ทำไมเราถึงเชื่อสิ่งที่เห็นบน TikTok?

21 มกราคม 2567 - 01:00

people-believe-everything-they-watch-on-tiktok-SPACEBAR-Hero.jpg
  • TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีเนื้อหาคอนเทนต์ที่เข้าถึงง่าย ทำให้เราอินกับมันมากขึ้น และ ‘หลงเชื่อ’ มันมากขึ้น

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียบางคนคิดว่า ผู้ใช้อาจไม่ได้มีความ ‘รอบคอบ’ ในการรับชมเนื้อหาต่างๆ อีกต่อไป

  • ความไว้วางใจอย่างท่วมท้นใน ‘อัลกอริทึม’ ของ TikTok ยังช่วยให้เกิดความ ‘งมงาย’ หรือเสพติด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อโซเชียลมีเดียเป็นเหมือนปัจจัยที่ 5 สำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะแอปฯ ที่สามารถแบ่งปันภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวพร้อมเพลงประกอบอย่าง ‘TikTok’ ที่ทำให้เราตกหลุมพรางของอัลกอริทึม เมื่อเผลอกดเข้าไปเมื่อไรต้องเสียเวลาชีวิตแทบทั้งวัน

ด้วยรูปแบบแพลตฟอร์มและเนื้อหาคอนเทนต์ที่เข้าถึงง่าย ทำให้เราอินกับมันมากขึ้น และหลงเชื่อมันมากขึ้น ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของเยอรมนี ระบุว่า วิดีโอบน TikTok ที่เป็นเรื่องไม่จริงหรือเฟคนิวส์ มีจำนวนอย่างน้อย 1.6 ล้านคลิปต่อวัน ซึ่งเป็นข้อมูลเฉพาะในสหราชอาณาจักรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

people-believe-everything-they-watch-on-tiktok-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Robyn Beck / AFP

ขณะที่จำนวนทั่วโลกในหนึ่งวันพบว่ามีผู้อัปโหลดวิดีโอของตัวเองเข้าไปกว่า 5 ล้านครั้งต่อชั่วโมง ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขจากปี 2020 แน่นอนว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาแอปฯ มีการเติบโตขึ้นอย่างมหาศาล และตัวเลขเหล่านี้ก็ขยับขึ้นเช่นกัน

มาร์คัส บอซ นักวิจัยของ TikTok บอกกับเราว่า เราเสพเนื้อหาเหล่านี้เป็นจำนวนมาก และรวดเร็ว และถ้าเราตัดสินใจที่จะฟังใครสักคน รากฐานของความ ‘ไว้ใจ’ จะเกิดขึ้นทันทีแม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น

ด้วยการออกแบบแพลตฟอร์มที่บีบรูปแบบให้คอนเทนต์ออกมาเป็นลักษณะนั้น เพื่อให้ผู้ใช้บริโภคเนื้อหาให้ได้มากที่สุดในระยะเวลาอันสั้น  ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียบางคนคิดว่า ผู้ใช้อาจไม่ได้มีความ รอบคอบในการรับชมเนื้อหาต่างๆ อีกต่อไป อีกทั้งยังมีสิ่งที่ช่วยจูงใจผู้ใช้นั่นคือ แสงจากการเป็น ‘ไวรัล’ ที่ปัจจุบันนี้มีค่ามากกว่า ‘ความจริง’

TikTok กับความเชื่อของมนุษย์

ทอม ดิวอน ผู้ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับ TikTok บอกถึงเหตุผลที่ทำให้คนเราเชื่อ TikTok ได้ง่ายว่า มันไม่ได้เกิดจากแพลตฟอร์มเพียงอย่างเดียว แต่มันยังเชื่อมโยงกับวิวัฒนาการของความสนใจของเราด้วย ด้วยฟีเจอร์ ‘For You’ บน TikTok ที่ออกแบบมาเหมือนสื่อกลางในการส่งข้อมูล แต่ไม่ได้รับประกันว่าข้อมูลที่ส่งออกไปจริงหรือไม่จริง

people-believe-everything-they-watch-on-tiktok-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Jade Gao / AFP

