การกลับมาของหนังย้อนยุค ‘พรหมลิขิต’ คนในประวัติศาสตร์ก็กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง หนึ่งในตัวจริง เสียงจริง ท้าวทองกีบม้า ให้นิยามเธอคนนี้ว่า Master Chief ของหวาน ยุคสมเด็จพระนารายณ์เลยก็ว่าได้
มารีอา กียูมาร์ เดอ ปิญา (Maria Guyomar de Pinha) หรือที่ชาวไทยเพี้ยนเรียกเป็น ‘ท้าวทองกีบม้า’ ได้รับการยกย่องเป็นราชินีแห่งขนมไทยเราจำได้ว่าเธอเป็นผู้ถ่ายทอดขนมทองหยิบทองให้กับวัฒนธรรมขนมไทย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ชาวไทยรู้จักกับขนมหวานที่ปรุงด้วยไข่ไก่ นอกจากนี้เธอยังมีสิ่งที่มอบให้ชาวไทยมากกว่าที่คิด

ในจดหมายที่ มารีอา กียูมาร์ เขียนถึง บิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนในปี พ.ศ. 2249 มีใจความแสดงว่าอาหารและขนมที่ท้าวทองกีบม้านำเข้ามาในตำหรับขนมไทยมามากมายหลายชนิด จดหมายเหตุฝรั่งเศสฉบับ บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้นของ มารี ไว้ว่า ภรรยา ของคอนสแตนติน (พระยาวิไชเยนทร์) เป็นท้าวทองกีบม้าได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน
ท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา ซึ่งเมนูขนมหวานเหล่านี้มีต้นกำเนิดในประเทศโปรตุเกส เมื่อเทียบเคียงกันจะพบว่าขนมหวานโปรตุเกสดั้งเดิมไม่ได้เหมือนขนมหวานไทยมากนัก (ยกเว้นทาร์ตไข่ที่มาทีหลังกว่านั้นมาก) นั่นเป็นเพราะว่าท้าวทองกีบม้าได้รังสรรค์รูปร่างเมนูใหม่ขึ้นมา แต่ยังคงส่วนผสมเดิมคือ แป้งและไข่ไก่

สังเกตว่าขนมไทยเหล่านี้จะมีการตั้งชื่อขนมที่มีสีจากไข่ให้เนียนกับวัฒนธรรมไทย โดยใช้คำว่า ‘ทอง’ ขนมเหล่านี้มีมาจนถึงปัจจุบัน แต่น่าแปลกที่เมนูกับข้าวไม่ปรากฏเลย มีผู้รู้วิเคราะห์ว่า จากเมนูกับข้าวแบบโปรตุกีส กะดีจีน (กุฎีจีน) จะพบว่าสิ่งที่ชาวบ้านนำมารับประทานกันเองนั้นมีรสชาติจืดไม่ได้เข้มข้นฉูดฉาดรุนแรงเหมือนอาหารไทยจึงไม่ได้รับความนิยมนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีเมนูอาหารโปรตุเกสเลยทั้งๆ ที่นางน่าจะทำกินทุกวัน
ชะตาชีวิตของมารีกีมาร์นั้นเหมือนคลื่นที่ขึ้นสูงสุด ตกลงต่ำสุด แล้วก็กลับขึ้นไปได้ใหม่ เคยเป็นทางผู้หญิงวิไชเยนทร์ โดนปลด ขังคุก กลับมารับราชการ แล้วกลับขึ้นไปรุ่งเรืองได้อีกในรัชสมัย พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระที่โปรดฯ มารี เข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน

ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ คนที่ทำให้มารีรุ่งเรืองอีกครั้งไม่ใช่ตัวเธอเพียงคนเดียว แต่เป็น จอร์จ บุตรชายที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์บันทึกของเมอซีเยอโชมง เล่าไว้ว่า
“...พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ...”
จากความเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง
นี่คือชีวิตของสตรีต่างชาติ ที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น โปรตุกีส เบงกอล มีวัฒนธรรมอาหาร 3 แบบอยู่ในตัวแต่เลือกสร้าง แบบเดียวให้กับวัฒนธรรมขนมไทย จนเอาไปอวดชาวบ้านชาวเมืองว่าเป็นขนมไทย ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเพียงการดัดแปลงขนมดั้งเดิมจากถิ่นอื่นให้มีเอกลักษณ์จนกลายเป็นของอีกชาติหนึ่งเท่านั้น