลี่ยนสวิตช์ทันที เพราะในหัวมันจะคิดว่า ถ้าพูดแบบแย่ๆ ก็คือ ไอเหี้ยพวกนี้ไม่ได้อยากฟังเรื่องแย่ๆ ในชีวิตกูหรอก ชีวิตพวกมึงมันแย่พอแล้ว อาจจะแย่กว่ากูด้วยซ้ำบางคน งั้นเรามาทำให้ชีวิตพวกมันดีดีกว่า แล้วเดี๋ยวกูค่อยกลับมาเครียดของกูต่อ (หัวเราะ) 

อีกอย่างเราก็มองเป็นงานด้วยแหละ

ใช่ เรามองเป็นงาน แต่ความโชคดีอีกอย่างในอาชีพผมคือวันที่ผมเครียดแล้วผมขึ้นไปทำให้คนดูตรงนี้เอนจอยแล้วได้ยินเสียงหัวเราะเยอะๆ จบโชว์ผมไม่เครียดผมได้กำไร ผมเคยพูดคำหนึ่งว่า  

“พวกคุณไม่มีทางนึกออกหรอกว่าการหัวเราะกับคนร้อยกว่าคนมันรู้สึกยังไง”

การที่คนร้อยคนหัวเราะพร้อมกันกับคุณแม่งดีกว่าทุกอย่างในโลกนี้ มันทำให้รู้สึกว่าชีวิตคุณแม่งมีเพื่อน ผมว่ามันเป็นอาชีพที่ฮีลจิตใจทั้งคนดูและตัวผม เราต่างแบ่งปันความสุขดีๆ ให้กันโดยไม่รู้ตัว

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Photo V01.jpg

ในฐานะที่อยู่ในวงการสแตนด์อัปคอมเมดี้มาสี่ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในวงการนี้

ผมยิ่งใหญ่ขึ้น (หัวเราะ) อันนี้คือสิ่งที่ผมจะพูดบนเวทีปกตินะถ้าเกิดมีคำถามอะไรหลุดมาแบบนี้ คือบนเวทีผมจะเป็นพวกไม่มีความกลัว ผมกล้าพูดทุกอย่าง ถ้ามีคำถามแบบนี้มาผมก็จะตอบว่าความเปลี่ยนแปลงในวงการคือผมยิ่งใหญ่ขึ้น ความสำเร็จของผมมันถาโถมวงการ คุณรู้รึเปล่าว่าทุกคนในวงการสร้างแค่ วอแหวนนะ คำว่าวงน่ะ ส่วนที่เหลือผมสร้าง (หัวเราะ) ผมกำลังพูดแบบโชว์อยู่แต่เดี๋ยวจะพูดแบบของจริงแล้ว

ผมว่าในวงการไม่ได้เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงคือคนดูในประเทศนี้ เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากในอดีต เรามาจากยุคคาเฟ่สู่ยุคตลกทางทีวี และเรากำลังจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสแตนด์อัปคอมเมดี้ ซึ่งไม่ได้บอกว่าตลกทางทีวีจะตาย ตลกทางทีวีจะยังอยู่ แต่ต้องบอกว่าคนดูกลุ่มใหม่ในประเทศนี้เด็กรุ่นใหม่เขาต้องการสิ่งที่เหนือกว่าตลกที่เขาเคยเจอมา ซึ่งสแตนด์อัปคอมเมดี้มันตอบโจทย์สิ่งนั้น ผมเลยบอกว่าการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ใช่วงการแต่เป็นคนดู คนดูเปลี่ยนเราเลยต้องเปลี่ยนตามด้วย  

ถ้าเปรียบชีวิตตัวเองเป็นหนังสักเรื่องหนึ่ง คิดว่าคือเรื่องอะไร 

ผมเหมือน แอนดรูว์ ใน Whiplash ฮะ เพราะว่าผมจริงจังกับสแตนด์อัปมาก จริงจังแบบมองมันเป็นอาชีพ

