









กระทรวงวัฒนธรรม จัดงานเฉลิมฉลองในโอกาสที่ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO: United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) ขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์ในประเทศไทย’ เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา
โดยมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตลอดจนคณะรัฐมนตรี, ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก ประจำประเทศไทย, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะทูตานุทูต ร่วมเป็นสักขีพยาน
ทันทีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางถึง ก็ได้รับการต้อนรับจากขบวนแห่กองยาว นำเข้าภายในงานอย่างคึกคัก พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังได้พูดคุยกับผู้สูงอายุอย่างอารมณ์ดี จากนั้นได้เข้านมัสการพระพรหมวชิรมุนี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ก่อนชมการแสดงมหาสงกรานต์จตุรทิศแผ่นดินไทย ของสถาบัณบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยมีไฮไลท์คือ แอนโทเนีย โพซิ้ว รองอับดับ 1 มิสยูนิเวิร์ส 2023 ที่มาในชุด ‘นางมโหธรเทวี’ (นางสงกรานต์ประจำปี 2567)
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีกับการขึ้นทะเบียน ‘สงกรานต์’ ประเพณีปีใหม่ไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ก่อนประกาศเจตนารมณ์รักษาและสืบทอดประเพณีสงกรานต์ พร้อมยืนยันเดินหน้าขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศอย่างจริงจัง โดยเตรียมจัดงานเทศกาลสงกรานต์ 2567 อย่างยิ่งใหญ่ตลอดเดือนเมษายน 2567 ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ เช่น มหกรรมดนตรี-อาหาร-ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้ ‘สงกรานต์’ ไม่ได้มีแค่การ ‘สาดน้ำ’ อีกต่อไป
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้สรงน้ำพระพุทธรูป, พระพรหมวชิรมุนี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม และรดน้ำขอพร สุรเดช วันทยา อาจารย์โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ซึ่งเป็นครูคนแรกของนายกฯ ที่สอนตอน 5 ขวบ
งานนี้ ยังมีสินค้าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ของกระทรวงวัฒนธรรม กว่า 30 ร้านค้า ตลอดจนร้านจำหน่ายอาหาร-ขนมไทย จากสภาวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ให้ผู้เข้าร่วมงานได้ชมและชิมอย่างเต็มอิ่ม พร้อมเพลิดเพลินไปกับการแสดงของวงดนตรีสุนทราภรณ์
สำหรับประเทศไทย ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ มาแล้ว 3 รายการ ได้แก่ โขน ในปี 2561, นวดไทย ในปี 2562, โนราห์ ในปี 2564 จนมาถึงล่าสุดประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย ที่ขึ้นทะเบียนในปี 2566