พูดคุยกับ ‘กร-ชลากรณ์ ปัญญาโฉม’ ถึงแนวดนตรีที่จะได้รับความนิยมในปี 2024 และการเติบโตของ T-Pop ในอนาคต

19 มกราคม 2567 - 06:00

pop-music-is-going-to-be-the-trend-in-2024-SPACEBAR-Hero.jpg
  • พูดคุยกับ ‘กร-ชลากรณ์ ปัญญาโฉม’ ผู้บริหารค่ายเพลง XOXO Entertainment บริษัท ทีป๊อป อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (บริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ กรุ๊ป) บริษัทเพลงน้องใหม่ไฟแรงที่มีศิลปินในสังกัดอย่าง 4EVE และ ATLAS ถึงทิศทางของแนวดนตรีที่จะได้รับความนิยม และการเติบโตของ T-Pop ที่อาจไปได้ไกลถึงระดับโกลบอล

‘เพลง’ คือ ศิลปะที่มีอิทธิพลต่อจิตใจและความรู้สึกของมนุษย์มาอย่างยาวนาน เพลงสามารถสื่อสาร ถ่ายทอดความคิดความรู้สึกผ่านท่วงทำนองได้อย่างน่าอัศจรรย์ บางเพลงทำให้รู้สึกเศร้า บางเพลงทำให้มองโลกสดใส และบางเพลงก็ทำให้หวนนึกถึงความทรงจำฝังใจในช่วงเวลาที่ผ่านมา ซึ่งเพลงในแต่ละช่วงเวลาก็จะมีแนวดนตรีและวิธีการเล่าเรื่องที่แตกต่างกันออกไป

หากมองย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เราจะพบว่าแนวดนตรีที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ แนวฮิปฮอป ในช่วงเวลานั้นหนึ่งในผลงานเพลงที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคงหนีไม่พ้น Drake-Hotline Bling (2015) เพลงฮิปฮอปสุดฮิตจากแร็ปเปอร์ชาวแคนาดาที่ครองอันดับต้นๆ บนชาร์ต Billboard Hot 100 ของสหรัฐอเมริกาอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเพลงแร็ป-ฮิปฮอปยอดนิยมจากงาน American Music Awards ประจำปี 2016 และยังได้รับชัยชนะถึงสองครั้งจากงาน Grammy Awards ประจำปี 2017 สาขาเพลงแร็ปยอดเยี่ยม และการแสดงแร็ปยอดเยี่ยมอีกด้วย

นอกจากการยึดครองพื้นที่ของดนตรีฮิปฮอปในวงการเพลงข้างต้น เรายังพบว่าในช่วงเวลานั้นแม้กระทั่งพื้นที่สื่อโทรทัศน์ก็ยังเต็มไปด้วยแนวเพลงนี้ เห็นได้จากรายการประกวดแข่งขันประชันแร็ปมากมาย เช่น Show Me the Money (2012) ของประเทศเกาหลีใต้, ช่วง Beat Battle ในรายการ The Tonight Show Jimmy Fallon (2015) และ The Rapper (2018) ของประเทศไทย เป็นต้น ทำให้เราสามารถยืนยันได้อย่างมั่นใจว่าในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ‘ดนตรีฮิปฮอป’ คือเทรนด์ดนตรีที่ผู้คนทั้งโลกให้ความสนใจ

pop-music-is-going-to-be-the-trend-in-2024-SPACEBAR-Photo01.jpg

หลังจากยืนระยะมาอย่างยาวนาน ในปี 2023 ที่ผ่านมา ดูเหมือนเทรนด์ดนตรีที่ผู้คนสนใจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จะเห็นได้ว่าเพลงป็อบเริ่มมีปริมาณมากขึ้นและกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดย NME หรือ The New Musical Express เว็บไซต์ชั้นนำของวงการบันเทิงทั้งเพลง ซีรีส์ ภาพยนตร์ และเกมของประเทศอังกฤษได้ทำบทวิเคราะห์และรวบรวมสถิติการฟังเพลงของผู้คนไว้อย่างน่าสนใจ