แต่คุณบอกว่ามองต่างจากคนอื่นที่มองสแตนด์อัปเป็นแพสชันแค่อย่างเดียว

ผมทุ่มเทให้สแตนด์อัปเพื่อชีวิตผมเท่านั้นต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อน ต่างกันนะ ต่างกับการทำเพื่อแพสชัน อย่างที่บอกว่าผมไม่เคยชนะอะไรมาก่อนเลยทั้งชีวิต ผมลงแข่งวาดรูป เล่นดนตรี ผมเรียนเปียโน เรียนไวโอลิน เรียนกีตาร์ เรียนฟลูต แต่ผมเล่นอะไรไม่ได้สักอย่าง

ตอนนี้ผมเป็นคนที่ลงแข่งทุกอย่างหวังจะได้ชัยชนะแต่ไม่เคยชนะ วันที่ทำสแตนด์อัปมาจะครบปี ผมเห็นเส้นชัยอยู่ตรงหน้าแล้วอย่างที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต โอ้โห..แล้วกูจะไปวิ่งลู่วิ่งอื่นทำไม ก็เส้นชัยอยู่ตรงนี้แล้ว พอคิดได้ก็เลยรู้สึกว่าถ้าอย่างน้ันก็ต้องวิ่งให้เข้าให้ได้อย่างน้อยก็เห็นแล้ว ตั้งใจให้เต็มที่พยายามให้เต็มที่ไม่ยอมแพ้เลย  

ลินินเคยประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าหลังจบโชว์ครั้งใหญ่ในปีนี้จะเลิกทำสแตนด์อัปคอมเมดี้

“ผมเหมือนรถที่ไม่เคยเหยียบเบรก เหยียบคันเร่งตลอด ผมสับจนเกียร์สุดท้ายแล้วก็เหยียบจนมิด” ผมเพิ่งรู้สึกตัวเมื่อโชว์ล่าสุดปีที่แล้วว่าผมเครื่องพังไปแล้ว ไม่ได้หมายถึงจังหวะเพี้ยน แต่หมายถึงผมใช้ทุกเรื่องในชีวิตเทมันทิ้งไปในสี่ปีที่ผ่านมาหมดแล้ว อันนี้ไม่ได้เปรียบเทียบหรือพูดไม่ดีใส่เขานะ พี่โน้ส-อุดม จัดโชว์ปีละครั้งแล้วก็พักไปเลยปีครึ่งหรือสองปีแล้วค่อยจัดใหม่

ในขณะที่สามปีที่ผ่านมาผมขึ้นเดือนชนเดือน แล้วทุกครั้งต้องเล่าเรื่องใหม่ เล่าโชว์ปกติกับยืนเดี่ยว 15 นาที ใช้อย่างน้อย 2-3 เรื่องมาประกอบกันให้เป็นเรื่องสนุกเรื่องนึง ทำโชว์ใหญ่ครั้งแรกผมใช้ไปทั้งหมด 8 เรื่อง ครั้งที่สองผมใช้ไป 10 เรื่อง และรอบสุดท้าย The Script เมื่อปีที่แล้วผมใช้ไปทั้งหมด 12 เรื่องใน 1 โชว์ รวมง่ายๆ เท่ากับผมใช้เรื่องราวในชีวิตเกิน 50 เรื่องไปแล้ว ผมไม่ได้ออกไปเจอประสบการณ์ใหม่ๆ ไม่ได้มีเวลาพักผ่อนพอจะเอนจอยกับชีวิต ว่าวันนี้อยากลองผิดพลาดกับชีวิต เพราะเรื่องส่วนใหญ่ที่เอามาเล่าคือเรื่องที่เราเจอในวัยที่เราผิดพลาดกับชีวิตมา

linen-yuendeaw-interview-SPACEBAR-Spotlight.jpg

พูดง่ายๆ ก็คืออยากมีเวลาพัก แต่ก็จะยังมีโชว์อยู่ 

ใช่ แต่ก็ไม่สามารถการันตีกับคนดูได้เหมือนอดีตแล้ว เคยมีคอมเมเดี้ยนด้วยกันถามผมว่า เมื่อไหร่ลินินจะหมดเรื่องเล่าวะ ผมบอกว่าถ้าผมยังเดินได้ก็ออกไปเจอเรื่องได้ ตอนนั้นเราตอบไปเพราะว่าเราใช้มันยังไม่หมด วันนี้เรารู้ว่าเราเดินไม่ทันเรื่อง เพราะฉะนั้นคำตอบคือหยุดเดินบ้าง 

