‘หม่อมเป็ดสวรรค์’ มีที่มาจากเพลงยาว หม่อมเป็ดสวรรค์ เขียนโดย คุณสุวรรณ นางในในสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาของรัชกาลที่ 3 บรรยายเรื่องราวของ หม่อมสุด กับ หม่อมขำ คู่รักสายวาย
ทั้งสองคนพบรักกันในพระราชวัง หลังจากหม่อมขำพ้นจากการเป็นบาทบริจาริกา (หญิงผู้มีหน้าที่รับใช้ปฏิบัติพระเจ้าแผ่นดิน) ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 (ท่านศักดิ์เป็นน้องของรัชกาลที่ 2 เป็นอาของรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4) หม่อมขำกับหม่อมสุดจึงมาอยู่ด้วยกัน

ส่วนชื่อหม่อมสุดชาววังเรียกว่า “คุณโม่ง” มีที่มาจากเจ้านาย (กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ) ประทานให้ หลังคืนหนึ่ง หม่อมสุดอ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ถวาย สำคัญว่าบรรทมหลับก็ดับเทียน แล้วเอาผ้าคลุมโปงกอดจูบหม่อมขำอยู่ที่ปลายพระบาท เมื่อทรงเห็นหม่อมสุดทำเช่นนั้น ก็ประทานชื่อให้ว่า “คุณโม่ง” เพราะเอาผ้าคลุมโปงเล่นเพื่อน
ขณะที่ “หม่อมเป็ด” เป็นสมัญญาของหม่อมขำ ตามคุณโม่งลงมาทำราชการในวังหลวงอยู่ที่พระตำหนักเจ้านายองค์เดียวกัน เป็นหม่อมที่ชอบไว้กริยา เมื่อเดินมักจะไว้จังหวะเยื้องย่างอย่างเป็ด เจ้านายจึงประทานนามให้ว่าดังนั้น
ด้วยเหตุนี้ เพลงยาวนี้จึงชื่อหม่อมเป็ดสวรรค์

เรื่องราวของชายรักชาย และหญิงรักหญิง มีมาตั้งแต่โบราณ แต่ไม่เคยมีใครเอามาเขียนเป็นเรื่องเล่า เป็นเพลงยาวเหมือนเรื่องนี้ หม่อมเป็ดสวรรค์ จึงเป็นสตอรี่แบบลายคราม เข้าใจว่าคุณสุวรรณน่าจะเขียนไว้เป็นการบันทึกเรื่องราวความรักในวังระหว่างเพื่อนหญิงที่ผูกสมัครรักใคร่กัน
ต่อมาหนังสือที่เขียนไว้เป็นสมุดข่อยถูกค้นพบในปี พ.ศ.2507 เป็นที่มาของการตีพิมพ์เป็นหนังสือเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์
เพลงยาวฉบับนี้น่าจะเป็นวรรณกรรมที่ดีที่ไม่เพียงแต่แต่งด้วยถ้อยคำภาษาสละสลวย แต่ใจความสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นไปในพระบรมมหาราชวัง เรื่องราวที่อยู่ในสถานที่ปิดมิดชิด ที่สำคัญเป็นเรื่องราวความรักแบบที่ไม่เคยมีใครเปิดเผยมาก่อน

“…เพลาหนึ่งหม่อมเป็ดเห็นเสด็จประทม
ชวนข้าในกรมลงตำหนักแพใหญ่
ลงอาบน้ำดำว่ายสบายใจ
แล้วสั่งให้เรียกเรือหนมจีนมา
ทั้งห่อหมกนกคั่วใบบัวอ่อน
ทอดมันจันลอนไว้นักหนา
ซื้อรับพระราชทานชานชลา
ยิ่งโอชารสร่ำซ้ำหนักไป…”
เห็นภาพชีวิตสาวชาววังที่มีหน้าที่ดูแลเจ้านาย เสร็จภารกิจแล้วถึงได้พักผ่อน อาบน้ำ รับประทานขนมจีน เห็นถึงการละเล่นผ่อนคลาย ด้วยการเล่นไพ่ เล่นเพลินจนนายก็มาพักผ่อน
“…วันหนึ่งจึ่งหม่อมเจ้าจอมเป็ด
ขึ้นเล่นไพ่ในเสด็จหน้าที่นั่ง
หลายกระดานนานเนิ่นเกินกำลัง
ให้คับคั่งในอุทรร้อนรนใจ
นั่งนวดปวดป่วนจวนจะออก
มิอาจบอกความจริงกับใครได้
ถวายบังคมก้มคลานลนลานไป
ให้อาวรณ์ร้อนในเหมือนไฟลุก
ครั้นถึงที่สรีร์สำราญซานเข้าไป
ออกสักอ่างว่างใจค่อยได้สุข
ค่อยเสื่อมคลายหายรำคาญที่พล่านพลุก
ครั้นสิ้นทุกข์แล้วก็กลับมาฉับไว…”

ในตอนท้ายของหนังสือเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์ได้มีการอธิบายถึงเพลงยาวไว้ว่า ผู้แต่งเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์เป็นพวกนางในเชี่ยวชาญอยู่ในราชสำนัก แต่งเพลงยาวเรื่องนี้เพื่อจะขับหม่อมเป็ดซึ่งชอบ ‘เล่นเพื่อน’ เป็นเรื่องสนุกกันในหมู่นางใน ด้วยได้ยินเสียงเครงครืนอยู่ทั้งในและนอกราชสำนัก แต่ก็ว่าน่าฟัง
“เฝ้าคมค้อนเคืองเข็ญไม่เว้นใคร
โกรธบรรดาข้าไทในพระตำหนัก
หม่อมกระไรใจคอนี้น้อยนัก
ฉันประจักษ์แจ้งความตามนิยาย
กระทบเรื่องของซื้อเข้าหรือจ๊ะ
จึ่งเกะกะโกรธร่ำระส่ำระสาย
ไม่มีใครบอกนุสนธิ์ต้นปลาย
ลายไปผุดขึ้นตำบลถนนอาจารย์
ฉันพบเห็นตำราจึ่งว่าไป
ขออภัยเถิดอย่าโทษโกรธดิฉาน
ถ้าแม้นหม่อมรักตัวกลัวอัประมาณ
ก็บนบานคนขับจะรับไว้
ถ้าหม่อมอายเสียดายชื่อจะลือชา
ก็เอาเงินเอาผ้านั้นมาให้
ฉันจะลบตำรับไม่ขับไป
จงถึงใจตาแจ้งเสียเถิดรา”

หม่อมเป็ดสวรรค์ไม่ใช่นิยายประโลมโลก ไม่ใช่เรื่องโศกนาฏกรรม แต่เป็นเรื่องบันทึกภาพชีวิตของสาวๆ ในวังสมัยปี พ.ศ.2380-2384
อ่านแล้วรู้สึกว่าเรื่อง LGBTQ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในสังคม แต่เชื่อได้ว่าเพลงยาวหม่อมเป็ดสวรรค์เป็นวรรณกรรม LGBTQ เล่มแรกหรืออาจจะเรียกว่าลายครามของสังคมต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ปล.เมื่อกลางปีที่ผ่านมา เพลงยาว หม่อมเป็ดสวรรค์ ถูกดัดแปลงมาเป็นละครเตรียมออกอากาศทาง Thai PBS เร็ว ๆ นี้