เสียงจากกลุ่มวัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า ‘เด็กคัฟเวอร์แดนซ์’ กับความฝันที่ต้องฝ่าฟันเพื่ออาชีพที่ถูกดูแคลน

10 ม.ค. 2567 - 09:37

  • เด็กคัฟเวอร์แดนซ์มักจะถูกผู้ใหญ่ดูแคลนไม่ต่างจากอาชีพที่อยู่ในแสงสีอื่นๆ ว่า “เต้นกินรำกิน หาเงินไม่ได้หรอก ทำไปก็ไม่รวยหรอก อยากเป็นเหมือนไอดอลเหรอ แกทำไม่ได้หรอก”

  • คำพูดดูหมิ่นดูแคลนนี้สร้างบาดแผลที่ฝังลึกในหัวใจของเหล่าเด็กๆ อย่างมาก เพราะคนแต่ละคนมีความฝันที่ไม่เหมือนกัน

messages-from-cover-dancer-SPACEBAR-Hero.jpg

‘เด็กคัฟเวอร์แดนซ์’ เป็นกลุ่มกิจกรรมของเหล่าวัยรุ่นยุคใหม่ที่มักจะรวมตัวกันเพื่อเต้น รวมไปถึงแกะท่าเต้นตามเหล่าศิลปินไอดอล และออกแบบท่าเต้นเพื่อทำการแสดง รวมถึงแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินรางวัล และความฝันสูงสุดคือการได้ออดิชันเพื่อนำไปสู่การเป็นศิลปินหรือไอดอล ตามไอดอลที่เป็นต้นแบบความสำเร็จหรือโรลโมเดลของตัวเอง   

เด็กคัฟเวอร์แดนซ์มักจะถูกผู้ใหญ่ดูแคลนไม่ต่างจากอาชีพที่อยู่ในแสงสีอื่นๆ ว่า “เต้นกินรำกิน หาเงินไม่ได้หรอก ทำไปก็ไม่รวยหรอก อยากเป็นเหมือนไอดอล แกทำไม่ได้หรอก”   

คำพูดดูหมิ่นดูแคลนนี้สร้างบาดแผลฝังลึกในหัวใจของเหล่าเด็กๆ อย่างมาก เพราะคนแต่ละคนมีความฝันที่ไม่เหมือนกัน และความฝันของเด็กที่ชอบเต้นคือการได้วาดลวดลายท่าเต้นให้คนทั่วโลกได้เห็น อาจจะเป็นความฝันที่หลายคนมองว่าไกลตัวเกินไป และยากเกินกว่าจะคว้าความสำเร็จมาได้ แต่เด็กๆ เหล่านี้เชื่อว่าทุกๆ ความพยายามจะสำเร็จเสมอ

messages-from-cover-dancer-SPACEBAR-Photo_SQ01.jpg

‘กาย-พลอธิป ทองดี’ อายุ 19 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาวิชาเอกการจัดการเเละพัฒนาไอดอลเเละอินฟลูเอนเซอร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร   

เหตุผลที่ผมเลือกที่จะมาเต้นคัฟเวอร์แดนซ์เกิดจากผมชื่นชอบในตัวศิลปิน K-POP และ T-POP ครับ ผมเห็นเขาเต้นบนสเตจแล้วมันเท่ดีก็เลยอยากลองเต้นดูบ้าง ผมมี ‘อลัน BUS’ เป็นโรลโมเดลฝั่ง T-POP ครับ แล้วก็ ‘มีอา EVERGLOW’ เป็นโรลโมเดลฝั่ง K-POP ครับ ตั้งแต่ผมได้เต้นมาศิลปินทุกคนมีคาแรกเตอร์ที่ต่างกัน ผมได้ซึมซับอินเนอร์และคาริสมาของศิลปินแต่ละคนแล้วรู้สึกชอบมากๆ   

ความฝันที่แท้จริงของผมคือการเป็นศิลปิน ผมชอบเต้นและชอบร้อง เลยมีความคิดความฝันในหัวใจว่าอยากเป็นศิลปินหรือแดนเซอร์ แล้วมันก็สอดคล้องกับสิ่งที่ผมกำลังศึกษาอยู่ คือมีทั้งการเรียนเต้น เรียนร้อง เรียนเกี่ยวกับการตลาดของอุตสาหกรรมไอดอล ตอนนี้ชีวิตของผมมีหลายทางมากๆ ซึ่งถ้าเกิดในอนาคตผมไม่ได้เป็นศิลปินจริงๆ ผมก็สามารถไปเป็นนักออกแบบท่าเต้นได้เช่นกัน   

