145 ปี B. Grimm การแสดงเดี่ยวของ Jasmine Choi ร่วมกับ RBSO ในคืนสุดพิเศษ

20 ก.ย. 2566 - 07:51

  • มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ หรือ RBSO จัดการแสดงในค่ำคืนสุดพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 145 ปี Celebrating B. Grimm โดย แจสมิน ชอย (Jasmine Choi) นักเดี่ยวฟลูตจากประเทศเกาหลีใต้

rbso-jasmine-choi-SPACEBAR-Hero.jpg

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2023 มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกซิมโฟนีออร์เคสตร้าฯ (Royal Bangkok Symphony Orchestra หรือ RBSO) ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ร่วมกับ บี.กริม ร่วมกันจัดการแสดงในค่ำคืนสุดพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 145 ปี Celebrating B. Grimm โดย แจสมิน ชอย (Jasmine Choi) นักเดี่ยวฟลูตจากประเทศเกาหลีใต้ บรรเลงร่วมกับวง RBSO โดยมีผู้อำนวยเพลงรับเชิญชาวสเปน โทมัส กรอว์ (Tomàs Grau) เป็นวาทยากร แสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

rbso-jasmine-choi-SPACEBAR-Photo01.jpg

บทเพลงแรกที่ได้หยิบมาบรรเลงสำหรับการเริ่มต้นการแสดงค่ำคืนนี้คือ Cuban Overture จาก George Gershwin เดิมชื่อ Rumba บทประพันธ์ชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นแรกที่เจอร์ชวินแต่งขึ้นโดยใช้หลักการของ ชิลลิงเกอร์ (Schillinger System) ซึ่งเป็นวิธีการแต่งเพลงโดยใช้วิธีการทางคณิตศาสตร์ จัดแจงสัดส่วนต่างๆ ของเพลงอย่างเป็นระบบ โดยเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจจากตอนที่เขาได้ไปเยือนเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคิวบาอย่างกรุงฮาวานา เขาได้พยายามผสานจังหวะเพลงแบบคิวบาและสไตล์การแต่งเพลงของเขาเข้าด้วยกัน ตลอดทั้งเพลงจะมีจังหวะเร้าใจ สนุกสนาน มิติซับซ้อน และ ชัดเจน ตามแบบฉบับของเพลงเต้นรำคิวบา เจอร์ชวินได้เขียนกำกับชัดเจนว่าให้ผู้เล่นเครื่องดนตรีหลักสี่ชนิดของคิวบาคือ claves (กรับ), maracas (ลูกซัด), guiro (ไม้ครูด), and bongos (กลองบองโก) ยืนบรรเลงบริเวณด้านหน้าสุดของวงอีกด้วย

rbso-jasmine-choi-SPACEBAR-Photo02.jpg

บทเพลงต่อมา ถือว่าเป็น Flute Concerto ชื่อดัง จาก Aram Khachaturian ซึ่งได้รับการขนานนามเรื่องความยากในการเล่น เพราะแต่เดิม concerto ชิ้นนี้ได้ถูกประพันธ์ขึ้นสำหรับ Violin Concerto และถูกนำมาประพันธ์ใหม่ (Re-arrange) เป็น Flute Concerto โดย Jean-Pierre Rampal ซึ่งมีความยาวในระดับเกือบ 40 นาที สำหรับไวโอลินแล้วคงเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับการบรรเลงโดยฟลูตแล้วถือเป็นเรื่องยาก เพราะยาวกว่าความยาวของ Flute Concerto ทั่วไปถึงสองเท่า ทำให้การลำดับสัดส่วนและการแบ่งประโยคในการบรรเลง (Phrasing) เป็นเรื่องที่ยากมาก 

การแสดงในค่ำคืนสุดแสนพิเศษในโอกาสครบรอบ 145 ปี B.Grimm ได้รับเกียรติจาก แจสมิน ชอย (Jasmine Choi) นักเดี่ยวฟลูตที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสิบ Top 10 Greatest Flutist in History จัดอันดับโดยนิตยสาร Sinfini ของประเทศอังกฤษในปี 2015 มาเป็น Soloist สำหรับ Khachaturian Flute concerto ในครั้งนี้

