Netflix: ‘สาธุ’ ซีรีส์ที่ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับพุทธศาสนาในไทย

28 มีนาคม 2567 - 08:14

sadhu-netflix-commercial-buddhist-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘สาธุ’ ซีรีส์เรื่องใหม่จาก Netflix พาทุกคนเปิดโลก ‘พุทธพาณิชย์’ ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงแวดวงพระพุทธศาสนาในไทย และสังคมไทยที่ยังต้องการที่พึ่งทางใจ

‘สาธุ’ ซีรีส์ใหม่ล่าสุดจาก Netflix ว่าด้วยเรื่องราวของพุทธพาณิชย์ในประเทศไทย แม้ว่าการเล่าเรื่องของซีรีส์จะค่อนข้างเหมารวมด่วนสรุปไปนิด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็ทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่แปลกใจกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในเรื่อง ราวกับว่าได้พบเห็นเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

กำกับฯ โดย วรรธนพงศ์ วงศ์วรรณ ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “การที่เติบโตในสังคมพุทธและเห็นสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เขาเกิดการตั้งคำถามมากขึ้น” อันเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการผลิตซีรีส์นี้ขึ้นมา ตัวซีรีส์บอกเล่าเกี่ยวกับวัยรุ่นทำธุรกิจสามคน ที่จู่ๆ ต้องมาล้มละลายเพราะความอยุติธรรมบางอย่าง การหาทางออกไม่มีอะไรนอกจากการ  ‘สร้างวัด’ ขึ้นใหม่ นั่นคือการเข้าไปทำนุบำรุงวัดให้เกิดความโด่งดังจนมีพุทธศาสนิกชนแห่เข้ามาทำบุญ และพวกเขากอบโกยเงินบริจาคเหล่านั้นไปชำระหนี้ ถึงตัวอย่างจะเล่าเพียงแค่นี้ แต่เมื่อเข้าไปชมจริงๆ จะพบว่าซีรีส์พยายามสอดแทรกเนื้อหาอะไรหลายอย่างที่เกิดขึ้นแวดวงพุทธศาสนา ทั้งเจ้าคณะอำเภอที่คุมอำนาจสงฆ์ในเขตอำเภอ กิจของสงฆ์ที่ต่างกันระหว่างวัดบ้านและวัดป่า ช่วงเวลาที่สูญเสียไปจากการเป็นภิกษุอันสะท้อนถึงสังคมไทยที่ยากจน รวมถึงธรรมคำสอนที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

sadhu-netflix-commercial-buddhist-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: Netflix

แน่นอนว่าซีรีส์เรื่องนี้ต้องการเล่าถึงความเป็น ‘พุทธพาณิชย์’ ที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยซึ่งเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมานาน และปัจจุบันก็ยังคงอยู่อยู่อย่างนั้น สื่อหลายแห่งพยายามนำเสนอเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง ทั้งนักวิชาการพุทธเอย ไปจนถึงอาจารย์ปรัชญาของมหาวิทยาลัย รวมๆ แล้วพูดกันในเชิงว่า พุทธพาณิชย์ไม่ได้ทำให้ศาสนาเสื่อมตราบใดที่มีผู้ศรัทธาในคำสอนอย่างแท้จริง หรือปรากฏการณ์ที่มีคนแห่ทำบุญถูกอธิบายได้ทั้งในเชิงมานุษยวิทยาและจิตวิทยาไปต่างๆ นานา แต่ความคิดเห็นที่ว่านี้ไม่ได้เป็นผลสรุปหรือเป็นคำชี้เป็นชี้ตายให้วัดทุกวัดต้องหันมาตระหนัก หรือคนในสังคมออกไปต่อต้านวัดไทยกันขนาดนั้น พอเป็นเรื่องศาสนาและความเชื่อ เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนเกินที่จะสรุปอย่างตรงไปตรงมาได้

อย่างไรก็ตาม ผมว่า ‘สาธุ’ ไม่ได้ขับเน้นเรื่องใดเป็นพิเศษ หรือพยายามบอกอะไรเราตรงๆ เพียงแต่เป็นการสะกิดให้ชาวไทยได้รู้ได้เห็น หรืออย่างน้อยเป็น ‘การเปิดโปง’ เล็กๆ เพื่อให้รู้ว่าสังคมไทยกับสังคมพุทธมีอะไรที่ผิดปกติไปจากที่ควรเป็น เรื่องนี้ผมคงต้องขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ผมได้เจอ

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เติบโตมากับวัดวัดหนึ่งที่ค่อนข้างเรียบง่าย บรรยากาศภายในวัดสงบ เต็มไปด้วยต้นไม้ วันหนึ่งจู่ๆ ก็มีพระสงฆ์ถูกย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสที่นี่ และถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัด วัดเดิมที่ผมเคยเข้าบ่อยๆ เปลี่ยนไป โบสถ์ถูกสร้างขึ้นใหม่ มีงานบุญเพิ่มมากขึ้น มีการตกแต่งอย่างเป็นพิธีรีตองมากขึ้น ผมแปลกใจอย่างหนึ่งคือท่าทีของเจ้าอาวาสที่มีแววไม่พอใจหากผู้มาทำบุญนั้นไม่บริจาคเป็นเงิน แต่ถ้าใครบริจาคเงินก้อนโตจะประกาศชื่อด้วยรอยยิ้ม อีกอย่างหนึ่งคือเจ้าอาวาสท่านนี้ไม่เคยอยู่ให้ญาติโยมเข้าหา ชอบอยู่คนเดียวและเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อสวดมนต์ และแน่นอนคือ ‘การรับซอง’

sadhu-netflix-commercial-buddhist-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: Netflix