สิ่งที่ผมได้กลับมาจากการเต้นคัฟเวอร์คือ การมีแฟนคลับมีคนที่ชื่นชอบเราในความสามารถ การได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ และได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ ที่อยู่ในวงการเดียวกัน ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ จากกลุ่มคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กันครับ   

สำหรับผมอาจจะเรียกได้ว่าโชคดีระดับหนึ่งที่พ่อแม่ของผมเขาสนับสนุนในสิ่งที่ผมรัก เขาไม่ได้คาดหวังในตัวผมว่าลูกจะต้องเป็นอะไร จะต้องมีหน้าที่การงานมั่นคงเบอร์ไหน แต่สิ่งที่เขาคาดหวังจากตัวผมคือความสุขที่ผมจะได้รับ ไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรพ่อแม่ของผมเขาซัพพอร์ตผมเต็มที่ทุกอย่าง ทั้งค่าใช้จ่ายทั้งชุด อาหารและค่าเดินทางต่างๆ เวลาไปแข่งเต้น และไม่ใช่แค่ซัพพอร์ตผม แต่เขายังซัพพอร์ตไปถึงเพื่อนๆ ของผมด้วย

messages-from-cover-dancer-SPACEBAR-Photo_SQ02.jpg

‘ยุนยุน-ยุคลธร พรรษา’ อายุ 21 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาออกแบบสื่อสารออนไลน์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม   

ด้วยความที่เริ่มแรกผมเป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลี ผมมี ‘ยูตะ NCT’ และ ‘แทมิน SHINee’ เป็นโรลโมเดล ตามจริงผมชอบเต้นอยู่แล้ว พอได้เห็นศิลปินเกาหลีเต้นบนสเตจแล้วรู้สึกว่ามันเท่ มันมีสไตล์ที่น่าสนใจ น่าสนุก ก็เลยอยากเต้นตามศิลปินที่เราชอบ จริงๆ แล้วเหตุผลแรกที่มาเต้นก็คือ เผื่อมีคอนเสิร์ตแล้วเราไปซื้อบัตรหลุมเราจะได้เต้นให้ศิลปินดูครับ แต่พอได้เข้ามาสู่วงการเต้นคัฟเวอร์จริงๆ มันมีการเข้าทีมเต้นเพื่อโชว์ความสามารถที่มีก็อยากให้ทุกคนได้เห็นเหมือนกัน  

หลายคนที่เข้าวงการเต้นคัฟเวอร์อาจจะอยากต่อยอดเพื่อไปออดิชัน แต่สำหรับผม ผมแค่อยากทำเป็นโชว์ หรืออาจจะไปอยู่เบื้องหลังการทำโชว์เลย ให้ทุกคนได้เห็นการแสดงในรูปแบบของผมที่อยู่ในทีมโปรดักชันมากกว่า ไม่ได้มองว่าจะออดิชันเพื่อไปเต้นในอนาคต เพราะด้วยอายุผมที่มันโตแล้ว และผมก็มาเต้นเพื่อเป็นงานอดิเรก แค่อยากหยิบสิ่งที่ผมชอบมาต่อยอดในการทำโชว์ ทำโปรดักชันต่างๆ ให้มันดีขึ้นในอนาคต   

ตอนที่ผมมาเต้นพ่อแม่ก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่าการเต้นคัฟเวอร์มันทำไปทำไม ทำไปแล้วได้อะไร แต่พอผมได้ส่งผลงานให้ดูว่ามันมีอะไรบ้างเขาก็เลยเริ่มโอเค แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนอะไรขนาดนั้น เพราะเราโตแล้วเขาก็อยากให้เลือกเส้นทางของตัวเอง ดูแลตัวเอง และอยากให้สิ่งที่เลือกคือสิ่งที่ถูกต้องครับ ผมไม่ได้คาดหวังการสนับสนุนจากพ่อแม่ในเรื่องนี้  ผมแค่ขอพื้นที่ให้ผมได้ทำตามใจตัวเอง และมีความสุขกับสิ่งที่ผมเลือกก็พอแล้ว  

