ทุกวันนี้ชาวซาไกเป็นอย่างไร? เผยที่มาเป็นชาติพันธุ์ที่ไม่เกี่ยวอะไรกับชาวแอฟริกา

8 ก.ย. 2566 - 10:24

  • ชาวซาไก หรือชาวมานิ เป็นชาติพันธุ์กลุ่มออสตราลอยด์ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับชาวแอฟริกา และนับเป็นชาวเอเชียมากกว่า

  • ปัจจุบันชาวมานิอาศัยเป็นกลุ่มๆ ตามจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในตะวันออกเฉียงใต้

  • ชาวมานิยังมีบทบาทสำคัญในวรรณคดีไทย โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเด็กซาไกที่ รัชกาลที่ 5 ทรงรับเลี้ยงไว้

sakai-story-SPACEBAR-Thumbnail
ในเขตพื้นที่ป่าลำเนาไพร มีเด็กชายคนหนึ่งรูปร่างทะมัดทะแมง ผมหยิกหยอง ผิวคล้ำเข้ม กระโดดหยองๆ ตามพ่อเข้าไปในป่า เขาเห็นพ่อของตนถือกระบอกไม้ยาว และนำเข้าไปแตะบนริมฝีปากก่อนจะเป่าลมเข้าสุดแรง เห็นลูกดอกพุ่งทะยานออกไปโดนสัตว์ป่าที่อยู่ตรงหน้า ภายหลังพ่อแม่ของเขาถึงแก่กรรม ตนจึงต้องอยู่ตามยถากรรมกับพี่น้อง โชคดีที่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) นำตัวไปชุบเลี้ยงภายใต้การดูแลของ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ นี่คือเรื่องราวของ คะนัง กิราตกะ เด็กชาวซาไก ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สมเด็จรัชกาลที่ 5 นิพนธ์เรื่อง ‘เงาะป่า’ สู่ตำราเรียนวิชาวรรณคดีไทย
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6GjTFSnKemHAH6s4cPXMNJ/0148f82ffc67743e097fb9c2d0e2b82d/sakai-story-SPACEBAR-Photo_V01
Photo: คะนัง กิราตกะ. Wikimedia
ชาวไทยจำนวนไม่น้อยไม่ค่อยรู้จักซาไก บางคนเชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องเล่าเสียด้วยซ้ำ ส่วนบางคนคิดว่าเป็นเพียงชาวพื้นเมืองที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร ปัจจุบันชาวซาไกยังคงอยู่ตามจังหวัดในภาคใต้ทั้งตรัง พัทลุง นราธิวาส ยะลา และสตูล กระจัดกระจายอาศัยไปตามป่าเขา บางกลุ่มมีบ้านที่อยู่อาศัยในเมือง และยังคงมีภูมิปัญญาชนเผ่าดั้งเดิมหลงเหลือมาในปัจจุบันอยู่บ้าง เช่น ธรรมเนียมเรื่องคู่ครอง พิธีกรรมการล่าสัตว์ การจำกัดบุตรควบคุมปริมาณชาวซาไก เป็นต้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความศิวิไลซ์ของเมืองทำให้ภูมิปัญญาเดิมของชาวซาไกเริ่มหายไปเรื่อยๆ 

ชาวซาไกมาจากไหน? 

