ตำนานมังกรในมิติไท-ยูนนาน ผู้ควบคุมน้ำที่ปรากฎบนลายผ้าซิ่น

20 มกราคม 2567 - 08:00

naga-luang-dragon-differences-SPACEBAR-Hero.jpg
  • สืบสาวตำนาน เงือก-ลวง สัตว์ในตำนานที่ชาวไทยจำผิดกับตัวนาค ซึ่งเป็นคติความเชื่อของพราหมณ์-ฮินดู ลวงสามารถแปลงร่างเป็นมนุษย์ได้ และมีพลังในการควบคุมน้ำ

เมื่อปี 2021 หรือประมาณสามปีที่แล้ว Raya and the Last Dragon เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันจากดิสนีย์ที่หลายคนมองข้ามด้วยสาเหตุหลายประการ จากกระทู้ทั้งบน Quora และ Reddit ที่มีการพูดถึงแอนิเมชันเรื่องนี้ หลายคอมเมนต์แสดงความเห็นว่า Raya ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ชมไม่นิยมเลือกที่จะดูเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ แต่กลับเลือกดูบนสตรีมมิงอย่าง Disney+ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นอื่นอย่างเช่นตัวบทค่อนข้างเดาง่าย และไม่ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีความผูกพันกับตัวละคร แต่มีความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจกว่าความเห็นอื่นๆ คือ “วัฒนธรรมตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่องที่ไกลตัวไปสักหน่อย”

naga-luang-dragon-differences-SPACEBAR-Photo V01.jpg
Photo: Photo: IMDb

เขายังแสดงความเห็นต่ออีกว่า วัฒนธรรมตะวันออกเฉียงใต้นั้นเข้าถึงไม่ง่ายเหมือนญี่ปุ่น หรือจีน ที่ปรากฎอยู่ในสื่อค่อนข้างมาก มีประวัติศาสตร์อยู่จำนวนหนึ่งให้ศึกษา หรือพูดง่ายๆ ว่า คนทั่วโลกน่าจะรู้จักซามูไร หรือกำแพงเมืองจีน และมังกรจีนมากกว่าเมืองลพบุรี หรืออาณาจักรยูนนาน

หากว่ากันถึงเนื้อเรื่องของ Raya นั้นค่อนข้างเขียนบทออกมาให้เข้าใจง่าย อาณาจักรต่างๆ ที่วางอยู่ตามส่วนต่างๆ ของแม่น้ำ (ที่มีรูปทรงเป็นมังกร) หรือดินแดนคูมันตรา (Kumandra) ต่างแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน โดยมีปัญหาหลักๆ คือ ‘การไว้เนื้อเชื่อใจกัน’ รายา ลูกสาวแห่งเจ้าเมืองฮาร์ต (Heart) พยายามตามหามังกรตัวสุดท้ายเพื่อนำคูมันตราคืนสู่สมดุล ในตอนจบเราจะพบกับมังกรหลายร้อยตัวบินโลดแล่นอยู่บนฟ้า หรือแม้แต่ในหนัง ซิซู (Sisu) มังกรตัวสุดท้ายก็ยังมีฉากเริงร่าท่ามกลางสายฝน

naga-luang-dragon-differences-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Photo: IMDb

เป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจถ้ามีคนเห็นว่าวัฒนธรรมตะวันออกเฉียงใต้ดูเข้าถึงยาก โดยเฉพาะกับทางฝั่งตะวันตก ในเรื่อง Raya มีการแฝงความเป็นอาเซียนอยู่ชัดมาก เช่น ห้าชนเผ่าที่เกิดการแก่งแย่งกันสามารถสื่อให้เห็นถึงประเทศในอาเซียนที่ไม่ค่อยลงรอยกัน และความสำคัญของมังกรที่ชาวตะวันตกเข้าใจว่าก็คือมังกรไม่ต่างจากมังกรจีน ทั้งที่จริงๆ แล้วมังกรใน Raya นั้นไม่ใช่มังกรตามความเชื่อจีน หรือนาคตามความเชื่อฮินดู แต่เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘ลวง’ 

ลวง หรือ ตัวลวง เป็นสัตว์ตามความเชื่อแถบตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน ปรากฎชัดในกลุ่มชนพูดภาษาไทกะได หรือปริมณฑลไท-ยูนนาน ตัวลวงนั้นมีความสำคัญมากต่อชาวบ้านท้องถิ่น สังเกตได้จากลายบนผ้าของชาวไทโซ่ง หรือไทดำ จะมีลายที่เรียกว่าลายตัวลวง

naga-luang-dragon-differences-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Photo: The Tilleke & Gibbins Collection /Facebook

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวัฒนธรรมไท ลาว อีสาน มีความเชื่อว่า ลวง (มะ)โรง และเงือก มีจุดกำเนิดจากความเชื่อเรื่องเดียวกันคือความเชื่อเรื่อง ‘เงือก’ ซึ่งชาวไทเชื่อว่าเป็นผู้ควบคุมน้ำ สามารถแปลงร่างเป็นคนได้ และเป็นหนึ่งในห้าแก่นวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ก่อนการมาของอิทธิพลจีนและชมพูทวีป ตามความเชื่อของชาวไท เงือกมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวไท เนื่องจากเป็นผู้ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ท้องนา และให้ประโยชน์แก่เกษตรกรรม นอกจากนี้เงือกยังเป็นผู้คอยช่วยเหลือ ‘ผีขวัญ’ (ผู้ล่วงลับ) กลับคืนสู่เมืองแถน (บนภูเขา) หรือเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ (โดยคำว่า ‘แถน’ ในภาษาไทอีสาน กับคำว่า ‘เทียน’ ในภาษาจีน มีรากศัพท์ร่วมกันแปลว่า ‘ฟ้า’) และยังปรากฎเป็นบรรพบุรุษฝ่ายชายของชาวไทขาวในประเทศเวียดนามอีกด้วย

naga-luang-dragon-differences-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: Photo: Wikimedia

คำว่า ‘ลวง’ นั้น อาจารย์ชลธิราคาดว่ามาจากคำว่า ‘หลง’ ในภาษาจ้วง อันหมายถึง ‘หลง-มังกร’ หรือมังกรจีนที่ปรากฎตามความเชื่อจีนฝั่งเหนือ แต่กลับเข้ามามีอิทธิพลทางภาษาแทนคำว่า ‘เงือก’ ดังนั้นคำว่าเงือกจึงค่อยๆ หายไปจากพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย หลังจากรับอิทธิพลความเชื่อจากอินเดียทั้งพุทธศาสนาและพราหมณ์-ฮินดู จากตัวลวงจึงกลายเป็น ‘นาค’ หรือ ‘นาคา’ สัตว์ในเทพนิยายทรงพลังและมีเมืองบาดาลตามความเชื่อชาวฮินดูไปโดยปริยาย ส่วนคำว่าเงือกถูกใช้อธิบายถึงสิ่งมีชีวิตกึ่งมนุษย์กึ่งปลาในเทพนิยายทางฝั่งสแกนดิเนเวีย

naga-luang-dragon-differences-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: Photo: Wikipedia

นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำไมวัดตามภาคอีสาน หรือความเชื่ออีสานถึงพัวพันอยู่กับตัวนาค แม้กระทั่งใช้ ‘ตัวนาค’ ขอฝนในงานบุญบั้งไฟ ซึ่งความจริงแล้วชาวอีสานหรือชาวไทเดิมมีความเชื่อเรื่อง เงือก หรือลวง เป็นทุนเดิมมาเนิ่นนานแล้ว

กลับมาที่ Raya and the Last Dragon คำพูดที่ว่า “วัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับตะวันตก” คงไม่เกินจริง เพราะแม้แต่ชาวเอเชียด้วยกันน้อยคนนักจะทราบถึงความแตกต่างระหว่าง ลวง มังกร ที่เป็นของจีนเหนือ นาคที่เป็นของฮินดู และเงือกของชาวไท-ยูนนาน คติความเชื่อเหล่านี้จึงย่อมเป็นที่เข้าใจได้น้อยกว่ามังกรจีนเหินฟ้าของจีน หรือปีศาจโยไคในญี่ปุ่น อย่างเข้าใจได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์