จริงๆ ผมมีความคิดอยากจะเปิดสตูดิโอให้เช่าเพื่อถ่ายทำ หรืออาจจะเป็นสตูดิโอเต้น ห้องซ้อมเต้น หรือจะเป็นบริษัทที่ช่วยคิดโชว์ใหม่ๆ ให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้เอาไปทำการแสดง เพราะผมมองว่าในประเทศไทย หรือแค่ในกรุงเทพฯ เองพื้นที่สำหรับซ้อมเต้นมีน้อยมากๆ มีแค่ที่สองที่เอง ก็เลยอยากเป็นคนหนึ่งที่มาซัพพอร์ตน้องๆ รุ่นใหม่ตรงจุดนี้

messages-from-cover-dancer-SPACEBAR-Photo_SQ03.jpg

‘บอส-ชาคริต เกษศรัทธา’ อายุ 19 ปี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่คณะดุริยางคศาสตร์ สาขาวิชาเอกการจัดการและพัฒนาไอดอลและอินฟลูเอนเซอร์ มหาวิทยาศิลปากร  

ผมมีความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าผมอยากจะเป็นไอดอล ศิลปิน หรือเป็นนักแสดงที่ได้ทำงานในวงการบันเทิง  รู้สึกว่าการได้เป็นศิลปินเป็นสิ่งที่เราชอบ เวลาที่เราได้ขึ้นไปยืนบนเวที ได้ยินเสียงคนให้กำลังใจจากข้างๆ เวทีมันรู้สึกดีมากๆ  ผมอยากเลี้ยงดูพ่อแม่ อยากให้พ่อแม่สบาย ก็เลยเลือกที่จะมาเต้นคัฟเวอร์เพื่อพัฒนาตนเอง และไปออดิชันตามที่ต่างๆ ซึ่งตอนนี้ออดิชันผ่านแล้วค่ายหนึ่ง เหลือไปทดสอบรอบสุดท้ายครับ ถ้าทดสอบผ่านก็จะได้เข้ารายการครับ   

ผมมองว่าการที่ผมเลือกอยากเป็นไอดอล และมาพัฒนาตัวเองทั้งการเต้นคัฟเวอร์แดนซ์ หรือเอาสิ่งที่ชอบมาเรียนในระดับปริญญาตรีแบบเป็นเรื่องเป็นราวมันเป็นสิ่งที่ยากมากๆ ยิ่งอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีน้องๆ รุ่นใหม่เข้ามาตลอด มีน้องใหม่จำนวนมากที่มีดีทั้งหน้าตาและความสามารถทั้งที่อายุยังน้อย การแข่งขันก็ยิ่งสูงขึ้นอีก ทำให้เราก็กดดันมากขึ้น แต่ถ้าถามว่าผมสู้ไหมในเส้นทางนี้ผมก็สู้นะ พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ผมไม่ได้คิดว่าผมจะแพ้ใคร ผมคิดแค่ว่าผมต้องทำให้ได้   

สำหรับผม ผมมี ‘มาเบล PiXXiE’ เป็นโรลโมเดลครับ ผมชอบตอนเขาอยู่บนสเตจ เวลาที่เขาทำการแสดงมันมีอินเนอร์ที่ไม่สามารถทำให้ละสายตาได้ เขามีคาริสมาที่แรงมากๆ และผมอยากทำตามเขาครับ   

ตอนเด็กๆ พ่อแม่ถามว่าอยากเป็นอะไร ผมก็เลยบอกว่าอยากเป็นหมอ จริงๆ อยากบอกว่าเป็นดารา แต่ตอนนั้นรู้สึกว่ามันไกลตัวเกินไป อาจจะเพราะว่าเป็นเด็กต่างจังหวัดด้วย ตอนที่บอกพ่อแม่ไปตรงๆ ตอนแรกเขาก็ค้านเพราะอยากให้เป็นข้าราชการ แต่พอโตขึ้นเขาก็ปล่อย พ่อแม่บอกว่าไม่ได้กดดันว่าผมต้องเป็นอะไรแบบไหน แต่กลายเป็นผมที่กดดันเอง เพราะผมอยากทำในสิ่งที่ผมชอบ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ขึ้นมาก็กดดันมากๆ ตอนนี้พ่อแม่ก็สนับสนุนที่มาเต้นคัฟเวอร์ ไม่ได้ห้ามอะไร แค่ถ้าเรียนจบมาก็อยากให้มีงานทำ มีอะไรเป็นของตัวเองเขาก็หมดห่วงแล้ว   

