รีวิวภาพยนตร์ “Red Life” สำรวจหัวใจอันเว้าแหว่ง ของคนที่ท้องไม่เคยอิ่ม

2 พ.ย. 2566 - 12:00

  • เกริ่นก่อนว่า เมื่อได้รับรู้แนวทางและพลอตเรื่องของ “Red Life” ผู้เขียนก็รู้สึกชื่นชมและตั้งตารอภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่น้อย เนื่องจาก “Red Life” นับเป็นภาพยนตร์ไทยอีกเรื่องที่หาญกล้าจะหยิบจับประเด็นที่ท้าทายรสนิยมการชมภาพยนตร์ของคนดูชาวไทย อย่างเรื่องราวชีวิตรักอันแสนบัดซบของคนที่ถูกทอดทิ้ง ออกมาถ่ายทอดในสถานการณ์ที่ การทำหนังไทยซักเรื่อง แทบจะไม่ต่างจากการออกเรือเล็กๆ ฝ่ามรสุมโดยไม่มีการสนับสนุนใดๆ มากนัก เรือลำไหนจะล่มหรือจะรุ่งแทบจะเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้เลย

  • แต่หลังจากผ่านเวลา 2 ชม. ในโรงภาพยนตร์ ผู้เขียนก็ได้ถึงบางอ้อคลายข้อสงสัยข้างต้นไปเสียสิ้น (มาจากการคิดเองเออเอง) เพราะในทัศนะของผู้เขียนคิดว่าการออกเรือครั้งนี้ของ “Red Life” มันเป็นการล่องเรือที่กัปตันของพวกเขามีเป้าหมายปลายทางชัดเจน และน่าจะมั่นใจในฝีมือของลูกเรือทุกฝ่ายไม่น้อย

  • แต่ในขณะเดียวกัน การกำหนดเป้าหมายปลายทางที่ชัดเจน บางทีก็อาจจะทำให้ตัวภาพยนตร์ที่ดูจะมีองค์ประกอบอันสมบูรณ์แบบที่เรียกง่ายๆ ว่าส่งประกวดได้แบบไม่อายใคร มันดันขาดบางสิ่งบางอย่างไป บางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เราหลงรักภาพยนตร์ซักเรื่องแม้มันจะมีแผลเหวอะหวะเพียงใดก็ตาม

Redlife-Review-SPACEBAR-Hero.jpg

“Red Life” เล่าเรื่องราวอันเกี่ยวรัดพัดวันของชีวิตเล็กๆ หลายชีวิตในสถานที่ชวนพิศวงอย่าง “วงเวียน 22” ผ่านเลนสายตาของตัวละคร “ส้ม” (สุพิชชา สังขจินดา) วัยรุ่นสาว ที่มีแม่เป็นโสเภณีขายตัวเพื่อส่งลูกสาวไปเรียนที่หรูๆ จนทำให้ความแตกต่างระหว่างสังคมทั้งสองแห่ง ทิ่มแทงจนบาดแผลในใจของส้มมันลึกลงเรื่อย ๆ จนเธอวาดฝันว่าซักวันหนึ่ง “ความรัก” จะพาเธอออกไปจากสถานะอันเลวร้ายนี้ แล้ววันหนึ่ง “พีช” (สุมิตตา ดวงแก้ว) สาวรุ่นพี่สุดลึกลับก็เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปตลอดกาล ซึ่งตัดมาที่อีกฟากภายในวงเวียนแห่งเดียวกัน “เต๋อ” (ธิติ มหาโยธารักษ์) โจรกระจอกย่านสถานีรถไฟ ก็กำลังพยายามอย่างหนักในวิถีทางของตนเอง เพื่อหวังว่าวันหนึ่งเขาจะพา “รักแท้” อย่าง “มายด์” (กานต์พิชชา พงษ์พานิชย์) โสเภณีวัยรุ่น ออกไปจากวังวนชีวิตอันน่าขยะแขยงนี้

Redlife-Review-SPACEBAR-Photo01.jpg

*ย่อหน้าต่อไปนี้อาจเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 

นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่นๆ ที่ถูกเติมเข้ามา เพื่อสะท้อนสภาพชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ดิ้นรนหาเช้ากินค่ำอยู่ในซอกหลืบของสังคมไทย ที่ความหมายของคำว่า “ความรัก” ของพวกเขามันแตกต่างออกไป บ้างใช้ความรักเป็นแรงผลักดันเพื่อปีนป่ายจากหลุมให้มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่สุดท้ายแล้วไม่ว่าแรงผลักดันของคุณจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าหลุมที่คุณอยู่มันลึกขนาดไหนต่างหาก และยิ่งหากคุณใช้ความรักเป็นแรงผลักดันในสถานการณ์ที่มันยากลำบากมากๆ มันยิ่งก่อให้เกิดเรื่องราวอันน่าพิศวง ความรักของพวกเขาบางครั้งมันประหลาด บางครั้งมันก็งดงาม แต่ส่วนมากลงเอยด้วยความน่าเศร้าจับจิต ราวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ได้พาเราไปสำรวจหัวใจอันเว้าๆ แหว่งๆ ของบรรดาคนที่ท้องของพวกเขาไม่เคยอิ่ม

Redlife-Review-SPACEBAR-Photo V01.jpg

ซึ่งหลังจากชมภาพยนตร์จบ ต้องยอมรับเลยว่า Red Life ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตและตั้งใจ ทั้งงานสร้าง งานภาพ การแสดง รวมไปถึงบทที่เข้าขั้นสมบูรณ์แบบในวิถีทางของการวาง “โครงสร้าง” ของภาพยนตร์สูตรสำเร็จ แถมยังเป็นภาพยนตร์ไทยที่หาญกล้าจะบอกเล่าในประเด็นที่สุ่มเสี่ยง หรือ พูดตรงๆ ว่าอาจจะขายได้ยากในตลาดปัจจุบัน นอกจากนี้ยังบันทึกห้วงเวลาอันสำคัญของสถานที่และวิถีชีวิตที่มันอาจจะเลือนหายไปในไม่ช้าไว้อีก ซึ่งไม่ว่าจะมองมุมใดผู้เขียนก็รู้สึกชื่นชมทีมงานทุกภาคส่วนที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นมาจากใจจริง 

แต่มันก็มีสิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และผู้เขียนอยากซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่ตัวเองได้รับชม แม้เราจะตามเรื่องของภาพยนตร์ได้จนจบ ตื่นตาไปกับโลกอันรกร้างที่ภาพยนตร์เนรมิตออกมาได้อย่างเข้าที ต่อติดกับสิ่งที่ตัวหนังต้องการจะสื่อ แต่ด้วยองค์ประกอบบางอย่าง มันกลับทำให้เรามีระยะห่างกับตัวภาพยนตร์ไปโดยไม่รู้ตัว ดั่งซีนหนึ่งที่ตัวละครวัยรุ่นลูกคนรวยกล่าวถึงงานศิลปะงานหนึ่งที่นำคนจนมาเป็นซับเจ็ค คล้ายกับทำให้เขาเหล่านั้นกลายเป็นผลงานอันเลอค่าของตัวศิลปิน แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้สะท้อนอะไรไปมากกว่านั้น ซึ่งมันก็เข้าทีดีที่ผู้สร้างอาจจะจิกกัดตัวเองไปในตัวด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าองค์ประกอบที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังจะเดินทางไปสู่จุดหมาย มันกำลังทำให้ตัวภาพยนตร์ขาดมิติบางสิ่งไปและกำลังจะกลายไปเป็นศิลปะแบบนั้นหรือไม่ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ผิด และไม่มีวันผิดด้วย “Red Life” งดงามและทรงคุณค่าในแบบที่มันเป็น เพียงอาจเป็นที่ผู้เขียนเองที่เรื่องมากและรู้สึกเสียดายวัตถุดิบในเรื่อง ที่ถูกกลั่นกรองและประดิษฐ์ประดอยจนพลาดโอกาสสำคัญที่จะบอกเล่าหรือขับเคลื่อนประเด็นให้จุกและเจ็บได้กว่านี้ 

“หัวใจอันเว้าแหว่ง ของคนที่ท้องไม่เคยอิ่ม” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงมีสถานะเป็นเพียงแค่หัวใจรูปทรงแปลกๆ น่าตื่นตาตื่นใจ ที่ตั้งอยู่ในงานนิทรรศกาลศิลปะซึ่งอาจจะสวยงามจนได้รางวัล แต่มันคงไม่อาจไปกระแทกใจคนแบบ “พีช” ในสังคม คนรวยที่อยากรวยขึ้นโดยไม่สนว่าตัวเลขอันมีค่าของพวกเขา มันจะแลกมาด้วยระบบที่กดให้คนบางกลุ่มมีชีวิตอันเลวร้ายได้มากขนาดไหน  

แต่จริงๆ แล้วเมื่อมาคิดดูอีกที ใคร่ทำภาพยนตร์อย่างไรก็ทำไปอย่างนั้นแหละดีแล้ว เพราะระยะเวลาที่ผ่านมาก็ได้พิสูจน์แล้วว่า แม้งานศิลปะจะมีประเด็นคมคาย หรือตบหน้าคนชนชั้นบนๆ ได้รุนแรงขนาดไหน  

พวกเขาก็คงไม่สนใจคนชนชั้นเหลือบไรแบบพวกเราอยู่ดี !!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์