สาระวัน: ทำไมคนไทยถึงอินกับเทศกาลต่างประเทศมากกว่าเทศกาลตัวเอง

4 ม.ค. 2566 - 03:08

  • เทศกาลเป็นการกำหนดขึ้นของมนุษย์เพื่อแสดงถึงความเป็นหนึ่งของกลุ่ม ในการร่วมทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลองหรือทำพิธีกรรม

  • ทว่า ทำไมเมืองพุทธอย่างเราถึง ‘อิน’ กับเทศกาลต่างประเทศมากกว่าเทศกาลตัวเอง?

sarawan-why-do-thai-people-into-foreign-festivals-SPACEBAR-Thumbnail
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมประเทศไทยถึงเป็นประเทศที่เหมารวมเอาหลายเทศกาลทั่วโลกมาจัดไว้ในประเทศเดียว ทั้งๆ ที่ประเทศไทยนั้นมีธรรมเนียม ประเพณีเป็นของตัวเอง แถมยังมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาไม่ต่างอะไรกับศาสนาคริสต์ที่มีวันสำคัญทางศาสนาเช่นเดียวกัน  

เทศกาลที่เห็นชัดมากที่สุดคือเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งเป็นเทศกาลยอดนิยมที่มีการจัดในพื้นที่ต่างๆ นอกจากโบสถ์คริสต์ตามแต่ละท้องถิ่น ในทุกๆ ช่วงวันคริสต์มาส ประเทศไทยจะมีการจัดตกแต่งบรรยากาศภายในเมืองให้เข้ากับวันคริสต์มาส เช่น ห้อยสายไฟ, มีการตกแต่งด้วยรูปซานตาคลอส เอลฟ์ กวางเรนเดียร์ และต้นคริสต์มาส, จัดต้นคริสต์มาสขนาดใหญ่, เปิดเพลงคริสต์มาสตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้น  

พอเวลาผ่านไปไม่ถึงเดือนก็มาบรรจบกับเทศกาลตรุษจีน เช่นเดียวกันกับวันคริสต์มาส ตามเมืองจะเปลี่ยนธีมจากคริสต์มาสแสนอบอุ่น มาเป็นเมืองมังกรที่เต็มไปด้วยสีทองคำอร่าม และสีแดงอันร้อนแรงอันหมายถึงโชคลาภ อายุยืนยาว และมีความสุข ทุกคนเฮฮากัน แม้แต่กับคนที่ไม่ได้มาจากตระกูลจีน ผ่านไปอีก 2 เดือน ประเทศไทยก็กลับมาเฉลิมฉลองให้กับตัวเองในวันสงกรานต์ นี่ยังไม่นับเทศกาลอื่นๆ อีก เช่น วันฮาโลวีน ทั้งๆ ที่เป็นวันปล่อยผีตะวันตก แต่ไทยกลับนิยมจัดงานสังสรรค์ หรือจะเป็นวันวาเลนไทน์ ที่กลายเป็นวันแห่งความรักระดับสากลไปแล้ว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/16Mmfsf8uyvcPXY49nyCgV/b135ad6fa4777ed1020f05c4d7aedadf/sarawan-why-do-thai-people-into-foreign-festivals-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP
หากดูเป็นภาพรวม ประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศที่เห่อไปทุกเทศกาลอย่างที่คิด ถ้าพูดรวมๆ ก็มีเพียงเทศกาลจาก 2 ประเทศเท่านั้น คือ ประเทศกลุ่มตะวันตก กับประเทศจีน นอกจากนั้นก็ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้นเราคงต้องลองเปลี่ยนคำถามมาเป็น ‘คนไทยอินกับเทศกาลในไทยมากแค่ไหน’ เพราะถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ชาวไทยดูเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลอะไรอย่างหวือหวามากนัก 