ในอนาคตถ้าผมมีทุนผมอยากเปิดธุรกิจของตัวเอง แล้วถ้าเป็นคนที่มีชื่อเสียงแล้ว ผมก็อยากทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป อาจจะเป็นร้านอาหาร เพราะคิดว่าถ้าตอนนั้นเรามีชื่อเสียงแล้วการทำธุรกิจควบคู่ไปด้วยมันน่าจะไปได้ดี

messages-from-cover-dancer-SPACEBAR-Photo_SQ04.jpg

‘ซอ-ธารน้ำ คุ้มวงศ์’ อายุ 18 ปี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าวงคัฟเวอร์แดนซ์ ‘Believepink’  

หนูรู้สึกว่าการเต้นคัฟเวอร์ช่วยเยียวยาจิตใจค่ะ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้เจอสังคมที่เข้ากับเราได้ด้วยค่ะ จริงๆ หนูมีความฝันว่าหนูอยากจะเป็นศิลปินเหมือนกับ ลิซ่า BLACKPINK เพราะหนูตามเขาตั้งแต่ที่เขายังไม่ได้เดบิวต์เลย ตอนนั้นพอรู้ว่าค่ายนี้จะมีคนไทยเดบิวต์เลยรู้สึกว่าคนไทยก็ไปเดบิวต์ที่เกาหลีได้นะ ก็เลยเริ่มติดตามเขา หนูรู้สึกว่าเขาเก่งมากๆ จากคนที่โนเนมจนตอนนี้เขากลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงระดับโลกไปแล้ว   

เพราะความฝันของหนูที่อยากเป็นศิลปิน หนูเคยลองออดิชันแล้ว หนูเคยเป็น Pre-Trainee ของค่ายเกาหลีค่ายหนึ่งระยะเวลาหนึ่งเดือนกว่าๆ แต่มีความรู้สึกว่าไม่เวิร์กเท่าไหร่มันทั้งกดดันตัวเอง เพราะเจอกับคนที่เก่งกว่า หนูก็ต้องผลักดันตัวเองมากขึ้น ไหนจะปัญหาในเรื่องของภาษาอีก ก็เลยเลือกที่จะกลับมาที่ประเทศไทย   

หนูเคยอยู่วงโคฟฯ วงอื่นค่ะ แต่ด้วยความที่พี่ๆ เขาอิ่มตัวเลยแยกทางกันไป ตอนแรกหนูก็จะเลิกแล้ว แต่มีน้องที่เห็นว่าหนูสามารถเป็นหัวหน้าทีมที่ดีดูแลทุกคนได้ ก็เลยเลือกที่จะมาทำทีมของตัวเองแล้วพาทีมไปแข่งขัน ปีที่แล้วหนูก็ได้พาทีมไปแข่งเต้นคัฟเวอร์แดนซ์ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยด้วย  

หนูเต้นมาได้ 7-8 ปีแล้วค่ะ ตอนแรกพ่อแม่หนูไม่ยอมรับเลย บอกว่าไปเต้นทำไมมันเปลืองเงิน แต่หนูก็ไม่ยอมแพ้ พอหนูมาลุยตรงนี้มาทำให้แม่เห็นว่าต่อให้แม่จะเอาลำโพงหนูไปหนูก็เต้นต่อได้ หนูทำให้เขาเห็นว่าหนูชอบและรักที่จะทำจริงๆ พอได้ชัยชนะกลับมาเขาก็เลยเชื่อว่าทำได้ ทุกวันนี้เลยให้กำลังใจค่ะ ส่วนใหญ่หนูจะไม่ขอการสนับสนุนจากพ่อแม่ หนูคิดว่าหนูเลือกที่จะทำเองหนูก็ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์