ชวนอ่าน ‘โปโปล วูค์’ ตำนานศักดิ์สิทธิ์ของชาวมายา ผลงานการแปลของ ดร. ภาสุรี ลือสกุล

29 มิถุนายน 2566 - 07:28

popol-vuh-pasuree-luesakul-book-SPACEBAR-Thumbnail
  • รองศาสตราจารย์ ดร. ภาสุรี ลือสกุล เปิดตัวหนังสือแปลเล่มใหม่ ‘โปโปล วูค์: ตำนานศักดิ์สิทธิ์ของชาวมายา’ หนึ่งในตำนานเรื่องราวเทพปกรณัมมายาที่หลงเหลืออยู่มาถึงปัจจุบัน

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4D4Gm7zea6Tv1sLvzngWBl/8b6e97f0938fd034e65570ce806a9705/popol-vuh-pasuree-luesakul-book-SPACEBAR-Photo_V02
ฮูนัคปู (Hunahpu) และชาบาลังเก้ (Xbalanque) ถูกเชิญให้ไปเล่นบอลบนโลกใต้พิภพ โดยเจ้าแห่งความตาย ชิบัลบา (Xibalba) ณ ที่นั้นสองวีรบุรุษของชาวมายาต้องฝ่าฟันอุปสรรคปัญหามากมาย แม้ความตายก็ต้องเผชิญ นี่คือเรื่องราวแสนย่อของตำนานโปโปล วูค์ หนึ่งในเรื่องราวเทพปกรณัมมายาที่หลงเหลือเป็นเล่มสุดท้ายจากเงื้อมมือชาวสเปน ซึ่งตอนนี้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยโดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภาสุรี ลือสกุล ในชื่อหนังสือ ‘โปโปล วูค์: ตำนานศักดิ์สิทธิ์ของชาวมายา’  

โปโปล วูค์ เป็นเรื่องราวที่สำคัญของชาวมายาโบราณ มีนัยยะบอกเล่าในบริบทเชิงประวัติศาสตร์ต่างๆ มากมาย อีกทั้งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับนักประวัติศาสตร์ที่พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ สภาพสังคม และค่านิยมของชาวมายาโบราณในสมัยนั้น เช่น ตำนานการสร้างโลก การเล่นบอลที่เป็นเรื่องของพิธีกรรมมากกว่าเกมกีฬา การสร้างมนุษย์ด้วยข้าวโพดอันแสดงถึงความสำคัญของเกษตรกรรมและอาหาร เหตุการณ์ที่สามารถชี้ถึงสภาพภูมิอากาศในเมโสอเมริกา เป็นต้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5KmiXrc5PWcFodfXThK6yr/cced734aca900cb95f40be330b401642/popol-vuh-pasuree-luesakul-book-SPACEBAR-Photo01
ดร. ภารุสรี ลือสกุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้เคยมีผลงานหนังสือ ‘สัจนิยมมหัศจรรย์ในลาตินอเมริกา: ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วรรณกรรม’ และ ‘วรรณกรรมละตินอเมริกา 5 ศตวรรษ: จินตนาการ พื้นที่ และชนชายขอบ’ และผลงานแปล เช่น ‘สุดขอบโลกที่ฟินิสแตร์เร  (Finisterre)’ ของ มาเรีย โรซา โลโฆ (María Rosa Lojo)  

สำหรับหนังสือโปโปล วูค์ นั้น อาจารย์ภาสุรีออกมาพูดถึงความยากลำบากเกี่ยวกับการแปลหนังสือเล่มนี้ และมีความรู้สึกท้อแท้บ่อยครั้งจนเกือบยกเลิกการแปลไป เกือบเรียกได้ว่าเป็นงานที่ยากที่สุดในบรรดางานวิชาการที่ทำมา โดยงานแปลครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถานทูตกัวเตมาลาในการหาต้นฉบับ โปโปล วูค์  

ในกระบวนการแปล อาจารย์ภาสุรีต้องอาศัยศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องโปโปล วูค์ และการแปลบริบทภาษากิเช่ (k'iche) ภาษาท้องถิ่นของชาวกิเช่ หรือชาวมายาที่อาศัยในเขตไฮแลนด์ (highland) ประเทศกัวเตมาลาในปัจจุบัน และอาศัยต้นฉบับภาษาที่สามทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ ต้นฉบับภาษาสเปน 2 ฉบับ และภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ แปลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษากิเช่ โดยสาเหตุที่ต้องอาศัยต้นฉบับทั้ง 4 เล่ม เพราะการแปลหนึ่งเล่มอาจมีบริบทภาษาที่หายไป จึงต้องมาเทียบกัน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3zcNSE9hIrFWpCg0JvzMIP/4621f4ec9d4da726fe6816f8e1058191/popol-vuh-pasuree-luesakul-book-SPACEBAR-Photo_V03
Photo: ต้นฉบับภาษากิเช่ถอดการออกเสียงด้วยอักษรลาติน Photo: Wikimedia
ทั้ง 4 ต้นฉบับภาษาที่สาม เป็นการแปลมาจากต้นฉบับภาษากิเช่โบราณที่เขียนเป็นอักษรลาตินโดยบาทหลวงชื่อ ฟรานซิสโก ฆิมาเนส (Franciso Ximanes) บาทหลวงชาวโดมินิกัน เป็นต้นฉบับที่มีความสำคัญมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาต่างประเทศ เมื่อปี ค.ศ. 1857 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยกลุ่มชาวออสเตรียที่สนใจในประเทศแถบอเมริกากลาง ก่อนจะมีการนำไปแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส และถูกขายทอดตลาดจนมาจบที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 

อาจารย์ภาสุรีทุ่มเทให้กับหนังสือเล่มนี้เพราะถือเป็นเล่มในใจที่อยากแปลมานานแล้วตั้งแต่เข้ามาสนใจเรื่องอารยธรรมเมโสอเมริกา และได้ นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจไทยร่วมสมัยมาช่วยออกแบบปกให้ นับว่าเป็นหนังสือที่มีความใส่ใจทั้งในด้านเนื้อหา และการออกแบบ  

ใครที่สนใจอยากลองศึกษาเกี่ยวกับตำนานความเชื่อของชาวมายาผ่านเรื่องราวของสองวีรบุรุษ สามารถซื้อหนังสือ ‘โปโปล วูค์: ตำนานศักดิ์สิทธิ์ของชาวมายา’ ได้แล้วที่ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือผ่านเว็บไซต์ artschulabooks

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์