อ้าวเฮ้ย! ‘Platonic Love’ ไม่เหมือนที่คิดไว้นี่นา ชวนรู้ความหมายดั้งเดิมว่าด้วยความรักและการเอาเปรียบ

19 มิ.ย. 2566 - 07:05

  • ‘Platonic Love’ คือคำศัพท์ที่มีความหมายว่า ‘ความรักบริสุทธิ์’ ที่ใช้นิยามกันเฉพาะความสัมพันธ์แบบฉันท์เพื่อน แต่แท้จริงแล้ว Platonic Love ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยนความดีให้แก่กัน แต่เป็นความสัมพันธ์แบบเอารัดเอาเปรียบที่ให้ผลประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว

platonic-love PRIDE-SPACEBAR-Thumbnail
‘Platonic Love’ คือศัพท์เฉพาะที่หลายคนเข้าใจว่าเป็น ‘ความรักบริสุทธิ์’ หรือ ‘ความรักที่ไม่มีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง’ บ่อยครั้งที่คำศัพท์นี้ถูกใช้นิยามความสัมพันธ์ของเพื่อนสนิทสองคนที่มีความเข้าอกเข้าใจกันมากๆ (ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นเพศไหนก็ตาม) เหมือนจะเป็นแฟนก็ไม่ใช่ น้อยกว่าแฟนก็ไม่เชิง แต่ที่แน่ๆ คือไม่มีเรื่องความรู้สึกทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างแน่นอน 
 
คำว่า ‘Platonic Love’ เป็นการรวบความหมายไว้ในคำเดียวจากการอธิบายเรื่องความรักของเพลโต (Plato) นักปรัชญากรีกโบราณ ที่กล่าวไว้ในงานเขียนของเขาเรื่อง ‘The Symposium’ ซึ่งความหมายของคำว่า ‘Platonic Love’ ที่ใช้กันในปัจจุบันทั้งในบริบทของการพูดคุย หรือปรากฎอยู่ในภาพยนตร์ จะว่าถูกต้องเสียทีเดียวไหมก็ไม่เชิงเสียทีเดียว  
 
เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าคำว่า ‘Platonic Love’ มีที่มาอย่างไร ความหมายที่แท้จริงคืออย่างไร และมีไว้นิยามเฉพาะความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนจริงหรือไม่?
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5nqrKxnWLpf0k7aP2LE1Y4/95df822f31fd8c9c5f0fc3fec95315ec/platonic-love_PRIDE-SPACEBAR-Photo01
The Symposium เป็นปรัชญานิยายในรูปแบบบทสนทนาที่เขียนขึ้นโดยเพลโต โดยเขาใช้ตัวละครหลักในการดำเนินบทสนทนาคือ โสกราตีส (Socrates) อาจารย์ของเขาเพื่อเป็นการอุทิศถึงปัญญาอันหลักแหลม ภายใน The Symposium เป็นการเล่าเรื่องวงงานเลี้ยงของอากาธอน (Agathon) หลังจากได้ชัยชนะในการแข่งขันประกวดบทละคร ในวงบทสนทนาประกอบไปด้วย ไฟดรอส (Phaedrus), ปาวซานิอัส (Pausanias), เอรูซิมาคอส (Eryximachus), อาริสโตฟาเนส (Aristophanes), อากาธอน (Agathon), โสกราตีส (Socrates) และอัลคิบิอาเดส (Alcibiades) ซึ่งหัวข้อหลักของวงบทสนทนาคือเรื่องความรัก  
 
ปัจจุบันงานเขียนของเพลโตมีลักษณะเป็นกึ่งนิยายกึ่งเอกสารทางประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เพลโตกล่าวไปในงานเขียนของเขามีความจริงมากน้อยแค่ไหน เพราะสารหลักที่เพลโตต้องการสื่อคือเรื่องแนวคิดทางปรัชญาเป็นหลัก ซึ่งใน The Symposium คือการแสดงความเห็นว่าด้วยความรัก 

Eros และ Philia

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/QjNGLjWrIRxvZC24zYIYT/133cf42c7d2e4cc63b046f2359cc2788/platonic-love_PRIDE-SPACEBAR-Photo02
ใน The Symposium เพลโตกล่าวถึงประเภทความรักที่แบ่งได้สองอย่างคือ ‘Eros’ ความรักที่สัมพันธ์กับอารมณ์ทางเพศ และ ‘Philia’ ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง สูงส่ง และไม่มีเรื่องความรู้สึกทางเพศมาเกี่ยวข้อง คำหลังเพลโตใช้คำนิยามว่าเป็น “ความสวยงามที่แท้จริง มีความละเอียดอ่อน สมบูรณ์ และซาบซึ้งปีติ” (the truly beautiful, and delicate, and perfect, and blessed - Symposium 204c)  
 
เพลโตเน้นย้ำว่าความสัมพันธ์นี้ต้องเกิดจากชายสองคน โดยแบ่งเป็นคำว่า ‘ผู้รัก’ (The Lover) และ ‘ผู้ถูกรัก’ (The Beloved) ผู้รักนั้นต้องอายุมากกว่า และมีสติปัญญาล้ำเลิศ ส่วนผู้ถูกรักต้องอายุน้อยกว่า และที่สำคัญคือต้องหน้าตาดี และสง่างาม   
 
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่าคอนเซปต์ความงามในยุคกรีกโบราณเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบมากที่สุด จะสังเกตได้จากงานสถาปัตยกรรมที่มีความสมมาตร และงานประติมากรรมรูปปั้นมนุษย์ที่เน้นสัดส่วนถูกต้อง แข็งแรง และกำยำ การที่ผู้ถูกรักมีลักษณะงดงามตามกรีกนิยมจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึก “ประหลาดใจจนร่างกายสั่นสะท้าน และมองผู้ถูกรักเป็นดั่งเทพเจ้า” (is amazed… and at first a shudder runs through him, and again the old awe steals over him; then looking upon the face of his beloved as of a god, he reverences him - Phaedrus 251a)  
 
เพลโตเชื่อว่าความสำคัญของผู้ถูกรัก คือการทำให้ผู้รักนำไปสู่ความดีงามแบบสมบูรณ์แบบได้ นี่จึงเป็นที่มาของทฤษฎี ‘The Ladder of Love’ หรือ ‘บันไดของความรัก’ ความรักสามารถทำให้คนคนหนึ่งเริ่มพัฒนาตนเอง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางด้านปัญญา (อันนำไปสู่การทำปรัชญา)  
 
การมีความรักคือการเข้าใกล้สู่ความดีงามทีละเล็กละน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจิตใจ หรือความรู้ ใครที่สงสัยว่าความรู้สึกนี้เป็นอย่างไร ให้ลองจินตนาการตอนที่ตัวเองมีความรัก มันเป็นช่วงเวลาที่มีความสุข แถมยังทำให้เกิดความรู้สึกอยากพัฒนาตัวเองอีกด้วย

สรุปแล้ว Platonic Love คืออะไร?

ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้คือแนวคิดเรื่องความรักของเพลโต ซึ่งจะว่าไปก็ไม่มีความใกล้เคียงกับความหมายของคำว่า ‘Platonic Love’ อย่างที่รู้กันเลยสักนิด ความรักแบบ Platonic Love ที่เข้าใจกันคือความรักที่แลกเปลี่ยนกันทางด้านจิตใจอย่างลึกซึ้ง มาร์ธา นุสบาม (Martha Nussbaum) นักปรัชญาชาวอเมริกันกล่าวว่า แนวคิดเรื่องความรักของเพลโตนั้น  จริงๆ เป็นเอารัดเอาเปรียบอยู่ฝ่ายเดียว คือฝ่ายผู้รัก ในขณะที่ฝ่ายผู้ถูกรักเป็นเพียงวัตถุสวยงาม เป็นสิ่งที่ถูกครอบครองโดยผู้รัก ความสัมพันธ์เช่นนี้ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบแลกเปลี่ยน (reciprocal) แต่เป็นความสัมพันธ์แบบเอารัดเอาเปรียบ (hierarchical)  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7C0GNEeS98U492pXf3Hj0C/e28e0bf3240feceed29cb1908b597df4/platonic-love_PRIDE-SPACEBAR-Photo03
มาร์ธา นุสบาม ยังกล่าวอีกว่าความสัมพันธ์ที่แลกเปลี่ยนกันจริงๆ คือมิตรภาพแบบสมบูรณ์แบบ (Virtue) ของอริสโตเติล (Aristotle) มากกว่า ซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบ ‘Philia’ ที่เคยกล่าวไปข้างต้น ในหนังสือเรื่อง ‘Rhetoric’ ของอริสโตเติลกล่าวว่าไว้ว่า 
 
“เราอาจกล่าวว่าความสัมพันธ์แบบลึกซึ้งฉันท์เพื่อน (Philia) เป็นการหวังให้อีกฝ่ายได้รับแต่สิ่งที่ดี ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อตัวเขา ส่วนเพื่อนที่แท้จริงก็คือคนที่ตอบแทนในแบบเดียวกัน” (Rhetoric, II.4) 
 
ดังนั้นแล้ว ความหมายของคำว่า ‘Platonic Love’ ถูกตีความห่างจากเดิมไปพอสมควร อันที่จริงเราควรใช้คำว่า ‘Aristotelian Love’ มากกว่า ‘Platonic Love’ เสียด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะเพลโตกล่าวถึงเรื่องความรักมากกว่านักปรัชญากรีกโบราณคนอื่นๆ  ทำให้เขากลายเป็นที่พูดถึงกันจนถึงปัจจุบัน และหลายคนมักหยิบแนวคิดของเขาแบบรวบย่อเป็นเพียง ‘ความรักที่ไม่มีความรู้สึกทางเพศ’ ทั้งที่จริงๆ มีแง่มุมที่ลึกลงไปมากกว่านั้น 
 
คำว่า Platonic Love เป็นคำที่ยังคงใช้กันในกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อแสดงถึงความรักที่ไร้พรมแดน ไม่จำกัดเพศ แถมเป็นความรักที่มอบให้กันด้วยความหวังดีแต่ไม่หวังผลประโยชน์ และไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ทางเพศ  ซึ่ง LGBTQ+ ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ‘Queenplatonic Relationship’ โดยมีความหมายไม่ต่างจากคำว่า Platonic Love ที่เคยเข้าใจกัน  
 
อย่างไรก็ตาม ปรัชญานั้นขึ้นชื่อว่าเป็นการถกเถียงกันเพื่อให้ได้คำตอบที่สมเหตุสมผลที่สุด และในบางทีด้วยบริบทของยุคสมัยอาจทำให้ศัพท์เฉพาะมีความหมายที่แปรเปลี่ยนไป เช่นเดียวกันกับคำว่า Platonic Love ที่แม้ว่าในอดีตจะมีความหมายอีกอย่าง แต่ด้วยกาลเวลาและสังคมทำให้ความหมายถูกหล่อหลอมไปพร้อมๆ กันกับผู้คนในแต่ละยุคสมัย  
 
เพราะปรัชญาที่ดีไม่ใช่การจมปลักกับอดีต แต่เป็นการต่อยอดจากอดีตเพื่อทำให้ปัจจุบันและอนาคตดีขึ้น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์