ออสการ์ ไวลด์ กับการเผชิญคดีข้อหารักเพศเดียวกันในยุควิคตอเรีย

15 มิถุนายน 2566 - 03:52

oscar-wilde-trial-SPACEBAR-Thumbnail
  • ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) เป็นนักเขียนชาวไอริชที่ถูกยกย่องว่าเป็น ‘Gay Icon’ นอกจากเขาจะเป็นเลิศทางด้านวรรณศิลป์แล้ว เขายังยืดหยัดต่อสู้คดีข้อหารักเพศเดียวกันในยุควิคตอเรีย ซึ่งเป็นยุคที่กีดกันโฮโมเซ็กชวลราวกับอาชญากร

ออสการ์ ไวลด์ (Oscar Wilde) เป็นนักเขียนชาวไอริชที่อยู่ในช่วงยุควิคตอเรียน (ค.ศ.1837-1901) ผลงานอันเลื่องชื่อของเขาคือ ‘The Picture of Dorian Gray’ และ ‘The Canterville Ghost’ บางคนอาจคุ้นเคยกับเรื่องสั้น ‘The Happy Prince’ หรือในชื่อไทย ‘เจ้าชายผู้มีความสุข’ เรื่องราวของรูปปั้นสีทองที่ประดับด้วยเพชรนิลจินดาที่ไหว้วานขอให้นกนางแอ่นช่วยนำของมีค่าที่ติดอยู่บนตัวไปแจกจ่ายกับประชาชนผู้ทุกข์ยาก  

ในหนังสือรวมเรื่องสั้นของเขามักมีเรื่องราวออกไปทางนิทานสอนใจ หรือนิทานสำหรับเด็ก ออสการ์สามารถร้อยเรียงเรื่องราวจากจินตนาการออกมาได้อย่างน่าสนใจ ตัวละครส่วนมากที่เขาแต่งขึ้นมักเป็นสัตว์ มนุษย์ และสิ่งของ ถ้าใครคุ้นชิน หรือชอบนิทานสอนใจของอีสป (Aesop) จะพบว่านิทานเรื่องสั้นของออสการ์ ไวลด์ มีความคล้ายคลึงกัน แต่มีความสุขุมนุ่มลึกไปด้วยถ้อยคำและมิติของเรื่องมากกว่า 

ในนวนิยายชื่อดังเรื่อง The Picture of Dorian Gray ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชายหนุ่มผู้ต้องการรักษาความเยาวน์วัยไว้ในภาพวาด แต่ภาพวาดดันเผยความด่างพร้อยออกมา เป็นโครงเรื่องที่นับว่าโดดเด่นในแวดวงวรรณกรรมยุควิคตอเรีย แม้ว่าที่เล่ามาทั้งหมดอาจรู้สึกว่า ออสการ์ ไวลด์ เป็นนักเขียนที่เต็มไปด้วยจินตนาการ ความขบขัน แต่ทว่าผู้คนในยุคนั้นไม่ค่อยชอบเขามากนัก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1LsoMQHVscxVNXSZkCHjVS/a3b0c57425992070960038397fd04fdb/oscar-wilde-trial-SPACEBAR-Photo01
Photo: Wikipedia
ออสการ์ ไวลด์ มีภาพจำเป็นชายที่รักสวยรักงาม สะอาดสะอ้าน ผมเผ้าเรียบร้อย สิ่งเหล่านี้ทำให้เขากลายเป็น ‘ตัวประหลาด’ ในยุคนั้น  คือรสนิยมในการแต่งตัวที่ต่างจากค่านิยมผู้ชายวิคตอเรียน เขามักสวมเสื้อคลุมขนสัตว์สวยหรู ผูกโบว์ขนาดใหญ่ไว้ที่คอ บางครั้งสวมเครื่องประดับไว้ที่คอและข้อมือ ซึ่งเขายอมรับตัวเองว่าเป็นตนเป็นโฮโมเซ็กชวล (Homosexual) หรือคนรักเพศเดียวกัน 

แน่นอนว่า ออสการ์ต้องเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เพราะในสังคมยุควิคตอเรียการเป็นโฮโมเซ็กชวลถือว่ามีความผิด และเป็นที่น่ารังเกียจพอๆ กันกับอาชญากร ถึงกระนั้นออสการ์ก็ยังแต่งงาน มีลูกด้วยกันทั้งหมดสองคน ต่อมาในปี 1891 ออสการ์มีความสัมพันธ์ลับๆ กับลอร์ดอัลเฟรด ดักลาส กวีชาวอังกฤษที่อายุน้อยกว่าออสการ์ 16 ปี โดยตอนนั้นเขามีอายุ 37 ปี  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3howNn1zeypBcgJaWXTc9j/a5122eea7b4555bbaf8e6f7d003c6115/oscar-wilde-trial-SPACEBAR-Photo02
Photo: ลอร์ดอัลเฟรด ดักลาส. Photo: Wikipedia
อย่างที่เขาว่ากันว่า ‘ความลับไม่มีอยู่ในโลก’ พ่อของลอร์ดอัลเฟรดรู้เรื่องนี้เข้า ด้วยความโมโหจึงพยายามป่าวประกาศให้สาธารณะได้รู้ด้วยการเขียนชื่อออสการ์บนกระดาษ  และฝากไว้กับพนักงานในคลับอัลเบอมาล (Albemarle) ที่ลอนดอน บนกระดาษนั้นเขียนว่า “สำหรับออสการ์ ไวลด์ ที่วางตัวเป็นคนเล่นสวาท” (For Oscar Wilde, posing on sodomite” คำว่าเล่นสวาทในที่นี่ไม่ใช่สวาทธรรมดา แต่เป็นการเล่นสวาทแบบผิดธรรมชาติ ถ้าในความหมายของคนในยุคนั้นคือกล่าวถึงโฮโมเซ็กชวล 

