ปีชงมีไว้หลอกคน? ความเชื่อโหราศาสตร์จีนที่วัดไทยใช้เรี่ยไรเงิน

10 มกราคม 2567 - 07:30

pi-chong-incompatible-year-origin-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ส่องความเชื่อปีชง หนึ่งในความเชื่อตามโหราศาสตร์จีนที่ผูกกับเต๋าอันเป็นความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ในชาวไทยเชื้อสายจีน และความเห็นของ แพรรี่ ไพรวัลย์

แพรรี่-ไพรวัลย์ วรรณบุตร สร้างกระแสและแง่คิดขึ้นอีกครั้ง โดยได้ทำคลิปวิดีโอ TikTok ผ่านชื่อผู้ใช้ @paivanna01 บอกเล่าความคิดเห็นว่า “ปีชงมันมีไว้สำหรับหลอกคนโง่ค่ะ เพราะมันขายของได้ไง ถ้ามันบอกว่าชง ปีชงตามด้วยอะไรคะ การทำพิธีกรรมค่ะ ทุกอย่างแก้ได้ด้วยการเสียเงิน” พร้อมกับเสริมว่าอย่าไปหลงเชื่อมาร์เก็ตติงเพื่อเชิญชวนให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ให้กับวัด ซึ่งทั้งหมดโดยรวมเป็นการกล่าวว่า ‘ปีชงไม่มีอยู่จริง’

คำว่า ‘ปีชง’ เป็นคำที่อยู่กับชาวไทยมาหลายยุคสมัย เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดรู้สึกว่าโชคไม่เข้าข้าง มีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นในชีวิตอยู่บ่อยๆ เรามักอ้างหรือโทษสาเหตุให้กับปีชง ซึ่งการดูปีชงจะต้องอิงตามปีนักษัตรแต่ละปี และต้องดูปีเกิดแต่ละช่วงด้วย เช่น ปี 2024 คือปีมะโรง การนับปีชงคือฝั่งตรงข้ามวงปีนักษัตรนั่นคือปีจอ ดังนั้นคนที่เกิดปีจอจะชงกับปีมะโรง หรือพูดง่ายๆ คือ ปี 2024 เป็นปีชงของปีจอ หรือคนที่เกิดปี ค.ศ. 1946, 1958, 1970, 1982, 1994, 2006, 2018

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘ชง’ อยู่บ่อยๆ ตามปฏิทินน่ำเอี๊ยง เพราะแนวคิดเรื่องปีชงนั้นมาจากความเชื่อชาวจีนนั่นเอง โดยคำว่า ‘ชง’ (冲) แปลว่า ไม่ถูกกัน หรือความขัดแย้ง หรือแปลรวมๆ ว่าปีที่ขัดแย้งกันตามระบบโหราศาสตร์จีน ซึ่งถ้าใครรู้ว่าตัวเองตกอยู่ในปีชงต้องทำการสะเดาะเคราะห์ หรือ ‘แก้ชง’ ด้วยการเขียนใบแก้ชงตามวัดที่เปิดรับแก้ชง หรือส่วนมากคือที่วัดจีนหรือศาลเจ้าจีน

pi-chong-incompatible-year-origin-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Wikimedia

ความเชื่อปีชงนั้นมาจากโหราศาสตร์จีนโดยอิงความเชื่อมาจากเต๋า ตามวงปีนักษัตรทั้ง 12 จะประกอบด้วย 5 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และเหล็ก/ทอง ซึ่งมีผลทั้งเชิงบวกและลบต่อคนที่เกิดในแต่ละวันแต่ละปี นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องหยิน-หยางที่กล่าวว่าโลกประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 ดังกล่าว และแต่ละธาตุนั้นมีทิศเป็นของตัวเอง คือ ทิศเหนือคู่กับน้ำ ทิศใต้คู่กับไฟ ทิศตะวันออกคู่กับไม้ ทิศตะวันตกคู่กับเหล็ก/ทอง ส่วนตรงกลางนั้นคือดิน เช่นเดียวกันแต่ละปีนักษัตรก็มีธาตุของตัวเอง ชาวจีนยังเชื่อว่าคนที่เกิดมาจะมีนิสัยใจคออย่างไรขึ้นอยู่กับธาตุของแต่ละคน

pi-chong-incompatible-year-origin-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Wikimedia