ในประเทศสหรัฐอเมริกามีวันสำคัญอยู่หลายวัน เช่น วันขอบคุณพระเจ้า, วันวาเลนไทน์, วันฮาโลวีน, วันประกาศอิสรภาพ, วันอีสเตอร์, วันเซนต์แพทริก และอื่นๆ อีกมาก หรืออย่างประเทศญี่ปุ่น, จีน และประเทศกลุ่มยุโรปก็มีวันสำคัญของตัวเองที่นิยมจัดกัน และดูท่าจะไม่จัดกิจกรรม หรือเทศกาลจากประเทศอื่นกันมากนัก 

อันที่จริงประเทศไทยเราก็มีวันสำคัญอยู่มากเช่นกัน เช่น วันสงกรานต์ (ที่ค่อนข้างดังระดับโลก), วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอย่างวันมาฆบูชา, วันวิสาขบูชา, วันเด็กแห่งชาติ, วันแรงงานแห่งชาติ, วันรัฐธรรมนูญ, วันลอยกระทง เป็นต้น ไม่นับว่าวันสำคัญที่จัดขึ้นตามบุคคลสำคัญของชาติ แต่ดูเหมือนว่าชาวไทยจะไม่ค่อยจัดงานรื่นเริง หรือสังสรรค์กันในระดับที่ต่างประเทศเขาทำกัน หรือถ้าจะให้เจาะจงคือ ‘มวลรวมของบรรยากาศงานเทศกาล’ ของประเทศไทยยังไม่อยู่ระดับที่ต่างประเทศเป็นกัน หลายอย่างอาจมีให้เห็นจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมาแชร์รูปภาพ หรือความคิดเห็นเกี่ยวกับเทศกาล บรรยากาศภายในเมืองยังไม่ให้ความรู้สึกถึงเทศกาลได้มากพอ เพราะเหตุใดถึงเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น? 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Yth7Nw2MOyMGSkHlJWTS4/04da04332aa247ea3b9ae79ae6457705/sarawan-why-do-thai-people-into-foreign-festivals-SPACEBAR-Photo02
Photo: AFP
บนเว็บไซต์ Pantip ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกระทู้ที่มีคนถกเถียงกันมากที่สุดเคยตั้งคำถามนี้เช่นกันว่า “ทำไมคนไทยถึงจัดเทศกาลคริสต์มาส ทั้งๆ ที่เป็นเมืองพุทธ” มีคำตอบของผู้ใช้ที่น่าสนใจคนหนึ่งกล่าวว่า อาจเป็นเพราะประเทศไทยเป็นเมืองพุทธนี่แหละถึงไม่ค่อยมีอะไรสังสรรค์มากเท่าไรนัก” 

เทศกาลไทยส่วนหนึ่งกำเนิดมาจากศาสนาพุทธ และพิธีกรรมภายในงานนั้นไม่มีอะไรนอกจากทำพิธีกรรม สวดมนต์ และฟังเทศน์ จากธรรมชาติของความเป็นศาสนานี้ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ข่มใจจากกิเลส สอนให้รู้จักตนทันตน มีกฎมีศีล และรักความสงบ จึงเป็นธรรมดาที่เทศกาลที่เกี่ยวโยงกับศาสนาพุทธจะไม่มีการจัดงานสังสรรค์ หรือสร้างมวลรวมบรรยากาศ เพราะวันสำคัญทางศาสนาพุทธคือการตระหนักถึงความสำคัญ ไม่ใช่หลงไปทางโลก 

