พูดคุยกับ ปลื้ม-ศุภวิชญ์ ศิลปะว่าด้วยตำนานไทอาหม โลกดิจิทัล และการเสื่อมสลาย

24 พฤศจิกายน 2566 - 06:11

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Hero.jpg
  • พูดคุยกับ ปลื้ม-ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ ศิลปินรุ่นใหม่ที่ถ่ายทอดเรื่องราวสะท้อนยุคสมัยผ่านปรัมปราคติของชาวไทอาหมสสู่การจัดแสดงงานที่ Clearing Gallery ในนิวยอร์ก

ผมกับปลื้มเกิดที่จังหวัดเดียวกัน นั่นคือจังหวัดอุบลราชธานี เราต่างคนจึงเป็นคนอีสานโดยกำเนิด แม้ว่าสายเลือดอาจไม่ใช่อีสานแท้ขนาดนั้น หลังจากผ่านช่วงวัยเด็กมาอย่างรวดเร็วเหมือนโกหก เห็นอีกทีผมก็รู้มาว่าปลื้มได้กลายเป็นจิตรกรวาดภาพ พร้อมกับมีงานส่งออกไปจัดแสดงอยู่ที่มหานครนิวยอร์กแล้ว โดยงานส่วนใหญ่ของเขา ‘ไม่มีคำนิยาม’ ว่าเป็นรูปแบบใด แต่พยายามถ่ายทอดและรวบรวมสิ่งที่เขามีอยู่ในตัวมาตลอดชีวิต นั่นคือวัฒนธรรมท้องถิ่นไทเดิมที่ผูกกับโลกดิจิทัล อันเป็นโลกยุคใหม่ที่มนุษยชาติกำลังหลงลืมอะไรบางอย่าง

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Nova Contemporary

ปลื้ม-ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ ศิลปินจากรั้วศิลปากรที่เคยจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวของตัวเองชุด ‘The Comet and The Nostalgic Souls’ ณ NOVA CONTEMPORARY รวมถึงจัดแสดงที่อาร์ตแฟร์ S.E.A. FOCUS 2023 ประเทศสิงคโปร์ ได้เข้าร่วมงาน Liste Showtime Online ส่วนหนึ่งของงาน Liste Art Fair Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และล่าสุดในงาน Art Jakarta ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17-19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองในช่วงนี้เลยไม่น้อย 

บางทีอาจเป็นชะตา จากที่เราพบเจอกันในโรงเรียนเดียวกัน ผมได้กลับมาเจอปลื้มอีกครั้ง จึงมีโอกาสพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางชีวิตระหว่างตัวปลื้มกับงานศิลปะ รวมถึงรากฐาน แนวคิด คอนเซปต์ หรือ setting ที่ปลื้มได้ตักตวงนำมาใช้กับงานศิลปะของตัวเองที่ทำเอาผมเองรู้สึกหวนคิดถึงแดนอีสานอีกครั้ง และตระหนักถึงความงดงามของความเชื่อของกลุ่มชนหนึ่งที่เรียกว่า ‘ไทอาหม’ กับการที่ปลื้มนำมาบอกเล่า สะท้อนถึงสภาวะความเป็นอยู่ของโลกยุคใหม่ที่คลาคล่ำไปด้วยข้อมูลและความเป็นดิจิทัล

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Photo02.jpg

ตำนานความเชื่อกับโลกดิจิทัล 

โปรเจกต์ที่น่าสนใจของปลื้มคือ ‘The Comet and The Nostalgic Souls’ ที่ถูกจัดแสดงใน NOVA CONTEMPORARY ไปแล้ว บนผืนผ้าใบขนาดน้อยใหญ่พรรณนาภาพแสงวาบในทรงละม้ายคล้ายกับดาวหาง ขณะเดียวกันบางภาพก็มีลักษณะคล้ายคลื่นวิญญาณ ปลื้มเล่าว่าผลงานทั้งหมดเป็นการเล่าเรื่องจากแนวคิดเดียวกันคือเรื่องอิทธิพลของเทคโนโลยีที่มีต่อมนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้เป็นเสมือนหัวเชื้อสำคัญที่ต่อยอดให้เกิดโปรเจกต์งานต่อๆ ไป จะว่าเป็นเหมือนหัวใจหลักก็ว่าได้ 

