ไอเท็มลับของบุรุษไปรษณีย์ คือ หนังสือชุดหนึ่งที่ทำหน้าที่เสมือนกูเกิ้ลแมพเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ก่อนจะเฉลยว่าคือหนังสืออะไร ขอชวนย้อนกลับไปทำความรู้จักไปรษณีย์ไทยกันสักเล็กน้อย
การไปรษณีย์ไทยตั้งขึ้นเมื่อ 140 ปีที่แล้ว (พ.ศ.2426) โดยเอารูปแบบการไปรษณีย์มาจากกงสุลอังกฤษที่สื่อสารทางไปรษณีย์ระหว่างกรุงเทพฯ กับสิงคโปร์

เมื่อแรกมีไปรษณีย์เริ่มต้นในวังและพระนครชั้นใน ราวปี พ.ศ.2418 พระบรมวงศานุวงศ์ 11 พระองค์ ภายใต้การนำของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ฯ ร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นฉบับหนึ่ง มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ “Court” และภาษาไทยว่า “ข่าวราชการ” เป็นหนังสือแจ้งข่าวความเคลื่อนไหวว่าด้วยข้อราชการและความเป็นไปภายในพระราชสำนัก
พอพิมพ์แล้วก็ต้องส่งให้สมาชิก การไปรษณีย์จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น


โดยการส่งหนังสือพิมพ์ “ข่าวราชการ” รายวัน จะให้บุรุษเดินหนังสือข่าวราชการส่งให้แก่สมาชิก เรียกว่า “โปสต-แมน”
นอกจากการส่งเกิดขึ้นแล้ว โปรดให้มีตั๋ว “แสตมป์” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก สำหรับใช้เป็นค่าเดินส่งหนังสือไปรษณีย์
ต่อมาปี พ.ศ.2426 เริ่มมีการก่อตั้งสำนักงานไปรษณีย์เป็นอาคารขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวปากคลองโอ่งอ่าง ด้านทิศเหนือ (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ) ซึ่งก็คือบริเวณที่เป็นสวนใต้สะพานพระปกเกล้าในปัจจุบัน
เอาล่ะ หลังปูพื้นที่มาที่ไปของการไปรษณีย์ไทยมาพอหอมปากหอมคอ ก็ถึงคิวเฉลยไอเท็มลับของบุรุษไปรษณีย์ที่ทิ้งไว้เป็นปริศนาในตอนต้น

ขอเริ่มต้นด้วยคำถาม คุณเคยสงสัยไหมว่า บุรุษไปรษณีย์ในยุคนั้น (รัชกาลที่5) ไปส่งจดหมายถูกที่ได้ยังไง เพราะคนกรุงเทพฯ 80% อาศัยอยู่บนแพริมแม่น้ำ บ้านเรือนไม่เยอะเหมือนตอนนี้ กูเกิ้ลแมพก็ไม่มี แผนที่ก็ยังไม่ละเอียดมากนัก
เรื่องนี้มีที่มาอย่างนี้ ต้องบอกว่าการตั้งไปรษณีย์เป็นจุดเริ่มต้นของการทำสำมะโนครัวและโฉนดที่ดิน จากนั้นจึงมีการสำรวจ จดบันทึกวันว่าใครอยู่ที่ไหน แล้วพิมพ์บันทึกนั้นเป็นหนังสือเสมือนคู่มือในการส่งจดหมาย

หนังสือที่ว่ามาเป็นชุด มีทั้งหมด 4 เล่ม
ชื่อว่า “สารบาญชี ราษฎรในจังหวัด บ้านหมู่แลลำน้ำ คูคลอง แลลำปะโดง สำหรับเจ้าพนักงานกรมไปรษณีย์ กรุงเทพมหานคร พิมพ์ที่โรงพิมพ์บ้านปลัดเลย์ กรุงเทพมหานคร”
และหนังสือชุดนั้นคือไอเท็มลับที่พูดถึง!
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป การทำสำมะโนประชากรและระบบการจัดส่งจดหมายก็เปลี่ยนแปลง วิทยาการที่ก้าวล้ำทำให้ตัวหนังสือลดความสำคัญลง จนกระทั่งหายไปในที่สุด
หนังสือ 4 เล่มนั้นนับเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าที่สะท้อนวิถีชีวิตคนเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพราะเป็นบันทึกภูมิสารสนเทศสำมะโนประชากร เนื่องจากตัวหนังสือไม่ได้เขียนแค่ใครบ้านอยู่ที่ไหน แต่มีการบรรยายสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ตึกอาคารบ้านเรือน ตรอกซอกซอย แพริมน้ำอย่างละเอียด เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน
ปัจจุบันสำนักพิมพ์ต้นฉบับได้นำหนังสือทั้ง 4 เล่มมาพิมพ์อีกครั้ง โดยจัดพิมพ์เป็น 2 เล่ม คือ บ้านหมู่แลลำน้ำ กับ คูคลอง แลลำปะโดง ใช้เวลาจำหน่ายนาน 20 ปีจึงหมดสต็อก

เพราะคนคิดว่าเป็นหนังสือบันทึกชื่อที่อยู่คน แต่หารู้ไม่ว่านี่เป็นตำราประวัติศาสตร์ที่หายากมากๆ