อย่างที่ทราบกันดีว่าในปี 2023 เป็นปีที่ผู้คนหันมาให้ความสนใจแพล็ตฟอร์ม TikTok กันมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ทรงอิทธิพลที่กำหนดกระแสต่างๆ ในสังคมด้วย โดยจากผลการวิจัยพบว่าเพลงที่ครองอันดับหนึ่งบนชาร์ต Billbord Hot 100 กว่า 13 เพลงล้วนเกิดจากการเป็นไวรัลบนแพล็ตฟอร์มนี้มากก่อน ซึ่งเพลงที่ได้รับการนำไปใช้ประกอบวิดีโออันดับต้นๆ ได้แก่เพลง Collide เพลงป็อปจังหวะนุ่มๆ ของ Justine Skye ft Tyga และเพลงป็อปชวนเต้นจากศิลปินเกาหลีใต้อย่าง Cupid (Twin Ver.) ของวง FIFTY FIFTY อีกด้วย

pop-music-is-going-to-be-the-trend-in-2024-SPACEBAR-Photo02.jpg

กลับมาในฝั่งของประเทศไทย นอกจากปรากฏการณ์ ‘ทรงอย่างแบด’ ของคู่หูดูโอ้ Paper Planes ที่ครองใจวัยรุ่นฟันน้ำนมแล้ว เพลงที่ได้รับความสนใจและถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องคือเพลง เลือดกรุ๊ปบี- เอิ๊ก ชาลิสา และเพลง ดาวหางฮัลเลย์-Fellow Fellow ซึ่งนอกจากสองเพลงนี้ในฝั่งของศิลปินกลุ่มอย่าง 4EVE, ATLAS, PiXXiE และ PROXIE เองก็เป็นที่น่าจับตามองไม่แพ้กัน สังเกตได้จากการจัดเพลย์ลิสต์เพลงไทยน่าฟังของ Spotify และการยึดครองพื้นที่สื่อทั้งทางออนไลน์และทางโทรทัศน์ของทุกวง 

“ผมคิดว่า เพลงป๊อป จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในปี 2024 ในขณะที่ทางฝั่งของคนทำดนตรีร็อกเองก็มีความคิดที่จะพาแนวเพลงของเขากลับ
มาเช่นกัน ตอนนี้ก็รอลุ้นอยู่ว่าหลังจากวง Paper Planes และ Three Man
Down แล้ว วงร็อกหน้าใหม่ๆ วงไหนจะเติบโตขึ้นมาอีกเพื่อให้วงการเพลงร็อกกลับมาคึกคักขึ้น คล้ายๆ กับที่ตอนนี้ทางศิลปินป๊อป ค่อนข้างคึกครื้น ชวนให้นึกถึงช่วงที่ ฮิบฮอปบูมที่เราจะเห็นศิลปินแร็ปเปอร์มากหน้าหลายตา” 

‘กร-ชลากรณ์ ปัญญาโฉม’ ผู้บริหารค่ายเพลง XOXO Entertainment บริษัท ทีป๊อป อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด  (บริษัทในเครือเวิร์คพอยท์ กรุ๊ป)  บริษัทเพลงน้องใหม่ไฟแรงที่มีศิลปินในสังกัดอย่าง 4EVE และ ATLAS ได้ให้คำตอบกับเราอย่างน่าสนใจ พร้อมพาย้อนมองอดีตที่เคยทำให้วงการเพลงไทยโกอินเตอร์ไปถึงต่างประเทศ

pop-music-is-going-to-be-the-trend-in-2024-SPACEBAR-Photo03.jpg

ย้อนกลับไปในอดีต หลายครั้งหลายคราที่ศิลปินของประเทศไทย ‘เกือบ’ ได้เป็นที่รู้จักของคนต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นวงทีโบนส์ที่เคยได้ไปแสดงสดที่ Glastonbury  เทศกาลดนตรีและการแสดงบนผืนหญ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือ มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล ที่เคยได้ไปแสดงคอนเสิร์ตบนเวที Coachella งานเทศกาลดนตรีและศิลปะประจำปีของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และสร้างปรากฏการณ์ข้าวเหนียวมะม่วงจนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้นกระแสที่วงการเพลงไทยได้รับความสนใจกลับคงอยู่แค่ช่วงเวลาสั้นๆ 

“ทุกครั้งที่เราพาศิลปินไปแสดงที่ต่างประเทศ เรามักจะได้กระแสตอบรับที่ดีกว่าที่คิดเสมอ ตอนแรกเราคิดว่าเขาคงไม่ได้รู้จักเราด้วยซ้ำ แต่พวกเขาก็สามารถร้องเพลงของศิลปินเราได้แม้่จะอยู่ในภาษาที่ต่างกันก็ตาม มันทำให้เรารู้สึกดีใจมากที่ศิลปินของเราเป็นที่รู้จัก แต่ถึงอย่างนั้นกระแสที่เกิดขึ้นในต่างประเทศก็ไม่ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปในทางที่ควรจะเป็น” 