เราอาจเข้าใจไปว่าเป็นเพราะธรรมชาติของศาสนาคริสต์ที่ธรรมชาติวางอยู่บนความอบอุ่น ความรัก ความเมตตา แน่ๆ วันคริสต์มาส และวันอื่นๆ ของคริสต์ถึงดูอบอุ่น และสนุกสนาน ซึ่งถ้าดูจริงๆ แล้ว วันคริสต์มาส รวมถึงวันอื่นๆ ล้วนมีที่มาจากธรรมเนียมโบราณของศาสนานอกรีตที่มักทำการสังสรรค์ในทุกๆ ช่วงวันเทศกาล อย่างวันคริสต์มาสนั้นเป็นการรวมกันระหว่างวันเฉลิมฉลองซาเทอนาเลีย (Saturnalia) ของชาวโรมันเพื่อบูชาเทพแห่งเกษตรกรรม ซึ่งธรรมเนียมการเฉลิมฉลองในช่วงสิ้นสุดฤดูใบไม้ผลินั้นเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ที่สืบมาตั้งแต่ยุคโบราณ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3T3dCZiCAG04d9SnP8FRCj/9fd64ac9657f0b230e805103e5d2e60f/sarawan-why-do-thai-people-into-foreign-festivals-SPACEBAR-Photo03
Photo: Wikimedia
ทุกคนคงรู้มาว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาที่เกิดขึ้นใหม่ แยกมาจากศาสนายิวหรือยูดายอีกที ซึ่งถ้าเราดูความสำคัญของวันเทศกาลของชาวยิว จะเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และเคร่งครัด เนื่องจากภาพจำวันเทศกาลของพวกเขาคือ ทะเลทรายและการต่อสู้เพื่อชนชาติ เทศกาลของชาวยิวจึงไม่ได้เป็นการสังสรรค์เพื่อความบันเทิงหรือจรรโลงใจ แต่เป็นการระลึกถึงความสำคัญและการตอบแทนต่อกัน 

องค์ประกอบของวันเทศกาลของชาวพุทธกับชาวยิวจึงมีความใกล้เคียงกันมาก เพราะเทศกาลที่เกี่ยวโยงกับศาสนาล้วนเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของคำสอนให้สืบต่อไปด้วยความเคารพรัก แต่สิ่งที่แตกต่างคือด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวยิว พิธีกรรมของพวกเขาจึงมีการสังสรรค์ที่อบอุ่น รื่นเริงในแบบของตัวเอง 

กลับมาที่ประเทศไทยกันบ้าง ประเทศไทยจริงๆ มีเทศกาลที่สนุกสนานอยู่บ้าง เช่น สงกรานต์ และเทศกาลท้องถิ่นของคนในภาคต่างๆ อย่างอีสานนั้นก็มีการจัดงานบุญฮีต 12 เป็นต้น พอมาถึงตรงนี้เราจะเห็นความคล้ายคลึงกันระหว่างเทศกาลคริสต์มาส กับเทศกาลสงกรานต์ หรือเทศกาลงานบุญท้องถิ่นของอีสาน และสิ่งนั้นคือ ‘วิถีชีวิต’ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5E8SIzeqvEfrEe1eFO2qvK/2b0a915e2eeecacce00cfca40d08c45e/sarawan-why-do-thai-people-into-foreign-festivals-SPACEBAR-Photo04
Photo: AFP
ความอบอุ่นของวันคริสต์มาสล้วนก่อตัวมาจากงานเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิก่อนเข้าสู่ฤดูหนาวเพื่อเป็นการขอบคุณเทพเจ้าหลังจากเก็บเกี่ยวพืชผล เทศกาลของชาวอีสานก็มีงานบุญพุทธที่มีความเกี่ยวข้องกันกับการดำเนินชีวิตของชาวอีสาน อย่างงานบุญคูนลาน หรือบุญคูนข้าว ที่เป็นพิธีกรรมฉลองภายหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว  