ชาวซาไก (Sakai) หรือชาวมานิ (Maniq) เมื่อเราพิจารณารูปร่างสัณฐานแล้วมีความละม้ายคล้ายกับชาวแอฟริกัน (ผิวคล้ำดำ จมูกป้าน ผมหยิกฟู) จนเกิดเป็นข้อสงสัยว่าชาวซาไกจริงๆ เป็นมนุษย์นิโกลอยด์หรือไม่? และเกิดทฤษฎีว่าชาวซาไกอาจอพยพมาอยู่ตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงที่ทวีปติดกันตามทฤษฎี Continental Drift (ทวีปเคลื่อน) แต่เมื่อพิจารณาตามช่วงปีจริงๆ การเกิดทวีปเลื่อนเกิดขึ้นร่วมหลักสิบถึงร้อยล้านปีที่แล้ว ขณะที่มนุษย์เริ่มวิวัฒนาการเมื่อแสนปีที่แล้วเองเท่านั้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6F1ZQy0dtry4TJ0Xv2Ss5V/7ff36d976fa375fcfb24658b5c0b5629/sakai-story-SPACEBAR-Photo_V02
Photo: Wikimedia
จากการศึกษาของงานวิจัยมากมายของนักวิชาการต่างประเทศพบว่าชาวซาไกที่ถูกเรียกว่า ‘เนกริโต’ (Negrito) เป็นคำเรียกของชาวสเปนแปลว่า ‘little black man’ (คนดำตัวเล็ก) เป็นมนุษย์ออสโตรลอยด์ และไม่มีความเกี่ยวกับมนุษย์นิโกรลอยด์เลย เพราะมีชุด DNA คนละชุดกัน ชาวเนกริโตมีความใกล้เคียงกับชาวทมิฬ หรือชาวดราวิเดียนในอินเดีย และชาวพื้นเมืองในฟิลิปปินส์มากกว่า จากการสำรวจนั้นจริงๆ แล้ว ไม่มีแค่ประเทศไทยที่มีชาวเนกริโต แต่ยังมีอีกมากในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย อีกทั้งยังพบ DNA ในไต้หวันอีกด้วย แม้ว่าการศึกษาจะยังมีคำตอบที่ยังไม่ชัดเจน แต่นักวิจัยก็พอสรุปข้อมูลได้คร่าวๆ เกี่ยวกับที่มาของชาวเนกริโต
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6bAn7OEacd6wOxKRu1Ijjz/04c305e2fc9c4a4f8d66f326f253376d/sakai-storyArtboard_1
Photo: Wikimedia
จากการศึกษาพบว่าชาวเนกริโตไม่ได้เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาโดยตรง พวกเขาเป็นกลุ่มคนรุ่นหลังที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่เข้ามายังพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้เมื่อ 10,000-20,000 ปีที่แล้ว โดยใช้วิธีการเดินทางโดยเรือ โดยยุคนั้นเป็นยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) ว่ากันว่าเป็นยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายที่ทำให้มีปริมาณน้ำในทะเลต่ำกว่าในปัจจุบัน จึงเป็นสาเหตุที่ชาวเนกริโตสามารถอยู่ตามเกาะต่างๆ ได้ ไกลสุดถึงบริเวณประเทศไต้หวันในปัจจุบัน กลุ่มคนที่มีบรรพบุรุษร่วมกับชาวเนกริโตคือชาวอันดามันที่อยู่ตามหมู่เกาะอันดามัน หนึ่งในนั้นคือเกาะเซนติเนลที่มีชาวเซนติเนลอาศัยอยู่โดยตัดขาดจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง ดังนั้นแล้วชาวเนกริโตตามหลักถูกจัดว่าเป็นชาวเอเชีย ไม่ใช่ชาวแอฟริกัน 