ก็แปลว่าก็ยังไม่ได้หยุดการทำสแตนด์อัป แต่เป็นการหยุดเพื่อยืนระยะ

หยุดเพื่อเสิร์ฟสิ่งดีๆ จริงๆ ไม่ใช่เงิน เงินสำคัญ แต่อย่างที่บอกว่าคนที่จ่ายเงินต้องคุ้มค่ากับทุกอย่างที่เขาจ่าย ผมจะไม่ยอมรับเงินที่ผมทำไม่ได้ 

แล้วเส้นชัยของ “ลินิน” คืออะไร

เส้นชัยของผม ผมเคยพูดไว้ว่า อีก 30 ปีข้างหน้าผมอยากนั่งอยู่ท่ามกลางคอมเมเดี้ยนในประเทศไทยทั้งเก่าและใหม่ มองดูเวทีงานเลี้ยงฉลองประจำปี แล้วพูดกลางงานว่า  

“ไอ้เหี้ยเนี่ยกูสร้างมา ทุกอย่างที่พวกมึงได้อ่ะกูสร้างมา” แต่กูไม่อยากได้อะไรเลยนะ กูแค่สร้างทุกอย่างเพื่อที่จะพูดคำนี้แหละ ผมรู้สึกว่าผมแค่อยากภาคภูมิใจกับอะไรสักอย่างในชีวิต อยากอยู่ท่ามกลางคนที่พร้อมจะภาคภูมิใจกับสิ่งนั้นไปด้วย แต่ถ้าเอาโกลใกล้ๆ ก็คือผมอยากลองมีเงินสักห้าแสนแล้วไม่ต้องทำงานสักปีนึง แล้วก็วิ่งกลับมาหาเงิน 5 แสนอีกรอบแล้วก็ไม่ต้องทำงานอีกปีนึงอย่างนี้เรื่อยๆ เหมือนกันครับ

ทั้งหมดนี้คือบทสนทนาในระยะเวลากว่าชั่วโมงครึ่งกับลินินที่ทำให้เรารู้ว่าเส้นทางชีวิตของเขาไม่ได้มีแค่เรื่องตลกเหมือนตอนจับไมค์บนเวที จาก พี เด็กหาดใหญ่ขี้อายในวันนั้นสู่ ลินิน ยืนเดี่ยว สแตนด์อัปคอมเมดี้ที่มีกลุ่มผู้ติดตามและมีคนที่รักเขามากมายในวันนี้ 

เส้นทางของ ลินิน ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรอาจไม่ต้องรอให้ถึง 30 ปี เพราะคุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะพาเขาเข้าสู่ประตูเส้นชัยด่านแรกได้เลยภายในวันนี้ เพราะเขากำลังจะมีโชว์ใหญ่ที่สุดในชีวิตกับ **"LINEN BEST SELLER" ** วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2024 เวลา 19.00-21.00 น. (หรืออาจจะนานกว่านั้น) ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กดบัตรได้แล้ววันนี้ที่ Ticketmelon มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในก้าวแรกอันยิ่งใหญ่ของเขาไปพร้อมกัน 

สามารถติดตามลินิน ได้ที่ Facebook: ลินิน  และ ยืนเดี่ยว - YuenDeaw  

Instagram: pefooo  และ  yuendeaw  

YouTube:  ยืนเดี่ยว YuenDeaw

เรื่อง: หยกพลอย จันทราภา

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์