สมควรหรือไม่? หนังสือของ โรอัลด์ ดาห์ล ถูกแก้ไขคำใหม่เพื่อความเท่าเทียม

21 กุมภาพันธ์ 2566 - 07:23

roald-dahl-rewritten-airblushing-change-SPACEBAR-Hero
  • นักอ่าน และนักเขียนไม่พอใจที่หนังสือของ โรอัลด์ ดาห์ล ได้รับการตรวจแก้ไขคำใหม่เพื่อสร้างความเท่าเทียมในสังคม เพราะเห็นว่าทุกงานวรรณกรรมสมควรสงวนไว้ซึ่งความดั้งเดิม

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่าหนังสือของ โรอัลด์ ดาห์ล (Roald Dahl) ได้รับการตรวจแก้และแต่งเติมขึ้นใหม่เพื่อเสริมสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้อ่าน โดยอย่างยิ่งหนังสือของดาห์ลนั้นล้วนเป็นวรรณกรรมเยาวชนขึ้นหิ้ง จึงไม่แปลกที่จะมีคนริเริ่มความคิดในการเปลี่ยนแปลงคำ หรือข้อความบางท่อนเพื่อหลีกเลี่ยงอคติ หรือทัศนคติที่ไม่ดีต่อเยาวชน เรื่องนี้อาจฟังดูไม่มีปัญาหาอะไร แต่อันที่จริง นักเขียนหลายคน รวมถึงนักอ่านตัวยงรู้สึกมีท่าทีที่ไม่ดีสำหรับการแก้ไขงานของดาห์ล เพราะนอกจากจะเสียเอกลักษณ์ไปแล้ว ยังปราศจากการยินยอมจากนักเขียนที่เสียชีวิตไปนานแล้ว 
 
โรอัลด์ ดาห์ล เป็นนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่มีชื่อเสียงจากเรื่อง ‘Matilda,’ ‘Charlie and the Chocolate Factory,’ ‘The Witches’ และอีกหลายเรื่อง ดาห์ลเสียชีวิตไปเมื่อปี 1990 ด้วยวัย 76 ปี หนังสือของเขาสามารถขายได้มากกว่า 300 ล้านเล่ม และถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 63 ภาษา หนังสือของเขายังถูกนำไปสร้างเป็นสื่ออื่นๆ มากมาย เช่น ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์
ดาห์ลขึ้นชื่อว่าเป็นนักเขียนที่มีการใช้ภาษาเพื่อเสียดสี และถากถาง เรื่องนี้บานปลายถึงขั้นที่ครอบครัวของดาห์ลออกมาขอโทษกับสาธารณชนในปี 2020 เกี่ยวกับการที่ดาห์ลใช้ถ้อยคำส่อถึงการเหยียดเชื้อชาติยิว (antisemitic) และด้วยเหตุนี้การตีพิมพ์ครั้งใหม่ที่มีการแก้ไขเนื้อหาจึงเกิดขึ้น 
 
การตรวจแก้ไขนี้เป็นผลงานขององค์กรที่มีชื่อว่า Inclusive Minds ร่วมมือกับสำนักพิมพ์ Puffin Books สำหรับผู้อ่านที่อ่อนไหวง่าย และเป็นการรวมงานสำหรับคนที่สนับสนุนเรื่องความหลากหลายของเชื้อชาติ เพศ และความเท่าเทียมกันในสังคม เป็นการเปลี่ยนแปลงวรรณกรรมเยาวชนให้ก้าวไปอีกขั้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4Sw2qlKo73hx5v6aTYDe7D/e9b900c1f29e6c3023c7b07678d5f8e0/roald-dahl-rewritten-airblushing-change-SPACEBAR-Photo01
จากข้อมูลที่ระบุในสื่อ The Daily Telegraph กล่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงร่วม 400 จุด ในหนังสือของดาห์ล เช่น The Witches มีการเปลี่ยนไป 59 จุด และ 100 กว่าจุดในเรื่อง Charlie and the Chocolate Factory และ Matilda ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขข้อความที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ เชื้อชาติ น้ำหนัก สุขภาพจิต และความรุนแรง แน่นอนว่ามีการตัดทอนคำว่า ‘อ้วน’ (fat) และ ‘อัปลักษณ์’ (ugly) ออกไป รวมถึงตัดส่วนที่มีการอธิบายผิวพรรณดำและขาวด้วยเช่นกัน 
 
ซัลมัน รัชดี นักเขียนเจ้าของเรื่อง The Satanic Verse ยังออกมาแสดงความเห็นว่า “โรอัลด์ ดาห์ล ไม่ใช่เทวดาก็จริง แต่นี่เป็นการเซ็นเซอร์ที่ไร้สาระ Puffin Books และครอบครัวดาห์ลควรละอายใจ”  
 
แม้แต่ ริชี ซูนัค (Rishi Sunak) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ยังมีความเห็นผ่านโฆษกด้วยการหยิบยืมข้อความในหนังสือของดาห์ลว่า “เมื่อกล่าวพูดมรดกทางวรรณกรรมที่หลากหลายและรุ่มรวย นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับ BFG (ยักษ์ใจดี) ว่า คุณไม่ควรเล่นกับคำให้มากนัก” โดยคำว่า ‘เล่น’ ในที่นี้ เขาใช้คำว่า ‘gobblefunk’ ซึ่งเป็นภาษาหรือคำใหม่ที่ดาห์ลสร้างขึ้น 
 
โฆษกยังกล่าวเสริมว่า “มันเป็นเรื่องสำคัญที่งานวรรณกรรมและนิยายควรถูกธำรงรักษาไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ พวกเรายังคงปกป้องสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก”
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2S8aIWzeJtUy7EHv8c9BZC/5d843e0559ba641cb35bab045b72aaaa/roald-dahl-rewritten-airblushing-change-SPACEBAR-Photo02
Photo: Onderwijsgek /Wikimedia
เรื่องนี้ยังส่งผลถึงความเห็นที่ว่าในขณะที่เล่มตีพิมพ์ใหม่กำลังจะออกมาด้วยคำตรวจทานและแก้ไข แบบนี้เราควรที่จะใช้ปากกาดำมาขีดฆ่าฉบับเดิมที่ยังคงหมุนเวียนตามห้องสมุด โรงเรียน หรือในร้านหนังสือหรือไม่? และยังคงเป็นประเด็นที่พูดถึงในวงการหนังสือถึงความเหมาะสมในการนำหนังสือมาแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาตจากตัวผู้เขียนที่เสียชีวิตไปนานแล้ว แม้ว่าจะได้รับอนุญาตจากครอบครัวก็ตาม แต่หากเงื่อนไขนี้ใช้ได้จริง นั่นหมายความว่าเราควรเปลี่ยนเนื้อเรื่อง แฮรี พอตเตอร์ (Harry Potter) เพราะนักเขียนเป็นคนเหยียดคนข้ามเพศ หรือจะเปลี่ยนเนื้อเรื่อง Tess of the d'Urbervilles ของ โทมัส ฮาร์ดี้ (Thomas Hardy) เพราะนักเขียนกล่าวถึงการข่มขืนผู้หญิงด้วยหรือไม่?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์