นิยามความวิเศษของ Durational Art การบรรยายพิเศษจาก มารินา อบราโมวิช

27 ม.ค. 2566 - 08:37

  • ‘History of Long Durational Work and MAI’ การบรรยายพิเศษของ มารินา อบราโมวิช คุณยายแห่งศิลปะการแสดง กับนิยามว่าด้วยความมหัศจรรย์ของ Durational Art

marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Hero
“คุณสมบัติที่สำคัญมากของศิลปินทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เป็นออกซิเจนของสังคม แต่ยังต้องสร้างความหวังและดึงจิตวิญญาณของคนขึ้นมาได้ด้วย” - มารินา บราโมวิช 

คลิปฟุตเทจขาวดำแสดงภาพของชายและหญิงยืนหันหน้าเข้าหากันในระยะเกือบหนึ่งเมตร เปล่งเสียง “อา” อย่างต่อเนื่อง แววตาของทั้งสองประสบต้องกันด้วยความหนักแน่นปานจะกลืนกิน การเปล่งเสียงที่ลากยาวนี้กินเวลาถึง 15 นาที และในทุกๆ วินาที ความรุนแรงของน้ำเสียง และท่าทางเริ่มทวีคูณมากขึ้น ใบหน้าที่ห่างกันนั้นเริ่มจรดกันจนจมูกทาบกันไปมาบนใบหน้าของกันและกัน 

การแสดงงานศิลปะนี้มีชื่อว่า ‘AAA-AAA’ จัดแสดงเมื่อปี 1978 ในชุดผลงาน Works with Ulay (1976–1988) ที่มารินาแสดงร่วมกับอูเลย์ (Ulay) ศิลปินชาวเยอรมันที่เคียงคู่ทำงานศิลปะกับเธอมานานหลายปี การแสดงงานศิลปะทำนองนี้มีชื่อว่า Durational Art หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า Endurance Art ศิลปะแขนงหนึ่งของศิลปะการแสดงที่ใช้ระยะเวลานานในการแสดงเพื่อสื่อสารกับผู้ชม 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7o4nPHsPeyzW2E7jYR6zST/1078a2ba9528e79ca9c7ff807f316302/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo01
หลายคนอาจเข้าใจว่างานศิลปะจำเป็นต้องมีความสวยงาม เป็นภาพวาดที่แขวนไว้บนฝาผนังและมีมูลค่าที่ไม่สามารถเอื้อมถึงหรือแตะต้องได้ มารินาเคยกล่าวว่า ความสวยงามเป็นหนึ่งในองค์ประกอบงานศิลปะ แต่ไม่ใช่ศิลปะ ศิลปะคือการบอกเล่าความจริงของมนุษย์ ดังนั้นในงาน AAA-AAA เราไม่ได้เห็นชายหญิงสองคนกำลังตะโกนโหวกเหวกใส่กันอย่างไรความหมาย แต่มันคือการเผยความจริงที่อยู่ก้นบึ้งภายในจิตใจถึงความรุนแรงที่สามารถก่อตัวขึ้นได้ของมนุษย์ 

มารินา อบราโมวิช (Marina Abramović) เป็นศิลปินชาวเซอร์เบียที่ได้รับฉายาว่าเป็น “คุณยายแห่งศิลปะการแสดง” (Grandmother of Performance Art) เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันศิลปะการแสดงมารินา อบราโมวิช (Marina Abramović Institute) หรือสถาบัน MAI เพื่อถ่ายทอดและอนุรักษ์ศิลปะการแสดงให้กับคนรุ่นหลัง และในปี 2023 นี้ กรุงเทพมหานครได้รับโอกาสพิเศษในการจัดบรรยายพิเศษหัวข้อ “History of Long Durational Work and MAI” ซึ่งเป็นหนึ่งในงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (Bangkok Art Biennale 2022) โดยงานบรรยายพิเศษนี้ร่วมมือกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนทุกภาคส่วน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6JbT2HxNJW6WWBuaVZHsdE/a5c32b1dfd8aa830a06d86debad2d5da/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo02
การบรรยาย หรือเลคเชอร์ของมารินา จัดขึ้นที่หอประชุมแห่งชาติสิริกิต์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2023 โดยในหัวข้อ History of Long Durational Work and MAI เป็นการพูดถึงเส้นทางการเดินทางของเธอในฐานะศิลปินการแสดง ความสำคัญที่พิเศษของการแสดงงาน Durational Art และเป้าหมายของสถาบัน MAI การบรรยายมีความยาวทั้งสิ้นเกือบ 2 ชั่วโมงโดยประมาณ และเป็นการบรรยายที่ใครๆ ก็สามารถซื้อบัตรเพื่อเข้ามาฟังกันได้

