Lost In Doubt: ถ้าไม่มีวรรณกรรม คำว่าอะไรจะหายไปบ้าง?

14 มีนาคม 2566 - 03:39

lost-in-doubt-words-from-literature-SPACEBAR-Thumbnail
  • คำว่า ‘เนิร์ด’ โผล่มาครั้งแรกจากปลายปากกานักวาดการ์ตูน Dr.Seuss

  • อาชีพ ‘เมนเทอร์’ ที่เรียกกันเก๋ๆ มาจากมหากาพย์โอดิสซีย์

  • ก่อนที่จะมาเป็นชื่อโรค ‘ซิฟิลิส’ คือชื่อของคนเลี้ยงแกะที่กล่าวโทษเทพเจ้า

  • แฟชั่น ‘โลลิตา’ หวานแบ๊ว ได้ชื่อมาจากนวนิยายสุดอื้อฉาว

  • ‘แพนต์’ ที่แปลว่ากางเกง มาจากชื่อตัวโกงในละครตลกของอิตาลี

ภาษาทำให้เกิดเรื่องเล่า และหลายครั้งเรื่องเล่าก็ตอบแทนด้วยการให้คำหรือวลีใหม่ๆ กลับมา อย่างศัพท์หรือสำนวนเชกสเปียร์ที่ได้ยินกันอยู่เนืองๆ ก็แสดงให้เห็นว่าหลายคำที่เราใช้กันทุกวันนี้มาจากงานเขียนยุคเก่าแก่ แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือคำที่ได้มาจากชื่อตัวละคร เพราะการที่ชื่อสมมติในเรื่องแต่งจะกลายเป็นนิยามในโลกจริงได้นั้นไม่น่าใช่เรื่องง่าย 
 
วันนี้เราขอพาไปทำความรู้จัก 5 คำที่เคยเป็นชื่อตัวละคร ตั้งแต่ในนิทาน มหากาพย์ ไปจนถึงบทกวี พร้อมทั้งที่มาก่อนจะกลายเป็นศัพท์ใหม่ แต่ละคำนี่ถ้าไม่ได้นักเขียนคิดขึ้นมาก็นึกไม่ออกเลยว่าจะแทนด้วยคำว่าอะไรดี…
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/54lKiPKv14reOxY5HH6jrP/b7802aaa3374178041f159ca56ed70f7/lost-in-doubt-words-from-literature-SPACEBAR-Photo01

NERD 

คำว่า ‘เนิร์ด’ (nerd) ที่ใช้เรียกคนที่รู้ลึกในเรื่องที่คลั่งไคล้ไม่ได้มีที่มาวิชาการอะไรเลย แต่มาจากนิทานเรื่อง If I Ran the Zoo ปี 1950 ผลงาน Dr.Seuss นักวาดการ์ตูนชาวอเมริกันขวัญใจวัยฟันน้ำนมไปจนถึงฟันแท้ทั่วโลก (ถ้าคุ้นลายเส้นแต่นึกไม่ออก แอบเฉลยให้เลยว่าเขาคือคนเดียวกับที่เขียนเรื่อง The Grinch!)
 
เรื่องดำเนินด้วยคาแรกเตอร์หน้ากวนสไตล์ Dr.Seuss เล่าเป็นกลอนสนุกๆ ว่าถ้าเปิดสวนสัตว์จะมีสัตว์อะไรบ้าง หนึ่งในนั้นคือสัตว์ที่เขาเรียกว่า Nerd ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คำนี้ได้ถูกตีพิมพ์ลงในหนังสือโดยมีความหมายเดียวกับคำว่า geek
 
จากที่เป็นแค่ชื่อตัวละครสมมติ คำว่าเนิร์ดก็กลายเป็นแสลงที่สื่อหยิบมาใช้ โดย Newsweek ถือเป็นสื่อเจ้าแรกๆ ที่ใช้คำนี้ในบทความ เวลาผ่านไปเพียงหลักสิบปี คำว่าเนิร์ดก็ถูกใช้อย่างแพร่หลาย และค่อยๆ กอบกู้ภาพจำจากคำเหยียดคนเฉิ่มๆ เป็นคำชมแด่คนที่หลงใหลและทุ่มเทให้กับบางสิ่งบางอย่าง จนทุกวันนี้การเป็นเนิร์ดไม่ใช่เรื่องน่าอาย หลายคนอยากจะเก่งจนมีคนเรียกว่าเนิร์ดด้วยซ้ำไป    
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4VCqYyBsw0geMHeLoXxD9n/66525d40b0d2debcbab38ea6f89a0de8/lost-in-doubt-words-from-literature-SPACEBAR-Photo02

MENTOR 

‘เมนเทอร์’ (mentor) เป็นอีกคำที่ใช้กันในหลายแวดวง แม้แต่ในไทยเองก็เริ่มเรียกทับศัพท์กันแบบคูลๆ ความน่าสนใจคือความสัมพันธ์แบบ mentorship เป็นการให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มีความรู้หรือประสบการณ์น้อยกว่าโดยไม่ผูกติดกับชนชั้นหรืออายุ ฉะนั้นจะใช้คำว่า ‘ที่ปรึกษา’ หรือ ‘อาจารย์-ลูกศิษย์’ แทนก็ไม่ได้เสียทีเดียว
 