“ส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้นอาจเพราะเราไม่ได้สร้างกระแสอย่างต่อเนื่อง” เขาเสริม “จำนวนวงศิลปินของเราก็ยังน้อยไป มันเลยไม่ตู้มต้าม Glastonbury ไปแสดงกลับมาแล้วก็หายไป Coachella ได้ไปจนกลับมาแล้วก็เงียบไป ถ้าเราอยากให้เป็นกระแสเราต้องส่งออกศิลปินอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นประเทศเกาหลีใต้ที่เขามักจะจัดแสดงต่อกันเป็นตับ หรือสมัย Britpop อย่าง Oasis หรือ Blur เขาก็มาเป็นตับเช่นกัน พอเราไม่ทำอย่างนั้นมันเลยทำให้อุตสาหกรรมเพลงของเรายังไม่แข็งแรงพอ”

pop-music-is-going-to-be-the-trend-in-2024-SPACEBAR-Photo04.jpg

เมื่อเขาพูดเช่นนั้น เราจึงเผลอคิดย้อนกลับไปถึงยุคที่วงการเพลงป๊อปไทยรุ่งเรืองที่สุดอย่างยุค Kamikaze ที่ก็มีวงดนตรียิบย่อยเยอะเช่นกัน แต่เหตุใดในช่วงเวลานั้นจู่ๆ ความรุ่งเรืองก็หายไป 

“ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ทำให้ศิลปินเหนื่อย คือช่วงหลังง MP3 มันเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมน่าจะสับสนว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะว่าเมื่อก่อนเราทำเทป แล้วมาซีดี แต่พอมีการก๊อปแผ่นผี หรือโหลดเพลงฟังออนไลน์ก็ทำให้ค่ายเพลงไม่มีรายได้ ทำออกมาก็ไม่รู้จะหาเงินจากไหน เขาก็เลยต้องหยุดทำกันมากกว่า”

ซึ่งในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ก็ได้รับการแก้ไขและเริ่มมีช่องทางที่เอื้ออำนวยต่อคนทำเพลงและสร้างรายได้มากขึ้นจนทำให้วงการเพลงเริ่มกลับมาคึกคักจนการแข่งขันในวงการสูงขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2022 มีเพลงเกิดใหม่วันละะ 10 เพลง และปี 2023 มีถึง 15 เพลงต่อวัน

“พอพื้นที่ทางดนตรีมันมีการแข่งขันสูงขึ้น เราก็ต้องหาพื้นที่ให้เพลงเหล่านี้เข้าหาคนฟังได้มากขึ้น อย่างแต่ก่อนที่เรารู้สึกว่าวงการดนตรีมันคึกคักเพราะมันมีพื้นที่เผยแพร่อย่าง 7 สีคอนเสิร์ต รายการ Channel (V) หรือกามิกาเซ่คลับ แต่ตอนนี้รายการเหล่านี้ได้หายไป เราเลยสร้าง T-Pop Stage เพื่อเป็นรายการสำหรับให้พื้นที่ศิลปินได้โปรโมต และแฟนๆ ได้เข้าถึงง่ายอีกครั้ง โดยหวังว่านี่จะเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้วงการกลับมาคึกคักเช่นในอดีต”

“ซึ่งนอกจากแนวเพลงป๊อปที่จะเติบโต ผมและคนในวงการเพลงฝั่งต่างประเทศก็เห็นตรงกันว่า วัฏจักรทางดนตรีอาจวนมาถึงเวลาของ 'วงการเพลงไทย' ในที่สุด เราต่างเติบโตมาในยุคที่เพลงอเมริกัน-ป๊อปอย่าง ไมเคิล แจ็คสัน ดังเปรี้ยงปร้าง ช่วงเวลาต่อมาก็เป็น J-pop และ J-rock อยู่พักนึง แล้วก็ไป Britpop วนเวียนมาถึง K-pop ตอนนี้ก็แอบหวังว่าอยากให้เป็นโอกาสของเราบ้าง”

จากการพูดคุยและสรุปจากข้อมูลที่ได้รับ คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าปี 2024 นี้จะยังคงเป็นอีกปีที่รุ่งเรืองของดนตรีป๊อป ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งยุโรป เกาหลีใต้ หรือในประเทศไทยเองก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองก็คือในปีนี้ ‘T-Pop’ จะยึดครองพื้นที่ทางดนตรีระดับโลกได้สำเร็จหรือไม่ คุณผู้อ่านทุกคนที่กำลังอ่านอยู่ขณะนี้คิดว่าอย่างไร และคิดว่าใครจะเป็นคนพาเราไปพิชิตจุดนั้นได้ มาลองทำนายกัน!

pop-music-is-going-to-be-the-trend-in-2024-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์