ความมหัศจรรย์ของ Durational Art

มารินาขึ้นมาบนเวทีด้วยภาพเนบิวลา และกาแล็กซี่ เธอบรรยายว่าการชมงานศิลปะการแสดงคือการเสพสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ณ ตรงนั้นเวลานั้น ซึ่งทีแรกยังคงเป็นเรื่องน่าสงสัยว่าภาพจักรวาลดวงดาวเหล่านี้มันสัมพันธ์กันอย่างไรกับการชมงานศิลปะ จนกระทั่งเธอได้เล่าประสบการณ์เมื่อเธอไปชมท้องฟ้าจำลอง มารินาเล่าว่าการได้เห็นภาพดวงดาว ณ ขณะนั้นมันสวยงามมาก มันน่าตื่นตาตื่นใจในช่วงเวลานั้น เช่นเดียวกันกับศิลปะการแสดงที่เต็มไปด้วยความหัศจรรย์ที่เราสามารถรับรู้ถึงมันได้ในช่วงเวลาของการแสดงเท่านั้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1aDM0D3N5ORSmvl9OLuMIn/18cab815599f04e072eb6f2e9fe205b1/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo03
มารินาคลุกคลีอยู่ในวงการศิลปะการแสดงมากว่า 50 ปี ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทำให้เธอรู้ว่าการแสดงแบบ Durational Art คือความพิเศษในการเข้าใจจิตใจของมนุษย์ รวมถึงเป็นบทพิสูจน์ของขีดจำกัดมนุษย์ อย่างที่เข้าใจกันว่า Durational Art คือศิลปะการแสดงที่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรต่อการแสดงงานหนึ่งโปรเจกต์ เธอเล่าว่ามันคือความท้าทายขั้นสูงสุด จริงอยู่ว่าศิลปะการแสดงต่างๆ เช่น การเต้นบัลเล่ต์ อาจอาศัยการฝึกฝนเป็นเวลานาน แต่ Durational Art คือการแสดงอย่างต่อเนื่องที่ต้องใช้ความอดทนมากกว่านั้น ซึ่งความยาวนานนี้เองสามารถเผยความจริงของมนุษย์เพื่อเป็นการทดสอบจิตใจได้อย่างอารมณ์โกรธ ความเหน็ดเหนื่อย และความวิตกกังวล ที่เข้ามารังควาน

