ปลาหมอสีคางดำ สัตว์น้ำทดลองที่กลายเป็น ‘สัตว์นักล่า’ ทำลายระบบนิเวศทางน้ำ

15 มกราคม 2567 - 08:16

pla-mor-si-kang-dum-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ปลาหมอสีคางดำ เป็นสัตว์น้ำผิดกฎหมายเนื่องจากเป็นปลาล่าสัตว์น้ำขนาดเล็กรวมถึงกุ้งต่างๆ เสี่ยงทำให้ระบบนิเวศในแหล่งน้ำทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มเกิดความเสียหาย

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 มีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Ong Khamrat Suksawad โพสต์รูปสัตว์น้ำชนิดหนึ่งในกลุ่ม ‘นี่ตัวอะไร’ พร้อมแคปชัน “ปลาที่ตรงคางมันสีดำปลาอะไรครับ เป็นปลาน้ำจืด เทียบขนาดกับปลาหางนกยูงก็ตามภาพเลย พอดีหลานจับมาเลี้ยงครับ” หลายคนไ้ด้เข้ามาแสดงความคิดเห็นทันทีว่ามันคือ ‘ปลาหมอสีคางดำ’ สร้างความตระหนักให้กับสมาชิกกลุ่มถึงข้อมูลหลายอย่างที่ชาวไทยอาจยังไม่รู้ นั่นคือปลาหมอสีคางดำ ณ เวลานี้ถือเป็นสัตว์ผิดกฎหมาย เพราะเป็นสัตว์ที่กำลังทำลายระบบนิเวศในแหล่งน้ำ

pla-mor-si-kang-dum-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Ong Khamrat Suksawad /Facebook

ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอที่ดุกว่าปลาหมอทั่วไป

ปลาหมอสีคางดำ (Blackchin tilapia) จัดเป็นปลาชนิดเดียวกับปลาหมอเทศ มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย โดยมีจุดสังเกตสำคัญคือรอยเปื้อนสีดำตรงคาง ซึ่งจะสังเกตได้ง่ายมากขึ้นเมื่อโตเต็มวัย พบได้ตามบริเวณแหล่งน้ำทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ความจริงที่น่าประหลาดใจคือ เจ้าของโพสต์ในกลุ่ม ‘นี่ตัวอะไร’ พบในแหล่งน้ำจืดของประเทศไทย ทั้งที่จริงๆ แล้ว ปลาหมอสีคางดำมีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกา นั่นหมายความว่าปลาชนิดนี้ถูกนำเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องไม่ต่างจากปลาซักเกอร์ สัตว์น้ำถิ่นแอมะซอนที่เคยเป็นประเด็นทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำในไทยจนต้องมีมาตรการสั่งทำลาย (บางคนนำไปทำอาหาร) เพราะด้วยลักษณะนิสัยที่ดูดกินเศษอาหารตามซอกหิน ทำให้ปลาซักเกอร์เผลอดูดกินไข่ปลาในพื้นที่ไปด้วย

pla-mor-si-kang-dum-SPACEBAR-Photo02.jpg

แน่นอนว่าปลาหมอสีคางดำไม่ได้มีพฤติกรรมดูดกินเศษอาหารเหมือนปลาซักเกอร์ แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือมันเป็นปลานักล่า โดยส่วนใหญ่มักกินสัตว์น้ำวัยอ่อน เช่น กุ้งทะเล กุ้งกุลาดํา กุ้งขาวแวนนาไม และกุ้งแชบ๊วย นอกจากนี้ยังสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว สามารถวางไข่และฟักตัวได้ตลอดทั้งปี เฉลี่ย 1 ตัว วางไข่ได้คราวละ 150-300 ฟอง ใช้เวลา 4-6 วันในการฟักตัว เมื่อฟักตัวออกมาแล้ว ปลาเพศผู้จะดูแลตัวอ่อนในปากนานราว 2-3 สัปดาห์ 

ถ้าเป็นปลานักล่า ทำไมถึงมีคนนำมาปล่อยในประเทศไทย? 

ในช่องแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ชี้ที่มาของปลาว่าเริ่มต้นมาจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพี (CP) ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ตามการรายงานของ กสม. (สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า เมื่อปี พ.ศ. 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข

ปี พ.ศ. 2553 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) นำเข้าปลาหมอสีคางดำ  จำนวน 2,000 ตัว โดยมีศูนย์ทดลองอยู่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นปลาหมอสีคางดำได้ทยอยตายเกือบทั้งหมดภายใน 3 สัปดาห์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาโดยการโรยด้วยปูนขาวและแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา แต่ไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการหรือเก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไข

จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2555 มีการรายงานว่าได้พบกับปลาหมอสีคางดำอีกครั้งในจังหวัดสมุทรสงคราม จนถึงตอนนี้ปลาชนิดนี้ได้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว ทำลายระบบนิเวศของสัตว์น้ำไปมากมาย เพราะนอกจากจะออกไข่ได้เป็นจำนวนมากตามที่กล่าวไปข้างต้น ปลาหมอสีคางดำยังสามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม เกิดเป็นข้อสงสัยให้กับคนในประเทศว่า หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ไม่ได้จัดการทำลายปลาหมอสีคางดำจริงๆ?

เรื่องนี้นำมาซึ่งการอภิปราย “ปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอสีคางดำ” ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่  27 นำเรื่องโดย นายณัฐชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล

เข้าขั้นเป็นสัตว์น้ำผิดกฎหมาย 

ด้วยเหตุนี้ ปลาหมอสีคางดำจึงจัดอยู่ในประเภทสัตว์น้ำผิดกฎหมาย โดยกรมประมงอาศัยอำนาจตามมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้มีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่  9 มกราคม 2561 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2561 ซึ่งประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2561 

สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดพันธุ์ตามประกาศที่ห้ามมิให้บุคคลใดนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยงเว้นแต่ 

จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ได้แก่  

1. ปลาหมอสีคางดำ Sarotherodon melanotheron (RÜppell,1852) 

2. ปลาหมอมายัน Cichlasoma urophthalmus (GÜnther,1862) 

3. ปลาหมอบัตเตอร์ Heterotilapia buttikoferi (Hubrecht,1881)

pla-mor-si-kang-dum-SPACEBAR-Photo03.jpg

ดังนั้น ถ้าใครพบเจอในทางกฎหมายแนะให้ทำลายด้วยการทำให้ตายทันที และถ้าใครถูกจับได้ว่าเพาะเลี้ยง หรือเลี้ยงปลาหมอสีคางดำ จะต้องถูกปรับ 1 ล้านบาท จำคุก 1 ปี ปัจจุบันกรมประมงได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับปลาหมอสีคางดำ พร้อมกับวิธีรับมือ วิธีการลดจำนวน และวิธีการหลีกเลี่ยง ซึ่งสามารถอ่านได้ที่นี่

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์