ขณะที่แอปฯ นี้ได้ริเริ่ม #LearnonTikTok ที่เป็นเหมือนเสิร์ชเอนจิ้นใหม่ของวัยรุ่น Gen Z ที่จะเข้ามาค้นหาสิ่งที่อยากรู้ผ่าน TikTok แทนที่จะเป็น Google ผู้ใช้บางคนให้ความเห็นว่า แม้มันจะเป็นแพลตฟอร์มที่ดูไร้สาระ แต่เขาก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากมันทุกวัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้อ้างว่าพวกเขาไม่เชื่อในเนื้อหาที่พบเจอ การศึกษาในเดือนกันยายนปี 2022 โดยสถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาวารสารศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด พบว่าผู้ใช้เพียง 20% ในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ กล่าวว่า พวกเขาเชื่อถือข่าวที่พบใน TikTok เทียบกับ 53% (สหราชอาณาจักร) และ 49% (สหรัฐฯ) จากข่าวที่พวกเขาพบนอกแพลตฟอร์ม

แม้จะบอกว่าพวกเขาไม่รู้ตัวว่าถูกหลอก แต่พวกเขายังคงใช้ข้อมูลจาก TikTok และส่งต่อข้อมูลนั้นออกไป ซึ่งบอซ นักวิจัย TikTok บอกว่า พฤติกรรมนั้นอาจมาจากวิธีการที่เราได้รับการสอนเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อในอดีต ซึ่งมันเป็นเวลาหลายปีที่ผู้ใช้ได้รับการฝึกฝนให้เชื่อเฉพาะสิ่งที่เห็นด้วยตาของตัวเอง และผู้ใช้ส่วนใหญ่จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าสิ่งนี้ไม่จำเป็นสำหรับยุคใหม่ของ ‘สื่อสังเคราะห์’

people-believe-everything-they-watch-on-tiktok-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Jade Gao / AFP

นอกจากนี้ยังมีความไว้วางใจอย่างท่วมท้นใน ‘อัลกอริทึม’ ของ TikTok ยังช่วยให้เกิดความ ‘งมงาย’ หรือเสพติด

เจส แมดด็อกซ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอลาบามาและผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต บอกว่า ข้อมูลที่ผิดจำนวนมากแพร่กระจายบน TikTok ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการออกแบบแอปฯ และส่วนหนึ่งเป็นเพราะวัฒนธรรม ผู้ใช้ดูมีความไว้วางใจ TikTok ในระดับที่สูงขึ้น เนื่องจากฟีเจอร์ ‘For You’ และอัลกอริทึมที่แม่นยำจนน่ากลัว

เช่นเดียวกับดิวอน ที่มองว่าการปรับเนื้อหาให้ตรงความต้องการด้วยอัลกอริทึมของ TikTok มีผลกระทบอย่างมากต่อการรับรู้ของผู้ใช้ ผู้ใช้ตระหนักดีกว่าวิดีโอที่พวกเขาอัปโหลดลงไปจะได้รับการปรับให้เหมาะกับความชอบและความเชื่อของแต่ละคน ซึ่งสามารถนำไปสู่ความรู้สึกสอดคล้องและน่าเชื่อถือ

ขณะที่แมดด็อกซ์ยังมองว่า สิ่งที่ทำให้ TikTok น่าเชื่อถือมากขึ้นคือ เนื้อหาคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นจากการถ่ายผ่านกล้องหน้าที่ทำให้เรารู้สึกสนิทไปกับผู้ใช้รายนั้น ซึ่งสร้างอิทธิพลอย่างมากให้กับผู้ใช้ และให้ความรู้สึกราวกับว่ากำลังสนทนา หรือรับฟังเรื่องราวของเพื่อน จนเกิดเสียงในหัวว่า ‘นั่นเพื่อนเธอนะ เพื่อนกันจะโกหกกันเหรอ?’

แม้ว่าจะรู้อย่างนี้แล้วก็ไม่ได้ทำให้เราเล่นมันน้อยลงแต่อย่างใด หากแต่ว่าต่อจากนี้เราจะสามารถเผื่อเวลา ‘คัดกรอง’ คอนเทนต์ที่ไหลผ่านตาเรามากขึ้น และพึงระลึกไว้เสมอว่า มีอะไรมากมายบนโซเชียลมีเดียที่อาจไม่เหมือนกับชีวิตจริง แน่นอนว่าเราต้องนำเสนอชีวิตที่สนุกที่สุด หรือสวยงามที่สุดของเราบนโซเชียลอยู่แล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์