จากนั้นเธอได้เล่าถึงประสบการณ์ที่เธอพบเจอระหว่างการแสดงของเธอตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาในโปรเจกต์งานต่างๆ ที่สะเทือนใจเธอมากที่สุดคือการจากลากันระหว่างเธอกับอูเลย์ ศิลปินคู่หูที่ทำงานร่วมกันมานานถึง 12 ปี ผลงานสุดท้ายของเธอและเขาคือ “The Lovers” ในปี 1988 การแสดงของเธอเริ่มจากให้ทั้งสองคนคือมารินาและอูเลย์เริ่มเดินบนกำแพงเมืองจีนที่ห่างจากกันและกันประมาณ 5,000 กิโลเมตร การแสดงจะจบสิ้นหลังจากที่ทั้งสองได้พบเจอกัน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเดินวันละ 20 กิโลเมตร เป็นเวลา 90 วัน ด้วยระยะทางทั้งหมดฝั่งละ 2,000 กิโลเมตร มารินาเล่าว่ามันเป็นวินาทีที่วิเศษมากที่เธอเห็นอูเลย์กำลังเดินตรงไปหาเธอ และก็สะเทือนใจมากเช่นกันที่ต้องบอกลาอูเลย์ เธอกับเขาไม่ติดต่อกันเลยนับแต่นั้น จนกระทั้งในงาน The Artist is Present ในปี 2010 ทื่พวกเขาได้เจอกันอีกครั้ง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6uqyLXZLdZPYzfhGgjwbpc/7238c4b0920a8e954a4a212405c1adf3/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo04
มารินายังกล่าวอีกว่าเธอเพิ่งมาเข้าใจว่ากำแพงเมืองจีนไม่ได้ถูกสร้างมาไว้เพื่อกันศัตรูจากกองทัพเจงกิสข่านเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการเปรียบเปรยเหมือนทางช้างเผือกเป็นเหมือนมังกรแผ่ตัวอยู่บนผืนโลก โดยจากทะเลเหลืองนับเป็นส่วนหัวมังกร ส่วนหางอยู่ที่ทะเลทรายโกบี ส่วนลำตัวนั้นพาดอยู่บนเทือกเขา อูเลย์คือธาตุไฟที่มาจากทะเลทราย ส่วนมารินาเป็นธาตุน้ำจากทะเลเหลือง ทั้งสองมาบรรจบกัน 

โปรเจกต์งาน The Artist is Present เป็นอีกผลงาน Durational Art ที่เธอไม่ลืมที่จะพูดถึง คอนเซปต์งานนี้เริ่มขึ้นง่ายๆ จากการที่เธอคิดว่าพิพิธภัณฑ์งานศิลปะจำเป็นต้องมีงานศิลปะแขวนไว้อยู่ตลอดเวลา เธอจึงเล่นกับสิ่งนี้ด้วยการใช้ตัวเป็นศิลปินที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะตลอดเวลาตั้งแต่หัววันยันค่ำ การแสดงนี้จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ในนิวยอร์ก (MoMA) ใช้เวลาทั้งหมด 3 เดือน 8 ชั่วโมงต่อวันที่เธอเล่าว่าหลังจากการแสดงของวันจบลง เธอต้องทำธุระของตัวเองให้เรียบร้อยทุกอย่างทั้งการทานข้าว เข้าห้องน้ำ และนอนหลับ และระหว่างการแสดงนั้นห้ามลุกไปไหนโดยเด็ดขาด นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเธอมาก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3ZHs7JSYz78v5I1uY3cBvi/0596d35ff39807a54ff2875f55969330/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo05
Photo: MoMA
The Art is Present คือการที่เธอนั่งอยู่บนเก้าอี้ เบื้องหน้าเป็นโต๊ะขนาดเล็กพร้อมกับเก้าอี้อีกหนึ่งตัวสำหรับผู้ชมงานที่สนใจเข้ามานั่งลง ตลอด 8 ชั่วโมง มารินานั่งลงบนเก้าอี้และจดจ้องไปข้างหน้าด้วยใบหน้าที่เรียบเฉย มีผู้เข้ามาร่วมงานนี้หลายพันคน โดยทั้งล้วนเป็นผู้ที่เข้ามาชมงานในพิพิธภัณฑ์ โปรเจกต์นี้เองที่ทำให้เธอรู้สึกรับรู้ถึงความสวยงามของจิตใจมนุษย์หลังจากพบว่าผู้คนที่นั่งจ้องใบหน้าเธอกว่าหลายร้อยคนนั้น จู่ๆ ก็ร้องไห้ออกมา แต่ด้วยเหตุผลประการใดนั้น ยังไม่มีใครทราบ และนั่นแหละคือปริศนาที่สวยงามของมนุษย์ 