“ต้นกำเนิดจริงๆ มันมาจากการที่เราติด TikTok ติดโซเชียลมีเดีย แล้วเราก็คิดว่ามันทำงานกับเราและความรู้สึกยังไงบ้าง จนกลายเป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับการมองโลกดิจิทัลเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ของมนุษยชาติ เพราะว่าเราคิดว่าสิ่งที่อยู่ข้างหลังจอ (เทคโนโลยี) นั้นมันมหาศาลมากทำให้กาลและเทศะของเราถูกบิดเบือน เช่น ทำให้เรารู้สึกเหมือน 1 ชั่วโมง กลายเป็น 5 นาที หรือเวลาเรามีโปรไฟล์ แอคเคาท์ (ในโลกออนไลน์) เปรียบเหมือนโดนแบ่งร่างกาย สร้างร่างกายใหม่ในอีกโลกนึง ซึ่งคือโลกดิจิทัล ภายใต้เงื่อนไขอีกที่นึง”

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Photo03.jpg

“ตัวโปรเจกต์ The Comet เราจินตนาการถึงอนาคตที่ทุกอย่างถูกดูดหรือแปลงไปยังอีกโลกหรืออีกแบบหมดสิ้นแล้ว ซึ่งโลกใหม่นี้มีระบบดิจิตอลเป็นพื้นฐาน แล้วเราคิดเล่นๆว่า วิญญาณ หรือ.. สมมุติว่ายังคงอยู่ จะคงอยู่ในสภาพหรือรูปแบบไหน และสามารถระลึกชาติ หรือเชื่อมโยงถึงโลกรูปแบบก่อน (ทะลุออกมาจากโลกตอนนี้)ได้ไหม อย่างไร” 

“เราใช้ดาวหางถูกเอามาในเรื่องของจุดบกพร่องของโลกและระบบที่มันเกิดขึ้นอยู่ เพราะในตำราพื้นเมือง ดาวหางคือลางร้าย มันโคจรนานเกินกว่าที่คนในยุคก่อนจะสามารถบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรได้ นอกจากนี้เรายังใช้ในการมองขั้วตรงข้าม ข้างนอกข้างใน นอกโลกในโลก และก็อดีตอนาคต เพราะว่าดาวหางมีนัยยะเรื่องการปรากฎในอดีต และจะปรากฎในอนาคตด้วย”

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: Clearing Gallery

การสร้างท้องฟ้าของไทอาหม

หลายคนอาจไม่รู้จักกับชาวไทอาหมที่ปัจจุบันตั้งรกรากอยู่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย แม้ฟังดูห่างไกล แต่พวกเขาเกี่ยวดองกับชาวไทยเรามากกว่าที่คิด พวกเขาสืบสายมาจากกลุ่มชนที่พูดภาษาไทกะได (ขร้าไท) เหมือนกันกับเรา และยังมีวัฒนธรรมร่วมกับชาวอีสานในประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งสิ่งที่ปลื้มสนใจเกี่ยวกับชาวไทอาหมคือ ‘ตำนานดวงดาว’ อันเป็นปรัมปราคติ หรือจักรวาลวิทยาที่ถูกเล่าส่งต่อกันมา 

หลังจากเดินเข้าไปในบ้าน สอดส่องพื้นที่ที่กลายเป็นเหมือนสตูดิโอขนาดย่อม ปลื้มได้อธิบายคอนเซปต์ setting หลักๆ ของงานที่กำลังทำอยู่ ทั้งหมดเป็นการหยิบเรื่องราวความเชื่อ ปรัมปราคติท้องถิ่นของชาวไทอาหม เพื่อใช้เป็นเลนส์ในการมองโลกยุคใหม่ หรือการมีดวงดาวไว้ให้คนมอง เมื่อคนมองดวงดาวท้องฟ้าจึงรู้สึกถึงความเป็นหนึ่งกับจักรวาล ความโยงใยกับสิ่งอื่น แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิต เรากลับก้มหัว ถูกดูดด้วยสิ่งที่มีมวลอย่างยิ่งยวดด้านหลังจอสกรีน ซึ่งทำให้เทคโนโลยีเหล่านั้นได้เป็นเสมือนพระเจ้าองค์ใหม่ของมนุษยชาติไปเสียแล้ว

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Photo05.jpg

“ในปรัมปราไทอาหม ยุคแรกเริ่มนั้นโลกยังไม่มีท้องฟ้าและฝนตกเกิดลงมาเยอะเกิน ทำให้พื้นดินเป็นหนอง หนองน้ำ ต้นไม้พืชพันธุ์เลยขึ้นไม่ได้ พระเจ้าก็เลยสร้างแมงมุมทองสองตัวผัวเมียเพื่อสร้างท้องฟ้า” 