ถึงเมนเทอร์จะฟังดูทันสมัยแต่ที่มาของมันเก่าแก่มาก ย้อนไปเมื่อ 700 ปีก่อนคริสตกาล โฮเมอร์ (Homer) ได้เขียนวรรณกรรมคลาสสิกขึ้นหิ้งที่ชื่อ มหากาพย์โอดิสซีย์ (Odyssey) โดยเมนเทอร์เป็นชื่อตัวละครหนึ่งที่เป็นเพื่อนของโอดิสซิอุส
 
ครั้งหนึ่งเมื่อโอดิสซิอุสถึงคราวต้องไปทำสงคราม เขาได้ฝากฝังให้เมนเทอร์ดูแลบ้านเมืองรวมถึงเทเลมาคุส ลูกชายของเขา ตามตำนานเล่าว่าผู้ที่ให้คำแนะนำแก่เทเลมาคุสไม่ใช่เมนเทอร์จริงๆ แต่เป็นเทพีอะธีนา เทพีแห่งภูมิปัญญา สงคราม และหัตถกรรม ที่แฝงตัวมาเพื่อแนะนำสั่งสอนเทเลมาคุสต่างหาก
 
ต่อมามีวรรณกรรมอีกเรื่องที่ทำให้เมนเทอร์เป็นที่จดจำมากขึ้น นั่นคือ The adventures of Telemachus (Les Aventures de Télémaque) ที่เล่าเรื่องการผจญภัยของเทเลมาคุสโดยมีเมนเทอร์เป็นตัวเอกคอยชี้แนะเรื่องต่างๆ และด้วยอิทธิพลของวรรณกรรมนี่เองที่ทำให้ ‘เมนเทอร์’ ถูกนำมาใช้ในความหมายผู้ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำ ทั้งในภาษาละติน ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ อีกมากมาย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/67BjuhzLPGEX1quCOcRRGr/7111b17cecccbd0e184c26d8a146b925/lost-in-doubt-words-from-literature-SPACEBAR-Photo03

SYPHILIS 

ใครจะรู้ว่าชื่อตัวละครในบทกวีเมื่อเกือบ 500 ปีที่แล้ว จะกลายเป็นชื่อทางการของโรคยอดฮิตอย่าง ซิฟิลิส (Syphilis)!
 
ซิฟิลิสมาจากบทกวีเรื่อง Syphilis sive Morbus Gallicus โดย จิโรลาโม ฟราคาสโตโร (Girolamo Fracastoro) แพทย์และกวีชาวอิตาเลียน บทกวีนี้เป็นเรื่องของซิฟิลิส ชายเลี้ยงแกะที่เสียแกะไปเพราะความแห้งแล้ง เขาเลยตีโพยตีพายโทษเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ ต่อมาเทพเจ้าจึงลงโทษด้วยการปล่อยโรคระบาดมายังเฮติ ซึ่งผู้ที่ท้าทายเทพเจ้าอย่างซิฟิลิสก็ต้องชดใช้ด้วยการเป็นมนุษย์คนแรกที่ติดโรคนี้…
 
จากประวัติศาสตร์พบว่ามีการระบาดของซิฟิลิสครั้งแรกเมื่อปี 1495 ท่ามกลางสงครามอิตาลีครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเมื่อทหารฝรั่งเศสกลับมาจากการรุกราน พวกเขาก็เรียกโรคนี้ว่า ‘Italian disease’ ส่วนทางอิตาลีก็เรียกโรคนี้ว่า ‘French disease’ ภายหลังเมื่อมีการตีพิมพ์เรื่อง Syphilis sive Morbus Gallicus ในปี 1530 ‘ซิฟิลิส’ ก็ได้กลายเป็นชื่อทางการของโรคนี้ไปโดยปริยาย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2GJ5qHHdg1UOaAxSRcnzm3/55b03629311ce2827839fcacb2158763/lost-in-doubt-words-from-literature-SPACEBAR-Photo04

LOLITA 

ถ้าพูดถึงเรื่องรักๆ ใคร่ๆ พล็อตโคแก่กินหญ้าอ่อน คนมักใช้คำว่า ‘โลลิตา’ (lolita) เรียกหญิงสาวที่ดึงดูดทางเพศกับคนที่แก่กว่า แม้จะมีคำนิยามจริงๆ ว่า ‘nymphet’ ก็ตาม การที่สองคำนี้กลายเป็นคำพ้องความหมายเป็นผลพวงมาจากนวนิยายเรื่อง Lolita โดย วลาดีมีร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) ที่แต่งในปี 1955 ซึ่งโลลิตาก็ยังเป็นที่ถกเถียงทางศีลธรรมจวบจนปัจจุบัน
 