Abramovic Method 

มารินาสร้างสิ่งที่เรียกว่า Abramovic Method ขึ้นมา ซึ่งเป็นเสมือนวิธีการในการสำรวจการดำรงอยู่ของตัวเองทั้งในกาลและในเทศะ โดยอาศัยการฝึกฝนของการหายใจ การเคลื่อนไหว ความนิ่ง และการจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เธอได้แบ่งปันความวิเศษนี้ผ่านเวิร์กช็อปที่เธอคิดไว้สำหรับผู้ที่สนใจทั้งที่เป็นศิลปินและไม่ใช่ศิลปิน ตัวอย่างเช่น
  • BLINDFOLD: ออกจากและเดินทางไปยังป่าที่ที่คุณสามารถนำผ้ามาปิดตาได้ จากนั้นพยายามหาทางกลับบ้านให้เหมือนกับคนพิการทางสายตา ศิลปินต้องเรียนรู้ที่จะเห็นทุกอย่างด้วยร่างกาย 
  • LONG WALK IN LANDSCAPE: เริ่มเดินจากที่หนึ่งยังที่หนึ่งเป็นเส้นตรงผ่านวิวทิวทัศน์เป็นเวลา 4 ชั่วโมง นั่งพัก จากนั้นให้เดินกลับด้วยเส้นทางเดิม 
  • WALKING BACKWARD: เดินถอยหลังเป็นเวลา 4 ชั่วโมง ขณะที่เธอกระจกส่องหน้าบนมือ สังเกตความเป็นจริงผ่านเงาสะท้อน 
  • FEELING ENERGY: หลับตา ยื่นมือไปหาคนข้างหน้า แต่ห้ามแตะตัว พยายามสัมผัสพลังที่แผ่ออกมาจากคนๆ นั้นด้วยการเคลื่อนมือไปรอบตัว 
  • SLOW-MOTION EXERCISE: ให้ทำทุกอย่างด้วยความเชื่องช้าตลอดทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นการเดิน ดื่มน้ำ อาบน้ำ การปัสสาวะอาจจะยาก แต่ขอให้พยายามดูก่อน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5qrQ9WzCDXboX5pCZDjlEw/815f8608c69984a6b79b2973f85177d9/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo06
Abramovic Method เป็นสิ่งที่มารินาพยายามถ่ายทอดให้กับผู้ที่มาศึกษาผ่านเวิร์กช็อปที่เรียกว่า The Cleaning the House Workshop ของสถาบัน MAI โดยทุกเวิร์กช็อปจะจัดในสถานที่ที่ต่างกัน ซึ่งตอนนี้จัดมาแล้วเกือบทั่วโลกทั้งบราซิล ตุรกี ฝรั่งเศส ในปี 2023 นี้ เวิร์กช็อปจะจัดขึ้นที่กรีซ สำหรับผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมเวิร์กช็อปสามารถลงชื่อได้ที่เว็บไซต์ MAI โดยมีค่าใช้จ่าย 