ประสบการณ์ที่ผมพบเจอช่างเป็นภาพสะท้อนรางๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผมดูซีรีส์ ‘สาธุ’ ทำให้ผมมั่นใจว่าเนื้อหาที่ ‘สาธุ’ หยิบยกมาไม่ใช่การโมเมหรือมั่วขึ้นมาเอง แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเราอย่างเป็นปกติ พระสงฆ์มีชนชั้นและต้องการตำแหน่งไม่ต่างจากฆราวาส วงการพระพุทธศาสนาไทยกำลังเสื่อมเสียแต่ก็ไม่มีใครลงมือทำอะไร

แต่ท้ายที่สุดเหมือนซีรีส์พยายามบอกเราว่า ‘พุทธนั้นอยู่ที่ใจ’ เพราะต้องอย่าลืมว่าพระพุทธเจ้าฝากสิ่งเดียวให้คนรุ่นหลังคือ ‘พระธรรม’ หรือ ‘คำสอน’ ส่วนพุทธบริษัทนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง จะว่าไปเราไม่มีความจำเป็นต้องเป็นเดือดเป็นร้อนกับสิ่งที่พระสงฆ์เป็นอยู่ หากเราเชื่อในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะพระสงฆ์รูปนั้นๆ บกพร่องในหน้าที่ในฐานะผู้สืบทอดพระธรรม ด้วยระยะเวลานานกว่าสองพันปี ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เราไม่สามารถควบคุมคุณภาพเหนือปริมาณได้อยู่แล้ว ดังนั้น พระสงฆ์จึงปะปนไปด้วยคนที่ดี คนไม่ดีก็ถมเถไป อย่างที่เห็นว่าคนบางคนไม่ได้บวชเพราะพระธรรม แต่บวชเพราะยากจน หรือพระพุทธศาสนาในไทยไม่ดีเพราะการเมือง? ก็อยากให้ลองไปคิดกันดู

COVER-The-Believers-2024-Courtesy-of-NETFLIX-ezgif.com-webp-to-jpg-converter.jpg
Photo: Netflix

อย่างที่เขาว่ากันว่า อะไรๆ ก็ดูผูกอยู่กับอำนาจและการเมืองไปเสียหมด แม้แต่ศาสนาก็ยังไม่เว้น คนทุกวันนี้จึงขุ่นเคืองใจว่าทางวัดสร้างอะไรนักหนา หรือจะนำเงินไปทำอะไรเพื่อเผยแพร่ศาสนา อะไรคือจุดประสงค์หลักของการเผยแพร่ศาสนา ให้คนขึ้นสวรรค์มากขึ้น? หรือให้คนหลุดพ้นมากขึ้นกันแน่? ผมจึงนึกถึงคำที่บางคนเคยพูดว่า “ทำบุญกับวัดทุกวันนี้ ทำบุญกับสุนัขแมวจร กับขอทานคงดีกว่า” หรือถ้าใครไม่คิดอะไรมากก็คงไม่ต้องคิดว่าเงินที่บริจาคมันจะเดินทางไปหรือถูกใช้อย่างไร ขอแค่มี ‘เจตนาที่ดี’ ก็เพียงพอแล้ว ส่วนเรื่องวงการสงฆ์จะเป็นอย่างไรมันน่าจะเกินตัวสำหรับปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา บางทีอาจเปรียบได้กับเรื่องเล่าธนูในพระสูตร มีแค่แผลที่เราทำอะไรกับมันได้ แต่ถ้ามัวแต่หาคนยิงเราก็คงตายพอดี แผลเป็นตัวเรา ส่วนคนยิงเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินตัวเรา เราควรบำรุงรักษาตัวเราให้ดีก่อนเป็นสำคัญ (เรื่องเดิมเปรียบเป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าสอนมีอยู่น้อยนิด ส่วนการตามหาคนยิงธนูเหมือนหาคำตอบกับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน)

ผมหวังเช่นกันว่า ‘สาธุ’ จะทำให้ใครหลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในไทยมากขึ้น แม้ว่ามันจะไม่เกิดเป็นผลกระทบทำให้แวดวงเปลี่ยนแปลงในทันที แต่ผมเชื่อว่ามันจะเป็นพลังเล็กๆ ทำให้ผู้คนรู้ทันก่อนทำอะไรที่เกี่ยวกับวัดและพระสงฆ์ในไทย ให้รับรู้ว่าสิ่งที่พระพุทธศาสนาสอนจริงๆ คืออะไร อย่างน้อยเพื่อให้อนาคตพระพุทธศาสนาไทยพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะผมเชื่อว่าศาสนาพุทธ (สำหรับบางคน) ยังเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวที่ดีเสมอบนโลกความจริงที่โหดร้าย  

สามารถชมซีรีส์ ‘สาธุ’ ได้แล้ววันนี้บน Netflix

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์