น้ำท่วมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลควรมองข้าม และไม่ควรโรแมนติกไซส์ให้กลายเป็นเสน่ห์ของประเทศ ประเทศไทยประสบกับน้ำท่วมทุกปี และสาเหตุไม่ได้มาจากภัยพิบัติที่น่าเกรงกลัวแต่อย่างใด แต่มาจากฝนที่ตกหนักจนน้ำไม่สามารถระบายออกได้ทันกาล ตัดภาพไปที่ต่างประเทศที่มีการใช้ถนนดูดน้ำเพื่อหลีกเลี่ยงน้ำกักขังหลังน้ำท่วมแล้ว แต่ถึงกระนั้นไม่เคยมีใครคิดว่าการนำเทคโนโลยีทางวิศวกรรมนี้ไปใช้จะสามารถช่วยลดปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่อย่างจริงๆ จังๆ โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการนำระบบดูดซึมน้ำมาใช้กับฟุตบาท เพราะมีการออกแบบที่ไม่สวยงามเท่าไรนัก

Snohetta สตูดิโอสถาปนิกผู้อยู่เบื้องหลัง Osla Opera House และ SFMOMA จึงออกมาแก้ไขปัญหานี้ พวกเขาออกแบบระบบดูดซึมน้ำที่เรียกว่า ‘Flyt’ เป็นหินรูปทรงหกเหลี่ยมที่มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน การออกแบบนี้เป็นการเว้นพื้นที่ระหว่างหินไว้สำหรับการดูดซึมน้ำ โดยมีความห่างประมาณ 2.3 นิ้ว น้ำที่ไหลจะซึมลงสู่ชั้นกรวดและดินข้างใต้ ระบบนี้ไม่ใช่แผนคิดแบบลอยๆ แต่ทางสตูดิโอได้ร่วมมือกับ Asak ผู้ผลิตฟุตบาทของนอร์เวย์ และใช้เวลาร่วม 2 ปี ในการทำระบบนี้ให้เป็นจริง

ระบบ Flyt ถูกออกแบบให้ใช้กับพื้นที่ขนาดกว้างโดยเฉพาะอย่างพื้นที่จอดรถ หรือลานพลาซ่า และในช่วงแรกเริ่มมีแผนใช้กับฟุตบาทที่ไม่มีคนเดินเยอะมาก เช่น ทางเดินข้างบ่อน้ำ รอบๆ ต้นไม้ตามทาง หรือจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก เป็นต้น สำหรับทีมงานของ Snohetta นี่หมายถึงสิ่งใหม่ในวงการสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมในการปรับใช้แนวคิดใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการปูทางไปสู่สิ่งใหม่ๆ มากกว่าเดิมในอนาคต

หินแต่ละขนาดมีช่องว่างระหว่างกันที่แตกต่างกัน โดยแต่ละก้อนจะมีส่วนที่ยื่นออกมาไว้ล็อกกับหินอีกก้อนต่อๆ กัน ดังนั้นยิ่งหินก้อนเล็กจะยิ่งมีพื้นที่ห่างเพื่อซับน้ำมากกว่า แต่โดยรวมแล้วทั้งระบบสามารถดูดซึมน้ำได้ถึง 28 เปอร์เซ็นต์ แม้ตัวเลขจะไม่เยอะมากนัก แต่ถือว่าเป็นตัวเลขสองเท่าจากมาตรฐานที่นอร์เวย์เคยทำไว้
ตอนนี้พวกเขายังไม่รู้ว่าในอนาคตระบบ Flyt จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้มีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ติดตั้ง แต่ทั้งหมดนี้อาจเป็นก้าวเล็กๆ สู่สถาปัตยกรรมที่สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมในอนาคต
ตอนนี้พวกเขายังไม่รู้ว่าในอนาคตระบบ Flyt จะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้มีเพียงสองแห่งเท่านั้นที่ติดตั้ง แต่ทั้งหมดนี้อาจเป็นก้าวเล็กๆ สู่สถาปัตยกรรมที่สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมในอนาคต