พลิกดูตำนานเรื่องเล่าของเพลโตสู่แหวนแห่งอำนาจใน The Lord of the Rings

11 กันยายน 2566 - 07:14

_VIBE-2023 SPB Vibe Template 04-SPACEBAR-Thumbnail (1)
  • แหวนแห่งอำนาจใน The Lord of the Rings ได้รับแรงบันดาลใจจากตำนานแหวนแห่งไกกีส เรื่องเล่าในหนังสือ ‘The Republic’ ของเพลโต เพื่อตั้งคำถามเรื่องคุณธรรม

เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (J. R. R. Tolkien) ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเขียนที่พยายามร้อยเรียงและผูกเรื่องราวนิทานปรัมปราเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อนำมาดัดแปลงเป็นเรื่องเล่าภายใน ‘The Lord of the Rings’ ชุดนิยายแฟนตาซีอมตะตลอดกาล 

นิทานและเรื่องเล่าของเขาส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจจากนิทานปรัมปราของชาวเจอร์มานิก ไอริช นอร์ส เช่น ตำนานชาวนอร์สเรื่อง ‘อันด์วาราเนาท์’ (Andvaranaut) บทเพลง ‘The Ring of the Nibelung’ ของ วากเนอร์ (Wagner) และเรื่องอื่นๆ อีกมาก หนึ่งในนั้นคือตำนานเรื่องเล่าแหวนแห่งไกกีส (Ring of Gyges) ที่ถูกบอกเล่าโดย เพลโต (Plato)
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5jOqzKbW6C8U3wTqYoc0Eo/1e1250d46207a8195c3e3dc2ac4129c0/_VIBE-2023_SPB_Vibe_Template_04-SPACEBAR-Photo01
Photo: Gyges of Lydia: Wikipedia
ใช่แล้ว เพลโต ที่ว่านี้คือคนเดียวกันกับนักปรัชญากรีกโบราณที่เป็นศิษย์ของโสกราตีส (Socrates) เขาเคยพูดถึงตำนานแหวนแห่งไกกีสในหนังสือปรัชญานิพนธ์ ‘The Republic’ เพื่อเป็นการปูทางสู่เรื่องคุณธรรม และศีลธรรมของมนุษย์ ซึ่งภายในบทสนทนาประกอบด้วย โสกราตีส และกลาวคอน (Glaucon) บุตรแห่งอริสตอน (Ariston) พี่ชายของเพลโต  

ตำนานแหวนแห่งไกกีสมีเรื่องอยู่ว่า 

ไกกีสเป็นคนเลี้ยงแกะคนหนึ่ง ผู้อยู่ใต้อาณัติของผู้ปกครองแห่งเมืองลิเดีย อยู่มาวันหนึ่ง เกิดพายุใหญ่และแผ่นดินไหวรุนแรงมาก จนทำให้ผืนดินบริเวณที่เขาใช้ดูแลแกะนั้นปริแตกออก เกิดเป็นโพรงทอดยาวลงไปใต้พิภพ ไกกีสเห็นดังนั้นก็รู้สึกตื่นเต้นสนใจ เขาจึงเดินลงไปในรอยแยกนั้น ตำนานเล่าว่า เขาพบของวิเศษมากมายข้างใต้นั่น หนึ่งในนั้นก็คือม้าสำริด ซึ่งด้านในกลวงเปล่า บนลำตัวมีช่องเปิดคล้ายหน้าต่าง เขาทดลองมองลอดช่องนั้นเข้าไป ก็พบกับศพคนผู้หนึ่ง ร่างใหญ่กว่ามนุษย์ทั่วไปอยู่เล็กน้อย ศพนั้นไม่สวมใส่สิ่งใด นอกจากแหวนทองคำวงหนึ่งบนนิ้วมือเท่านั้น ไกกีสจึงค่อยๆ ปลดแหวนออกมาเก็บไว้ แล้วเดินย่องย้อนกลับออกมาจากโพรง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6pZDfgXITnXlCyKOHxBJDC/9aef29c569dec7e37891da28acac4eda/_VIBE-2023_SPB_Vibe_Template_04-SPACEBAR-Photo02
Photo: IMDb
วันหนึ่ง เขาสวมแหวนทองวงนั้นไปงานประชุมคนเลี้ยงแหะ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เพื่อถวายรายงานเรื่องฝูงแกะแก่องค์ราชา ในขณะที่ไกกีสกำลังนั่งอยู่กับคนอื่นๆ นั้นเอง เขาบังเอิญไปหมุนหัวแหวนให้หันจากด้านในของฝ่ามือกลับเข้าหาตัว ทันใดนั้น เขาก็พบว่าคนรอบข้างต่างมองไม่เห็นเขาอีกต่อไป เขาล่องหนได้ 

“เขาล่อลวงราชินีให้ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับตน จากนั้นจึงลอบปลงพระชนม์พระราชา โดยการช่วยเหลือของนาง สุดท้าย อำนาจปกครองทั้งหมดก็ตกอยู่ใต้เงื้อมมือของไกกีส”  

อ้างอิงจาก The Republic เล่ม 2 วรรค 359d-360b ฉบับแปลไทย โดย เวทัส โพธารามิก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/01lwYMAUk4IoxGSfiMTDsV/862308882d3ac13c704df4572dc9e8ce/_VIBE-2023_SPB_Vibe_Template_04-SPACEBAR-Photo03
Photo: IMDb
เมื่อเราลองเทียบเรื่องราวของไกกีสกับสิ่งที่โฟรโด (Frodo) สามารถทำได้ใน The Lord of the Rings ก็เรียกว่าไม่ต่างกันมากนัก เมื่อโฟรโด หรือใครก็ตามสวมแหวนพลัง คนนั้นๆ จะล่องหนไปในพริบตา และด้วยพลังแสนวิเศษนี้เองทำให้ใจคนไขว้เขว แม้แต่คนที่จิตใจดีก็สามารถกลายเป็นคนชั่วช้าได้ ด้วยเหตุนี้เอง เพลโต จึงยกตัวอย่างเรื่องนี้เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการถกเถียงเรื่องคุณธรรมของมนุษย์

ในบทสนทนาในหนังสือ กลาวคอนเป็นผู้เล่าเรื่องตำนานแหวนแห่งไกกีส เพื่อกล่าวว่าคนที่มีคุณธรรม แม้จะมีคุณธรรมมากแค่ไหน แต่เมื่อมีอำนาจอยู่ในมือก็สามารถกลายเป็นคนไม่มีคุณธรรมได้อยู่เสมอ โลกเป็นพื้นที่ของคนไม่คุณธรรมเท่านั้นที่จะอยู่รอด ส่วนคนที่มีคุณธรรมมักได้รับการตอบแทนด้วยความทรมานอยู่เสมอ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6kpld1L7zmPOOPk2R7KCQ8/b352073f9bb1b588907ced606b12ed2d/_VIBE-2023_SPB_Vibe_Template_04-SPACEBAR-Photo04
Photo: Socrates Address – Louis Joseph Lebrun (1867). Public domain
แน่นอนว่าโสกราตีสไม่ได้เห็นด้วยกับความเห็นนี้ หรือมองว่าความเห็นนี้ฟังดูไม่ถูกต้องเท่าไรนัก จึงอธิบายเรื่องวิญญาณของมนุษย์ (soul) ว่ามีทั้งหมดอยู่สามองค์ประกอบ ได้แก่ เหตุผล (logistikon)  จิตวิญญาณ หรือความมุ่งมั่น (thymoeides) และ ความกระหายอยาก (epithymetikon)

เหตุผล คือ การคิดวิเคราะห์ พิจารณาด้วยหลักตรรกะ จิตวิญญาณหรือความมุ่งมั่น คือ ส่วนหนึ่งของวิญญาณที่ก่อให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียว ส่วนความกระหายอยาก คือ ความต้องการไม่ว่าจะเป็นความอยากอาหาร หรือความอยากเพื่อตอบสนองความสุขทางกาย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7M0BQJh8cl3sbapt6IqIaS/ded33d0d1ab617fc5f391afa86077559/_VIBE-2023_SPB_Vibe_Template_04-SPACEBAR-Photo05
Photo: artofmanliness
เพลโตพยายามใช้ตัวละครโสกราตีสในบทสนทนาเพื่อสาธยายความคิดของตัวเองออกมา (ซึ่งเป็นสิ่งที่เพลโตมักทำในหนังสือเล่มอื่นๆ) อย่างในหนังสือ ‘Phaedrus’ เพลโตได้ยกตัวอย่างเรื่องคนขับรถม้า (Chariot Allegory) เพื่อเป็นตัวแทนเรื่องวิญญาณของมนุษย์  

หากคนขับรถม้าต้องควบคุมม้าสองตัว ตัวแรกเป็นม้าพันธุ์ดีที่ดีที่สุดทั้งในเรื่องของลักษณะทางกายภาพ และจิตใจ ตัวที่สองเป็นม้าที่อยู่ในขั้นตรงข้าม กล่าวคือ เป็นม้าชั้นต่ำที่ไม่สามารถเทียบอะไรกับม้าตัวแรกได้ แน่นอนว่าการควบคุมรถม้าคงเป็นไปได้ยากลำบาก อีกตัวไปอีกทาง อีกตัวก็จะไปอีกทาง 

เพลโตพยายามเสนอว่า คนขับรถม้าก็เหมือนเหตุผล ที่ต้องคอยควบคุมม้าตัวแรกที่แทนเรื่องความมุ่งมั่น กับม้าตัวที่สองที่แทนเรื่องความกระหายอยาก ถ้ามนุษย์มีเหตุผลมากพอก็จะสามารถคุมม้าทั้งสองตัวได้ อีกทั้งยังควบคุมรถไปได้อย่างไร้ปัญหา 

ตำนานอันด์วาราเนาท์ ความฉิบหายที่ถูกส่งทอด 

เรื่องราวของแหวนพลัง โทลคีนยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากตำนานชาวนอร์สเรื่อง ‘อันด์วาราเนาท์’ (Andvaranaut) ตำนานบอกเล่าว่า เทพโลกิขโมยแหวนของคนแคระที่ชื่ออันด์วาริ (Andvari) ไป ด้วยความโกรธแค้น อันด์วาริจึงสาปแหวนวงนั้นว่า ผู้ใดที่ครอบครองมันจะต้องพบความโชคร้าย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1kZERED2PlAlPmqmu8OEGG/a02a4fc7f13f58f40e2bd1707f543643/_VIBE-2023_SPB_Vibe_Template_04-SPACEBAR-Photo06
Photo: The Ring of the Nibelung: Wikimedia
โลกินำแหวนนี้ไปให้กับ ไฮรด์มาร์ (Hreidmar) ราชาคนแคระ เป็นการชดใช้ความผิดจากที่เคยฆ่าลูกชายของไฮรด์มาร์ พอรับแหวนมาไม่ทันไร ฟาฟเนียร์ (Fafnir) ลูกชายอีกคนของไฮรด์มาร์ลงมือสังหารพ่อตัวเองเพื่อชิงแหวน จากนั้นกลายร่างเป็นมังกรเพื่อทำการปกป้องแหวนวงนี้ ต่อมาฟาฟเนียร์ถูกฆ่าด้วน้ำมือของซิเกิร์ด (Sigurd) และนำแหวนวงนี้ไปให้กับบรืนฮิลด์ (Brynhildr) ซิเกิร์ดและบรืนฮิลด์ถูกราชินีกริมฮิลด์ (Grimhild) ให้แต่งงานกับลูกๆ ของตน แหวนอันด์วาราเนาท์ จึงส่งทอดความชั่วร้ายแก่ครอบครัวสืบไป 

นับว่าเป็นความอัจฉริยะของโทลคีนในการร้อยเรียงเรื่องราวๆ จากหลายๆ เรื่องมารวมไว้ในโลกแฟนตาซีของตนเอง จนกลายเป็นชุดนิยายแฟนตาซียอดนิยมตลอดกาลจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังสอนใจว่าด้วยเรื่องคุณธรรมอีกด้วย ดังที่เพลโตเชื่อว่า หากคนที่มีคุณธรรม มีศีลธรรม และมากพร้อมด้วยเหตุผล แม้จะได้ครอบครองพลังหรืออำนาจก็จะสามารถสยบจิตใจไม่ให้กลายเป็นคนไม่มีคุณธรรมได้ เช่นเดียวกับโฟรโดที่สามารถหักห้ามใจตนเองจากแหวนพลังเพื่อนำแหวนไปทำลายที่ เมาท์ดูม (Mount Doom)

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์