นอกจากวันคริสต์มาส ก็มีวันฮาโลวีนที่เดิมเป็นวันปล่อยผีของชาวเจอร์มานิก (เยอรมันโบราณ) ที่ศาสนาคริสต์ต้องการหาวันสำคัญมาแทนเพื่อให้ผู้คนหันมาสนใจศาสนาคริสต์มากขึ้น และวันวาเลนไทน์ที่ยังมีการนำเรื่องราวเทพปกรณัมกรีกมาผสมกับศาสนาคริสต์ในการถ่ายทอดเรื่องราวบนฝาผนัง และยังเป็นการรวมเข้ากันกับวันต้อนรับใบไม้ผลิของชาวยุโรปโบราณอีกด้วย ที่กล่าวมานี้เพื่อเป็นการให้เห็นว่าศาสนาคริสต์ในยุคโรมันพยายามจับเทศกาลท้องถิ่นให้อยู่ร่วมกันกับศาสนาไปอย่างเนียนๆ 

นั่นหมายความว่าชาวไทยเองไม่มีแค่เทศกาลศาสนาพุทธ แต่ยังมีเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตให้สังสรรค์ รื่นเริง แต่คำถามยังอยู่ที่ “ทำไมชาวไทยยังเลือกที่จะ ‘อิน’ กับเทศกาลตะวันตกมากกว่า?” 

สาเหตุหลักมาจากอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามามีต่อประเทศไทยเมื่อราวปี 1950-1990 และตามความเชื่อของคนยุคนั้นเชื่อว่าสิ่งที่มาจากตะวันตกคือความเป็นสมัยใหม่ ใครที่ทำตามชาวตะวันตกจะเป็นเหมือนกลุ่มคนหัวก้าวหน้า ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยลืมที่จะมอบความสำคัญให้กับเทศกาลที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของชาวไทย อย่างที่รู้กันคือไม่ได้ยกระดับให้เป็นงานรื่นเริงระดับชาติที่สามารถสร้างเป็นเอกลักษณ์ให้กับวัฒนธรรมไทยโดยรวมได้ สองสาเหตุหลักนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ขาดความเป็นตัวเอง และไม่มีสิ่งที่ไว้ใช้เรียกเป็น วันสำคัญของไทยที่ชาวไทยต้องนึกถึง หรือ เกิดเป็นเทศกาลที่สร้างบรรยากาศแบบมวลรวมได้มากเท่าคริสต์มาส หากมีก็คงมีแต่ วันสงกรานต์ เพียงวันเดียว  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3Qgk2ZRPG92AaLzs0MPmmQ/4fb97f21344dc90f608952ebf53d59bb/sarawan-why-do-thai-people-into-foreign-festivals-SPACEBAR-Photo05
Photo: AFP
ประเทศที่เป็นตัวอย่างในการเชิดชูวัฒนธรรมประเทศตัวเอง คือ ประเทศญี่ปุ่น ที่แม้ว่าจะโอบรับอิทธิพลตะวันตกมาบ้าง แต่พวกเขาไม่ลืมที่จะเฉลิมฉลองวันสำคัญที่เกี่ยวโยงกับวิถีชีวิตของพวกเขาเอง เช่น วันโฮเน็นไซ (Hōnensai) หรือเทศกาลเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว และความอุดมสมบูรณ์ของชาวญี่ปุ่น รวมถึงเทศกาลอื่นๆ ที่ชาวญี่ปุ่นจะหันมาสวมชุดยูกาตะหรือกิโมโน เพื่อร่วมงาน 

กล่าวโดยสรุป เทศกาลที่มักมีการสังสรรค์ไม่ว่าจะประเทศไหนล้วนมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนในพื่นที่นั้นๆ โดยมีการผูกโยงเข้ากับความเชื่อทางศาสนาเข้าไป แต่สิ่งที่สำคัญคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในประเทศที่เป็นหัวใจหลักในการทำให้การรวมตัวในงานเทศกาลเกิดขึ้นได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าความยิ่งใหญ่ ความสำคัญ และความรื่นเริง ของเทศกาลสามารถเป็นตัวชี้วัดเชิงสังคมถึงการเป็นประเทศที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีความกลมเกลียวกัน และไม่ได้เป็นประเทศที่เป็นได้แค่ผู้ตาม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์