วิถีชีวิตของชาวซาไก 

‘ซาไก’ แท้จริงเป็นภาษามลายูแปลว่า ‘ทาส’ ปัจจุบันจึงนิยมเรียกว่า ‘มานิ’ แปลว่ามนุษย์ ซึ่งเป็นคำเรียกตัวเองของคนในชนเผ่า วิถีชีวิตของพวกเขาคือวิถีดั้งเดิมคือเป็นการหาของป่าและล่าสัตว์ หรือ Hunter-gatherers นิยมล่าลิง ค่าง หมูป่า เต่า หมูหริ่ง และกระรอก เป็นโปรตีนสำคัญ ส่วนแป้งได้จากมันป่า โดยการปรุงอาหารมีเพียงการปิ้ง การย่าง หรือการต้ม เท่านั้น ปัจจุบันพื้นที่ป่าภาคใต้ลดลงไปมากเนื่องจากสังคมเมืองที่เริ่มขยับขยาย ส่งผลให้ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้อยู่อาศัยทั้งในเรื่องทรัพยากรอาหาร และพื้นที่อาศัย ชาวมานิจึงเริ่มหางานทำในเมืองโดยส่วนใหญ่เป็นอาชีพรับจ้างทั่วไป เดิมทีชาวมานิจะแต่งตัวปิดแค่ท่อนล่าง และเผยท่อนบนทั้งชายและหญิง ส่วนเด็กจะไม่สวมใส่อะไรเลย ปัจจุบันเราอาจเห็นชาวมานิแต่งตัวตามยุคสมัยเพราะอิทธิพลของสังคมเมือง  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/TOrKEArEEK5m9jhbE2Dbq/5836885afbfd20cbe6e9692baf8ce424/sakai-story-SPACEBAR-Photo01
Photo: Wikimedia
ชาวมานิแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือกลุ่มที่เข้าไปในป่าลึก กลุ่มกึ่งชุมชน และกลุ่มตั้งถิ่นฐานถาวร กลุ่มเข้าไปในป่าลึกคือกลุ่มที่ต่อต้านความเป็นสังคมเมือง ยังคงดำรงชีวิตด้วยวิถีชุมชนแบบเดียวกับที่ปฏิบัติกันมากตั้งแต่บรรพชน มีการใช้ลูกดอกอาบยาพิษหรือกระบอกตุดในการล่าสัตว์ พักพิกอาศัยในเพิงไม้เล็กๆ เคลื่อนย้ายไปตามจุดที่มีพืชผลอุดมสมบูรณ์ กลุ่มนี้จะมีการติดต่อกับสังคมภายนอกน้อยมาก 
กลุ่มกึ่งชุมชนเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้าไปในป่าลึกมากนัก และยังมีการติดต่อกับสังคมภายนอกเพื่อของจำเป็นต่อการดำรงชีพ กลุ่มนี้ยังคงอยู่เป็นชุมชนตามเพิงไม้ แต่ก็มีการสวมใส่เสื้อผ้าตามยุคสมัย คนในชุมชนอาจมีการเข้าไปทำงานในเมืองเพื่อจับจ่ายของจำเป็นพวกเครื่องนุ่งห่ม อาหาร เข้ามาในชุมชน 
กลุ่มตั้งถิ่นฐานเป็นกลุ่มที่มีบ้านเรือนเหมือนชาวบ้านตามปกติ มีการทำงานเพื่อดำรงชีพ และใช้ของตามยุคสมัยเหมือนชาวไทยทั่วไป บางครัวเรือนดำรงชีพด้วยการทำไร่ทำนา ปลูกสวน และทำปศุสัตว์ กลุ่มนี้เลือกที่จะออกมาใช้ชีวิตตามสังคมภายนอกเนื่องจากพื้นที่ป่าไม่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย 