ระหว่างการบรรยาย มารินาได้ตระเตรียมขั้นตอนการทำ Abramovic Method ให้ผู้ที่เข้าฟังร่วมทำกันอย่างง่ายๆ เริ่มจากหลับตา และทำการหายใจเข้าออกทั้งหมด 12 ครั้ง ต่อมาให้กะพริบตาหลายๆ ครั้งพร้อมกับกรอกลูกตาไปมา มีการแตะและจ้องมองคนข้างๆ (ซึ่งอาจดูน่าขวยเขินไปสำหรับคนไทยบางคน) และสุดท้ายคือการจับอวัยวะทั้ง 5 ส่วนของตัวเอง ได้แก่ อวัยวะเพศ หน้าท้อง หน้าอก ลำคอ และบนศีรษะ เริ่มจากที่จับอวัยวะเพศและเปร่งเสียง “อู” ออกมา จากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นหน้าท้องเสียง “โอ” หน้าอกเสียง “อา” ลำคอเสียง “เอ” และบนศีรษะเสียง “เอม” ให้ดังสะเทือนศีรษะ ทั้งหมดเรียกว่าเป็นเสียงของร่างกายที่เปล่งออกมาพร้อมกับเสียงของเรา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/65XkHLE9XpoqtqTFyCJ3B1/aacae86adbacff8a0ab2e8b048d40878/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo07
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4ZaDZ41DwgUd7aKJrFVmnl/7587e356a374c623fe344b0464cd1b97/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo08
การบรรยายดำเนินไปด้วยความเหน็บหนาวจากแอร์ในห้อง Ballroom เสียงที่มีเสน่ห์ของมารินา และเสียงล่ามจากหูฟัง (สำหรับผู้ที่ต้องการการแปลภาษา) โดยรวมแล้วทำให้ผู้เข้ามาฟัง แม้กับคนที่ไม่รู้จักตัวมารินาเลย สามารถเข้าใจความวิเศษ และความสำคัญของ Durational Art ได้ หรือแม้แต่แสดงให้เห็นว่าเธอไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่ทำงาน Durational Work แต่ยังมีอีกมาก และบางคนนั้น มารินายังกล่าวว่า ยังทุ่มชีวิตมากกว่าเธอด้วยซ้ำ เช่น เฉียเต๋อชิ่ง (Tehching Hsieh) ผู้แสดงงานด้วยการกดนาฬิกาบันทึกการทำงานทุกๆ 1 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 ปี เป็นต้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/BNzKLwMjQ1jhlME6ay5Fa/28993ae7e29efc0aad4a995357256040/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo09
ในช่วงท้ายเธอเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้ามาชมสามารถถามคำถามกับเธอได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นมีคำถามว่า “ศิลปะเปลี่ยนโลกได้จริงไหม?” ผู้ถามยกตัวอย่างสถานการณ์การเมือง หรือการประท้วง ว่าสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ด้วยงานศิลปะหรือไม่ โดยมารินาให้คำตอบว่า เธอไม่คิดเช่นนั้น งานศิลปะมันคือการเปิดเพื่อทำความเข้าใจกับจิตใจของมนุษย์ หรืออย่างน้อยเป็นการสะกิดหรือกระตุ้นให้เกิดการตระหนักอะไรบางอย่าง มันอาจช่วยได้ แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนแปลง หลังจากเธอพูดจบ ทั้งห้องก็ส่งเสียงปรบมือให้กับทั้งผู้ถามและมารินากันครืน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3eKqyM24W0ho2hRPudQB7E/7d2dc2904aa7407621321592bd3be52b/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo10
สิ่งหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนได้คือ ระหว่างการอธิบายเรื่อง Durational Art มารินากล่าวทำนองว่า มนุษย์เราไม่ควรย่ำอยู่ที่เดิมเพราะความสบายใจ ความผิดพลาดคือสิ่งที่ทำให้เราก้าวไปข้างหน้า เรื่องนี้ใช้ได้กับทุกวงการไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์ ความผิดพลาดมันจะพาเราไปสู่สิ่งหนึ่งเสมอ ถ้าเราไม่กล้าที่จะออกไปจากความสบายใจของเรา เราจะไม่รู้อะไรเลยว่าเราทำอะไรได้บ้าง เช่นเดียวกันกับ Durational Art ที่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่างานแสดงจะล่มหรือไม่ หรือจะถอดใจกลางคันหรือเปล่า ทั้งหมดคือการทดสอบ และหลังจากที่เราทำมันได้ มันจะกลายเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจกับมัน และได้เห็นภาวะหรืออะไรบางอย่างในตัวเรามากขึ้น 

“ถ้าคุณคิดทำ Durational Art ด้วยระยะเวลาอันสั้นไม่ได้ คุณก็คงใช้ชีวิตไม่ได้หรอก” มารินากล่าวเป็นเชิงขำขันระหว่างสอนทำ Abramovic Method 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/ALjnGi2d0e9TaYzMGn2FV/cd6763b1f564c69068f64df7fa5368aa/marina-abramovic-bkk-beinnale-lecture-2023-SPACEBAR-Photo11

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์