“พอสร้างเสร็จ แมงมุมทั้งคู่บินไปทางทิศเหนือสู่ สุดขอบที่เรียกว่าฟ้าเก้า คล้ายสวรรค์ ซึ่งเป็นดินแดนที่หนาวมากจนแมงมุมทั้งคู่ตาย พอมันตาย ร่างกายเลยเป็นสมุนไพรวิเศษ มีสรรพคุณหลายอย่าง มีการเปลี่ยนคนธรรมดาเป็นเทพ หรือจากการตายสู่เป็นอมตะ  ซึ่งตรงสมุนไพรก็เป็นจุดนึงที่เราเอามาใช้เหมือนกัน” 

“ดิจิทัลมันเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลอยู่แล้ว แต่เราอยากมองในเชิงจิตนิยม แบบการที่ก้มมองมือถือแล้วไม่ได้มองท้องฟ้าเลย มันทำให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งร่วมกับจักรวาลมันหายไป เราจึงอยากฟื้นฟูให้ความเชื่อมต่อนี้มันกลับมา เลยมีการเอาแมงมุมมาเล่า เอาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการฟื้นฟูเอาใช้ด้วย รวมถึงบายศรีมาเล่าในเชิง spiritual healing”

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Photo06.jpg

จากเด็กอุบลฯ สู่นิวยอร์ก 

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2023 แกลอรี NOVA CONTEMPORARY ได้นำผลงานของปลื้มไปแสดงที่แกลอรี Clearing นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในงาน ‘MADE IN THE DARK’ นิทรรศการร่วมกับศิลปินต่างประเทศท่านอื่นๆ นับว่าเป็นก้าวสำคัญสู่ระดับ Global ในฐานะศิลปินไทยรุ่นใหม่ 

“มันเป็นโอกาสที่รู้สึกโชคดีมากที่ได้รับ เป็นก้าวสำคัญที่งานได้เดินทางไปอยู่ในระยะทางไกลมาก ผู้ชมก็เป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนั้นอาศัยในบริบทที่เราก็แทบไม่รู้จัก คือรู้จักนิวยอร์กแค่ผ่านพวกหนัง ไม่รู้คนที่นั้นมีฟีลลิงตอนคุยกันยังไง มีเอนเนอจี้แบบไหน art scene เขาเป็นยังไง อันนี้ไม่เกี่ยวกับงานนะ แต่เกี่ยวกับที่อยากเอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้คนกับคน พองานเริ่ม ก็มีคนที่นั่นถ่ายรูปแล้วแทคหรือข้อความมาหา ก็ทำให้รู้สึกได้คอนเนคหรือแชร์อะไรกับคนที่อยู่ไกลมากๆ ผ่านงาน”

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Photo07.jpg

ปลื้มชื่นชอบในการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ไม่เคยคิดว่า ณ จุดหนึ่งในชีวิตตัวเองจะกลายเป็นศิลปินอาชีพ หรือได้มาเรียนในคณะจิตรกรรม หรือคาดฝันว่าตัวเองจะได้มีโอกาสแสดงผลงานที่ต่างประเทศเลยสักนิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็ยังมองว่าทั้งหมดเป็นเพียงการเริ่มต้น และยังมีอะไรหลายอย่างที่อยากทำ หนึ่งในนั้นคือการกลับไปเปิดทำแกลอรี-พื้นที่ศิลปะ ที่จังหวัดอุบลราชธานี 

“หลังจากที่เราเรียนจบ เรากลับไปที่อุบลและได้เห็นอะไรเกิดขึ้นเยอะ เจอร้านกาแฟเยอะมาก และก็เจอคนที่มีพลังพร้อมสร้างอะไรใหม่ๆ มีกิจกรรมมากขึ้น เราเลยรู้สึกอยากเข้าไปทำ เหมือนสถานที่เอาไว้พักผ่อนเพลิดเพลินไว้ดูงานศิลปะ เราคิดว่า (ที่อุบลฯ) มันไม่ค่อยมีอะไรแนวๆ นี้ให้ดู คนเลยไม่ได้รู้จักมากกว่า อารมณ์หนังในโรงหนังที่ฉายแค่บางที่”

pleum-supawich-interview-SPACEBAR-Photo08.jpg

สามารถชมผลงานของ ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ ได้ที่เว็บไซต์ supawichweesapen และ NOVA CONTEMPORARY

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์