มานิในวรรณคดีไทยที่คนไทยคุ้นเคย 

ชาวมานิยังปรากฎอยู่ในวรรณคดีไทย ที่โด่งดังที่สุดคือเรื่องราวความรักของซมพลา และลำหับ ในฉากหลังที่เป็นป่าในจังหวัดพัทลุง เรื่อง ‘เงาะป่า’ ถูกร้อยเรียงเป็นบทร้อยกรองโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชนิพนธ์ในขณะที่ทรงพักรักษาพระอาการประชวรจากพระโรคมาลาเรีย ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นเวลา 8 วันเท่านั้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการที่ทรงสนพระทัยเกี่ยวกับเรื่องชาวมานิ (ซาไก) จนได้ คะนัง กิราตกะ มาเลี้ยงในวัง (เป็นที่มาของชื่อตัวละคร คนัง ในเรื่อง) และถูกจัดให้เป็นวรรณดดีไทยที่นักเรียนไทยควรเรียน  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5gRPwC0tbHsCXTAwGWyJrX/a82cfd4b78d6816516f6f8870c2c6ec8/sakai-storyArtboard_2
Photo: คะนัง กิราตกะ. สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
นอกจากเรื่อง เงาะป่า แล้ว ชาวมานิยังปรากฎอยู่ในเรื่องสังข์ทองอีกด้วย ในตอนที่พระสังข์แปลงตัวเพื่อลองใจนางรจนา พระสังข์แปลงร่างกลายเป็นเงาะป่าซาไก แถมยังเป็นใบ้อีกต่างหาก ถ้าพูดในเชิงวรรณคดีอาจเป็นการสื่อถึงการที่วัดกันที่จิตใจมากกว่าหน้าตา แต่ถ้าพูดในบริบทปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงาะป่า หรือซาไก ถูกลดทอนให้เป็นชั้นต่ำสุดของสังคม 

ชาวมานิในวัฒนธรรมร่วมสมัย

เชื่อว่าน้อยคนที่จะรู้ว่ามีภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า ‘ซาไกยูไนเต็ด’ กำกับโดย สมจริง ศรีสุภาพ และเขียนบทโดย สมภพ เวชชพิพัฒน์ นำแสดงโดย พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง รับบทเป็น เปาตุ๊ อดีตกรรมการฟุตบอล ที่เผอิญเห็นชาวมานิกำลังเล่นฟุตบอลในสนามกีฬา ด้วยความสงสัยเปาตุ๊จึงติดตามเขาเข้าป่าไป จึงพบกับชุมชนชาวมานิที่กำลังดิ้นรนเรื่องโรคภัยที่รักษายาก เปาตุ๊เกิดไอเดียนำพาชาวมานิไปแข่งฟุตบอลเผื่อจะได้โอกาสชิงรางวัลเพื่อนำมารักษาคนในชุมชน ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของชาวมานิ และสร้างความตระหนักให้กับชาวไทยเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยนี้ 
 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/15CaiiOCnV4yBoqZrtWKnj/cf604876f03b5191c01de2f5eee8d446/sakai-story-SPACEBAR-Photo02
Photo: WeTV

ซึ่งนอกจากภาพยนตร์ที่นำเสนอวิถีชีวิตของชาวมานิแล้ว ยังมีเพลงจากค่ายพาราฮัทในชื่อ ‘ซาไกกับเด็กในหลาด’ ขับร้องโดยชาวมานิชื่อ ‘โชค มันนิ พาราฮัท’ บทเพลงว่าด้วยหนุ่มมานิที่หลงรักสาวชาวไทยที่เข้ามาช่วยเหลือชุมชน เป็นการนำเสนอชุมชนชาวมานิในสื่อบันเทิงที่น่าสนใจ และช่วยให้ชาวไทยได้หันมาสนใจเกี่ยวกับชาวมานิด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันชาวซาไกยังคงอาศัยอยู่ในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทยตามปกติ แบ่งเป็นกลุ่มๆ เช่น กลุ่มแต็นแอ๊น (ตรัง-พัทลุง-สตูล), กลุ่มกันซิว (ยะลา), กลุ่มแตะเด๊ะ (นราธิวาส) และยะฮายย์ (นราธิวาส) เป็นต้น บางกลุ่มยังคงแร้นแค้นและยังต้องอาศัยของบริจาคจากมูลนิธิ กล่าวได้ว่าชาวมานิควรมีหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือดูแลจนกว่าจะสามารถตั้งลำแข้งได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ต้องอาศัยแรงจากรัฐบาล และคนภายในประเทศร่วมกัน เพราะชาวมานิก็นับว่าเป็นชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเราเองก็ไม่ควรที่จะเพิกเฉย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์