หลังจากเหตุการณ์นี้ทำให้ชื่อเสียของ ออสการ์ กระจายไปทั่วเมือง ผู้คนหันหลังให้กับเขาพร้อมกับมองด้วยแววตาอันเกลียดชัง เพื่อนของเขาที่เข้าใจกันถึงกับแนะนำให้เขาหนีไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส (ฝรั่งเศสยกเลิกการกีดกันโฮโมเซ็กชวลมาตั้งแต่ปี 1791) แทนที่จะทำอย่างนั้น ออสการ์กลับสู้ด้วยการฟ้องพ่อของลอร์ดอัลเฟรด ที่มียศเป็นมาร์ควิสแห่งควีนสเบอร์รี  ในข้อหาหมิ่นประมาทในชั้นศาล
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/VV7Ugo2Uu0a6pTpCiiWVO/7b794e07ba9190efa70c0c0f87956669/oscar-wilde-trial-SPACEBAR-Photo03
การพิจารณาในชั้นศาลดำเนินไปไม่ค่อยดีเท่าไรนักสำหรับออสการ์ เพราะในศาลต่างเห็นด้วยกับข้อหาที่เขาเป็นโฮโมเซ็กชวล ด้วยเหตุนี้ศาลจึงไม่รับพิจารณาข้อหาหมิ่นประมาทที่เขายื่นฟ้อง มาร์ควิสยังกล่าวหาออสการ์อีกข้อหาคือ ชักชวนให้ชายหนุ่มจำนวน 12 คน เสพสังวาสกัน พร้อมกับยกนวนิยายเรื่อง The Picture of Dorian Gray ว่าออสการ์ใช้เรื่องนี้ล่อลวงลอร์ดอัลเฟรด เพราะในเรื่องนั้นมีตอนที่ศิลปินหลงใหลในความงามของชายหนุ่มบนภาพที่เขาวาด  

หลังจากผ่านไปสามวัน ทนายของออสการ์ขอถอนตัว จึงเป็นโอกาสที่ศาลมอบข้อหากระทำอนาจารให้กับออสการ์ มาถึงจุดนี้ออสการ์ยังคงยืดหยัดต่อสู้ในศาล โดยไม่ฟังคำแนะนำให้หนีไปฝรั่งเศสของเพื่อน 

ในชั้นศาล ออสการ์ถูกถามถึงเรื่องบทกวีที่ลอร์ดอัลเฟรดแต่งในชื่อ ‘Two Loves’ โดยยกท่อนที่กล่าวว่า “รักที่มิกล้าเอ่ยนาม” (the love that dare not speak its name) หลายคนตีความว่านี้คือการพรรณาของคนที่เป็นโฮโมเซ็กชวล 

คดีจบลงโดยไม่มีคำตัดสินจากคณะลูกขุน จนกระทั่ง 3 สัปดาห์ต่อมา ออสการ์เกษียณอายุจากงานเขียนบทละคร ออสการ์ถูกฟ้องอีกครั้งด้วยข้อหากระทำอนาจาร และถูกทำโทษด้วยการทำงานหนักเป็นเวลา 2 ปี 

ปี 1895 ออสการ์ทำงานเก็บด้ายดิบในคุกเพนตันวิลล์ (Pentonville Prison) จากนั้นเขาย้ายไปอยู่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาเขียนงานเรื่อง ‘The Ballad of Reading Gaol’ เป็นเวลา 3 ปีก่อนที่เขาเสียชีวิตด้วยอาการไขสันหลังอักเสบ และอาการติดเชื้อที่หู ในวัย 46 ปี อวสานนักเขียนผู้มากด้วยจินตนาการ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2uLjOZLrzO4RMkVUykxvf6/c2dbf14939ad678d52b5acb477c0a57c/oscar-wilde-trial-SPACEBAR-Photo04
ส่วนกฎหมายเรื่องโฮโมเซ็กชวลยกเลิกอย่างจริงจังในปี 1967 ใช้เวลาถึง 60 ปีหลังออสการ์เสียชีวิตกว่าจะมีการยอมรับเรื่องโฮโมเซ็กชวลในสังคมสหราชอาณาจักร ในปัจจุบัน ออสการ์ ไวลด์ ถูกยกย่องว่าเป็นผู้ปูทางให้กับสังคมโฮโมเซ็กชวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดสินใจของเขาในชั้นศาลที่เขาไม่ยอมหลบหนี แต่ยืนหยัดสู้กับคณะลูกขุนด้วยความสามารถที่เขามี 

เขายังนักเขียนคนแรกๆ ที่เขียนแฝงเรื่องโฮโมเช็กชวลในงานเขียนหลายเรื่อง อย่างเช่นบทสนทนาในเรื่อง The Happy Prince ที่ออสการ์พยายามพรรณาฉากจูบกันระหว่างรูปปั้นเจ้าชายกับนกนางแอ่น (ที่เป็นตัวผู้) ด้วยภาษาเขียนของเขาจึงดูไม่ฉาบฉวย แต่กลับเต็มไปด้วยความรู้สึกของรักที่อบอุ่นหัวใจ ไม่ว่ารูปปั้นเจ้าชายหรือนกนางแอ่นจะเป็นเพศใดก็ตาม 

Happy Pride Month! 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์