นวนิยายเรื่องนี้พูดถึงฮัมเบิร์ต ชายวัยกลางคนที่ต้องลงหลักปักฐานใหม่ที่สหรัฐอเมริกาเพื่อสอนหนังสือ เขาไปเจอบ้านของชาร์ล็อต เอซ แม่ม่ายสาวที่ชอบพอเขาจนเสนอให้เข้ามาอยู่ร่วมชายคา ขณะที่กำลังลังเล ฮัมเบิร์ตก็ได้เจอกับโลลิตา ลูกสาววัย 12 ของชาร์ล็อต ทันใดนั้นเองเขาก็เกิดความหลงใหลและตัดสินใจพักที่นั่น ฮัมเบิร์ตต้องทำทีตกลงเป็นคนรักใหม่ของชาร์ล็อตเพื่ออยู่บ้านหลังนั้นต่อไปและได้ใกล้ชิดกับโลลิตา โดยที่ชาร์ล็อตผู้เป็นแม่ไม่รู้เลยว่าคนที่ฮัมเบิร์ตหมายปองไม่ใช่เธอ แต่เป็นลูกสาวเธอต่างหาก
 
เรื่องราวของเด็กสาวที่ดึงดูดชายอายุคราวพ่อ กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวที่โลดแล่นไปบนเส้นแบ่งทางศีลธรรม หลังจากปล่อยหนังสือได้ไม่ถึงหนึ่งปี หนังสือเล่มนี้ก็โดนทางการฝรั่งเศสสั่งแบน รวมทั้งประเทศอื่นๆ อย่างแคนาดา อาร์เจนตินา และนิวซีแลนด์ ก่อนจะมีการประกาศเลิกแบนในเวลาต่อมา และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สองยุคสองเวอร์ชัน คือ Lolita (1962) และ Lolita (1997)
 
นอกจากจะเป็นที่พูดถึงในแวดวงภาพยนตร์และเป็นข้อถกเถียงด้านศีลธรรม คำว่า ‘โลลิตา’ ยังกลายเป็นชื่อสไตล์การแต่งตัวที่ฮิตในฮาราจูกุมาตั้งแต่ปี 1970 โดยบรรดาสาวกแฟชั่นโลลิตาจะแต่งชุดเด็กสาวสมัยวิกตอเรียที่เน้นความเป็นเด็ก น่ารัก อ่อนหวาน ต่อมามีการแตกสายไปเป็นโกธิคโลลิตาและสวีทโลลิตาด้วย ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นที่แต่งโลลิตาหลายคนไม่รู้ว่าที่มาของชื่อโลลิตานั้นฉาวโฉ่เรื่องเพศสุดๆ แล้วแฟชั่นนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจส่อไปทางเพศแต่อย่างใด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1mSuzLCsOFgNk45gLFp57e/0e38e3a933eac9816fd1a8dbef06eae0/lost-in-doubt-words-from-literature-SPACEBAR-Photo05

PANTS 

นอกจากจะใช้เรียกคนและโรค ชื่อตัวละครยังถูกนำมาใช้เรียกสิ่งของอย่างกางเกงด้วย นั่นคือคำว่า ‘pants’ ที่มาจาก pantaloons!
 
ที่มาของคำว่า pantaloons ต้องย้อนกลับไปช่วงศตวรรษที่ 16 จนถึงกลางศตวรรษที่ 18 ตอนนั้นละครตลกของอิตาลีกำลังเฟื่องฟูและเป็นที่นิยมทั่วยุโรป หนึ่งในตัวละครเด่นๆ มีชื่อว่า Pantalone เป็นชายแก่ที่ทั้งหื่นกาม เจ้าเล่ห์ และเห็นแก่ตัว นอกจากลักษณะนิสัยที่เป็นสูตรสำเร็จตัวโกงแล้ว เขายังมาพร้อมชุดอันเป็นเอกลักษณ์คือแว่นตา รองเท้าสวม และกางเกงรัดใต้เข่าสีแดง
 
การแต่งตัวของ Pantalone ค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นกางเกงขายาว ซึ่งต่อมากลายเป็นเทรนด์ในยุคฟื้นฟูอังกฤษ คนเลยเรียกกางเกงแบบนั้นว่า pantaloons ซึ่งเป็นการดัดแปลงคำว่า Pantalone ให้เป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น และเมื่อแฟชั่นพัฒนาตามกาลเวลา ความหมายของ pantaloons ก็ครอบคลุมกางเกงแบบใหม่ๆ ไปด้วย
 
ที่สุดแล้วในช่วง 1840 คำว่า pantaloons ก็ถูกย่อเป็น ‘pants’ และถูกนำมาใช้ในวงการเสื้อผ้าอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันจะเห็นว่ามีทั้งกางเกงสเวตแพนต์ (sweatpants) กางเกงชั้นใน (underpants) กางเกงชั้นในผู้หญิง (panties) และอีกหลายกางเกงที่มีคำว่า pants ติดสอยห้อยตามไปด้วย
 
แม้จะดูเป็นคำที่ใช้ได้ทั่วไป แต่รู้ไหมว่าครั้งหนึ่งคำว่า pants เคยถูกนักวิจารณ์มองว่าหยาบคาย และจนถึงทุกวันนี้คนอังกฤษก็ยังใช้ pants เป็นคำแสลงที่แปลว่าห่วยแตกสุดๆ! 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์