เมื่อปีนักษัตรทั้ง 12 บวกกับธาตุทั้ง 5 จะได้ 60 คู่นักษัตร แต่ละคู่นำเสนอเป็นเทพหนึ่งองค์เรียกว่า ‘ไท้ส่วยเอี๊ย’ (太岁爷) รวม 60 องค์ ซึ่งเป็นเทพประจำตัวเพื่อดูแลปกปักรักษา หนึ่งในเทพเหล่านี้ยังมีบุคคลในประวัติศาสตร์อีกด้วย เช่น กวนอู เป็นต้น 

ถามว่าทำไมนักษัตรต้องโยงกับธาตุ เพราะในตารางปีนักษัตรขั้วตรงข้ามมักเป็นธาตุที่ไม่ถูกกันเสมอ เช่น ปีกุนคือธาตุน้ำ ปีชงของปีกุนคือปีมะเส็งซึ่งเป็นธาตุไฟ ทั้งสองธาตุมีพลังลบข่มต่อกันจึงทำให้เกิดความขัดแย้งกัน เกิดเป็นสิ่งเลวร้ายขึ้นในปีนั้นๆ สำหรับคนเกิดปีชง

สำหรับเมืองไทยเอง ความเชื่อเรื่องปีชงนั้นหยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยมานานตั้งแต่การมาของชาวจีนโพ้นทะเล ประกอบกับประเทศไทยเองเป็นประเทศพหุวัฒนธรรมที่นำเอาทุกความเชื่อเข้ามาปะปนกันมากมาย ทำให้คนที่เชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งนี่อาจเป็นสิ่งที่ แพรรี่ ไพรวัลย์ ต้องการสื่อถึงว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และทำไมวัดพุทธถึงต้องมีแก้ชงซึ่งเป็นความเชื่อจีนด้วย?

pi-chong-incompatible-year-origin-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: Christophe Archambault /AFP

“วัดก็ตัวดี เดี๋ยวราหูอม ต้องทำพิธี พระพุทธเจ้าเคยบอกเรื่องนี้ในพระไตรปิฎกไหม ของดำไหว้ราหูเนี่ย หมอดูทำยังพอทำเนา อาชีพเขาแล้วเป็นโหราศาสตร์ แต่วัดทำด้วย พาคนไปสวดสะเดาะเคราะห์ เอาสายสิญจน์พันหัว ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องมีศาสนาพุทธแล้ว ทุกอย่างแก้ได้ด้วยการสวด เอาสายสิญจน์พันคอไปเลย จะได้หมดกรรม” แพรรี่ กล่าวในคลิป  

เพราะฉะนั้นถ้าเขยิบมามองกัน จะเห็นว่าแพรรี่ไม่ได้ลบหลู่คนที่เชื่อเรื่องปีชง แต่กำลังว่ากล่าวต่อบรรดาพระสงฆ์ในไทยที่มีการหยิบเรื่องการแก้ปีชงเข้ามาปะปนในศาสนาพุทธ โดยเชื่อว่าสิ่งที่วัดพุทธทำไปไม่ได้เห็นแก่ศาสนิก แต่หวังเรื่องกำไรและเม็ดเงินที่วัดสามารถเรี่ยไรได้จากการทำกิจกรรมแก้ปีชง ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับวัดไทยในตอนนี้ หลายวัดเริ่มมีการนำความเชื่อศาสนาอื่นเข้ามาปะปน ไม่ว่าจะเป็นเทพเจ้าจีน หรือเทพเจ้าฮินดู โดยแต่ละจุดมีช่องทางให้ทำบุญ

ส่วนที่แพรรี่ค่อนข้างขัดแย้งในตัวเองคือการเริ่มด้วยการพูดว่า “ปีชงมีไว้หลอกคนโง่” การกล่าวคำพูดนี้สามารถด่าทอถึงคนที่มีความเชื่อทุกคนได้เช่นกัน เพราะความเชื่อเรื่องปีชงนั้นไม่ต่างอะไรจากคนที่นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาอื่นๆ เลยด้วยซ้ำ ความเชื่อตามหลักศาสนาจัดเป็นสิทธิส่วนบุคคล และถือเป็นจารีตธรรมเนียม และแรงศรัทธาที่บุคคลหนึ่งยึดถือไว้เพื่อดำเนินชีวิตบนโลกที่สิ้นหวังหรือไม่สิ้นหวังก็ตาม ท้ายที่สุดนี้ เราอาจต้องคิดกันมากขึ้นว่าการเข้าวัดต้องทำบุญเสมอไปหรือไม่ หรือเมื่อเราทำบุญไปเม็ดเงินนี้ไปอยู่ตรงไหน และศาสนาจำเป็นต้องวกวนอยู่กับเม็ดเงินจริงหรือ?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์