rbso-jasmine-choi-SPACEBAR-Photo03.jpg

ท่อนแรกของเพลงเริ่มด้วยลักษณะดนตรีที่มีความดุดัน ชัดเจน Allegro con fermezza เล่นล้อโต้ตอบกันระหว่าง Soloist และ กลุ่มเครื่องเป่าลมไม้ (Woodwinds) ที่นำโดยการ duet ระหว่างฟลูตและคลาริเนท จึงกลับไปย้อนทวนทางเพลงหลักก่อนจบท่อน ท่อนที่สอง แนวเพลงมาในรูปแบบแรปโซดี (Rhapsody) ท่อน Andante sostenuto มีฐานแนวเพลงที่ได้แรงบันดาลใจมาจากดนตรีพื้นเมืองอาร์เมเนียน มีชื่อว่า Ashugs ดนตรีมีความเป็นอิสระ ไม่มีรูปแบบแน่นอน สะท้อนบรรยากาศพื้นเมือง มีความเชื่องช้า เนิบนาบ ผ่อนคลาย ท่อนที่สาม ท่อนสุดท้ายของ Concerto บทนี้ Allegro vivace เป็นการดึงธีมมาจากธีมย่อยที่สองของท่อนแรก ได้แรงบันดาลใจมาจากดนตรีสำหรับการเต้นระบำพื้นเมืองของชาวอาร์เมเนียน

rbso-jasmine-choi-SPACEBAR-Photo04.jpg

ตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากความยากที่หนึ่งคือ Khachaturian Flute concerto เป็นบทเพลงที่ขึ้นชื่อว่ายากมหันต์แล้ว แจสมินเองได้ใช้ Straubinger Gold Flute เป็นฟลูตทองคำที่เนื้อของชิ้นส่วนจะมีความแน่น และหนักกว่าฟลูตทั่วไป ฟลูตทองคำจะต้องใช้พลังในการเล่นมากกว่าฟลูตเงิน หรือฟลูตนิคเกิ้ล แจสมินก็ยังเปล่งเสียงฟลูตที่ทรงพลังออกมาได้อย่างไร้ที่ติ ยากที่จะหาจุดบกพร่องได้ และตามธรรมเนียมปฏิบัติ เมื่อ Soloist ได้บรรเลงออกมาได้อย่างสุดยอดแล้ว ผู้ชมทั้งฮอลล์ก็ได้ต่างปรบมือจนกึกก้องยาวนานจนแจสมินต้องแสดง Encore ให้ฟังตามระเบียบ หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือเพลงแถมจากนักดนตรีนั่นเอง เพลงที่แจสมินหยิบขึ้นมาเล่นให้ฟังในช่วงนี้คือ The Great Train Race จาก Ian Clarke ซึ่งก็ถือเป็นเพลงเดี่ยวฟลูตที่ยากที่สุดเพลงหนึ่งเช่นกัน แทบทั้งเพลงจะเป็นการเน้นการโชว์เทคนิคยากๆ และการควบคุมลมหายใจที่ถือว่าเลยขั้น Intermediate ไปอีก เสียง Solo ที่ทั้งมีสุ้มเสียงที่ใสและกังวาลกว้างของแจสมิน ได้แผดดังไปทั่ว concert hall แห่งนี้ ถือเป็นค่ำคืนที่น่าจดจำอย่างยิ่ง สำหรับผู้ชมและนักฟลูตมากหน้าหลายตาที่ได้มาชมการแสดงครั้งนี้

_MG_0187.jpg

เพลงสุดท้ายในค่ำคืนนี้คือ Pictures at an Exhibition โดย Modest Mussorgsky นักประพันธ์ชาวรัสเซียในช่วงยุคโรแมนติค เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นเพื่อไว้อาลัยแด่เพื่อนจิตรกรของเขา วลาดิเมีย ฮาร์ทแมน (Vladimir Hartmann) ที่จากไปด้วยอายุเพียง 39 ปี ซึ่งกำลังเป็นช่วงที่โด่งดังและได้รับความนิยมของเขาอยู่ ในงานไว้อาลัยของฮาร์ทแมนได้มีการจัดแสดงผลงานของเขาด้วย มูซอร์กสกีได้ตัดสินใจแต่งเพลงจากการได้รับชมผลงานของเพื่อนเขาในครั้งนั้น Pictures at an Exhibition เป็นบทเพลงชุดที่ประกอบด้วย 10 บทเพลงหลัก 5 บทเพลงคั่นที่ล้วนมีทำนองเดียวกัน บทเพลงต้นฉบับประพันธ์ขึ้นสำหรับเดี่ยวเปียโน จนกระทั่งในปี 1874 มีนักประพันธ์เพลงหลายคนได้นำไปเรียบเรียงใหม่หลายฉบับ แต่ฉบับที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ถูกประพันธ์โดย Maurice Ravel นักประพันธ์เอกชาวฝรั่งเศส ประพันธ์ขึ้นสำหรับวงออร์เคสตรา เป็นฉบับที่นำมาแสดงปิดท้ายในค่ำคืนนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์